"...ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงภัยร้ายของบุหรี่เถื่อน ไม่ใช่แค่ในมิติสุขภาพ แต่รวมถึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคม การปราบปรามบุหรี่เถื่อนจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐ แต่เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน..."
ท่ามกลางกระแสความกังวลด้านสุขภาพที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปัญหา “บุหรี่เถื่อน” กลับเป็นภัยเงียบที่กัดกร่อนประเทศไทยในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือ “มิติทางเศรษฐกิจ” หลายคนอาจมองว่าบุหรี่เถื่อนเป็นเพียงเรื่องของผู้สูบที่ต้องการของราคาถูก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาบุหรี่เถื่อนนั้นใหญ่และซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะมันคือ “การรั่วไหลของเม็ดเงินภาษี” จำนวนมหาศาล ที่ควรจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
สถานการณ์บุหรี่เถื่อนปี 2567 ตัวเลขที่น่าตกใจ
ผลสำรวจซองบุหรี่เปล่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เพื่อดูแนวโน้มการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายในไทย เปิดเผยโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ตอกย้ำว่าสถานการณ์บุหรี่เถื่อนในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายอยู่ที่ 25.4% ทรงตัวจากไตรมาสแรกของปีเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า บุหรี่ 1 ใน 4 มวน ที่ถูกสูบในประเทศไทย เป็นบุหรี่ผิดกฎหมายที่ไม่ผ่านการเสียภาษีใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังคงเป็นแหล่งบริโภคบุหรี่เถื่อนหนาแน่น โดยเฉพาะ จังหวัดสตูล ที่น่าตกใจว่ามีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงถึง 97% ตามมาด้วย สงขลา (88%), พัทลุง (78%), ภูเก็ต (72%), นครศรีธรรมราช (68%) และระนอง (65%) ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ บุหรี่เถื่อนไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ชายแดนอีกต่อไป แต่กลับขยายตัวอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ พื้นที่เมืองหลวง และ ภาคกลาง รวมถึงการทะลักเข้ามาอย่างน่าจับตาใน ภาคตะวันตก สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายบุหรี่เถื่อนที่แข็งแกร่งและช่องทางการลักลอบที่หลากหลาย
ช่องทางลักลอบบุหรี่เถื่อน
1. ลักลอบผ่านชานแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเล
นาวสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทยให้ข้อมูลว่าบุหรี่ผิดกฎหมายมีการลักลอบผ่านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ชายแดนไทย-กัมพูชา ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนผ่านเส้นทางธรรมชาติทางบกและเส้นทางน้ำ การลักลอบนี้ทำให้สินค้าเข้ามาได้ง่ายและรวดเร็ว เช่นจังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว กาญจนบุรี ตาก นราธิวาส สงขลา สตูล เป็นต้น
2. ผ่านช่องทางสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 แต่วกกลับมาขายในประเทศไทย
มีการนำเข้าสินค้าบุหรี่ผ่านช่องทางสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 แต่วกกลับมาขายในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การส่งจากประเทศเวียดนาม หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต บุหรี่ไปยังประเทศมาเลเซีย หรือการส่งออกสินค้าปลอดอากรของไทยไปยังเมียนมา แต่วกนำกลับเข้ามาขายในไทยอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและการจัดเก็บภาษี
นอกจากนี้ยังมีช่องทางการค้าที่ไม่ถูกต้องอื่นๆ อาทิ การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตและตลาดมืด ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบุหรี่เถื่อนได้ง่ายโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของรัฐ
ภาษีที่หายไป: เม็ดเงินที่ควรจะเป็นของใคร นางสาวธัญญศรัณเปรียบเทียบอัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายกว่า 25.4% ว่าหากเป็นบุหรี่ที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกได้อีกกว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินภาษีเหล่านี้ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันกลับกลายเป็น “รายได้สีเทา” ที่หล่อเลี้ยงเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างมหาศาล
ภาษีบุหรี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล ที่ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น:
• การศึกษา: ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่างนักเรียนภายใต้โรงเรียนสังกัดสพฐ. และนักเรียนโรงเรียนที่เน้น วิทย์-คณิต ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนเฉลี่ยต่อหัวห่างกันถึง 27 เท่าตัวในปีงบประมาณ 2567
• โครงสร้างพื้นฐาน: สนับสนุนงบประมาณสร้าง 16 เมกะโปรเจ็กต์ทางหลวงชนบท มูลค่ากว่า 1.66 หมื่นล้านบาท ทั่วประเทศไทย
เมื่อบุหรี่เถื่อนระบาดหนัก ภาษีที่ควรจะเข้าสู่ประเทศก็หายไป โครงการพัฒนาสังคมต่างๆ ที่กล่าวมา ก็อาจต้องชะลอ หรือ ลดขนาดลงไป ผลกระทบเหล่านี้ ไม่ได้กระทบแค่รัฐบาล แต่คนไทยทุกคนต่างต้องแบกรับภาระร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ด้อยลง หรือการพัฒนาประเทศที่ล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่ เพราะผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนนั้นส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง เงินภาษีที่หายไป คือโอกาสที่หายไปในการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มากกว่าแค่ตัวเลขภาษี นอกจากรายได้ภาษีที่สูญเสียไป บุหรี่เถื่อนยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง:
• ธุรกิจยาสูบถูกกฎหมาย: ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ยอดขายลดลง กำไรหดหาย และอาจส่งผลต่อการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาเกษตรกรชาวไร่ยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนียถูกลดโควตาการปลูกจาก 58% เหลือราว 42% สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการจ้างแรงงาน และปัจจัยการเกษตรต่างๆ
• ผู้ประกอบการรายย่อย: ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมาย ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกกว่า และขายในช่องทางที่สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย ทำให้เสียโอกาสในการทำกำไร จากที่เคยขายบุหรี่ได้เฉลี่ย 4 แถวต่อวัน เหลือเพียง 1-2 แถวต่อวันเท่านั้น
• ภาพลักษณ์ประเทศ: บุหรี่เถื่อน เป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะเป็นสินค้าที่ซื้อขายง่าย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในปี 2562 รายงานว่า บุหรี่เถื่อนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสินค้าหนีภาษีอื่นๆ เป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมีนัยสำคัญ และรัฐบาลของประเทศในอาเซียนควรรวมตัวกันเพื่อหาทางแก้ไข ยกระดับความปลอดภัยและความร่วมมือกันตลอดแนวชายแดน การปล่อยปละละเลยให้บุหรี่เถื่อนระบาด อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
@ ธัญญศรัณ แสงทอง
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงภัยร้ายของบุหรี่เถื่อน ไม่ใช่แค่ในมิติสุขภาพ แต่รวมถึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคม การปราบปรามบุหรี่เถื่อนจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐ แต่เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน
หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อนให้เบาบางลงได้ และนำเม็ดเงินภาษีที่รั่วไหลกลับคืนมาพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคน