พาล่องพงไพรสัมผัสบรรยากาศเคล้าเสียงสายน้ำ แสงแดด หอมรื่น (ลม) ที่หมู่บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ พูดคุยกับผู้นำ ‘ป้อหลวง’ ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ นำงานวิจัยชุมชนขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่แหล่งท่องเที่ยวท็อปของประเทศ
เสียงน้ำใสไหลรินลดหลั่นลงมาเป็นระดับ เคล้าด้วยเสียงสายลมค่อย ๆ พัดผ่าน พุ่มไม้ชอุ่ม ตัดสลับด้วยท้องฟ้าสีคราม เป็นบรรยากาศที่พบเห็นได้ใน ‘หมู่บ้านแม่กำปอง’ ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขา ทรัพยากรธรรมชาติรายล้อม
ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.เชียงใหม่ ที่ทุกคนต้องไปเยือน โดยเฉพาะน้ำตกแม่กำปอง ต้นน้ำสำคัญและจุดสร้างแลนด์มาร์คของหมู่บ้าน
หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 เมตร อาชีพหลักในอดีต คือ การปลูกเมี่ยง (ชาอัสสัม) และกาแฟ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นอาชีพรองเสียแล้ว และถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยวชุมชนที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ธ.ค. 2543 สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นหลักแสนบาทต่อปี
จวบจนถึงกาลนี้ นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่คนในแม่กำปองรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ความเรียบง่าย ให้คงอยู่ รอดพ้นจากเงื้อมมือของกลุ่มทุนที่จ้องเข้ามาครอบงำ กระนั้น ต้องยอมรับว่า กว่าจะมีวันนี้ พวกเขาต้องล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูกมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งประสบความสำเร็จ ด้วยการสร้างองค์ความรู้มาใช้ในการจัดการพื้นที่
โดยผ่านงานวิจัยหัวข้อ “รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืนแม่กำปอง” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน
จึงถือว่าเป็นโอกาสดี ที่ได้พูดคุยกับผู้บุกเบิกความสำเร็จนี้ ‘ป้อหลวง’ ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านและประธานการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ แม่กำปอง
************************
1.สายฝนโปรยปรายยามเช้า น้ำค้างบนใบไม้พาให้ชุ่มฉ่ำ
ประตูไม้เก่าบ้านป้อหลวง แม่หลวง ซึ่งเป็นบ้านพักชื่อดังในย่าน ค่อย ๆ ถูกเปิดอ้าต้อนรับแขกมาเยือน “คณะสื่อมวลชนจากเมืองหลวง” กวาดสายตา ยืนจดจ้อง ภายในห้องเป็นสถานที่จัดแสดงภาพผลงานของป้อหลวง ทว่า พินิจอีกครา ช่างเหมือนห้องประชุมขนาดย่อมที่โรงแรมทั่วไปมีกัน
แล้วชั่วครู่ เจ้าบ้านก็เดินเข้ามานั่งด้วยรอยยิ้มในชุดหม้อห้อม
ป้อหลวงธีรเมศร์ เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในเวลานั้น หมู่บ้านแม่กำปอง ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทุกเรื่องล้วนต้องได้รับการพัฒนาเร็วที่สุด
เริ่มต้นด้วยการคมนาคมขนส่ง เขาเล่าว่า ถนนหนทางยังไม่ดี ไม่มีสะพานข้ามลำห้วย ทำให้รถยนต์ที่ขับเข้ามาต้องลุยน้ำ คงมีเพียงไม้ขนาดเล็กพาดผ่านให้คนเดินข้ามฝั่งเท่านั้น
อาชีพหลักมีอย่างเดียว คือ เมี่ยง ไม่มีอาชีพรองและไร้เงินทุนใด ๆ
ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ลองคิดดูว่า กว่า 180 หลังคาเรือน (เวลานั้นหมู่บ้านแม่กำปองยังไม่แยกตัวออกจากหมู่บ้านธารทอง) มีสุขาเพียง 10 หลังคาเรือน กลายเป็นปัญหาสุขอนามัยตามมา
ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ พบว่า โรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 60 คน ป่วยเป็นโรคคอพอกมากถึง 40 คน
ความเป็นผู้นำของป้อหลวง ทำให้มองหาช่องทางแก้ไขปัญหาควบคู่กับการพัฒนา “ถ้าเราพยายาม สิ่งไหนพัฒนากันได้ ก็น่าจะทำ ไม่ต้องไปรอพึ่งพาหน่วยงานเข้ามาช่วย”
เขาตั้งมั่นและเริ่มหันกลับมามองต้นทุนของหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน แน่นอนว่า ในห้วงเวลานั้น การท่องเที่ยวเริ่มบูม แต่การท่องเที่ยว ‘ชุมชน’ ยังได้รับความสนใจจากทางการน้อยอยู่
ป้อหลวง บอกเหตุผลเพราะชุมชนถูกมองว่า จัดการเองไม่ได้ ผิดจากตัวเขาที่เชื่อว่าจัดการเองได้
“ผมมองการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากมีต้นทุนเอื้อประโยชน์ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และดูวิถีชีวิตของคนแม่กำปอง ซึ่งเป็นคนล้านนาทั้งหมด ไม่ได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น จึงมองว่านี่แหละเป็นความแตกต่างอย่างหนึ่ง”
ผู้นำแม่กำปอง กล่าวต่อว่า ด้วยความเป็นคนล้านนา ทำให้มีวัฒนธรรมการกิน การอยู่ การพูดจา เหมือนเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่เดิมและยังมีโบราณสถาน ‘โบสถ์กลางน้ำ’ ของวัดกันธาพฤกษา หรือวัดแม่กำปอง ฉะนั้นต้นทุนเบื้องต้นทั้งหมดนี้ หากนำมาขับเคลื่อนสามารถจะก้าวไปสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้
ปฏิบัติจึงเริ่มต้น โดยมีระยะเวลาเตรียมการถึง 4 ปี
ป้อหลวงธีรเมศร์ อธิบายให้เห็นภาพการดำเนินงานไปจนถึงอุปสรรค มีการเข้าไปพูดคุยร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งหลายคนทวงถามกลับมาว่า “ถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว คนจะเข้ามาดูอะไรในหมู่บ้านเรา ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่น้ำตก”
ในเวลานั้นเขาตอบกลับไปว่า น้ำตกเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
“ความจริงเป้าหมายของเราไม่ได้มองแค่เรื่องนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เรามองไปมากกว่านั้น คือ การพัฒนาตนเอง”
พัฒนาตนเองอย่างไร?
สมัยนั้นไม่มีป้ายหมู่บ้าน แต่ละป๊อก แต่ละปาง มีชื่อ แต่ไม่มีป้าย ดังนั้น การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างน้อยเราได้พัฒนาตนเอง จัดทำป้ายขึ้นมา เหตุผลจึงทำให้คณะกรรมการหมู่บ้านเข้าใจ
อย่างไรเขาย้ำกลับไปอีกว่า “ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกัน”
การทำซุ้มป้าย ได้ขอให้ชาวบ้านนำไม้เหลือ กระเบี้องเก่า มารวมกัน แบ่งหมวดกันทำ จนได้เป็นป้ายขนาดใหญ่ในที่สุด
จากนั้นในเวลาต่อมา จึงได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแหล่งสะสมเงินออมของชาวบ้าน ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่า 4 ล้านบาท สามารถฝากถอนได้เหมือนธนาคารในทุกวันที่ 2 ของเดือน
หากไม่ทำเช่นนี้ เราจะไม่มีเงินลงทุน เพราะไม่สามารถนำที่ดิน ส.ค. 1 ไปจำนองกับธนาคารได้
และแล้วหมู่บ้านแม่กำปองก็เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ 10 ธ.ค. 2543
************************
2.ร้านค้าในหมู่บ้านค่อย ๆ เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว หมาน้อยเจ้าถิ่นนอนแผ่หรากลางถนนอาบเเดด ไร้เสียงรถ ฝุ่นควัน มีเพียงเสียงจากธรรมชาติบรรเลงดังโน้ตดนตรี
กว่าจะสำเร็จได้ทุกวันนี้ เมื่อเปิดหมู่บ้านต้องรับอย่างเป็นทางการมาได้ปีกว่า ๆ ปรากฎว่า ‘แม่กำปอง’ ยังคงมีปัญหาให้คอยแก้ไข
ผู้ใหญ่บ้านอย่างเขาในเวลานั้น จึงคิดว่า จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้คนในหมู่บ้าน โดยพาไปศึกษาดูงาน อบรมเสริมสร้างความรู้ และเชิญผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนมาเติมเต็ม ด้วยการของบประมาณจาก สกว.
“ความจริงแล้วไม่รู้เรื่องงานวิจัย แต่ด้วยสถานการณ์กำหนด ทำให้ต้องหาทุน ท้ายที่สุด สกว. เข้ามาขยายพื้นที่ มาแนะนำการวิจัย บอกว่า ชาวบ้านก็ทำวิจัยได้! ซึ่งไม่รู้เรื่องนี้เลย แต่อยากได้งบประมาณ เพราะจะนำไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ อบรมดูงานได้ ถือว่าตรงกับความต้องการ”
โดยได้มีการปรึกษากับอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียน คณะกรรมการหมู่บ้าน และสกว.ได้ส่งพี่เลี้ยงมาช่วยเหลือตลอดเวลา แต่ยอมรับว่า การเขียนรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ยากมาก (หัวเราะ)
ถามว่าผลตอบรับดีขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น ที่เห็นชัดเจน คือ จากเดิมในหมู่บ้านจะมีเพียงผู้สูงอายุ หากแต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หวนคืนท้องถิ่นมากขึ้น เพราะพื้นที่แห่งนี้สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่พวกเขาและเธอเหล่านั้น
ป้อหลวง บอกว่า ขณะนี้มีคนรุ่นใหม่มาทำงานในโฮมสเตย์และบ้านพัก ซึ่งในหมู่บ้านมีบ้านพักให้บริการนักท่องเที่ยว 47 หลัง โฮมสเตย์ 19 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้มากสุดเกือบ 600 คนต่อวัน
“ชาวบ้านในหมู่บ้านแม่กำปองมี 348 คน แต่มีคนมาพักไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน”
โดยเฉพาะ ‘โฮมสเตย์’ เขามองว่า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของดีของหมู่บ้าน ที่ต่อยอดจากแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากเจ้าของจะได้รับรายได้ทางตรง เป็นค่าที่พัก ค่าบริการอาหารแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งที่เก็บจากคณะทัวร์หัวละ 100 บาท มอบให้เป็นค่าบำรุงพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อนำไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ
“คราวแรกแม่บ้านกล้า ๆ กลัว ๆ คนจะมา ไม่มาไม่รู้ แต่กลัวต่างชาติ คนไทยเหมือนเพื่อนกัน คุยกันรู้เรื่อง แต่ต่างชาติมาจะทำอย่างไร ผมบอกว่า คนมาไม่มาไม่รู้ กลัวทำไมต่างชาติ ภาษาใบ้ภาษามือใช้ได้อยู่แล้ว”
ทั้งนี้ การบริหารจัดการ คณะกรรมการมีความเข้มแข็งและชาวบ้านให้ความร่วมมือ โดยสร้างกฎกติกา ถ้าไม่มีกฎกติกาในการบริหารจัดการ คงป้องกันการแทรกซึมของกลุ่มทุนหรือคนนอกพื้นที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ไม่ได้ เช่น ห้ามไม่ให้มีรถ ATV หรือให้คนนอกเข้ามาสร้างที่พักหรือโฮมสเตย์
ป้อหลวง บอกต่อว่า ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม ในอดีต มีเอ็นจีโอเข้ามาแนะนำว่า หากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว จะก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ชุมชนจะถูกเปลี่ยนแปลง
“ผมมาคิดว่า แทนที่จะท้อ ก็ไม่ท้อ แต่คิดหาวิธีป้องกัน อย่างเรื่องทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย คนเดินป่าจะไปดึงนู้นนี่ได้ เลยบอกว่า ถ้าจัดให้มีเส้นทางเดินป่า จะต้องไม่มีป้ายบอก เพื่อป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว และนักท่องเที่ยวจะเดินไปได้เองจนเกิดการพลัดหลงได้ ฉะนั้นต้องให้ไกด์ของหมู่บ้านเป็นผู้นำทางและทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการดูแลไปในตัว”
ชาวบ้านเมื่อได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จะรู้จักคำว่า “อนุรักษ์” มีการทำแนวกันไฟตั้งแต่ปี 2540 ตั้งแต่นั้นมาไม่มีไฟป่าเข้ามาในแม่กำปองเลย ได้ผลในเรื่องการดูแล
ขณะเดียวกันเลิกกังวลว่า เมื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมีเด็กหัวดำหัวแดง เพราะคนในพื้นที่มีความสัมพันธ์กับฝรั่ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครแต่งงานกับฝรั่งสักคน สาเหตุหนึ่ง เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ภาษาไม่เก่ง (หัวเราะ)
เช่นเดียวกันกับขยะที่มีการแก้ไขมาตั้งแต่เริ่มต้น จากเมื่อก่อนชาวบ้านทิ้งตามอัธยาศัย ตามวิถีเดิม ๆ แต่ยุคนี้สมัยนี้ขยะไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนการหมักเมี่ยงด้วยใบตอง แต่วันนี้มีพลาสติกเข้ามาเรื่อย ๆ จนเยอะ เลยมีการอบรมแยกขยะ และก่อสร้างเตาเผาขยะขึ้นมา
“ขยะเปียกให้จัดการของใครของมัน จากวันนั้นถึงวันนี้ อบต.ถูกกำหนดให้ดูแลเรื่องขยะ จึงมีรถจัดเก็บ ขยะเปียกมีหลุมทิ้งในป่าช้า ขยะแห้งถูกนำไปจัดการ ส่วนรีไซเคิลมีคนมารับซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาทุกอาทิตย์”
สนทนากันมานาน เคารพและศรัทธาในแนวความคิดของผู้นำอย่างป้อหลวงธีรเมศร์ แต่อดสอบถามไม่ได้ว่า กังวลหรือไม่อีก 10-20 ปีข้างหน้า คนยุคเจนเนอเรชั่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาแทนที่จะมีความคิดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เขานิ่งคิดชั่วครู่ แล้วตอบด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “กลัว” และ “ห่วง” ดังนั้นในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จึงพยายามปูทางให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่นให้มากที่สุด เพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ ในเรื่องการอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์ประจำถิ่น
“20 ปีข้างหน้า จะมีอีกรุ่น รุ่นสองจึงต้องสานต่อให้รุ่นที่สาม แต่อดห่วงว่าจะเอาคนรุ่นนั้นอยู่หรือไม่”
อย่างไรก็ดี อนาคตเชื่อว่า “หมู่บ้านแม่กำปอง” จะมีการเปลียนแปลงไปมากเล็กน้อย แต่โซนที่เราเน้นไม่ให้เปลี่ยนแปลง จะไม่ให้เปลี่ยนแปลง ยังต้องรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ เพราะทุกคนตระหนักดีว่า คนมาเที่ยว มาเพราะธรรมชาติ และเน้นให้ชาวบ้านเข้าใจ ช่วยกันด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งเคารพกติกาการใช้ทร้พยากร อย่างลำห้วย เห็นได้ว่า ไม่มีใครกั้นเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลได้
“พยายามคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เดิมให้ได้ เพื่อความยั่งยืน เพราะเมื่อ ‘พัง’ ไม่ได้พังคนเดียว แต่พังทั้งหมู่บ้าน เพราะตอนนี้ทุกคนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดและถือเป็นรายได้หลักของชุมชนแล้ว” ประธานการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ แม่กำปอง ทิ้งประโยคคมคายไว้ส่งท้าย
************************
“หมู่บ้านแม่กำปอง” ได้นำกระบวนการวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนค้นหาความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชน เมื่อผสานกับความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน ทำให้วันนี้ทุกคนต่างพากันแวะเวียนเข้าหาเหมือนดังญาติมิตรอยู่ไม่ขาดสาย แต่ก็น่าเสียดาย หากอนาคต “งบประมาณวิจัยชุมชน” ที่เคยสร้างหลายหมู่บ้านให้พัฒนาขึ้น ต้องถูกตัดทิ้ง ภายใต้ชายคา สกสว.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/