“...การเชื่อมโยงการทำงานและระบบงาน Big data ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สาธารณชนมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจ จะช่วยปรับโครงสร้างภาคเกษตรไทยให้ก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนต้องมีเจ้าภาพที่บริหารจัดการภาพรวมทั้งด้านงบประมาณและการเชื่อมโยงการทำงาน...”
ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบธุรกิจเดิมที่ผลิตสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์แบบเชิงเดี่ยวซึ่งมีความเปราะบางจากทั้งความผันผวนของราคาตลาดโลกและภัยธรรมชาติ ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ที่ผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียมที่หลากหลาย การเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานเพื่อใช้ประโยชน์จาก Big Data ของหน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยให้สาธารณชนมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง อันจะทำให้ภาคเกษตรไทยสามารถปรับโครงสร้างและก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบันได้อย่างราบรื่น
ในบทความนี้ ผู้เขียนเสนอ road map ของการเชื่อมโยงพัฒนาการทำงานและระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้น พร้อมแนวทางการประยุกต์ใช้และปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้ระบบงานสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง โดยแบ่งการพัฒนาระบบข้อมูลภาคเกษตรเป็น 4 ระดับ 1) ตั้งแต่การติดตามสถานการณ์เพื่อการตัดสินใจด้านการผลิต 2) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ 3) การใช้ crowdsourcing เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างโปร่งใสแบบ real time และ 4) การเชื่อมโยงข้อมูลครัวเรือนเกษตรเพื่อออกแบบชุดนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของครัวเกษตรจากปัจจุบันสู่อนาคตเพื่อยกระดับครัวเรือนเกษตรไทย
ภาคเกษตรไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ครัวเรือนเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวจากรูปแบบธุรกิจปัจจุบันที่ผลิตสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์เชิงเดี่ยว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ที่ผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียมที่หลากหลาย เน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผ่านการสร้างอัตลักษณ์และการ ดูแลสินค้าระหว่างกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องใช้พื้นที่หรือกำลังแรงงานมาก เนื่องจากรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันที่ผลิตสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์เชิงเดี่ยวมีอัตราผลตอบแทนต่ำและความเสี่ยงสูง (จิรัฐ วิษณุ โสมรัศมิ์ และบุญธิดา 2019) อีกทั้งแข่งขันกันด้วยการประหยัดจากขนาด (economies of scale)
ทำให้ครัวเรือนเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่มีสัดส่วนสมาชิกที่สูงวัยอยู่ในเกณฑ์สูงและทำการผลิตขนาดเล็ก (โสมรัศมิ์ วิษณุ และบุญธิดา 2018) ไม่สามารถแข่งได้
เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปี 2560 พบว่า พื้นที่กว่าร้อยละ 95 ใช้สำหรับปลูกพืชหลักที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพียง 6 ชนิดเท่านั้น การทำการเกษตรในรูปแบบดังกล่าวมีความเปราะบางจากทั้งความผันผวนของราคาตลาดโลกและภัยธรรมชาติ ทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเกษตรกร โดยงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2561 อยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท และลงบัญชีไว้ในงบการเงิน ณ งวด 31 มี.ค. 2562 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่ามีธุรกรรมนโยบายภาครัฐประมาณ 1 ล้านล้านบาท
เพื่อช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถปรับโครงสร้างได้อย่างราบรื่นอันจะมีส่วนช่วยลดภาระการคลังของภาครัฐในระยะยาว บทความนี้ขอเสนอแนวทางการใช้ Big Data เพื่อเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีข้อมูลที่เพียงพอรอบด้านต่อการตัดสินใจ โดยหยิบยก road map การร่วมงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา ระบบข้อมูลในแต่ละระดับ (stage) พร้อมแนวทางการประยุกต์ใช้และปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้ระบบงานสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง
บทความชิ้นนี้จะใช้วิธีการตอบคำถามในแต่ละระดับของการพัฒนาระบบข้อมูลว่าการเชื่อมโยง
1) ตอบโจทย์อะไร? สำหรับผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม
2) ผลลัพธ์ คือ อะไร? เมื่อระบบใช้งานได้จริง และ
3) ปัจจัยใดที่นำมาสู่ความสำเร็จ? ของการเชื่อมโยงในแต่ละระดับ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงระบบงาน Big Data ภาคเกษตรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ และความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงการทำงานและระบบงาน Big Data เพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนเกษตรไทย
บทความนี้มุ่งอธิบาย road map ของการพัฒนาระบบข้อมูลภาคเกษตรซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ โดยแต่ละระดับจะใช้เทคโนโลยีหลักและตอบโจทย์ผู้ใช้งานต่างกัน ตั้งแต่ 1) การติดตามสถานการณ์ทั้งด้านความต้องการตลาดและการผลิตเพื่อให้การตัดสินใจด้านการผลิตถูกต้องและเหมาะสม 2) การใช้เทคโนโลยี sensor หรือ remote sensing ประมวลผลเป็นสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ 3) การใช้ crowdsourcing เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างโปร่งใสแบบ real time และ 4) การเชื่อมโยงข้อมูลครัวเรือนเกษตรทั้งด้านการผลิตและการเงินเพื่อออกแบบชุดนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของครัวเรือนเกษตรจากรุ่นปัจจุบันสู่รุ่นต่อไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ระดับที่ 1 การเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานติดตามสถานการณ์และแนวโน้มด้านการตลาดและการผลิตของสินค้าเกษตรหลัก เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะสามารถประเมินทางเลือกต่าง ๆ ในการผลิต
ที่ผ่านมา เกษตรกรมักจะตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าเกษตรจากราคาในอดีตหรือปัจจุบัน โดยไม่ได้คำนึงถึงแนวโน้มการตลาดและการผลิตของสินค้าดังกล่าวในอนาคต อาทิ เลือกปลูกข้าวเพราะราคาข้าวปีก่อนสูง หรือ ปลูกทุเรียนเพราะราคาทุเรียนในปัจจุบัน พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผลผลิตสินค้าที่เคยมีราคาสูงในปีก่อนกลับกลายเป็นปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำในปีถัดมา ภาครัฐต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าไปพยุงราคา ซึ่งหากเป็นไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน อาจก่อให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำเช่นเดียวกับยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยากต่อการปรับเปลี่ยนการผลิต
ตอบโจทย์อะไร? การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตลาดในการจัดการผลผลิตการเกษตร เกษตรกรและผู้ประกอบการเลือกผลิตสินค้าและวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด ขณะที่ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลักตามความต้องการตลาดเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าล้นตลาด และสถาบันการเงินสามารถบริหารพอร์ตสินเชื่อและคำนวณอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาวะธุรกิจ
ผลลัพธ์ คือ อะไร? กลไกตลาดและภาครัฐสามารถบริหารจัดการไม่ให้ผลผลิตสินค้าเกษตรหลักล้นตลาด โดยเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกสินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการ
ปัจจัยใดที่นำมาสู่ความสำเร็จ? การเผยแพร่สถานการณ์และแนวโน้มความต้องการตลาดและการผลิตที่ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ และเข้าใจง่าย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่เกษตรกรกำลังตัดสินใจเพาะปลูก จะสร้างความน่าเชื่อถือต่อเกษตรกรและสาธารณชน และนำไปสู่การใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจในการผลิต
การเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มความต้องการตลาดและการผลิตที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ โดยเฉพาะในช่วงที่เกษตรกรกำลังตัดสินใจเลือกพืชที่จะเพาะปลูก การเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าใจง่าย มีข้อเท็จจริงสนับสนุนที่ชัดเจน และสามารถเปรียบเทียบแนวโน้มสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่สามารถปลูกทดแทนกันได้ (เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง และอ้อย) ว่าสินค้าใดมีผลผลิต ที่มีแนวโน้มจะขาดแคลนหรือเกินความต้องการตลาดในปริมาณเท่าใด จะช่วยให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูกพืชได้ถูกต้อง เป็นการบริหารจัดการปริมาณผลผลิตของสินค้าแต่ละชนิดในลักษณะอัตโนมัติ โดยที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการบังคับ เพราะสาธารณชนสามารถเปรียบเทียบว่าสินค้าเกษตรทางเลือกแต่ละชนิดยังมีความต้องการส่วนเกินอีกเท่าไหร่ หรือเป็นสินค้าที่ผลผลิตมีแนวโน้มเกินความต้องการแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มความต้องการผลผลิตควรครอบคลุมการพิจารณาตั้งแต่มุมมองความต้องการในตลาดโลกและห่วงโซ่การผลิตนับจากสินค้าขั้นสุดท้ายจนถึงสินค้าเกษตร ขณะที่ ด้านการผลิตควรคำนึงถึงสภาพอากาศและสถานการณ์การผลิตของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลักของแต่ละสินค้า รวมถึงสถานการณ์และแนวโน้มการผลิตในแต่ละประเทศ
ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพัฒนาระบบงานดังกล่าวภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบและเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน อาทิ (1) กระทรวงพาณิชย์โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากำลังพัฒนา Agriculture Info Portal ที่ติดตามความต้องการตลาด (ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังไม่ได้ประสานการทำงานให้เกิดเอกภาพ) จำนวนผลผลิตที่อยู่ในตลาด ราคาตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ค้าปลีกจนถึงราคาที่เกษตรกรได้รับ รวมถึงแหล่งรับซื้อ
ผลผลิตการเกษตร โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลคาดการณ์ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลักของ สศก. มาประกอบด้วย และ (2) สศก. และ ธปท. กำลังร่วมกันพัฒนาระบบงานติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร[1]ที่จะนำสถานการณ์การผลิตในพื้นที่มาประกอบการประมาณการผลผลิตและสื่อสารอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สาธารณชนทราบถึงสถานการณ์การผลิตที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ โดยเฉพาะช่วงที่เกษตรกรกำลังตัดสินใจผลิตในฤดูกาลผลิตหลัก การนำพื้นที่เพาะปลูกจากทะเบียนเกษตรกร ที่เกษตรกรต้องรายงานกรมส่งเสริมการเกษตรภายใน 15 วันหลังการเพาะปลูก มาร่วมเผยแพร่กับคาดการณ์ความต้องการตลาดและปริมาณผลผลิต จะช่วยให้เกษตรกรเห็นภาพผลผลิตส่วนเกินหรือขาดของแต่ละสินค้าได้ชัดเจนขึ้น และตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าได้ถูกต้อง
ระดับที่ 2 การเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เช่น ชุดดิน แหล่งน้ำ สภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และตำแหน่งที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยต่อยอดจาก Agri-Map
ตอบโจทย์อะไร? การผลิตมีผลิตภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการเลือกที่ตั้งและกิจกรรมการผลิตที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการการผลิตและความเสี่ยงในระดับแปลง
เกษตรกรและผู้ประกอบการรับทราบทางเลือกในการผลิตที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ของตน เช่น พื้นที่ของตนมีศักยภาพในการปลูกพืชชนิดใดบ้างที่ตลาดกำลังต้องการ เป็นต้น การวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตในพื้นที่ของตน และการเลือกที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรและการผลิตประเภทต่าง ๆ ตลอดจนการค้นหาแหล่งวัตถุดิบและแหล่งรับซื้อผลผลิตสำหรับสาธารณชน ภาครัฐสามารถเตือนภัยให้สาธารณชนทราบและเตรียมการรับมือสถานการณ์ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือศัตรูพืช ในพื้นที่ข้างเคียง และสถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัยสามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยพืชผลที่สะท้อนความเหมาะสมระหว่างชนิดพืชกับลักษณะพื้นที่ และความเสี่ยงของพื้นที่อย่างเป็นธรรม
ผลลัพธ์ คือ อะไร? มีการปรับกิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกษตรกรและภาครัฐสามารถเตรียมการและบริหารจัดการในระดับพื้นที่จนสามารถลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด และศัตรูพืชได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยใดที่นำมาสู่ความสำเร็จ? มีกระบวนการปรับปรุงข้อมูลให้ทันกาลและเผยแพร่สถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ มีความละเอียดเพียงพอสำหรับใช้งานจริง และสามารถเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างพื้นที่ ตลอดจนมีการจัดเก็บประวัติของพื้นที่อย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถนำมาประมวลผลและต่อยอดการใช้งาน เช่น คำนวณอัตราดอกเบี้ยหรือเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงและแนวโน้มสภาพอากาศในพื้นที่
ข้อมูลและประวัติความเสี่ยงในระดับพื้นที่แปลงเพาะปลูกช่วยยกระดับภาคเกษตรในหลายมิติ ได้แก่ (1) การเลือกผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ทำให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการเห็นโอกาสทางธุรกิจ ทราบข้อจำกัดของพื้นที่ และบริหารต้นทุนการขนส่งของตนเองได้ เมื่อทราบว่าพื้นที่ของตนมีศักยภาพในการผลิตสินค้าชนิดใดให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ชุดดิน น้ำต้นทุน ที่ตั้งและกำลังการผลิตของแหล่งวัตถุดิบ แหล่งรับซื้อ แหล่งแปรรูปสินค้า ตลอด
ห่วงโซ่อุปทาน แหล่งสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมและระยะทางเชื่อมโยงระหว่างแหล่งต่าง ๆ และ (2) การวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสถานการณ์และความเสี่ยงในพื้นที่ระหว่างการเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการผลิตและความเสี่ยงได้ดีขึ้น เมื่อรับทราบแนวโน้มสภาพอากาศ ปริมาณน้ำต้นทุน ความเชื่อมโยงในลุ่มน้ำ และสถานการณ์น้ำและความต้องการใช้ในปัจจุบัน เช่น หากน้ำฝนในฤดูกาลผลิตนี้มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้อย ชาวนาอาจเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อื่นที่ใช้น้ำน้อย หรือการเลือกช่วงเวลาเพาะปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง โดยดำเนินการให้เหมาะสมกับลักษณะชุดดินว่าควรทำการเกษตรประเภทใด หรือต้องปรับสภาพดินหรือพื้นที่อย่างไร
ในปัจจุบันนี้ Agri-Map[2] เป็น platform กลางที่รวบรวมสารสนเทศภูมิศาสตร์ หากเราสามารถเชื่อมโยงระบบงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ากับ Agri-Map ก็จะช่วยให้การเลือกเพาะปลูกสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และการวางแผนบริหารจัดการการผลิตและความเสี่ยงในระดับพื้นที่ทำได้จริง ระบบงานที่ต้องเชื่อมโยง ได้แก่ การทยอยนำพื้นที่เพาะปลูกและรูปแปลงที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกปี แผนที่ชุดดิน[3]ที่กรมพัฒนาที่ดินทยอยสำรวจด้วยมาตราส่วนที่ละเอียดขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และที่ตั้งและกำลังการผลิตของแหล่งรับซื้อหรือโรงงานแปรรูปที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ใน Agriculture Info Portal มาเชื่อมโยงกับ Agri-Map เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรทราบถึงศักยภาพของพื้นที่แปลงของตน การนำพยากรณ์อากาศล่วงหน้ารายพื้นที่ 3 – 9 เดือน[4] ของกรมอุตุนิยมวิทยา มาประมวลผลร่วมกับสารสนเทศทรัพยากรน้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ[5] และภาพถ่ายดาวเทียมของ Gistda[6] เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณและช่วงเวลาฝนทิ้งช่วง และต้นทุนน้ำรายพื้นที่ของฤดูกาลผลิตที่จะถึง แล้วเผยแพร่ผ่าน Agri-Map เพื่อให้เกษตรกรทราบและวาง
แผนการเพาะปลูก เช่น ช่วงเวลาเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเตรียมรับภัยธรรมชาติได้ถูกต้อง นอกจากนั้น สถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัยสามารถใช้ประวัติความเสี่ยงของพื้นที่ดังกล่าวในประเมินความเสี่ยงและคำนวณอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่
ระดับที่ 3 Crowdsourcing คือ การปรับปรุงราคาและสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ทันกาล โดยอาศัยการส่งผ่านข้อมูลโดยผู้เล่นในตลาดแบบ real time ผ่าน mobile application เพื่อติดตามพลวัต เปรียบเทียบความผิดปกติของราคา ความต้องการของตลาด ภาวะการผลิต และสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด เพื่อให้พื้นที่ข้างเคียงสามารถเตรียมตัวรับสถานการณ์ หรือการตรวจสอบความเสียหายของผลผลิต
ตอบโจทย์อะไร? ข้อมูลราคาช่วยให้ผู้เล่นในตลาดสามารถติดตามพลวัตของสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือ เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานการณ์การผลิต ภาวะความต้องการของตลาด และเปรียบเทียบราคาที่ซื้อขายจริงได้ และภาครัฐสามารถกำกับตรวจสอบการกำหนดราคาของผู้มีอำนาจเหนือตลาด สถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัยสามารถตรวจสอบความเสียหายเพื่อจ่ายเงินชดเชยและสาธารณชนและภาครัฐสามารถติดตามพลวัตของสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์
ผลลัพธ์ คือ อะไร? สาธารณชนสามารถติดตามความต้องการตลาดและการผลิต และมีแหล่งอ้างอิงเปรียบเทียบราคาแบบ real time ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและกำกับดูแลราคาในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความเป็นธรรม และสามารถติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือศัตรูพืช และพื้นที่ข้างเคียงเตรียมรับมือได้อย่างทันการณ์
ปัจจัยใดที่นำมาสู่ความสำเร็จ? application ใช้ง่าย มีจำนวนผู้ใช้งานและครอบคลุมพื้นที่มากพอที่จะทำให้เห็นพลวัตของราคาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ต้องสามารถเปรียบเทียบราคาในหลายพื้นที่และระดับราคาที่รายงานมีการเคลื่อนไหวตามสภาวะตลาด ตลอดจนต้องสามารถเห็นพลวัตของความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เช่น น้ำท่วม หรือโรคระบาด ว่าสถานการณ์รุนแรงระดับใด และกำลังเคลื่อนตัวหรือขยายวงไปกระทบพื้นที่ใด ขณะที่ ครัวเรือนเกษตรกรให้ความร่วมมือในการปรับตัว
ปัจจุบัน หลายหน่วยงานของไทยได้ให้บริการผ่าน mobile application อาทิ Agri-map ของกระทรวงเกษตร ที่เกษตรกรสามารถเข้าไปดูว่าพื้นที่ของตนเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด หรือ ThaiWater ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ[7] ที่เกษตรกรสามารถติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต้นทุนในพื้นที่ของตน นอกจากนั้นยังมีบางหน่วยงานเริ่มใช้แนวทาง crowdsourcing อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดให้เกษตรกรรายงานการเพาะปลูกของตนผ่าน Farmbook application หรือ หกหน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมการเกษตร
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธ.ก.ส. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กำลังพัฒนา mobile application ให้เกษตรกรสามารถรายงานพัฒนาการของการเพาะปลูกและความเสียหายจากภัยธรรมชาติเพื่อรับเงินสินไหมทดแทนด้วยการถ่ายรูปแปลงเพาะปลูกพร้อมระบุพิกัด GIS ในแปลงเพาะปลูกของตน
ระดับที่ 4 การเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานด้านการผลิตเข้ากับการเงินของครัวเรือนเกษตรเพื่อทราบความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและการเงินภายในครัวเรือน ตลอดจนออกแบบนโยบายที่บูรณาการทั้งด้านการผลิตและการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตของครัวเรือนเกษตรในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรุ่นปัจจุบันสู่รุ่นต่อไป
ตอบโจทย์อะไร? นโยบายปรับโครงสร้างครัวเรือนเกษตรในช่วงเปลี่ยนผ่านใช้ได้จริง และสามารถการคัดกรองครัวเรือนเกษตรเปราะบางเพื่อดูแลและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ครัวเรือนเกษตรได้รับการสนับสนุนให้ปรับโครงสร้างการผลิตและพึ่งตนเองได้ ภาครัฐและสถาบันการเงินสามารถออกแบบชุดนโยบายทั้งด้านการผลิตและการเงินที่สนับสนุนการปรับโครงสร้างครัวเรือนเกษตร และดูแลแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
ผลลัพธ์ คือ อะไร? มีชุดนโยบายทั้งด้านการผลิตและการเงินที่สนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตของครัวเรือนเกษตรไทยที่ใช้ได้จริง คัดกรองครัวเรือนเกษตรที่เปราะบาง พร้อมทั้งแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนได้
ปัจจัยใดที่นำมาสู่ความสำเร็จ? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนเกษตรเห็นภาพปัญหาเชิงโครงสร้างและร่วมหาแนวทางแก้ไขตรงกัน พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างพร้อมกับการเอื้อให้ครัวเรือนเกษตรร่วมปรับตัว
ทั้งนี้ การออกแบบนโยบายสนับสนุนการปรับการผลิตของครัวเรือนเกษตรจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เชิงเดี่ยวที่กำลังมีปัญหาไปสู่สินค้าเกษตรพรีเมียมที่หลากหลาย ต้องอาศัยข้อมูลพลวัตของครัวเรือนทั้งการผลิตและการเงิน เพื่อระบุรากเหง้าของปัญหาที่ชัดเจนและออกแบบชุดนโยบายสนับสนุนการปรับการผลิตที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ดูแลและแก้ไขปัญหาสำหรับครัวเรือนเกษตรที่เปราะบางได้ถูกจุด
โดยในปัจจุบัน สองหน่วยงานหลักที่จัดเก็บข้อมูลครัวเรือนเกษตร ได้แก่ สศก. ที่จัดเก็บฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)[8] ซึ่งรวบรวมทะเบียนเกษตรกรและการผลิตของทั้งผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมง และ ธ.ก.ส. ที่เป็นแหล่งสินเชื่อหลักของครัวเรือนเกษตรไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding - MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการเชื่อมโยงการทำงานและระบบงานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรแบบปกปิดตัวตนนี้ จะช่วยให้ประเทศมีข้อมูลสำหรับคิดวิเคราะห์นโยบายในการปรับโครงสร้างการผลิตของครัวเรือนเกษตรไทย
โดยสรุป ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพที่จะปรับโครงสร้างการผลิต ผ่านการใช้ระบบสารสนเทศที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำเพื่อประกอบการตัดสินใจ การขับเคลื่อนระบบงานให้ใช้ได้จริงจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่บริหารจัดการภาพรวมทั้งด้านงบประมาณ การเชื่อมโยงการทำงานว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ใครทำอะไร แค่ไหน เชื่อมโยงกันอย่างไร รวมถึงใครเป็นผู้ดูแลระบบ ทั้งหมดนี้ไม่ยากเกิน หากทุกภาคส่วนมุ่งมั่นที่จะยกระดับความสามารถของตนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
ณรงค์ศักดิ์, ศุภาชัย, สุเมธ และเกียรติคุณ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ
[1] สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์แจงสี่เบี้ย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย” ทั้ง 2 ตอน ได้จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645348 และhttps://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645449
[2] สามารถเข้าใช้งานระบบ Agri-Map ได้จาก http://agri-map-online.moac.go.th
[3] สามารถเข้าใช้งานระบบนำเสนอแผนที่ชุดดิน (Soil Series) ได้จาก http://eis.ldd.go.th/lddeis/SoilView.aspx
[4] ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tmd.go.th
[5] ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hii.or.th
[6] ศึกษารายละเอียดและเข้าใช้งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ได้ที่ https://www.gistda.or.th
[7] สามารถเข้าใช้งานระบบ ThaiWater ได้จาก http://www.thaiwater.net
[8] สามารถเข้าใช้งานระบบ Farmer ONE ได้จาก http://farmerone.org
อ้างอิง
จิรัฐ เจนพึ่งพร วิษณุ อรรถวานิช โสมรัศมิ์ จันทรัตน และบุญธิดา เสงี่ยมเนตร. (2019, June 19). พลวัตการทําเกษตรไทย และนัยต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตร.
โสมรัศมิ์ จันทรัตน วิษณุ อรรถวานิช และบุญธิดา เสงี่ยมเนตร. (2018, May 30). จุลทรรศน์ภาคเกษตรไทยผ่านข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและสำมะโนเกษตร.
ณรงค์ศักดิ์ การันต์ ศุภาชัย ภาวีอัครกุล ศรายุทธ ยิ้มยวน สุเมธ พฤกษ์ฤดี และ ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์. (2018, August 21). ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย (1). กรุงเทพธุรกิจ.
ณรงค์ศักดิ์ การันต์ ศุภาชัย ภาวีอัครกุล ศรายุทธ ยิ้มยวน สุเมธ พฤกษ์ฤดี และ ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์. (2018, September 4). ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย (2). กรุงเทพธุรกิจ.
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จากคำแนะนำและความช่วยเหลือจาก ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ คุณจีรพรรณ โอฬารธนาเศรษฐ์ คุณจารุพรรณ วานิชธนันกูล และ ดร. นครินทร์ อมเรศ ตลอดจนขอขอบพระคุณผู้ให้ความอนุเคราะห์ทางด้านวิชาการและข้อมูล ประกอบด้วย คุณจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ และ ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คุณสมภพ รอดกลาง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท. ได้แก่ คุณศักดิ์ชัย กิตติจารุภา คุณพรศิริ หอฉัตรนุกุล และคุณวิวัฒน์ ภูมินาถ ที่ช่วยเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ให้ใช้งานได้จริง รวมถึงทีม FAQ Editors ที่ช่วยให้บทความนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ภาพประกอบจาก www.unsplash.com