"...สถาบันการเงินไม่ควรละเลยความเสี่ยงในมิติของ ESG และภายในองค์กรเองควรมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงคำนวณมูลค่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยควรเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำมั่น (Commitment) และการกระทำ (Action) ของผู้บริหารระดับสูงเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความยั่งยืน แนวปฏิบัติที่อาจเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืน การตั้งเกณฑ์การควบคุมกิจกรรมที่อาจส่งผลทางลบ และการขยายขอบเขตการพิจารณาความเสี่ยงด้านความยั่งยืน..."
หมายเหตุ-สุนทรพจน์ของนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 วันที่ 13 สิงหาคม 2562
งาน Bangkok Sustainable Banking Forum จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2018 เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนในภาคการเงินไทย และเพื่อเน้นย้ำบทบาทของภาคการเงินในการร่วมกันจัดการกับความท้าทายของสังคมไทย อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการคอร์รัปชั่น และถึงแม้ว่าการแก้โจทย์ในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย จะดูเหมือนไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงิน แต่ในฐานะของผู้จัดสรรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สถาบันการเงินสามารถมีส่วนเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
วันนี้ แนวคิดเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมหรือการกุศล แก่นของความยั่งยืนคือการคำนึงถึงธุรกิจในระยะยาว หากสถาบันการเงินสนใจแค่กำไรระยะสั้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากกิจกรรมของธุรกิจตน อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากสาธารณชน และฐานะทางการเงินของธุรกิจในระยะยาวได้
ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่จะช่วยให้เห็นภาพนี้ได้ชัดเจนขึ้น ได้แก่ (1) การเปิดบัญชีลูกค้าโดยพลการของธนาคาร Wells Fargo เมื่อปี 2016 จากวัฒนธรรมการทำยอดแบบสุดโต่ง (2) สิงคโปร์กับปัญหาหมอกควันจากการลักลอบเผาป่าของโรงงานปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษในอินโดนีเซีย นำไปสู่กฎเกณฑ์การล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ (3) มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงจากการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินไทย และ“สินเชื่อเงินทอน” นำไปสู่การกู้เกินความจำเป็น ซึ่งถึงแม้ว่าหลายครั้งสถาบันการเงินจะหลีกเลี่ยงการขาดทุนได้ แต่ยังคงบั่นทอนความไว้วางใจจากประชาชน
การละเลยประเด็นความยั่งยืนตามกรอบ ESG ในการทำธุรกิจของภาคสถาบันการเงิน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ได้แก่ (1) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ที่เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อผลผลิตและธุรกิจ จนทำให้ผู้กู้ขาดรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือปัญหาช่องว่างทางสังคม (Social Gap) ที่นำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบ และ (2) ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง สถาบันการบันการเงินมีความเสี่ยง ถ้าลูกค้าไม่สามารถปรับธุรกิจให้เข้ากับความคาดหวังของสังคม โดยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว และหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ถ้าผู้ผลิตไม่ปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
สถาบันการเงินไม่ควรละเลยความเสี่ยงในมิติของ ESG และภายในองค์กรเองควรมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงคำนวณมูลค่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยควรเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำมั่น (Commitment) และการกระทำ (Action) ของผู้บริหารระดับสูงเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความยั่งยืน แนวปฏิบัติที่อาจเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืน การตั้งเกณฑ์การควบคุมกิจกรรมที่อาจส่งผลทางลบ และการขยายขอบเขตการพิจารณาความเสี่ยงด้านความยั่งยืน
ปัจจุบัน เป็นเรื่องน่ายินดีที่สถาบันการเงินไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกรอบและคำนึงถึงความเสี่ยง ESG มากขึ้น สถาบันการเงินหลายรายมีการศึกษาแนวทางประเมินและบรรเทาความเสี่ยง การปรับปรุงกระบวนการทำงาน และการนำมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนระดับสากลมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาศักยภาพของธุรกิจ และสนับสนุนการให้คำมั่นที่จะปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
สุดท้ายนี้ ความยั่งยืนของภาคการเงินขึ้นอยู่กับความยั่งยืนในความไว้วางใจจากสาธารณชน ทุกคนต้องย้ำเตือนตัวเองว่า ความยั่งยืนเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อภาคการเงินมองกว้างและมองไกล มองข้ามผลประโยชน์ระยะสั้นของตนเอง เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาว