'ดร.ประสาร' นำเสนอ 7 เรื่อง 28 ประเด็น ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาไทย ปรับเเก้หลักคิด ค่านิยม พัฒนาเด็กปฐมวัย ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับวิชาชีพครู
วันที่ 17 ก.ค. 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงาน SET Social Impact Day 2019 “Partnership for Impact Co- Creation” ออกแบบ ทางออก มหาชน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บรรยายนำในหัวข้อ “ทางออกอนาคตการศึกษาไทย” โดยยอมรับว่า เป็นหัวข้อที่มีความซับซ้อนพอสมควรและหวังผลทางปฏิบัติ สามารถวัดได้ เป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย
ทั้งนี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับอนาคตเศรษฐกิจไทย หัวข้อใดจะยากกว่ากัน ซึ่งคิดว่า เรื่องการศึกษาจะซับซ้อนและมีความยุ่งยากมากกว่า
เมื่อมีความยุ่งยากกว่า กลับไม่มีใครจัดให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงเกรดเอ! ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน ใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องล้วนผ่านงานเกี่ยวกับการศึกษามาก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ประธาน กสศ. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีปัญหา 4 เรื่อง ได้แก่
1.คุณภาพการศึกษาไทย
โดยมีโจทย์เปรียบเทียบทั้งในเชิงมาตรฐานในประเทศ มีการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเรื่องสำคัญ เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยหากใช้คะแนน 100% พบเฉลี่ยทุกวิชาต่ำกว่า 50% ซึ่งเปรียบเทียบกับการวัดมาตรฐานสากล ตัวชี้วัดหลายอย่างฟ้องว่าเรามีปัญหาเชิงคุณภาพ
แล้วยังพบว่า ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ การพัฒนาเด็กปฐมวัยขาดการบูรณาการและด้อยประสิทธิภาพ การศึกษาภาษาไทย หากหวังทักษะอ่านออกเขียนได้ มีตัวชี้วัดชี้ด้อยคุณภาพ การศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาสต่ำ การจัดการเรียนการสอนยังล้าสมัย
2.การเข้าถึงการศึกษาไทย
เด็กเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา โดยจากการสำรวจของ กสศ. ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างน้อยขณะนี้มีมากกว่า 4 ล้านคน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา แล้วในจำนวนดังกล่าวมีสาเหตุใหญ่มาจากความยากจน อีกทั้งมีความแตกต่างในด้านคุณภาพการศึกษาหลากรูปแบบ เช่น โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ไกล เด็กจากครอบครัวยากจน การออกจากความยากจนข้ามชั่วคนไม่ได้
3.การศึกษาในฐานะบทบาทการแข่งขันกับผู้อื่นในบริบทเศรษฐกิจ
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยรวม จัดอันดับ 32 บางด้านอยู่อันดับดีมาก แต่ในจำนวนนี้การศึกษาอยู่ในอันดับ 56 เหมือนเป็นตัวถ่วงของการพัฒนา ส่วนความสามารถการศึกษาอาชีวศึกษาไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถกำลังแรงงานของประเทศได้ ความสามารถในการแข่งขันของอุดมศึกษาไทยยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าภายในประเทศจะรู้สึกภูมิใจกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลกแล้ว กลับอยู่ในอันดับที่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งของโลกและภูมิภาค
4.การบริหารจัดการทรัพยากร ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล
ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยต่ำ แม้จะใช้จ่ายลงทุนไปค่อนข้างสูง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 20% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือ 5-6 แสนล้านบาท แต่พบว่า การบริหารจัดการงบประมาณกลับด้อยประสิทธิภาพ โดยนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มคุณภาพการศึกษามากเท่าที่ควร
การผลิตครูไม่ตรงกับความจำเป็นของชาติ การสอนไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มักเน้นฐานความรู้ในเชิงสาระ นำไปสู่การท่องจำ มากกว่าการพัฒนาสมรรถนะ และยังเน้นการศึกษาตามระบบโรงเรียน ในขณะที่โลกเน้นการศึกษาตลอดชีวิต โรงเรียนขนาดเล็กขาดการจัดการให้มีคุณภาพ รวมถึงขาดข้อมูลที่ดีในการบริหารจัดการการศึกษา
ดร.ประสาร ระบุต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวมานั้น จึงมีข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ทั้งหมด 7 เรื่อง 28 ประเด็น
เรื่องที่ 1 ปรับแก้หลักคิดและค่านิยม โดยเสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ
-ประเด็นที่หนึ่ง ปรับแก้หลักคิดและค่านิยมหลักว่าด้วยเรื่องการให้การศึกษา แก้ปัญหาการขาดเอกภาพและประสิทธิภาพการจัดการ การพัฒนาทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การสร้างผลสัมฤทธิ์ภายใต้ความแตกต่างของภูมิสังคม ความหลากหลายทางปัญญา
-ประเด็นที่สอง การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชน ไม่ปล่อยให้รัฐทำฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งในระยะที่ผ่านมาถูกลดทอนศักยภาพของตนเองค่อนข้างมาก ทั้งที่ในอดีตสถาบันการศึกษาเอกชนมีบทบาทสำคัญมากในการให้การศึกษามีคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศ เนื่องจากมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ
-ประเด็นที่สาม การขับเคลื่อนจัดการการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยขณะนี้บ่นกันว่า จำนวนผู้เรียนน้อยลง ซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะมองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าอายุเพียง 18-22 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมไม่เปลี่ยนนิยามใหม่ให้ลูกค้ามีอายุถึง 80 ปีก็ได้ กลับเข้ามาที่มหาวิทยาลัยได้อีกในรูปแบบต่าง ๆ
-ประเด็นที่สี่ การทบทวนและปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
-ประเด็นที่ห้า การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
เรื่องที่ 2 การปฏิรูปพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่ง กสศ.เชื่อว่า หากไม่ดูแลและให้ความสำคัญในระดับนี้ กว่าจะเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาจสายเกินไป เพราะมีพัฒนาการทางร่างกายและเติบโตทางสมองไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ
-ประเด็นที่หก การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนาจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาสมกับวัย
-ประเด็นที่เจ็ด การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะจะหวังองค์กรส่วนกลาง สถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่เพียงพอ มารดา และคนใกล้ชิด มีบทบาท ฉะนั้นครอบครัวและชุมชนมีความสำคัญในการบริบาลเด็กเล็ก
เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
-ประเด็นที่แปด ให้มีกลไกหนึ่งเข้ามาเสริม โดยเป็นหน่วยงานโฟกัสเฉพาะในเรื่องความรู้และข้อมูล
-ประเด็นที่เก้า การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ บุคคลที่ต้องการได้รับดูแลเป็นพิเศษ
-ประเด็นที่สิบ การยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และในสถานศึกษาต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน
เรื่องที่ 4 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง พัฒนาผู้ประกอบอาชีพครูและอาจารย์
-ประเด็นที่สิบเอ็ด การผลิตครูและคัดกรองครู เพื่อได้ครูที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศและมีจิตวิญญาณความเป็นครู
-ประเด็นที่สิบสอง การพัฒนาวิชาชีพครู
-ประเด็นที่สิบสาม เส้นทางวิชาชีพครู เพื่อให้ครูมีความก้าวหน้าและได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม
-ประเด็นที่สิบสี่ การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสถานศึกษา
-ประเด็นที่สิบห้า การปฏิรูปองค์การวิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย เช่น คุรุสภา องค์การค้า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลาการทางการศึกษา
เรื่องที่ 5 การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนรู้และการประเมินผลการศึกษา
-ประเด็นที่สิบหก การปรับหลักสูตรจากฐานความรู้สู่ฐานสมรรถนะ
-ประเด็นที่สิบเจ็ด การปรับการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม
-ประเด็นที่สิบแปด การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกการศึกษาต่อ ซึ่งเวลานี้เป็นประเด็นใญ่มาก เด็กตั้งแต่ระดับชั้นเล็กเป็นต้นไปใช้เวลากับเรื่องติว แต่จะไปโทษไม่ได้ เพราะระบบคัดกรองเข้าโรงเรียนเป็นอย่างนั้น
-ประเด็นที่สิบเก้า ระบบความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เรียน
-ประเด็นที่ยี่สิบ การปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
-ประเด็นที่ยี่สิบเอ็ด การปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล
-ประเด็นที่ยี่สิบสอง การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ
เรื่องที่ 6 การปรับโครงสร้างหน่วยงานในระบบการศึกษา
-ประเด็นที่ยี่สิบสาม สถาบันการศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการศึกษา แทนการรวบอำนาจไว้ส่วนกลาง
-ประเด็นที่ยี่สิบสี่ การมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้ทดลองออกจากกรอบ ทดลองเรื่องใหม่ ๆ ขยายผลต่อไป
-ประเด็นที่ยี่สิบห้า การปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น มีโครงสร้างเอกภาพมากขึ้น มีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานวางนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานปฏิบัติ เพื่อให้เห็นความรับผิดชอบชัดเจนมากขึ้น มุ่งเน้นการกระจายอำนาจและธรรมาภิบาล
เรื่องที่ 7 การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้ประโยชน์เรียนรู้ความก้าวหน้าในระบบดิจิทัล
-ประเด็นที่ยี่สิบหก การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มเรียนรู้ดิจิทัลแห่งชาติ
-ประเด็นที่ยี่สิบเจ็ด การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา
-ประเด็นที่ยี่สิบแปด การเรียนรู้ความงอกงามในความคิดจากการใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ในการแก้โจทย์การศึกษา
*****************************
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/