"...เวลาเกิดแผ่นดินไหว อาคารต้องสามารถปกป้องชีวิตผู้คนได้ แม้ว่าตัวโครงสร้างจะได้รับความเสียหายก็ตาม นี่หมายความว่า อาคารต้องป้องกันการพังทลายโดยสิ้นเชิง ที่เราเรียกว่า Total Collapse เพื่อให้คนอพยพออกได้อย่างปลอดภัย..."
บ่ายวันศุกร์ ในขณะที่ผมนั่งติดตามข่าวแผ่นดินไหวอย่างจดจ่อ ก็มีเสียงเคาะประตูเบาๆ เมื่อเปิดประตู ก็พบ "ขวัญ" นักศึกษาปีสี่ที่กำลังทำโครงงานเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร เธอมีคำถามมากมายโดยเฉพาะความกังวลในการต้องอาศัยในคอนโดสูง 40 ชั้น หลังจากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ผมจึงเชิญให้เธอนั่งลง และเริ่มเล่าเรื่องราวที่ว่า...
"เมื่อครั้งที่ผมเริ่มเรียนวิศวกรรมโครงสร้าง อาจารย์ของผมเคยบอกว่า การออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวไม่เหมือนกับการออกแบบทั่วไป มันเป็นเรื่องของชีวิตและความปลอดภัย"
ผมลุกขึ้นเดินไปที่กระดานไวท์บอร์ด วาดรูปอาคารง่ายๆ แล้วเริ่มอธิบาย
"หลักการแรกและสำคัญที่สุดคือ 'ความปลอดภัยของชีวิต' ทุกอย่างเริ่มจากตรงนี้" ผมขีดเส้นใต้ประโยคนี้บนกระดาน "อาคารอาจเสียหาย แต่ต้องไม่ถึงขั้นถล่มทลายจนคร่าชีวิตผู้คน"
ขวัญมองตามมือผมที่กำลังวาดเส้นแสดงการสั่นไหวของอาคาร
"เวลาเกิดแผ่นดินไหว อาคารต้องสามารถปกป้องชีวิตผู้คนได้ แม้ว่าตัวโครงสร้างจะได้รับความเสียหายก็ตาม นี่หมายความว่า อาคารต้องป้องกันการพังทลายโดยสิ้นเชิง ที่เราเรียกว่า Total Collapse เพื่อให้คนอพยพออกได้อย่างปลอดภัย"
สายตาของขวัญเปล่งประกายด้วยความเข้าใจ แต่ก็ยังมีคำถาม
"แล้วทำไมเราไม่ออกแบบให้อาคารไม่เสียหายเลยล่ะคะ?"
ผมยิ้ม นั่นเป็นคำถามที่ดี
"นั่นนำเราไปสู่หลักการข้อที่สอง 'ยอมรับว่าความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่ไม่ยอมรับการถล่มทลายโดยสิ้นเชิง'"
ผมวาดรูปคลื่นแผ่นดินไหวบนกระดาน แล้วชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงและความไม่แน่นอนของมัน
"ต่างจากแรงลมหรือแรงโน้มถ่วง พลังงานจากแผ่นดินไหวนั้นมหาศาล เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง การออกแบบให้ไม่มีความเสียหายเลยนั้น ทั้งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและไม่สามารถทำได้ในทางเทคนิค เราจึงยอมให้โครงสร้างมีความเสียหายในจุดที่ควบคุมได้ เพื่อดูดซับพลังงานมหาศาลนั้น แต่ต้องไม่ถึงขั้นถล่มทลายทั้งหลัง"
ขวัญพยักหน้า สีหน้ายังคงกังวล "แล้วหนูควรย้ายออกจากคอนโดไหมคะ?"
ผมส่ายหน้า "อาจารย์เชื่อว่าอาคารสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องนั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และไม่ควรกังวลจนเกินไป"
"แต่อาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้น อาคาร สตง. ทำไมถึงถล่มทั้งหลังแบบนั้น?"
ผมถอนหายใจเบาๆ "นั่นคือคำถามที่สำคัญที่สุด และเป็นบทเรียนที่แพงที่สุดในวงการวิศวกรรมโครงสร้างของเรา อาคารที่ออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักการต้านแผ่นดินไหว แม้จะเกิดความเสียหาย แต่ต้องไม่พังทลายทั้งหมดในทันที โดยเฉพาะกับแผ่นดินไหวที่จุดศูนย์กลางอยู่ไกลแบบนี้"
ผมชี้ไปที่ภาพถ่ายบนโต๊ะทำงาน ภาพอาคารที่เสียหายจากแผ่นดินไหว แต่ยังมีคนรอดชีวิต
"กรณีอาคาร สตง. นั้นเป็นกรณีพิเศษที่ต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียด แต่ไม่ควรนำมาเป็นตัวอย่างทั่วไปสำหรับอาคารสูงในกรุงเทพฯ ทั้งหมด มันเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติและไม่น่าจะเกิดขึ้นกับอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้อง"
ความวิตกของขวัญดูเบาบางลง "ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ หนูเข้าใจมากขึ้นแล้ว"
เมื่อขวัญเดินออกจากห้องไป ผมอดคิดไม่ได้ว่า บทเรียนวันนี้ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ในความตระหนักว่าทุกเส้นที่เราลากบนกระดาษ ทุกตัวเลขที่เราคำนวณ ล้วนมีผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม แม้จะเป็นโศกนาฏกรรม แต่หากเราเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนในอนาคต
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
30 มีนาคม 2568
อ่านข่าวประกอบ :