"...การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอแนะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ การโกงกินและพฤติกรรมฉ้อฉลกลายเป็นตัวถ่วงที่รู้เห็นกันมานาน ทำให้หลายคนคิดไปว่าเป็นเรื่องทีใครทีมันจึงไม่มีใครใส่ใจแก้ไข..."
แม้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะปฏิเสธแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ข่าวความพยายามดึงงบประมาณจากทุกกรมในสังกัด กรมละ 5 ล้านบาทมาเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ก็ทำให้สื่อมวลชนหวาดผวาอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมทำนองนี้นำไปสู่การคอร์รัปชันและสร้างความไม่เป็นธรรมในวงการสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องรุนแรง
กลโกงที่ได้มากกว่าเงิน..
ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและองค์กรธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯ ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไว้ว่า ที่ผ่านมามักเกิดความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณเหล่านี้ กล่าวคือ
1. มีการเรียกเงินทอน มากถึงร้อยละ 15 - 30 สำหรับงานโฆษณา แต่หากเป็นงานอีเว้นท์อัตรามาตรฐานคือร้อยละ 40 หรือบางงานอาจสูงถึง 70 ของงบประมาณที่รัฐจ่ายไป
2. เงินภาษีเหล่านั้นมักหมดไปแบบไม่คุ้มค่า เพราะถูกใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวบุคคล มุ่งหวังเพื่อสร้างภาพพจน์สร้างชื่อเสียงของผู้มีอำนาจมากกว่าการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้โครงการ บริการหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
3. ผู้มีอำนาจมักใช้งบประมาณเหล่านี้ไปอุดหนุนสร้างความร่ำรวยให้กลุ่มธุรกิจหรือสื่อมวลชนที่เป็นเครือข่ายคนกันเอง หรือใช้เป็นเครื่องมือต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่มิชอบบางอย่าง จนถึงการแทรกแซงและครอบงำสื่อ
รัฐใช้เงินในการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากแค่ไหน..
ปี 2556 หน่วยราชการ 20 กระทรวงใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมกัน 7,985 ล้านบาท ไม่รวมจัดงานอีเว้นท์และงบโฆษณาที่แฝงในโครงการต่างๆ (ข้อมูลจาก ทีดีอาร์ไอ) ขณะที่การจัดซื้อก็นิยมใช้ “วิธีพิเศษ”
ปี 2559 ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ต.ค. เพียง 10 เดือน สำนักนายกฯ แค่หน่วยงานเดียว ใช้งบโฆษณาไปแล้วเป็นเงิน 976.17 ล้านบาท (นีลเส็น; Positioning Magazine, 13/11/60) และ 979.5 ล้านบาทในปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าตลอดปี 2559 และ 2560 การใช้งบโฆษณาของทุกหน่วยงานรัฐรวมกัน อาจจะมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้าเสียอีก
มีทางออกแต่ทำไมไม่ทำ?..
1. เพื่อยุติปัญหานี้ สปช. ได้เสนอให้ออกกฎหมายควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณ โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในปีถัดมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้สนับสนุนข้อเสนอนี้ด้วยการจัดทำร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง แต่รัฐบาลและวิป สนช. ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย โดยเสนอให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ มาใช้บังคับจะเหมาะสมกว่า คณะกรรมาธิการฯ ของ สปท. จึงยกร่างระเบียบดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลราวกลางปี 2559 แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ปรากฏทั้งกฎหมาย ระเบียบหรือนโยบายใดๆ ออกมา
2. เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งให้ทุกหน่วยงานที่จะดำเนินโครงการเกี่ยวกับโฆษณาและประชาสัมพันธ์วงเงินเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องรายงานต่อ “คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ” หรือ คตร. แล้วเสนอต่อ ครม. แต่ คตร. ก็ถูกยกเลิกในปีถัดมามาตรการนี้จึงยุติไป
หยุดวงจรอุบาทว์..
การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอแนะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น
ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ การโกงกินและพฤติกรรมฉ้อฉลกลายเป็นตัวถ่วงที่รู้เห็นกันมานาน ทำให้หลายคนคิดไปว่าเป็นเรื่องทีใครทีมันจึงไม่มีใครใส่ใจแก้ไข
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
26 ส.ค. 2562
เอกสารอ่านประกอบ:
“สมศักดิ์” ปัดข่าวดึงงบกรมละ 5 ล้าน ทำ ปชส. เชิงรุก https://www.naewna.com/politic/433228
ใช้งบพีอาร์ 5 ล้านบาทขึ้นไปต้องขออนุญาต https://thaipublica.org/2015/05/government-advertising-11/
10 หน่วยงานใช้งบโฆษณาสูงสุด ม.ค. – ต.ค. 2559
งบ ปชส. ของ สปน. ส่วนมากจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” https://prachatai.com/journal/2017/07/72389