"...สำหรับแนวทางการรับมือข่าวปลอมของผู้บริโภคสื่อ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะผลักภาระ หรือโยนความรับผิดชอบให้กับผู้บริโภคสื่อว่า จะต้องรู้เท่าทันได้ด้วยตนเอง แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เช่น ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข่าวปลอม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ หรือองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามาทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาในเชิงข้อเท็จจริงเพื่อ “ต่อสู้” กับข่าวปลอม..."
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “ผลกระทบของข่าวปลอมและแนวทางการรับมือของผู้บริโภคสื่อ” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนส่วนใหญ่หันมาเสพข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มีการส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ ซึ่งพบว่า มีการส่งต่อกันแบบผิด ๆ สูงกว่าร้อยละ 80 จากบรรดาข่าวปลอมทั้งหมด และในระยะหลังยังพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหรือข่าวต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น ทวิตเตอร์ มีแนวโน้มที่จะถูกรีทวีตมากกว่าข่าวที่นำเสนออย่างถูกต้องและเป็นความจริง
จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของข่าวปลอม พบว่า มีผลกระทบต่อผู้บริโภคสื่อ ทั้งในแง่ทัศนคติความเชื่อ เช่นเรื่องการเมือง การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน บางเรื่องยังส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น เรื่องยา ข้อมูลสมุนไพรต่าง ๆ บางเรื่องนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ นอกจากนี้หากผู้บริโภคสื่อ มีการส่งต่อเรื่องราวที่เป็นเท็จ หมิ่นประมาท อาจเข้าข่ายความผิดทางกฎหมายได้ด้วย
ขณะเดียวกันผลการศึกษายังพบว่า ช่องทางการแพร่กระจายมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ข่าวปลอมชิ้นนั้น ๆ เรื่องนั้น ๆ สร้างผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น กล่าวคือ หากแพร่กระจายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นสาธารณะ เปิดให้ทุกคนสามารถมองเห็นได้ เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ จะมีความรุนแรงหรือสร้างผลกระทบน้อยกว่า “Private Group” หรือกลุ่มปิดที่มีความเป็นส่วนตัว เช่น การสนทนาผ่านไลน์ กลุ่มไลน์ หรือกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพราะกรณีกลุ่มปิด ผู้คนที่เข้าร่วมในกลุ่มนั้นจะต้องมีความผูกพันกันในระดับหนึ่ง ทำให้ไว้ใจกัน เชื่อใจกันได้ง่ายกว่าคนแปลกหน้า และยิ่งนานวันเมื่อได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน เสพแต่สื่อที่ป้อนข้อมูลชุดเดิมๆ ซ้ำๆ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคสื่อได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว และกลายเป็นเลือกรับฟังหรือเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยหรือถูกจริตเท่านั้น ปัญหาลักษณะดังกล่าว สอดคล้องกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “เสียงก้องในห้องแคบ” หรือ echo chamber คือสภาวะการเลือกเสพสื่อหรือติดตามข่าวสารจากกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกับตัวเองเท่านั้น จนกระทั่งเราได้ยินแต่สุ้มเสียงแบบเดียวกับตัวเองเข้าหูตลอดเวลา เมื่อฟังบ่อยเข้า ก็เผลอนึกไปว่าเสียงตัวเองเป็นความจริงอันสูงสุด ล่วงละเมิดไม่ได้ และไม่มีที่ว่างเปิดใจรับฟังเสียงที่แตกต่าง
นอกจากนี้ปัญหาอีกประการของ ‘Private Group’ ก็คือ มีลักษณะเป็นการใช้งานของกลุ่มคนวัยใกล้เคียงกัน เช่น กลุ่มไลน์ของผู้สูงอายุ ความเท่าทันหรือความสามารถในการใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ ค้นหาข้อมูล (Search Engine) อาจจะมีข้อจำกัดหรือศักยภาพน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นที่เกิดในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์หรือระบบอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยม ทำให้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่ข่าวปลอมได้
ดังนั้น สำหรับแนวทางการรับมือข่าวปลอมของผู้บริโภคสื่อ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะผลักภาระ หรือโยนความรับผิดชอบให้กับผู้บริโภคสื่อว่า จะต้องรู้เท่าทันได้ด้วยตนเอง แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เช่น ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข่าวปลอม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ หรือองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามาทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาในเชิงข้อเท็จจริงเพื่อ “ต่อสู้” กับข่าวปลอม
ขณะเดียวกันองค์กรสื่อ หรือสำนักข่าว ควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบข่าวปลอมมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์สาธารณะที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ด้านเจ้าของแพลตฟอร์ม แม้ว่าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย จะเป็นเรื่องเสรีภาพของการสื่อสาร แต่เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์ม มีการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังรายได้ในเชิงพาณิชย์ ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เช่น จะต้องมีการพัฒนาอัลกอริทึมที่ตรวจจับข่าวปลอม หรือกรณีที่มีผู้กดรีพอร์ตในโพสต์นั้นๆ เป็นจำนวนมาก เจ้าของแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงในอนาคตเจ้าของแพลตฟอร์ม อาจจะต้องสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้บริโภคสื่อด้วย
ขณะที่ผู้บริโภคสื่อเองจะต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลทุกครั้ง ต้องเสพสื่อหรือข่าวสารจากหลากหลายแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก มีการพัฒนาระบบอัลกอริทึมขึ้นมา เพื่อเรียนรู้และปรับเนื้อหาในนิวส์ฟีดให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ยกตัวอย่าง หากเรากด “ถูกใจ” หรือ “แชร์” เนื้อหาประเภทไหนบ่อยครั้ง มันก็จะยิ่งแสดงเนื้อหาในทำนองเดียวกันให้เราเห็นมากขึ้นด้วย ทำให้เราสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องตระหนัก และต้องคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน อย่าเชื่อ อย่าแชร์อะไรง่าย ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็น ‘เหยื่อ’ หรือเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่ข่าวปลอม