"...การเฝ้าสังเกตุการเติบโตของพืช และชีวิตของแมลง แล้วใช้ความรู้หาจังหวะที่จะเข้าหรือออก เพื่อแทรกแซงหรือไม่แทรกแซง โดยไม่ผิดความเป็นธรรมชาติที่สามารถเติบโตด้วยตัวเอง วิธีนี้ก็นำมาใช้กับการดูแลเด็กได้ ซึ่งผู้คุมที่สนใจการพัฒนามนุษย์ น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการสังเกตนักโทษได้ จะช่วยพัฒนานักโทษให้ไปพ้นจากปมของชีวิตที่เป็นเหตุให้ไปก่ออาชญากรรม..."
เช้านี้มีเด็กออทิสติกมาเยี่ยม เดินตามแอ๊วมาจากบ้านทานตะวัน ขณะที่ผมกำลังฟังเสียงนักร้องคนโปรด Pavarotti-Domingo-Carreras / The Three Tennors 3 ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ฟังเท่าไรก็ไม่เบื่อ ก็อยากให้เด็กออทิสติกได้ยินได้ฟังด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาจากภายใน
“โลตัส” เป็นเด็กออทิสติกที่เรารับเข้าบ้านทานตะวันตอนแบเบาะ โดยหารู้ไม่ว่า “โลตัส” เป็นเด็กออทิสติก จนโตขึ้นจึงเห็นอาการ วันนี้โลตัสอายุ 3 ขวบกว่า เดินดูของต่างๆไปทั่วบ้าน ไม่พูดไม่จา เฝ้าดูแต่สิ่งของรอบตัว จับโน้นจับนี่ เดินขึ้นเดินลงบันได ปิดประตู ใส่กลอน ผมถามว่ากินกล้วยหอมไหม ก็ไม่ตอบ ไม่มองหน้า คงเดินสำรวจไปเรื่อยๆ
เราได้แต่เฝ้าสังเกตุดูอยู่ห่าง ๆ เพียงระวังว่าจะมีอันตรายไหม ย้ายของอันตรายให้ห่างมือเขาก็พอ สักพักก็เดินกลับไปบ้านทานตะวัน
ตอนอยู่ในคุก ผมก็ชอบเฝ้าสังเกตุคนคุกที่เล่นโน้นเล่นนี้ บ้างเล่นหมากรุก บ้างเล่นหมากฮอส บ้างเล่นปิงปอง บ้างชกลมเล่น ใส่นวมต่อยกับพี่เลี้ยง บ้างเดินเร็วรอบอาคาร บ้างลงเล่นตะกร้อ เล่นฟุตบอลกลางแดดเปรี้ยง บ้างนั่งดูคนโน้นคนนี้ บ้างนอนในห้องยิมดูคนเล่นกายบริหาร บางคนก็นอนเล่นจนหลับไปเลย บ้างก็เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ บ้างก็เล่นกีต้าร์
คนที่เป็นผู้ช่วยผู้คุม ก็จะอยู่ในจุดงาน ในห้องขายของ ในจุดตรวจคนออกเยี่ยมญาติ หรือในห้องเยี่ยมญาติ บ้างก็อยู่ในโรงอาหารจัดโต๊ะทำความสะอาด เมื่อมีคำสั่งว่าจะมีแขกมาดู ก็ทำมากขึ้นหน่อย เอาโถน้ำมาวางตามโต๊ะ มีฝาชีมาครอบอาหาร
นักโทษจะอาบน้ำตอนเช้า ซักเสื้อผ้า ตากแดดที่ราวตากผ้าอาบน้ำ ทุกคนพยายามทำให้ร่างกายของตัวเองสะอาดสะอ้านที่สุด เห็นได้ว่าคนคุกรักความสะอาดกันทุกคน ห้องส้วมกลางแจ้งก็สะอาดให้ใช้ได้ตลอดเวลา
ในแดน 1 มีงานเบาๆให้ผู้ช่วยผู้คุมทำ มีงานในเรือนพยาบาลที่งานจะมากหน่อย เพราะต้องเป็นผู้ช่วยพยาบาล นอนร่วมในห้องคนไข้ ใช้ห้องน้ำอาบน้ำร่วมกัน แยกมาจากแดน 1
การเฝ้าสังเกตุของผมถูกฝึกมาจากการเฝ้าสังเกตุเด็กๆที่บ้านทานตะวัน เด็กอนุบาล เด็กวัยรุ่นที่หมู่บ้านเด็ก มา 40 กว่าปี
ตอนที่ผมกับแอ๊ว ไปเยี่ยมปู่ฟู-มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่สวนและไร่นาบนเกาะชิโกกุ ทางตอนใต้ของเกาะญี่ปุ่น ปู่ทำงานโดยการเฝ้าสังเกตุการเติบโตของพืช และชีวิตของแมลง แล้วใช้ความรู้หาจังหวะที่จะเข้าหรือออก เพื่อแทรกแซงหรือไม่แทรกแซง โดยไม่ผิดความเป็นธรรมชาติที่สามารถเติบโตด้วยตัวเอง วิธีนี้ก็นำมาใช้กับการดูแลเด็กได้ ซึ่งผู้คุมที่สนใจการพัฒนามนุษย์ น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการสังเกตนักโทษได้ จะช่วยพัฒนานักโทษให้ไปพ้นจากปมของชีวิตที่เป็นเหตุให้ไปก่ออาชญากรรม
หลักการนี้เมื่อนำมาใช้กับการดูแลคนคุกเหล่านี้ เพียงแต่ผู้คุมต้องมีความรู้ด้านจิตวิทยา และทัศนะคติที่ดี มองเขาแบบมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ รู้ประวัติในวัยเด็กของคนคุกแต่ละคน ว่ามีการเลี้ยงดูแบบไหนจึงส่งผลต่อบุคลิกภาพจนเกิดปมในใจที่นำมาสู่การก่ออาชญากรรมเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
ถ้าเรากลับมาย้อนดูความหมายของคำศัพท์ คำว่า “ราชทัณฑ์” นั้นแปลว่าอะไร ก็พบว่า 1. อาญาจากพระเจ้าแผ่นดิน,โทษหลวง”ต้องราชทัณฑ์” 2. กรมมีหน้าที่ลงโทษควบคุม และดูแลผู้กระทำความผิด
ในภาษาอังกฤษ แปลคำว่าราชทัณฑ์ คือ 1. Department of Corrections 2. punishment by royal decree 3. penalty imposed by the king
อะไรที่นำไปสู่การแก้ไข มากกว่าการลงทัณฑ์ และการลงทัณฑ์นั้นหมายความเพียงการลงโทษที่อาจใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย ต่อจิตใจ ที่เรามักจะกล่าวว่าเป็นการแก้ไข ฉะนั้นสิ่งที่เราถียงกันเรื่องคนคุก คือเราจะแก้ไขเขาอย่างไรก่อนปล่อยตัวออกจากเรือนจำ
การพิจารณารากของศัพท์ ก็จะสะท้อนวิธีคิดในเรื่องนี้ได้ “เพราะภาษาเป็นดวงตาของสมอง” ที่นำไปสู่การกระทำ
นี่คือเรื่องที่พวกผมนำเรื่องราวในเรือนจำมาพูดคุยกันในที่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งระบบ ไม่เจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่ง ไม่เจาะจงไปที่คุมขังแดนใดแดนหนึ่ง หรือผู้คุมในแดนนั้น ไม่เจาะจงไปที่ผู้บัญชาการเรือนจำ ไม่เจาะจงไปที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์
แต่เจาะจงไปที่นักการเมือง ผู้สามารถกำหนดนโยบายในฐานะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องรื้อความคิดทั้งระบบในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมของประเทศ โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการปฎิบัติต่อนักโทษใหม่
ถ้ากระทรวงยุติธรรมทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณะสุข ศาลยุติธรรม สภาทนายความ สนง.ตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัยต่างๆ การปรับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และคุณภาพในการพัฒนาคนทำผิด ก็จะสามารถทำได้ และแก้ไขได้
นี่เป็นความหวังในข้อเขียน”คุกศึกษา” ว่าสามารถสะท้อนในเรื่องที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แบบปรับรื้อ สร้างใหม่ได้
พิภพ ธงไชย
อดีตนักโทษแดน 1
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
12 กรกฎาคม 2562
PB : Pibhop Dhongchai