"...แนวทางนี้ ก็เหมือนกับที่ต่างประเทศทำกัน เช่น ประเทศจีน ตอนแรกเราเข้าใจว่า จีนยกคลื่นให้ผู้ประกอบการไปดำเนินการเองเลย แต่พอไปศึกษาไปสอบถามข้อมูลจริงๆ เขาไม่ได้ยกให้ฟรี เขาให้ไปดำเนินการ แต่ว่ามี grace period ( ระยะเวลาผ่อนผัน) 3-4 ปี ปีที่ 5 ค่อยจ่ายเงิน เขาจ่ายเท่าเดิม แต่ตอนแรกไปลงทุนก่อน ซึ่งเราก็ไปดูโมเดลประเทศอื่นก็คล้ายๆกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แนวทางนี้ ก็น่าจะเดินหน้าประเทศไทยได้..."
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงปลายเดือนส.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสร่วมคณะสื่อมวลชน เดินทางไปติดตามทำข่าว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เข้าพบปรึกษาหารือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU ) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมทั่วโลก ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินงานคลื่น 5 G ของประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำเสนอแผนงานเสนอให้บอร์ด กสทช. และรัฐบาล พิจารณาประกอบการขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่อง 5 G ในประเทศไทย
โดยก่อนหน้าการเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. สะท้อนภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดประมูลคลื่น 5 G ที่สำคัญหลายประการให้สื่อมวลชนที่ร่วมคณะเดินทางได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคความล่าช้าในการเปิดประมูล ความไม่พร้อมของผู้ประกอบการด้านกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยต่อการแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการ รวมไปถึงผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในภาพใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดให้บริการคลื่น 5G ของประเทศไทย ที่มีความล่าช้าในปัจจุบัน (อ่านประกอบ : สดจากเจนีวา! ‘ฐากร’ เลขาธิการ กสทช.ชำแหละปัญหาประมูลคลื่น 5G ในวันที่ไร้อำนาจ ม.44) นาย
หลังเสร็จสิ้นภารกิจคณะเดินทางกลับมาประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5 G ของไทย อีกครั้ง ว่า ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง กับการดำเนินงานเรื่อง 5G ปัญหาความกังวลทุกอย่างคลี่คลายไปแล้วหรือไม่ .....
"ตอนนี้ ผมมีความสบายใจมากขึ้น"
"การดำเนินงานเรื่อง 5G สำหรับประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นเปิดให้บริการได้ภายใน ปี 2564"
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา พร้อมอธิบายชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่อง 5 G ของประเทศไทยอย่างละเอียด
นับจากบรรทัดนี้ไป คือ เนื้อหารายละเอียดบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มเกี่ยวกับแผนงานการดำเนินงานเรื่อง 5G ของไทย ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทั้งหมด ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในเร็วๆ นี้
@ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
อิศรา : ความคืบล่าสุดการดำเนินงานเรื่อง 5G ของประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "เรื่อง 5G กสทช.กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่อยู่ หมือนกับประเทศอื่นที่กำลังขับเคลื่อน 5G กัน คือ เดิมทีการประมูลคลื่นความถี่ของเรา ต้องมองแบบนี้ว่า ตอนที่เป็นยุคของ 3G, 4G คนที่ได้ประโยชน์ ก็คือ ตัวบริษัทผู้ให้บริการกับประชาชนที่ใช้งาน ถ้าประชาชนใช้งานเท่าไร บริษัทเขาก็เก็บเงินได้มากเท่านั้น แต่พอเป็นยุค 5G เกิดขึ้นมา จะเป็นการใช้งานทางด้านอินเทอร์เน็ตที่เป็นภาคการผลิต ที่จะได้รับประโยชน์เกิดขึ้น จะช่วยลดต้นทุนการผลิตอะไรต่างๆ"
"ในส่วนของ โอเปอเรเตอร์ (ผู้ประกอบการด้านกิจการโทรคมนาคม) ถามว่าเขาอยากจะลงทุนทำ 5G เลยไหม เขายังไม่อยาก เพราะว่า 4G ยังทำเงินให้เขาได้อยู่ เพราะฉะนั้น การที่เราจะผลักให้เขาทำ 5G ให้เร็วที่สุด เราก็เลยมองว่า 1. การประเมินมูลค่าคลื่นก็เป็นไปตามเดิม แต่ในเมื่อเขามองว่า 2-3 ปีแรก ยังไงก็ตามประชาชนยังไม่ได้ใช้งานอย่างแน่นอน คนที่จะใช้งาน คือ ภาคการผลิต เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ ภาคการลงทุนต่างๆ ที่จะได้ใช้งาน ประชาชนโดยตรงที่ลงไปยังไม่ได้ใช้"
"เราก็เลยมองว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะเดินหน้าตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่คิดไว้ คือ ในช่วง 1-2 ปี แรก คุณ(เอกชน) ยังไม่ต้องจ่ายเงินให้เราก็ได้ แต่เราจะเริ่มให้จ่ายปีที่ 3 เมื่อคิดว่าประชาชนมีการใช้งานทั่วไปแล้ว คุณก็เริ่มจ่ายเงินมาให้เรา ภายใต้เงื่อนไขว่ามูลค่าคลื่นต้องเท่าเดิมนะ"
"ผมก็บอกไปแบบนี้ เขา(เอกชน) ก็เริ่มสบายใจขึ้น"
อิศรา : ได้พูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ (ผู้ประกอบการทางด้านโทรคมนาคม) แล้ว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "หลังเดินทางกลับมาจากการเข้าปรึกษาหารือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU ) ผมได้เชิญโอเปอเรเตอร์มาพูดคุยแล้ว บอกว่า ผมจะทำในลักษณะนี้ คุณโอเคไหม ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายมาช่วยกันขับเคลื่อน 5G กัน เขาก็บอกโอเค แบบนี้มีความสบายใจขึ้น จึงได้เอาเงื่อนไขนี้ ไปใส่ในเงื่อนไขการประมูลแล้ว"
"แนวทางนี้ ก็เหมือนกับที่ต่างประเทศทำกัน เช่นประเทศจีน ตอนแรกเราเข้าใจว่า จีนยกคลื่นให้ผู้ประกอบการไปดำเนินการเองเลย แต่พอไปศึกษาไปสอบถามข้อมูลจริงๆ เขาไม่ได้ยกให้ฟรี เขาให้ไปดำเนินการ แต่ว่ามี Grace period ( ระยะเวลาผ่อนผัน) 3-4 ปี ปีที่ 5 ค่อยจ่ายเงิน เขาจ่ายเท่าเดิม แต่ตอนแรกไปลงทุนก่อน ซึ่งเราก็ไปดูโมเดลประเทศอื่นก็คล้ายๆกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แนวทางนี้ ก็น่าจะเดินหน้าประเทศไทยได้"
อิศรา : เอกชนมีความสบายใจมากขึ้น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "เขามีความสบายใจมากขึ้นนะ เขาคิดว่ามันโอเคนะ เพราะว่าให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เมื่อคุณเปิดให้บริการแล้ว เพราะเมื่อก่อนเขามองว่าเปิดให้บริการไปแล้วมีความเสี่ยงกับการขาดทุนสูงมาก เนื่องจากว่าอุปกรณ์ของประชาชนยังรองรับไม่ได้ มีเฉพาะภาคการผลิตที่ใช้ได้ เราเลยเสนอแนวทางไปว่า ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องจ่ายเงิน 1-2ปี ไปเริ่มจ่ายปีที่ 3 แต่ก็ต้องมีหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวางค้ำไว้ เขาก็โอเคกัน"
อิศรา : คำนวณมูลค่าคลื่นตอนนี้อยู่ที่ราคาเท่าไร
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องตัวเลขอยู่ ต้องรอก่อน แต่ที่ชัดเจนแล้วตอนนี้ คือ ระยะเวลา 15 ปี เราให้เริ่มจ่ายปีที่3-4 ภายใต้เงื่อนไขรอให้ประชาชนใช้งานได้ก่อน ค่อยว่ากัน ผู้ประกอบการเขาก็สบายใจ มีกำลังใจเข้าประมูลคลื่นความถี่มากขึ้น"
"เรื่องตัวเลขประเมินมูลค่าคลื่น2,600 ตอนนี้ ยังไม่ออกมา รอผลการประเมินจาก 3 สถาบัน ก่อน คือ จุฬาฯ เชียงใหม่ ทีดีอาร์ไอ ต้องเอาตัวเลข 3 แห่ง มาหาร 3 จะได้ยุติธรรม แต่ตัวเลขประมูลคลื่นของแต่ละประเทศ เราจะมองคล้ายกันไม่ได้ เพราะลักษณะสภาพการใช้งานของไทยกับต่างประเทศต่างกัน รายได้คนไทยกับต่างประเทศไม่เท่ากัน การใช้งานไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นมันจะต้องดูหลายมิติ"
อิศรา : แล้วตัวเลขจะชัดเจนเมื่อไร
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้
อิศรา : จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาร่วม นอกจาก 3 เจ้าในตลาดเดิมหรือไม่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "มี แต่ผมยังเปิดเผยไม่ได้หรอก ต้องรอดูความชัดเจนจากเขา ว่าจะมาเข้าร่วมหรือไม่"
อิศรา : แนวทางทั้งหมด ได้พูดคุยกับประธาน กสทช. และรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "การประมูลเป็นอำนาจของ กสทช. เมื่อก่อนเวลาจะทำอะไรต้องรายงานหัวหน้า คสช. เพราะอยู่ในรัฐบาลคสช. แต่วันนี้เราไม่ต้องรายงานเนื่องจาก กสทช. เป็นหน่วยงานอิสระไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เรามีอำนาจดำเนินการได้ แต่ต้องประสานนโยบายร่วมกันวเพราะนโยบายขับเคลื่อน 5G ต้องเดินตามนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลด้วย"
อิศรา : ถ้าตามขั้นตอน คือ กันยายนนี้ ได้ตัวเลขมูลค่าคลื่น ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "ตัวเลขมูลค่าคลื่น จะอยู่ที่ช่วงปลายกันยายนถึงต้นตุลาคม ขั้นตอนต่อไปคือเอาตัวเลขนำเสนอที่ประชุม กสทช. และเอาไปใส่ประกาศประมูล 5G ถ้า กสทช.เห็นชอบก็นำร่างไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ น่าจะจบเดือนธันวาคม และก็จะเริ่มประมูลปี 2563 จากนั้นในช่วงปี 2564 น่าเปิดให้บริการได้ เพราะหลังจากการประมูล เอกชนก็จะต้องไปลงทุนในการวางโครงข่าย กว่าจะวางเสร็จต้องใช้เวลา แต่เราคิดว่าถ้าประมูลจบเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม อาจจะทันเปิดให้บริการเดือนตุลาคม ในพื้นที่บางพื้นที่ไปก่อน ผมคิดว่าให้เขาเลือกไปก่อนว่าการลงทุนจะไปลงทุนส่วนไหนที่คุ้มค่าค่อยขยายออกไป เราบอกแล้วว่าเขาต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่90%ภายใน 4-5 ปี แต่ปีแรก20%เขาอาจต้องลงทุนสิ่งที่คุ้มทุนก่อน เขาน่าจะเน้นภาคการผลิต ที่จะมีการนำ ปัญญาประดิษฐ์ ( artificial intelligence : AI) เข้ามาช่วยในการทำงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง"
อิศรา : มีความเป็นห่วงว่า จะมีคนตกงานจำนวนมาก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "เข้าใจเรื่องความเป็นห่วงว่าจะคนจะตกงาน แต่ขออธิบายดังนี้ เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เข้าใจว่ามีคนตกงานแน่นอน แต่คนกลุ่มที่ตกงาน จะมีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นมารองรับ เราต้องปรับตัวให้ทัน ถ้าปรับตัวได้เราก็จะไม่ตกงาน อย่างตอน 3G กสทช.ก็ประกาศขอให้ทุกคนที่ทำธุรกิจขอให้ปรับตัวไปทำธุรกิจใหม่ๆ อย่าทำเหมือนเดิม ก็จะเห็นว่าคนที่ไม่ปรับตัวก็ตกงาน ตัวอย่างเช่นวันนี้ ไปรษณีย์ไทยฟื้น เพราะระบบใหม่เข้ามาทำให้เป็นหน่วยงานโลจิสติกส์ บทบาทเปลี่ยนไป บริษัทโทรคมนาคมแต่ก่อนให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศวันนี้มีใครใช้โทรศัพท์ต่างประเทศบ้าง ตอนนี้คนโทรบนไลน์หมด มันคนละยุคกัน"
"เพราะฉะนั้น เขาต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากงานที่ทำอย่างเดียวเป็นทำอย่างอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ไลน์แมน เมื่อก่อนไม่เคยมีอาชีพนี้ ตอนนี้คนมาทำงานอาชีพนี้กันมากขึ้น"
อิศรา : กำลังจะบอกว่า การมาของเทคโนโลยีใหม่ จะนำมาซึ่งอาชีพอื่น ที่อาจจะสร้างรายได้ได้มากกว่า ถ้าเราปรับตัวได้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "ในมุมมองของ ITU เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่มา เราอย่ากลัว แต่ต้องรีบปรับตัวให้ทันแล้วเราจะมีงานใหม่ทันที ถ้าเราปรับตัวไม่ทันเราก็ตกงาน อาชีพในการต่อยอดมีจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นแน่นอน"
อิศรา : แผนงาน 5 G ที่อธิบายมาทั้งหมด ณ จุดนี้ มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจทำให้งานไม่เป็นตามที่วางไว้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. : "ปัจจัยแรกคือโอเปอเรเตอร์ทางด้านโทรคมนาคม เขาอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากทุกคน มองว่าถ้าเขาเปิดให้บริการเร็วมันเกิดประโยชน์ต่อประเทศแต่ไม่เกิดประโยชน์กับเขา และมันน้อย แต่อีก2-3ปีจะเกิดประโยชน์กับเขา ในขณะเดียวกันการลงทุนของเขาจะสูงขึ้นเพราะเมื่อเปิดให้บริการเร็วต้นทุนจะสูงเพราะอุปกรณ์แพง โอเปอเรเตอร์เขามองว่า2ปีค่อยเปิดก็ได้ เดี๋ยวต้นทุนก็ถูกลง เขามองมุมนั้น แต่มันเป็นมุมมองทางด้านผู้ประกอบการโดยตรงแต่ไม่ใช่มุมมองประเทศ มันจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือสิ่งที่กังวลมากที่สุดว่าถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือภาคราชการก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการลงทุนเขาต้องเป็นคนลงทุน กสทช. ก็เลยต้องขับเคลื่อนตรงนี้"
"ปัจจัยที่สอง การเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2,600 เมกะเฮิร์ตซ์ จาก อสมท. (บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)) เมื่อมีการประเมินคลื่นความถี่ ประเมินการเยียวยา ตรงนี้เป็นโจทย์ว่า อสมท.เขาจะรับเงื่อนไขหรือเปล่า ถ้าไม่รับก็ต้องไปฟ้องศาล ถ้าศาลคุ้มครอง เราก็ช่วยอะไรไม่ได้ กระบวนการในการประมูลมันต้องหยุดลง"
"ทั้งหมดนี่ เป็นปัจจัยที่ผมห่วง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร กสทช.ก็ต้องเดินหน้าทำงานเต็มที่ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ตอนนั้นค่อยมาว่ากันอีกที"
/////////
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดความคืบหน้าเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5 G ของไทย ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ในเร็วๆ นี้ จากคำบอกเล่าของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ล่าสุด
ส่วนผลการดำเนินงานจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ปี 2564 สังคมไทยจะได้เริ่มต้นใช้งานคลื่น 5 G ตามที่กสทช.ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่
คงต้องคอยดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/