"...ผลการตัดสินคดียังส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความเป็นธรรมในการแข่งขัน และในส่วนของสื่อมวลชน ก็เกิดคำถามถึงมาตรฐานการทำงานและการแข่งขันที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรม..."
สืบเนื่องจากกรณีที่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องว่าผิดมาตรา 157 จากการออกหนังสือเตือนการโฆษณาแทรกในรายการที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ True ID
คำตัดสินของศาลในคดีนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความไม่ปกติในหลายเรื่อง
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 สภาผู้บริโภค ร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาในประเด็น 'พิรงรอง Effect สะเทือนอุตสาหกรรมสื่อ ?'
ร่วมเสวนาโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และรศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วงเสวนาได้ฉายภาพให้เห็นถึง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อและผู้บริโภคว่า คดีนี้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและบทบาทหน้าที่ของ กสทช. รวมถึงการตั้งคำถามถึงอำนาจในการกำกับดูแลและการปฏิรูป กสทช.
ในส่วนของการทำงาน กสทช. ถูกมองว่าขาดความชัดเจนและมีปัญหาในการตัดสินใจ เกิดคำถามถึงความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และการถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอก โดยได้มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กสทช. เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อ
วงเสวนา ยังได้มีการพูดคุยในส่วนของปัญหาความชัดเจนในการกำกับดูแล OTT (Over-the-top media services) ว่า ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมีข้อเสนอให้ กสทช. เร่งออกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ OTT ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันและปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งควรพิจารณาถึงรูปแบบการกำกับดูแล OTT ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยและประสบการณ์จากต่างประเทศ
ผลกระทบต่อผู้บริโภค จากคดีของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง แสดงให้เห็นว่า สิทธิและเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคถูกกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลส่วนตัวและการโฆษณา รวมถึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค ที่อาจจะถูกจำกัด
นอกจากนี้ วงเสวนายังได้กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดและลดอำนาจต่อรองของผู้บริโภคอีกด้วย
สำหรับผลกระทบต่อสื่อมวลชน คือ เกิดคำถามถึงมาตรฐานการทำงาน จริยธรรมสื่อ และการแข่งขันที่เป็นธรรมในยุคดิจิทัล อีกทั้ง ยังมีความท้าทายในการอยู่รอดของสื่อขนาดเล็กและสื่อดั้งเดิม ท่ามกลางการแข่งขันกับสื่อออนไลน์และทุนขนาดใหญ่
วงเสวนาได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบโครงสร้างสื่อในอนาคต โดยเน้นความสำคัญของการมีกฎหมายและกลไกที่ชัดเจนในการกำกับดูแลสื่อ การสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน และการคุ้มครองผู้บริโภค และเรียกร้องให้ กสทช. เร่งดำเนินการออกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ OTT ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันและปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค