"...นอกจากนั้นแล้ว มาตรฐานสากลด้านการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่าง Open Data Charter และ Open Ownership ยังให้ความสำคัญต่อชุดข้อมูลบุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมืองและผู้ได้รับผลประโยชน์ ว่าเป็นหนึ่งในชุดข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสามารถนำมาใช้เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และป้องกันการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐ รวมถึงยังมีประโยชน์ต่อการระงับยับยั้งการไหลเวียนเงินผิดกฎหมายที่ได้มาจากการรับส่วย สินบน หรือธุรกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ..."
เหตุที่คอร์รัปชันไทยไม่ดีขึ้นสักที เป็นเพราะ“ทรัพย์สินที่ได้จากคอร์รัปชัน”ถูกนำมาฟอกได้ง่าย และช่องทางที่นิยมใช้ฟอกเงินมากที่สุด คือ สถาบันการเงิน โดยเฉพาะ ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ แน่นอนว่า ทรัพย์ที่ได้จากคอร์รัปชัน ต้องเกิดจากน้ำมือ บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งหรือใกล้ชิดอำนาจรัฐ
เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตรวจสอบธุรกรรมการเคลื่อนไหวทางการเงินของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และบุคคลผู้มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดอำนาจรัฐ (Politically Exposed Persons : PEPs) โดยใช้ข้อมูลจากระบบการเงินตรวจสอบร่องรอยเส้นทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับคอร์รัปชัน อันเป็นมูลฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน โดยมาตรการนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติบังคับใช้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับความเสี่ยงคอร์รัปชัน ที่อยู่ในระดับสูงสำหรับประเทศที่มีค่า CPI ต่ำๆ แบบไทย
ปัจจุบัน สำนักงาน ปปง. ยังมิได้ประกาศกำหนดตำแหน่งของบุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมืองไทย ซึ่งครอบคลุมรวมถึง ตำแหน่งระดับสูงของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ผู้บัญชาการทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงประกาศคำนิยาม “บุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมือง”เขียนไว้กว้างๆ ขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและติดตามเส้นทางธุรกรรม
จึงเป็นที่มาที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติติหน้าที่ของสำนักงานปปง. กรณีไม่ออกหลักเกณฑ์ ไม่กำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ประกอบอาชีพตามที่กฎหมายฟอกเงินกำหนด ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกัน และปราบปรามการทุจริต โดยสาระสำคัญคือ การยกเลิกประกาศ 3 ฉบับไปพร้อมกฎกระทรวง ทำให้มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพเพียงบางกลุ่มที่จะต้องตรวจสอบบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองของไทยแต่ไม่ได้กำหนดให้สถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองของไทยแต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีเพียงกฎกระทรวง ว่าด้วยการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ทำให้ในปัจจุบันจึงไม่มีบทบังคับให้สถาบันการเงิน จะต้องตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมืองไทยอีกต่อไป และสำนักงาน ปปง.ก็ไม่ได้ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลให้สถาบันการเงินตลอดจนกลุ่มประกอบอาชีพในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองของไทยแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมในเรื่องนี้ร่วมกับสำนักงาน ปปง. ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดี โดยวางเป้าหมายร่วมกันว่าจะผลัดกันเดินหน้าจัดทำประกาศในเรื่องนี้ให้ชัดเจนภายในมิถุนายน 2568 หากทำสำเร็จจะส่งผลให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงาน ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองไทย และตรวจสอบความเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของนิติบุคคล และรายงานธุรกรรมที่มีเหตุน่าสงสัยผิดปกติได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินกลไกตรวจสอบการฟอกเงินของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล อย่าง Financial Action Task Force (FATF) , OECD หรือ World Bank ยอมรับ
นอกจากนั้นแล้ว มาตรฐานสากลด้านการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่าง Open Data Charter และ Open Ownership ยังให้ความสำคัญต่อชุดข้อมูลบุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมืองและผู้ได้รับผลประโยชน์ ว่าเป็นหนึ่งในชุดข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสามารถนำมาใช้เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และป้องกันการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐ รวมถึงยังมีประโยชน์ต่อการระงับยับยั้งการไหลเวียนเงินผิดกฎหมายที่ได้มาจากการรับส่วย สินบน หรือธุรกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ
สำหรับมาตรการสนับสนุนนอกจากการออกประกาศแล้ว หากสำนักงาน ปปง. สามารถอำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลอื่นๆที่ช่วยสนับสนุนการตรวจสอบ อาทิเช่น ฐานข้อมูล PEPs ที่อยู่ในข่ายผู้มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาใช้ยกระดับการตรวจสอบบุคคลใกล้ชิดและธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ จะยิ่งช่วยให้มีข้อมูลใช้จัดการความเสี่ยงฟอกเงินจากคอร์รัปชันของไทยทำได้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากประกาศนี้มีผลบังคับใช้
- ลดความเสี่ยงจากการอาชญกรรมที่จ่ายส่วยเพื่ออาศัยอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐเปิดทางดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย อาทิเช่น พนันออนไลน์ บัญชีม้า Scammer การค้ามนุษย์ ฯลฯ
- ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจและปฏิบัติหน้าที่และลดความเสี่ยงจากการถูกเอาผิดจากการไม่ทำตามกฎหมาย ปปง. ของประชาชนเจ้าของธุรกิจที่มีหน้าที่รายงาน
- มีมาตรการกำกับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐให้อยู่ในมาตรฐานจริยธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงเอาผิดคนที่ละเมิดได้รวดเร็วพร้อมหลักฐานชัดเจน
- เพิ่มความน่าเชื่อถือไว้วางใจให้กับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของในภาครัฐ
มาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันด้วยการตรวจสอบการฟอกเงินของผู้มีสถานภาพทางการเมืองตามกฎหมาย ปปง.นั้น สามารถช่วยระงับการรับส่วย สินบน ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงตรวจสอบเส้นทางเงินที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานของการฟอกเงิน จึงก่อให้เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐสีเทา อำนวยความสะดวกแก็งค์อาชญกรรมทำธุรกิจผิดกฎหมาย ฉ้อโกงทรัพย์ สร้างความทุกข์ร้อนและเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตต่อทั้งคนไทยและประชาคมโลก ถึงเวลาแล้วที่ คนไทยสมควรจะได้รับความคุ้มครอง ให้รอดพ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชันและมิจฉาชีพ ด้วยการปิดทางหนีเงินสกปรกจากคอร์รัปชันและฉ้อโกงประชาชน ให้หมดจากระบบเศรษฐกิจของประเทศ
บทความโดย :
กิตติเดช ฉันทังกูล
17 มีนาคม 2568