“เวลาที่เรามองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เราเห็นการส่งออกของเราติดลบประมาณ 4-5% เราใจไม่ดี แต่ถ้าดูว่าเป็นผลกระทบที่มาจากปัจจัยภายนอก พบการส่งออกประเทศรอบบ้าน ติดลบตัวเลขสองหลัก อย่างสิงคโปร์ ติดลบ 14-15% ขณะที่เกาหลีและไต้หวันติดลบค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นถือว่าไทยมีตัวเลขติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะไทยมีสินค้าส่งออกหลากหลาย ไม่ได้พึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว..."
วันที่ 19 ส.ค. 2562 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในเวทีสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 “รับมืออย่างไรในโลกที่ไม่แน่นอน” ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ จ.ขอนแก่น
นายวิรไท กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 จะเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะมีความอ่อนไหวและเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก หลายอย่างที่เราไม่ได้คาดคิดได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาต่อเนื่องมาจาก ‘สงครามการค้า’
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอลง แต่ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติหรือจะเกิดวิกฤติในช่วงใกล้ ๆ นี้ แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ
-ปัจจัยแรก
การกีดกันทางการค้า มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่จบลงง่าย ๆ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและต้นปีนี้ เรามีความคาดหวังว่าน่าจะมีการเจรจาทางการค้าที่นำไปสู่ข้อสรุปได้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา การที่สหรัฐฯ จะเพิ่มกำแพงภาษีมากขึ้นกับสินค้า 3 แสนล้านเหรียญของจีนและประกาศว่าจีนเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เป็นเรื่องที่จะทำให้จบลงได้ยากและสร้างปัญหาความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากให้แก่นักธุรกิจทั่วโลก
ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันนั้น ห่วงโซ่การผลิตมีความเชื่อมต่อกันทั้งโลก และหากลองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการวางห่วงโซ่การผลิตและมีลักษณะกระจุกตัวพอสมควร เช่น สินค้าบางอย่างกระจุกตัวอยู่ในการผลิตแถบเอเชียตะวันออกและประเทศจีน สินค้าบางอย่างกระจุกตัวในยุโรป เพื่อตอบโจทย์ของตลาดเหล่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์การกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้น แผนการวางห่วงโซ่การผลิตไม่ได้เกิดผลแบบเดิม เพราะสร้างผลกระทบเข้ามามากในกระบวนการส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปผลิตต่ออีกประเทศหนึ่งก่อนจะส่งไปสู่ปลายทาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นกับทุกคนและเป็นความแน่นอนที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจทั่วโลก
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้เราเริ่มเห็นเรื่องการกีดกันทางการค้า ไม่ได้เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น โดยเราไม่เคยคาดคิดมาก่อนจะเกิดขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่า “ปัญหาเรื่องการเมืองได้เข้ามาเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ” หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เพิ่งเจรจาข้อตกลงกันใหม่มาแทนความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ระหว่างรอให้สภาของสหรัฐฯ รับรอง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า อยากให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพด้วย ถ้าเม็กซิโกไม่ช่วยแก้ไขปัญหา จะเข้าไปเพิ่มกำแพงภาษีขึ้นไปอีก
“เห็นได้ว่ากลไกทางการค้าหรือกลไกทางเศรษฐกิจ สมัยก่อนจะเป็นปัญหาเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันถูกโยงเข้าไปเป็นกลไกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง”
ขณะที่ปี 2563 เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้นเชื่อว่า จะมีโอกาสที่จะมีมาตรการต่าง ๆ ที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นมาได้
-ปัจจัยสอง
ทราบข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะจบลงได้อย่างไร และจะจบลงแบบแรงแค่ไหน นั่นคือ การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำของอังกฤษครั้งหลังสุด ค่อนข้างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ (บอริส จอห์นสัน) มุ่งมั่นอย่างไรในการต้องออกจากสหภาพยุโรปให้ได้ภายใน 31 ต.ค. นี้ ไม่ว่าจะออกโดยไม่มีการตกลงใด ๆ ก็จะออก แต่จะสร้างผลข้างเคียงมากมายกับห่วงโซ่การผลิต แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์อย่างอาหารและยา ซึ่งต้องข้ามจากยุโรปไปอังกฤษ จากอังกฤษกลับมายุโรป จะส่งผลกระทบมากและเป็นวงกว้างโดยทั่วไป
-ปัจจัยสาม
นับเป็นเรื่องไม่ค่อยดีและดูเปราะบางมากขึ้น คือ บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศ โดยจะเห็นว่าปัญหาในตะวันออกกลางมีความเปราะบางมากขึ้น สถานการณ์ในอิหร่าน การยึดเรือบรรทุกน้ำมัน เป็นความเปราะบางที่ค่อย ๆ จะมีพัฒนาในทิศทางไม่ดี หรืออินเดียกับปากีสถานในแคว้นแคชเมียร์เป็นจุดเปราะบางที่สงบมานาน แต่พอภาวะแบบนี้ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้สภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางค่อนข้างมาก
นายวิรไท ยืนยันว่า กระนั้นเศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ต่างจากวิกฤติที่เราเคยประสบในปี 2008 หรือ 2009 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจโลกทั้งหมดหดตัว แต่วันนี้ที่กังวลกันมาก คือ สภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ปัจจัยต่าง ๆ ที่พูดถึงเป็นความไม่แน่นอนและเป็นความเปราะบาง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี การ มีการจ้างงานในระดับสูง ส่วนเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงยังถือว่าขยายตัวอยู่ที่ 6.5% ไม่ได้เข้าสู่ภาวะหดตัว ซึ่งแน่นอนว่า สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงไม่เป็นไปอย่างคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดผลย้อนกลับมาในภาคเศรษฐกิจได้
เศรษฐกิจไทยไม่น่าห่วง แม้ส่งออกติดลบ
ผู้ว่า ธปท. กล่าวต่อถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย โดยขยายความว่า ไทยมีเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดและพึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ด้านต่างประเทศส่งผลกระทบการขยายตัวต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง เมื่อต้นปี ธปท.เคยประมาณว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ประมาณ 3.8% แต่เมื่อ มิ.ย. ได้ปรับประมาณการณ์ลง เหลือ 3.3% สาเหตุสำคัญเนื่องจากการส่งออก เพราะการส่งออกมีทิศทางที่ชะลอลงมาก
“เราปรับประมาณการณ์ทุกไตรมาส ในรอบหน้า เดือน ก.ย. เราคงต้องปรับลงอีก เพราะบรรยากาศการกีดกันทางการค้าจะมีความรุนแรงมากขึ้นและไม่มีแนวโน้มจบลงได้ง่าย”
ขณะที่ตัวเลขการประมาณการณ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จีดีพีไตรมาส 2 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 เหลือ 2.3% นายวิรไท มองว่า แม้ยังมีการขยายตัว แต่ยังเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ ภาคส่งออกได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออก เราเห็นว่ามีการส่งออกลดลง ทั้งปีการส่งออกติดลบไปประมาณ 4-5%
“ตอนดูต้นปี คิดว่าข้อตกลงทางการค้าน่าจะมีข้อสรุปได้ การส่งออกค่อย ๆ จะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่วันนี้คิดว่าอาจไม่เป็นแบบนั้น”
สิ่งที่กังวลต่อไป คือ เมื่อการส่งออกเริ่มลดลง เริ่มมีผลกระทบไปสู่เรื่องการทำงานล่วงเวลา ซึ่งเป็นรายได้ของประชาชน คนอยู่ในตลาดแรงงาน ทำให้การบริโภคในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มชะลอลง กลายเป็นผลข้างเคียงต่อเนื่องไปสู่เรื่องการบริโภคได้
ทั้งนี้ ภาวะความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงด้วย ตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ที่ออกมาสะท้อนให้เห็นชัดว่า “ไตรมาส 2 การลงทุนของภาคเอกชนโตน้อยลงไปกว่าเดิมมาก เพราะเมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องระมัดระวัง ฉะนั้นเป็นผลกระทบเกิดกับตัวเศรษฐกิจจริง”
“เวลาที่เรามองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เราเห็นการส่งออกของเราติดลบประมาณ 4-5% เราใจไม่ดี แต่ถ้าดูว่าเป็นผลกระทบที่มาจากปัจจัยภายนอก พบการส่งออกประเทศรอบบ้าน ติดลบตัวเลขสองหลัก อย่างสิงคโปร์ ติดลบ 14-15% ขณะที่เกาหลีและไต้หวันติดลบค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นถือว่าไทยมีตัวเลขติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะไทยมีสินค้าส่งออกหลากหลาย ไม่ได้พึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว และยังได้รับอานิสงส์จากตลาดรอบบ้านค่อนข้างมาก ประเทศ CLMV ยังมีการขยายตัวที่ดี ประเทศในอาเซียนของสินค้าบางประเภทยังมีการขยายตัวค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น การที่เรามีการกระจายการส่งออกค่อนข้างดี จึงทำให้การส่งออกของเราไม่หดตัวไปแรงเหมือนประเทศอื่น” ผู้ว่า ธปท. กล่าวในที่สุด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/