เปิดเรื่องเล่านวนิยายชีวิต ตอน 2 'คุณชายอุ๋ย' ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับวัย 72 ปี สะท้อนผ่านหนังสือ 'ในหนึ่งเเผ่นดิน' เนื้อหาบอกเล่าการทำงานในชายคา ธปท. ร่วมรัฐบาลรัฐประหาร พร้อมเส้นทางชีวิตงานการกุศล
หมายเหตุ:เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิด ครบ 72 ปี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอนันตราสยาม โดยภายในงานมีช่วงประวัติเล่าเอง ซึ่งสำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอตอนที่ 1 ไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ:ประวัติเล่าเอง วันคล้ายวันเกิดครบ 72 ปี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตอนที่ 1)
สำหรับวันนี้ จึงขอนำเสนอเป็นตอนที่ 2
เริ่มต้นโดยกล่าวถึงการทำงานในธนาคารเเห่งประเทศไทย ระบุที่ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องที่เป็นหน้าที่ปกติ คือการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย การดูเเลอัตราเเลกเปลี่ยน การกำหนดดูเเลสถาบันการเงิน การดูเเลเเละบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะธนาคารเเห่งประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่มาก เพียงเเต่ตั้งใจฟังผู้เชี่ยวชาญเเต่ละเรื่องให้เข้าใจก็สามารถตัดสินใจดำเนินงานเรื่องต่าง ๆ ได้โดยไม่ยาก
"ผมอยากจะบอกว่า ในบรรดาองค์กรของรัฐในประเทศไทยที่ผมเคยมีโอกาสได้สัมผัสมา เเบงก์ชาติเป็นองค์กรที่มีบุคลากรที่มีความสามารถเเละความเชี่ยวชาญในงานพร้อมมากที่สุดเเละมีอยู่ทุกรุ่นอายุไม่ขาดสาย มีความสามารถไม่เเพ้ธนาคารกลางในประเทศตะวันตก ซึ่งเห็นได้ชัดในการประชุมต่างประเทศ"
ทั้งนี้ การทำงานปกติที่สุดในขณะนั้นยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งผมรับปากกับพนักงานธนาคารเเห่งประเทศไทยไว้ในสัปดาห์เเรกของการทำงาน
พนักงานคนหนึ่งถามผมว่า ผมเข้ารับตำเเหน่งนี้มีเป้าหมายอะไร?
"ผมตอบไปทันทีว่า ผมเกิดข้างเเบงก์ชาติ เห็นเเบงก์ชาติมาตั้งเเต่เด็ก ผู้คนทั่วไปมีศรัทธาว่า เเบงก์ชาติคือสถาบันที่ประชาชนพึ่งพาได้ เมื่อยามใดเกิดปัญหาเศรษฐกิจ เเบงก์ชาติเเก้ปัญหาได้เสมอ"
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วิกฤติการเงิน ปี พ.ศ. 2540 ธนาคารเเห่งประเทศไทยเเก้ไขผิดทางเเละทำให้ปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวจนเกิดวิกฤติอย่างรุนเเรง มีผลให้ศรัทธาของประชาชนหมดไป ผมจึงตั้งใจที่จะพยายามกู้ศรัทธาคืนมาให้ธนาคารเเห่งประเทศไทยให้ได้ก่อนผมจะพ้นหน้าที่ไป
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ธนาคารเเห่งประเทศไทยจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำตอนปลายปี พ.ศ. 2544 ระบุว่า มีผู้มั่นใจในธนาคารเเห่งประเทศไทยเพียงร้อยละ 10 เเละไม่มั่นใจสูงถึงร้อยละ 90
ปี พ.ศ. 2545 มีเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องใหญ่เกิดขึ้น 2 เรื่อง ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าธนาคารเเห่งประเทศไทยสามารถเเก้ปัญหาหรือดำเนินการลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็วเเละทำให้ได้ผลดีเกินคาด จะสามารถเรียกศรัทธาของประชาชนกลับมาได้ไม่มากก็น้อย
1.ธนาคารศรีนคร มีสถานะอ่อนเเอจนถึงขั้นใกล้จะล้มลง มี NPL สูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งหากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปก็จะขาดทุนจะหมดทุน เเละล้มลงได้
ผมทราบเรื่องเมื่อต้นเดือน มี.ค. พ.ศ. 2545 จึงตัดสินใจเเก้ปัญหา โดยจะให้ธนาคารนครหลวงไทย TAKE OVER ธนาคารศรีนคร เเล้วต้องทำให้เสร็จโดยเร็วก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนเสียหายทั้งระบบ โดยผมวางเเผนอย่างเงียบ ๆ กำหนดให้ดำเนินการ TAKE OVER ให้เสร็จในวันเดียว คือ วันศุกร์ ที่ 1 เม.ย. 2545 ด้วยการให้คณะกรรมการของทั้งสองธนาคารจัดประชุมให้มีมติสำหรับการ TAKE OVER ในตอนเช้าจากนั้นส่งมติให้ผู้ว่าการ ธปท. ภายในเวลา 11.00 น.
"ผมเขียนข้อความนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้อนุมัติตามที่คณะกรรมการของทั้งสองธนาคารเสนอมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามอนุมัติเเล้วส่งคืนผมในตอนบ่าย ครั้นถึงเวลา 15.00 น. ผมเเถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นักข่าวทำหน้างงกันถ้วนหน้า บ่นว่าทำไมไม่มีอะไรเเพร่งพรายมาก่อนเลย"
เรื่องนี้ในสายตาธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อสามารถทำได้สำเร็จชนิดที่ทุกคนไม่รู้ตัว ไม่กระทบความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินเลยเช่นนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของธนาคารเเห่งประเทศไทยในสายตาขององค์การธนาคารพาณิชย์ วงการธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไปดีขึ้น
2.กองทุนฟื้นฟูประสบความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากการเเก้ไขปัญหาสถาบันการเงินลดลง
รัฐบาลต่อมาออกพันธบัตรนำเงินล้างหนี้เสียหายไปเเล้วส่วนหนึ่ง เเต่ยังมีความเสียหายค้างอยู่อีก 3.5 เเสนล้านบาท ซึ่งกองทุนฟื้นฟูใช้วิธีกู้เงินระยะสั้น จากตลาดการเงินมาปิดความเสียหายไว้ โดยต่ออายุเงินพวกนั้นไปเรื่อย ๆ อันเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม
"ผมจึงเสนอผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปยังนายกรัฐมนตรีให้ออกพันธบัตรจำนวน 3 เเสนล้านบาท เพื่อนำมาล้างความเสียหายก้อนนี้ให้เสร็จในครั้งเดียว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในฐานะการเงินของประเทศไทย"
ที่ปรึกษาด้านการคลังของนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะขายพันธบัตรได้ไม่หมดในครั้งเดียว เเต่ผมยืนยันว่าจะขายได้หมด โดยขอให้ธนาคารเเห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการขายในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยเเละมอบให้ธนาคารเเห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ
(ธนาคารเเห่งประเทศไทย :ภาพประกอบ:https://icryptonian.com)
ผมเลือกออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายเเก่ผู้ฝากเงินธนาคารเเละเจรจาธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ซึ่งมีสาขารวมกันมากกว่า 1 หมื่นสาขา เป็นตัวเเทนขายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้
ทุกธนาคารมั่นใจว่าจะขายหมดทั้ง 3 เเสนล้านบาท โดยขอระยะเวลา 45 วัน เพื่อให้เเน่ใจว่าจะขายได้ทั้งหมด ได้ขอให้สื่อมวลชน 6 ฉบับ ช่วยบทความพร้อมกันในวันเสาร์ 31 ส.ค. พ.ศ. 2545 ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์จะเปิดรับจองในวันจันทร์ ที่ 2 ก.ย. พ.ศ. 2545
"บทความหนังสือพิมพ์ช่วยชี้ให้ผู้ฝากเงินเห็นว่าการลงทุนในพันธบัตรครั้งนี้ นอกจากจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากเเล้ว ยังเป็นการช่วยชาติอีกด้วย สมกับชื่อ พันธบัตรช่วยชาติ ที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ ตั้งให้"
ปรากฎว่า บทความดังกล่าวสร้างกระเเสซื้อพันธบัตรมากอย่างเหลือเชื่อ โดยในการเปิดรับจองวันเเรกมีผู้จองมากกว่า 2 เเสนล้านบาท เเละเมื่อถึงวันที่ 3 ก.ย. พ.ศ. 2545 เวลา 11.00 น. มีผู้จองซื้อครบทั้งจำนวน 3 เเสนล้านบาท ไม่ต้องรอถึง 45 วัน
ข่าวความสำเร็จพันธบัตรครั้งใหญ่นี้กระจายไปทั่ว ผู้คนได้เห็นความสามารถของธนาคารเเห่งประเทศไทยในการทำสิ่งยากให้เสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น เหนือความคาดหมายอย่างชัดเเจ้ง
เมื่อถึงสิ้นปี พ.ศ. 2545 มีการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธนาคารเเห่งประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าผู้ไม่เชื่อมั่นลดลงจากร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 30 เเละมีผู้เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 70
ต่อมาปี พ.ศ. 2547 เมื่อธนาคารเเห่งประเทศไทยตรวจพบว่ามีการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ชอบมาพากลที่ธนาคารกรุงไทย กรณีกฤษดามหานคร ซึ่งมีผลให้ผู้ว่าการธนาคารเเห่งประเทศไทยยืนยันไม่ให้ต่ออายุกรรมการผู้จัดการที่หมดวาระลงในช่วงนั้น จากนั้นได้สั่งฟ้องผู้กู้เเละกรรมการบริหารที่อนุมัติสินเชื่อรายนี้
การยืนหยัดต่อสู้ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ทั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เเละนักหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลรายหนึ่งสนับสนุนกรรมการผู้จัดการคนนั้นอยู่ ช่วยเรียกศรัทธาของประชาชนที่มีต่อธนาคารเเห่งประเทศไทยกลับมาได้เพิ่มขึ้นอีก
ณ สิ้นปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจความเห็นประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่ามีผู้เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 90 เเละผู้ไม่เชื่อมั่นลดลงเหลือร้อยละ 10
"เป็นอันว่า ผมได้ทำตามเป้าหมายที่รับปากกับพนักงานไว้ เเละเป็นเป้าหมายที่ผมอยากทำจริง ๆ เพราะอยากเห็นธนาคารเเห่งประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิม เหมือนตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่"
เมื่อถูกยื่นตำเเหน่งนายกฯ -รองนายกฯ ให้เลือก
ชีวิตของผมผกผันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร ในเดือน ก.ย. พ.ศ. 2549
ก่อนปฏิวัติ 1 สัปดาห์ มีคนมาพบผม บอกว่า ผู้ใหญ่สองคนใช้ให้มาถามผมว่า "ถ้ามีการปฏิวัติเเละเปลี่ยนรัฐบาล จะเชิญผมเข้าร่วมรัฐบาลในตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี จะรับหรือไม่ เเละรับในตำเเหน่งใด"
ผมรู้ทันทีว่า หนึ่งในผู้ใหญ่สองคนนั้นคงจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมตอบว่า "ยินดี โดยขอรับตำเเหน่งเพียงรองนายกรัฐมนตรี"
หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ก็มีปฏิวัติจริง ๆ เเล้วผมก็เป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เเต่ทำอยู่ได้ไม่นานรู้ว่า เขาคงไม่อยากให้ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป สังเกตได้จากการที่ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. 7 เรื่อง เเล้วถูกนายกรัฐมนตรีตัดสินในที่ประชุมให้ตก 4 เรื่อง ทั้งก่อนที่เสนอที่ประชุมได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีจนเห็นด้วยทั้งหมดเเล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ประชาชนต้องการมาก คือ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เเละรถไฟชานเมือง
ผมเร่งให้ทีมงานในกระทรวงคมนาคมเตรียมการประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเเละรถไฟชานเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะประมูลเสร็จในอายุรัฐบาลนั้น โดยหลังจากใช้เวลา 2 เดือน ทีมงานกระทรวงคมนาคมเตรียมการประมูลได้ถึง 5 เส้นทาง ผมทำเรื่องปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นด้วยเเละให้นำเรื่องเสนออนุมัติจากที่ประชุม ครม.ทันที แต่ไม่ผ่านมติที่ประชุม
นอกจากนี้มีอีก 3 เรื่องที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้ผมนำเสนอที่ประชุม ครม. เเต่ไม่ผ่าน ผมเห็นว่า คงทำงานสำเร็จได้ยาก จึงขอลาออกจากรัฐบาลปลายเดือน ก.พ. พ.ศ. 2550
หลังจากนั้นผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลอีก
(สถาบันคึกฤทธิ์ : ภาพประกอบ https://happyschoolbreak.com/museum-kukri/)
ผันตัวทำงานสังคม-การกุศล
ต่อมาได้รับการเชิญชวนให้ทำงานด้านการกุศลเเละบริการสังคม โดยผมรับเป็นประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เเละประธานมูลนิธิบูรณะชนบทเเห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนี้ช่วยหาเงินสร้างสถาบันคึกฤทธิ์ ณ ซอยงามดูพลี เป็นสถานที่เเสดงนิทรรศการประวัติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เเละเป็นศูนย์ฝึกสอนโขน ละครรำ เเละดนตรีไทย เพื่อรักษาเเละเผยเเพร่ศิลปะการเเสดงของไทยให้เเก่เยาวชนรุ่นหลัง
ปรากฎว่าขณะนี้มีเด็กมาเรียนโขน ละครรำ เเละดนตรีไทยมากกว่า 600 คน เป็นประจำ
ส่วนมูลนิธิบูรณะชนบทฯ นั้น ผมพยายามปรับปรุงสถานที่ให้ดีขึ้น จัดทำประวัติเเละรูปปั้น อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมกับปรับปรุงสถานที่เพื่อใช้เป็นที่ให้ความรู้ด้านเกษตรเเละวิถีชีวิตชนบทเเก่เยาวชนในกรุงเทพฯ
ชีวิตเปลี่ยนอีกครั้ง หลังรัฐประหาร 57
เมื่อคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ปฏิวัติล้มรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เเล้ว ชีวิตของผมได้เปลี่ยนเเปลงอีกครั้งหนึ่ง
คสช.เเต่งตั้งให้ผมเป็นที่ปรึกษาเเละชวนให้เข้าร่วมรัฐบาลในตำเเหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดูเเลด้านเศรษฐกิจ
เมื่อเข้ารับตำเเหน่งพบว่า การส่งออกของไทยลดการขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 2.93 ในปี พ.ศ. 2555 เเละหดตัวลงในปี พ.ศ. 2556 เเละ 2557 ทั้งนี้ เพราะสินค้าอุตสาหกรรมมากมายหลายประเภทไม่สามารถเเข่งขันกับคู่เเข่งในอาเซียนที่มีต้นทุนค่าเเรงต่ำกว่ามากได้อีกต่อไปเเล้ว มีความจำเป็นต้องเเก้ไขปัญหาโดยด่วน ด้วยการส่งเสริมสินค้าประเภทใหม่ ที่เราได้เปรียบคู่เเข่งในภูมิภาค เป็นสินค้าที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคยังไม่มีความพร้อมผลิตได้
ทีมงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ช่วยจัดทำรายชื่อสินค้าประเภทใหม่ ที่สมควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ รวมทั้งสิ้น 77 กิจการ เป็นกิจการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ผลิตสินค้าเเละบริการที่ประเทศผู้ซื้อมีฐานะดีมีความต้องการ เป็นสินค้าคุณภาพสูงขายได้ในราคาดี เราเร่งเสนอจนได้รับการอนุมัติภายใน ธ.ค. พ.ศ. 2557 เเละประกาศให้มีผลบังคับใช้ต้น ม.ค. พ.ศ. 2558 เเล้วเราไปทำโรดโชว์ให้นักลงทุนในญี่ปุ่นได้รับรู้ถึงสามเมือง จากนั้นทีมงานบีโอไอนำไปทำโรดโชว์ในประเทศอื่นต่อไป
เรื่องนี้นับเป็นผลงานชิ้นโบว์เเดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะปรากฎว่ามีนักลงทุนจากประเทศเจริญเเล้วมายื่นขอบัตรส่งเสริมในกิจการใหม่เหล่านี้เป็นจำนวนมากตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2558 ทุกปีเรื่อยมา
ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2561 บีโอไออนุมัติให้บัตรส่งเสริมเเก่กิจการ 77 ประเภทใหม่นี้ ถึง 3,127 โครงการ เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 1.21 ล้านล้านบาท เเละได้มีการเริ่มลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานเเละซื้อเครืองจักรไปเเล้ว 2,554 โครงการ เริ่มเปิดดำเนินการไปบ้างเเล้ว เเละทยอยเปิดดำเนินการเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2562 เเละ 2563
ผมเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์การค้าของโลกตะวันตกเเละโลกทั่วไปกลับคืนสู่ปกติ กิจการใหม่ทั้ง 77 ประเภท จะช่วยให้ยอดส่งออกกระโดดขึ้นอีกครั้งหนึ่่ง ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของไทยกลับมาเติบโตในอัตราสูงได้อีก
ผมเเละพรรคพวกถูกเชิญออกจากรัฐบาลในวันที่ 19 ส.ค. พ.ศ. 2558 ผมก็กลับไปช่วยงานมูลนิธิต่าง ๆ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลอีก
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีไม่ชอบมาพากลจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ)
จนกระทั่งวันหนึ่ง ปี พ.ศ. 2560 ดร.คุรุจิต นาครทรรพ มาบอกว่า มีเรื่องไม่ชอบมาพากลกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม ที่รัฐบาลเสนอต่อสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ ตอนผ่านวาระหนึ่งเป็นพ.ร.บ.ที่มีเฉพาะเรื่องการขยายประมูลเลือกวิธีผู้สำรวจ เเต่เมื่อผ่านเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง มีการเติมเรื่องใหม่อีกหนึ่งเรื่อง คือให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันเเห่งชาติขึ้นมาเป็นเจ้าของสัมปทานเเละสิทธิในพลังงานของประเทศทุกชนิดรวมอยู่ด้วย
อีกหนึ่งสัปดาห์ พ.ร.บ.นี้ต้องเข้าพิจารณาอนุมัติในวาระที่สามเเล้วจะคัดค้านอย่างไรดี
ผมปรึกษากับผู้รู้ในวงการพลังงานเเล้ว เห็นว่าหากปล่อยให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันเเห่งชาติขึ้นจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจเขียนหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของเรื่องนี้เเละผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติเเละนัดหมายกันว่า เมื่อผมอ่านหนังสือเปิดผนึกให้สื่อมวลชนทุกฉบับเเละโทรทัศน์ถ่ายทอดเเล้ว ขอให้ช่วยโจมตีรัฐบาล ผู้เสนอกฎหมายนี้ทางโซเซียลมีเดียติดต่อกันสองสามวัน เพราะนายกรัฐมนตรีกลัวการโจมตีทางโซเซียลมีเดียมาก
พร้อมทั้งเตรียมสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติที่มีความรู้เรื่องพลังงานให้อภิปรายอย่างเต็มที่ในวันพิจารณาวาระสาม ปรากฎว่าได้ผลเกินขาด เพราะเมื่อถึงวันพิจารณา หลังอภิปรายไปครึ่งวัน นายกรัฐมนตรีได้สั่งถอย เเละสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติลงมติให้ตัดเรื่องบรรษัทน้ำมันเเห่งชาติออกจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ปลายปี 2560 นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติอยู่ด้วย มาบอกผมว่า มีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอีกในการเสนอ พ.ร.บ. อีอีซี ของรัฐบาล เพราะมีการยัดไส้เรื่องอนุญาตให้คนต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินไว้ด้วย โดยมาตรา 48 อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำคนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยได้ ไม่เฉพาะคนงาน เเละมาตรา 49 อนุญาตให้ผู้ประกอบการเเละผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณอีอีซีได้
ถือเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เเละเป็นวิธียัดไส้ไว้ในกฎหมายใหม่ เพื่อหักล้างข้อห้ามที่มีอยู่ คุณสาธิตช่วยให้ผมทำเรื่องนี้ให้ปรากฎเพื่อให้ตัดเรื่องนี้ออก เผอิญเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระสอง ยังไม่จำเป็นที่ต้องต่อสู้กันทางสื่อมวลชน จึงใช้วิธีทำหนังสือถึงประธานกรรมาธิการ ซึ่งพิจารณาวาระสอง ชี้เเจงให้เห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น ดังที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านมาเเล้ว เเล้วขอให้ท่านพิจารณาช่วยชาติในเรื่องนี้
ผลตามมา คือ เมื่อมีการพิจารณามาตรา 48 เเละ 49 ในวาระสอง ประธานกรรมาธิการกระตุ้นให้มีการถกเถียงกันอย่างเต็มที่ กรรมาธิการส่วนใหญ่รักเเละหวงเเหนเเผ่นดินไทย ในที่สุดจบด้วยการตัดคำว่า ผู้อยู่อาศัยออกจากทุกเเห่งในกฎหมายนั้น
เนื้อหาส่วนใหญ่ของกฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนาอุตสาหกรรมเเละเป้าหมายอื่นที่สำคัญยังคงมีอยู่ครบถ้วน .
อ่านประกอบ:“ในหนึ่งแผ่นดิน” INSIGHT ที่ ‘หม่อมอุ๋ย’อยากเล่า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/