"...ใช่ มันมีบางเรื่องที่เราทำไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหน แต่อย่าไปทึกทักว่าเป้าหมายของเราคืออะไรเลย ตราบใดที่เรายังคงวิ่งต่อไป ไม่ยอมแพ้ ดังนั้น คนที่พยายามอย่างเต็มที่ที่สุด จะไม่พ่ายแพ้ในทุกการต่อสู้..."
สวัสดีครับ
คนญี่ปุ่นถือเป็นคนที่มีระเบียบวินัย พิถีพิถัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด เห็นได้จากการจัดเตรียมพิธีการ การเข้าร่วมประชุม ไปจนถึงเรื่องส่วนตัวเสื้อผ้าหน้าผมที่ไม่มีข้อติติง แม้แต่ถุงเท้าและรองเท้าที่สวมใส่กันมากว่าร้อยปีที่เรียกว่า “ทาบิ” (Tabi) เป็นรองเท้าที่คนงานชาวญี่ปุ่นใส่ทำงานตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 15 เริ่มต้นจากเป็นถุงเท้าแล้วปรับมาเป็นรองเท้า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยรอยแยกระหว่างนิ้วหัวแม่โป้งกับนิ้วที่เหลือ ออกแบบเพื่อสร้างความสมดุล ปกป้องนิ้วเท้าและเท้าจากอันตรายต่าง ๆ แถมยังเลียนแบบการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของระบบข้อต่ออันซับซ้อนของเท้า ช่วยเสริมความยืดหยุ่นและสมาธิให้สมองกับจิตใจได้ ตามศาสตร์การนวดกดจุดฝ่าเท้าของคนโบราณ ซึ่งการผลิตทาบิแต่ละคู่นั้น มีทั้งหมดถึงแปดขั้นตอนด้วยกัน ต้องใช้ความประณีตโดยเฉพาะในการเย็บบริเวณนิ้วเท้าให้เข้ารูป สวมใส่โดยไม่รู้สึกระคายเคือง1/
เมืองเกียวดะ จังหวัดไซตามะ ถือเป็นเมืองแห่งการผลิตทาบิ จากโรงงานผลิตทาบิมากกว่าสองร้อยแห่ง ผลิตทาบิได้มากกว่า 84 ล้านคู่ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี จากการเปิดประเทศทำให้วัฒนธรรมและค่านิยมของชาวญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นิยมใส่รองเท้าที่ชาวตะวันตกผลิตเพิ่มขึ้น จนทำให้เหลือผู้ผลิตรองเท้าทาบิเพียงไม่กี่ราย หนึ่งในนั้นคือ บริษัทโคฮาเซยะ ที่ยังคงยืนหยัดอยู่มาได้กว่าร้อยปี แม้ว่าบริษัทเคยมีพนักงานมากถึง 200 คน และต้องลดพนักงานลงมาเหลือเพียง 20 คนเพื่อความอยู่รอดก็ตาม ปัจจุบันมีโคอิชิ มิยาซาวะ (Koichi Miyazawa) เป็นเจ้าของกิจการรุ่นที่สี่2/
รองเท้าทาบิ
โคอิชิเหมือนกับเจ้าของกิจการรองเท้าทาบิรายอื่น เพราะนอกจากเผชิญกับความต้องการและยอดขายที่ลดลงแล้ว ยังมีความท้าทายในการดูแลรักษาพนักงานที่ส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปี แต่มากด้วยประสบการณ์และทักษะในการเย็บรองเท้าทาบิที่หาคนทดแทนไม่ได้ รวมทั้งการดูแลเครื่องจักรเย็บผ้าลักษณะพิเศษผลิตในประเทศเยอรมนีเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบันเลิกผลิตแล้ว ทำให้การซ่อมแซมจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนจากรุ่นที่มีอยู่ การหาอะไหล่เปลี่ยนจึงกลายเป็นเรื่องสุดหิน
โคอิชิได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารว่า หากเขาไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ธนาคารคงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการปล่อยเงินกู้ให้ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาและลูกชายได้ไปชมการแข่งขันวิ่งมาราธอน และได้พบเจอกับเหตุการณ์อันน่าเศร้าเมื่อนักวิ่งตัวเก็งได้รับบาดเจ็บที่เท้า จนต้องออกจากการแข่งขัน เป็นจุดเริ่มต้นที่โคอิชิเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมค้นพบว่า การที่มนุษย์อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้เพราะเราเน้นการเดินด้วยช่วงกลางเท้า (mid foot) ต่างกับรองเท้าวิ่งทั่วไปที่เน้นการวิ่งด้วยส้นเท้า ทำให้เกิดการบาดเจ็บโดยง่าย โคอิชิกลับมาคิดถึงรองเท้าทาบิ ที่เน้นการเดินวิ่งด้วยช่วงกลางเท้าเช่นกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาต้องการพัฒนารองเท้าทาบิให้กลายมาเป็นรองเท้าวิ่งที่ตอบโจทย์
อย่างไรก็ดี โคอิชิต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการเนรมิตรองเท้าทาบิให้เป็นรองเท้าวิ่งเริ่มจากการโน้มน้าวให้ผู้บริหารและพนักงานบริษัท 20 ชีวิตเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะหลายคนคิดว่าการผลิตรองเท้าทาบิแบบเดิมน่าจะดีอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีความต้องการน้อยลง แต่พวกเขาถือเป็นเพียงไม่กี่รายที่ยังมีความสามารถผลิตรองเท้าลักษณะนี้ ทำไมต้องไปใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และรับประกันไม่ได้ว่าจะสามารถค้นคิดรองเท้าวิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งที่ได้เปรียบทั้งด้านทุนและการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้
นอกจากนั้น พื้นรองเท้าทาบิยังบางและไม่คงทน อาจจะช่วยบำบัดอาการเจ็บของนักวิ่งได้ แต่ไม่ได้เหมาะในการนำไปวิ่งแข่งขัน และเมื่อโคอิชิค้นพบวัสดุชนิดใหม่ที่เรียกว่าซิลก์เรย์ ผลิตจากสายไหมรังผึ้ง ซึ่งเหมาะที่จะเป็นพื้นรองเท้า แต่กลับพบว่าผู้พัฒนาและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรซิลก์เรย์เป็นบุคคลล้มละลาย การต่อรองเพื่อขอลิขสิทธิ์จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป โคอิชิและพนักงานบริษัทโคฮาเซยะอีก 20 ชีวิต จะสามารถผลิตรองเท้าวิ่งทาบิที่พวกเขาตั้งชื่อว่า “ริคุโอ” หรือราชาแห่งสนามวิ่ง พร้อมฟันฝ่าวิกฤติ ทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ พวกเราสามารถติดตามดูซีรีส์ Rikuoh : วิ่งสุดใจ ไปสุดฝัน ผ่านจอสตรีมมิ่ง
รองเท้าวิ่ง “ริคุโอ”
ข้อคิดที่ผมได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ โคอิชิดำเนินกิจการเหมือนกับทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน รับฟังความคิดเห็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่หมดหวังและมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดของบริษัท พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ที่ทำให้งานฝีมือแบบดั้งเดิมถูกบดบังมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการแข่งขันระดับโลก ทำให้โคอิชิเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมในขณะที่ยังคงยึดมั่นในรากเหง้าของตน และนำประโยชน์จากทักษะการทำทาบิมาพัฒนารองเท้าวิ่ง
โคอิชิได้กล่าวกับลูกชายที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และไม่ได้คิดจะรับช่วงธุรกิจผลิตรองเท้าทาบิต่อจากพ่อในตอนท้ายของเรื่องว่า “ในโลกมีลูกเพียงคนเดียว ไม่มีใครมาแทนลูกได้ ดังนั้น จงภูมิใจในตัวเองให้มากขึ้น อย่ายอมเป็นแค่เฟือง ขนาดและชื่อเสียงของบริษัทไม่มีความหมายอะไรเลย สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือลูกเอง และความรู้สึกภูมิใจที่ลูกมีต่องานที่ทำต่างหาก” เมื่อลูกชายถามกลับไปว่า “พ่อว่าผมจะหางานแบบนั้นได้ไหมครับ” พ่อตอบกลับไปว่า “ไม่ใช่ว่าหาเจอแล้วเหรอ ?” พร้อมเสริมต่อว่า
“ใช่ มันมีบางเรื่องที่เราทำไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหน แต่อย่าไปทึกทักว่าเป้าหมายของเราคืออะไรเลย ตราบใดที่เรายังคงวิ่งต่อไป ไม่ยอมแพ้ ดังนั้น คนที่พยายามอย่างเต็มที่ที่สุด จะไม่พ่ายแพ้ในทุกการต่อสู้”
บทความโดย :
รณดล นุ่มนนท์
17 มีนาคม 2568
แหล่งที่มา :
1/ จากถุงเท้าสร้างสมดุลของชาวญี่ปุ่นโบราณ ถึงรองเท้าทาบิ, Mirror Thailand, 13 มิถุนายน 2567 18.19 น.
https://today.line.me/th/v2/article/5yn50rR
2/ Neerja Choudhuri, ‘Rikuoh’ Netflix Series Review, Mon, 24 Feb 2025 09:24:13
https://moviesr.net/p-rikuoh-netflix-series-review-slow-pacing-but-inspiring-plot