"...ต้องดูในรายละเอียด เนื่องจากเป็นคนละกรณี และกฎหมายก็มีการเปลี่ยนแปลง ในยุคของนายทักษิณ อาจจะมีข้อสงสัย แต่อย่างไรก็ตามในกรณีของ น.ส.แพทองธาร เป็นกฎหมายคนละฉบับ กฎหมายภาษีการรับ-ให้ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. 2559 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวควรจะเลิกได้แล้ว..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อและในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นต่อมาจากมารดาและเครือญาติรวม 5 ราย ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ PN มูลค่า 4.4 พันล้านบาท โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีกว่า 218 ล้านบาท ว่า ประชาชนยังรอฟังคำตอบจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวยอมรับว่า ได้มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ PN จริง และเพิ่งคิดจะจ่ายเงินคืนหนี้ในปีหน้า หากตนไม่ออกมาเปิดเผยจะมีการชำระหรือไม่
นายวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ประชาชนยังรอคำตอบจากอธิบดีกรมสรรพากร ว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องปกติของคนในแวดวงธุรกิจที่ทำกัน และหากเป็นเรื่องปกติ ขอให้คนที่ทำเช่นนี้ช่วยแสดงตัว แต่จากการที่สอบถาม พบว่าไม่มีใครแสดงตัว โดยให้เหตุผลว่ากลัวสรรพากร
จึงเป็นที่มาของคำถามว่าของ น.ส.แพทองธาร นำตั๋ว PN ที่ไม่มีกำหนดวันจ่าย และดอกเบี้ย แลกกับหุ้นบริษัทของคนในกงสี เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เหตุใดจึงไม่กล้าแสดงตัว ทำไมถึงกลายเป็นนิรนาม
ซึ่งเป็นสิ่งที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากรต้องตอบ ว่า พฤติกรรมของ น.ส.แพทองธาร ทำได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันมีเจ้าของห้างร้านจำนวนมาก จะโอนหุ้นในทรัพย์สินให้กับลูก จะได้ยึดโมเดลแพทองธาร
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ยังรอความชัดเจนจากอธิบดีกรมสรรพากร ว่าจะมีระเบียบ ออกมาชี้แจงที่ชัดเจนหรือไม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษี การรับ- ห้ อัตรา 5% เสมอภาคทั้งประเทศ ทั้งนี้ ทราบว่ามีสื่อมวลชนพยายามติดต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวยกคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าใช้ตั๋ว PN ในลักษณะเช่นนี้ เพื่อจำแลงการซื้อขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ตามเจตนา มีความผิดตามกฎหมาย สามารถเทียบเคียงเอาผิดด้านจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีได้ เจตนารมณ์ภาษีรับ-ให้ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการรกระทำแบบ น.ส.แพทองธารใช่หรือไม่ โดยคนที่จะตอบข้อกังขาเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคืออธิบดีกรมสรรพากร
นายวิโรจน์กล่าวว่า ภายหลังจากกาอภิปรายฯ จะไปยื่นเรื่องกับอธิบดีกรมสรรพากรในเร็วๆ นี้ หากเรายอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ จะมีผลกระทบการจัดเก็บภาษีของประเทศ ซึ่งคน ที่เป็นระดับผู้นำของประเทศ ควรทำพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่ และมองว่า พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดกับใครทั้งสิ้น ประชาชนควรได้รับความเสมอภาค ในการบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ในอดีตได้มีพฤติการณ์เช่นเดียวกับ น.ส.แพทองธาร นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียด เนื่องจากเป็นคนละกรณี และกฎหมายก็มีการเปลี่ยนแปลง ในยุคของนายทักษิณ อาจจะมีข้อสงสัย แต่อย่างไรก็ตามในกรณีของ น.ส.แพทองธาร เป็นกฎหมายคนละฉบับ กฎหมายภาษีการรับ-ให้ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. 2559 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวควรจะเลิกได้แล้ว
นายวิโรจน์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของข้อมูลเรื่องตั๋ว PN ในการอภิปรายว่า ตนดูแหล่งข่าวหลายอย่าง สำนักข่าวอิศรา ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งข่าว เพียงแต่ว่าอาจจะมองประเด็นในคนละมุมมอง สำนักข่าวอิศราให้ประเด็นที่การโอนหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ว่าทันตามกำหนดหรือไม่ แต่ตนในฐานะอดีตผู้บริหาร มองในประเด็นเรื่องการจ่ายภาษีที่ตรงไปตรงหรือไม่ เพราะเป็นผลประโยชน์ของประเทศ
@ออกโฉนดเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ไม่ชอบกฎหมาย
ในส่วนของการถือครองที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับคำตอบจาก น.ส.แพทองธาร มีเพียงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชี้แจงแทน แต่คำชี้แจงดังกล่าวยังสร้างความสับสน โดยอ้างถึงประกาศคณะปฏิวัติปี 2515 ซึ่งเป็นการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง แต่ไม่ได้ลบล้างมติคณะรัฐมนตรีปี 2514 ที่กำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตต้นน้ำลำธาร แสดงว่าประกาศคณะปฏิวัติ ไม่ได้ยกเลิกพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ตามมติคณะรัฐมนตรี 2514 แสดงว่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารยังคงอยู่
ต่อมาเมื่อปี 2567 คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎรได้ขอข้อมูลไป และมีการส่งแผนที่ของที่ดินแปลงดังกล่าว มาให้ก็ยังปรากฏ ว่าเป็นที่ดินต้นน้ำลำธาร ยังคงอยู่ และถ้าที่ดินต้นน้ำลำธารยังอยู่ ตามประมวลกฎหมาย ที่ดินตามกฎกระทรวงฉบับที่43 ข้อ14(5) ก็ออกโฉนดไม่ได้
นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตถึงคำชี้แจงล่าสุดของกรมที่ดินที่ระบุว่า มีมติจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ รองรับการออกเอกสารสิทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะมติดังกล่าวไม่สามารถลบล้างมติคณะรัฐมนตรีได้ และต้องชัดเจนว่า มติของคณะกรรมการฯ ให้ “สิทธิครอบครอง” ไม่ใช่ “กรรมสิทธิ์”
จึงขอตั้งคำถามว่ามติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ ลบล้างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2514 ได้หรือไม่ โดยกรมที่ดินต้องยืนยันว่า มติคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติดังกล่าวใหญ่กว่ามติคณะรัฐมนตรีได้อย่างไร ศักดิ์และสิทธิ์ของกฎหมายเป็นอย่างไร และสิ่งสำคัญที่สุดอยากให้สื่อเข้าไปดูมติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ โดยเฉพาะกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ประกาศกฎ ในรายละเอียดบอกว่าให้สิทธิการครอบครอง แต่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ ซึ่งหมายความว่าถ้ายึดตามมติ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติที่ดินแปลงนี้ ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์แต่ให้สิทธิครอบครอง ก็ยังยืนยันว่าออกโฉนดไม่ได้
"หากให้เพียงสิทธิครอบครอง ก็แปลว่าออกโฉนดไม่ได้ คำถามจึงไม่ใช่แค่ว่าโฉนดถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ต้องถามว่า ‘ออกมาได้อย่างไร’ ทั้งที่เป็นที่ต้นน้ำลำธา ตรงนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ตอบสังคม และชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ประชาชนรับทราบ" นายวิโรจน์กล่าว