"...เป้าหมายที่แท้จริง ของการแก้ปัญหาคือ “ป้องกันมิให้เสียชีวิต” จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน เพราะถ้าคิดเพียงแก้ปัญหาที่คนขับ ห้ามคนเมาขับรถก็จบ (เหมือนที่พบเห็นในกระทู้ต่าง ๆ ) ในความเป็นจริง ถึงคนขับไม่เมา แต่ถ้าเกิดยางระเบิด หรือหักหลบสุนัข/คนข้ามถนน ก็พลิกคว่ำและเสียชีวิตจำนวนมากได้เช่นเดียวกันถ้ายังมีการบรรทุกจำนวนมากท้ายกระบะลักษณะนี้..."
จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์กระบะเสียหลักพลิกคว่ำ บริเวณถนนกิ่งแก้ว ปากทางเข้าซอยกิ่งแก้ว 21 มุ่งหน้าลาดกระบัง ม.12 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จนเป็นเหตุให้นักศึกษาฝึกงานของวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ที่โดยสารท้ายกระบะเสียชีวิต 12 คนและมีผู้โดยสารตอนหน้า 5 คนเสียชีวิตอีก 2 คน รวมเสียชีวิต 14 คน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ถูกส่งมาฝึกงานที่อู่ซ่อมรถประกันกลาง (อู่ ภัทร บอดี้ เซอร์วิส) ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว 22/2 ม.3 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และในวันนี้เป็นการฝึกงานวันสุดท้ายของนักศึกษาทั้งหมด ทางอู่จึงได้จัดงานเลี้ยงส่งให้กับนักศึกษาที่มาฝึกงานกันที่อู่ดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงช่วงหัวค่ำทุกคนต่างดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน https://www.thairath.co.th/news/local/central/1671131
ซึ่งบทเรียนจากเหตุการณ์นี้มีหลายแง่มุมที่ต้องการการจัดการเพื่อมิให้เกิดซ้ำ ใน 2 ด้านสำคัญ คือ
1. ด้านสาเหตุอุบัติเหตุ ซึ่งจากคลิปและข่าวที่รายงาน ก็ชี้ให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งแต่ การดื่มขับ ขับเร็ว แซงกระชั้นชิด และการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมากซึ่งเพิ่มโอกาสในการพลิกคว่ำ
2. ด้านสาเหตุการเสียชีวิต .. ซึ่งเป็นผลมาจากการนักศึกษาที่เสียชีวิตอยู่ที่ท้ายกระบะ เมื่อพลิกคว่ำเทกระจาดด้วยความเร็วสูง จะพุ่งออกมาปะทะกับวัตถุบนถนน ทั้งพื้นถนน ขอบฟุตบาท เสาไฟ หรือแม้แต่กำแพงรั้ว ส่งผลต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
เป้าหมายที่แท้จริง ของการแก้ปัญหาคือ “ป้องกันมิให้เสียชีวิต” จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน เพราะถ้าคิดเพียงแก้ปัญหาที่คนขับ ห้ามคนเมาขับรถก็จบ (เหมือนที่พบเห็นในกระทู้ต่าง ๆ ) ในความเป็นจริง ถึงคนขับไม่เมา แต่ถ้าเกิดยางระเบิด หรือหักหลบสุนัข/คนข้ามถนน ก็พลิกคว่ำและเสียชีวิตจำนวนมากได้เช่นเดียวกันถ้ายังมีการบรรทุกจำนวนมากท้ายกระบะลักษณะนี้
จากการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ โดยสอบถามผู้ที่นั่งท้ายกระบะจำนวน 200 คน ในเขต กทม.และปริมณฑล ถึงความเสี่ยงในการนั่งท้ายกระบะ พบว่า ครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50 ) เห็นว่า นั่งท้ายกระบะอันตรายแต่ไม่มีทางเลือกอื่น ร้อยละ 30 เห็นว่า นั่งท้ายกระบะไม่ได้อันตรายมากกว่าการนั่งในตำแหน่งอื่นแต่อย่างใด https://www.isranews.org/isranews-news/55300-space-cap.html
จะเห็นได้ว่าเกือบ 1 ใน 3 ของคนนั่งท้ายกระบะมองว่า “ไม่เสี่ยง” ซึ่งจริง ๆ แล้วความเสี่ยงต่อโอกาสพลิกคว่ำ จะเพิ่มขึ้นถ้ามีการนำคนมานั่งหรือยืนท้ายกระบะ เพราะคนที่นั่งหรือยืน นอกจากเพิ่มความสูงจุดศูนย์ถ่วง (CG) ของรถแล้ว เวลารถเคลื่อนไหว ร่างกายคนก็จะมีการเคลื่อนไหว ต่างจากการบรรทุกวัตถุอื่นเช่น บรรทุกทราย กระสอบข้าว ฯลฯ เพราะเมื่อคนเคลื่อนไหว เช่น โยกตัวจากการเลี้ยวรถก็จะเสริมให้เกิดแรงเหวี่ยงเพิ่มมากขึ้นด้วย
บรรทุก 10 คน ความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ได้จำลองให้เห็นโอกาสพลิกคว่ำ โดยเปรียบเทียบรถกระบะที่ไม่บรรทุกคน น้ำหนัก 1.5 ตัน ความกว้างฐานล้อ 160 ซม. จะมีความสูงจุดศูนย์ถ่วง 60 ซม. จะมีความเสี่ยงในการพลิกคว่ำ 12% แต่ถ้าบรรทุกคน 10 คน หนักคนละ 60 กก. นั่งฐานกระบะจะเพิ่มจุดศูนย์ถ่วงขึ้นเป็น 74 ซม. เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ 28% (เพิ่มขึ้น 2 เท่า) และถ้ายืนขึ้นจุดศูนย์ถ่วงจะเพิ่มขึ้นเป็น 83 ซม. เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ 50% หรือคิดเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับไม่มีการบรรทุกคนและที่สำคัญผลการศึกษาในสหรัฐฯ ยืนยันความเสี่ยงที่ผู้โดยสารกระบะหลังจะเสียชีวิตมีมากกว่าผู้โดยสารตอนหน้าถึง 8 เท่า และ 25-50% ของผู้ประสบอุบัติเหตุเกิดจากอุบัติเหตุเสียหลัก ไม่ได้ชนกับรถคันอื่น ๆ
สถานการณ์และแบบแผนความเสี่ยงที่สำคัญ
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2555-2560 พบแนวโน้มอุบัติเหตุรถกระบะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 66 (เพิ่มจาก 9,426 รายเป็น 15,714 ราย) และข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ก็พบว่า 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินมาจากรถกระบะ (ร้อยละ 32) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 32 ในปี 2560
เมื่อพิจารณาแบบแผนของรถกระบะที่เกิดอุบัติเหตุเทกระจาด จะมีอยู่ 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่
1. รถกระบะรับส่งคนงาน เช่น ไปทำงาน site งานก่อสร้าง ต่างจังหวัดจะพบกับกลุ่มทำงานที่สวนผลไม้ หรือไร่อ้อย ฯลฯ ซึ่งการสำรวจจะพบว่ากลุ่มนี้เดินทางเฉลี่ย 40 กม./เที่ยว โดยมีความเสี่ยงจากการบรรทุกคนงานจำนวนมาก บางกรณีจะใช้รถสภาพเก่า พบรายงานเคสยางระเบิดแล้วเทกระจาด อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของรถกระบะกลุ่มนี้ จะขับไม่เร็วและมีราวเหล็ก (คอก) สำหรับยึดเกาะ
2. รถกระบะบรรทุกคนเดินทางในลักษณะเครือญาติ โดยกลุ่มนี้พบมีการเดินทางเฉลี่ย 130 กม. มีผู้โดยสารท้ายกระบะ 5-8 คน โดยเคสที่ประสบอุบัติเหตุ พบความเสี่ยงจากการใช้ความเร็ว หลับใน
3. รถกระบะบรรทุกคนเดินทางในงานรื่นเริง (งานหมอรำ คอนเสริต์) งานบุญประเพณี งานเทศกาล (สงกรานต์ ฯลฯ) เหมือนกรณีนี้ โดยเคสประสบอุบัติเหตุ จะพบความเสี่ยงกับคนขับ ได้แก่ ดื่ม/เมาขับ ขับเร็ว คึกคะนอง และมีการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก
นอกจากนี้ความเสี่ยงและผลกระทบอื่น ๆ ที่พบร่วมได้ เช่น การใช้ไม่มีโครงยึดเกาะ หลังคา รถสภาพเก่า ชำรุด ยางเสื่อมสภาพ (ระเบิด) รวมไปถึงการไม่มีหรือไม่ต่อประกันภาคบังคับ
ดังนั้น ทางออกหรือแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องแยกระหว่างการแก้ปัญหาภาพรวมซึ่งต้องใช้เวลา กับ มาตรการเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย ได้แก่
1. มาตรการภาพรวม
- การสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง (มีอยู่ 1 ใน 3 ที่มองว่าไม่เสี่ยง) รวมทั้งการกำหนดให้โฆษณารถกระบะ ต้องระบุความเสี่ยงของการนั่งท้ายกระบะ และ การนั่งใน space cab
- การส่งเสริมการติดตั้งโครงยึดเกาะในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้
- เข้มงวดให้บรรทุกไม่เกิน 6 คนและขับไม่เร็วเกิน 80 กม./ชม. และระยะยาวพิจารณาปรับฐานภาษีสรรพสามิตสำหรับรถกระบะ 4 ประตู ให้ใกล้เคียงกับกระบะ 2 ประตู เพื่อเอื้อให้ผู้บริโภคที่จะซื้อเปลี่ยนมาใช้กระบะ 4 ประตูที่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร (แทนการนั่ง space cab ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะอันตรายเพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย)
- มีมาตรการความรับผิดชอบของหน่วยงานองค์กร โรงงาน ฯลฯ โดยเข้ามากำกับดูแลมิให้มีการนั่งท้ายกระบะหรือถ้าจำเป็นก็มีเงื่อนไขด้านความปลอดภัย เช่น มีโครงยึดเกาะ ใช้ความเร็วตามกำหนด (ไม่เกิน 80 กม/ชม.) รถมีการตรวจสภาพพร้อมใช้ มีประกันภัย ฯลฯ
- สำนักงานการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาให้ทุกสถานศึกษาต้องมีข้อกำหนดร่วมกับสถานที่รับฝึกงาน เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของนักศึกษา เช่น การใช้รถที่สภาพพร้อมใช้ มีประกันภัย กรณีมีงานรื่นเริงต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าจะมีการดื่มก็ต้องกำกับมิให้คนที่ดื่มมาขับรถ ฯลฯ
2. มาตรการกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ
- กลุ่มขนแรงงาน เพิ่มข้อกำหนดบริษัทที่จะมารับงานภาครัฐ มีการใช้รถรับส่งพนักงานต้องมีความปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องใช้รถกระบะก็ต้องมีโครงยึดเกาะ
- กลุ่มบรรทุกคนในงานบุญประเพณี งานรื่นเริงฯ ซึ่งพบว่าอุบัติเหตุสัมพันธ์กับการ “ดื่มขับ”
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อกำหนดให้ทุกครั้งที่มีงานรื่นเริงและมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะงานหมอรำ ฯ ต้องมีการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ รวมทั้งการป้องปรามเมื่อมีการบรรทุกท้ายกระบะเกิน 6 คน
กำหนดความรับผิดชอบเจ้าของงานที่จะกำกับดูแลมิให้คนที่มาเที่ยวงานเมาแล้วขับ รวมทั้งกวดขันการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของ 13 ครอบครัวและของประเทศ เพราะนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาเหล่านี้ถือเป็นกำลังหลักให้กับครอบครัวและประเทศชาติ ดังนั้น มาตรการที่ทุกหน่วยงานสามารถช่วยกันลดความเสี่ยงลงได้ ก็จะช่วยป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเหมือนครั้งนี้อีก เหมือนที่คุณแม่น้องรามอส หนึ่งในนักศึกษาผู้จากไปฝากกับสังคมว่าไม่อยากให้มีครอบครัวไหนต้องสูญเสียกับการนั่งท้ายกระบะอีก