"...เมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมหายไปและวัตถุก็เข้ามาแทนที่ วัตถุเลยสำคัญกว่าชีวิตจิตใจ (reification) ! เมื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ลดลง คนก็ถูกกดขี่และประสบกับปัญหาทุกข์ทรมาน ไม่เว้นแต่คนรวยที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน ก็ทรมาน เพราะกระหายอำนาจและไม่รู้จักพอ..."
ความแปลกแยก (alienation) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเฉพาะกับตัวมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเทวดาบนสวรรค์ เพราะบนสวรรค์นั้นเทวดาเสด็จเสวยบรมสุข เช่น อิ่มทิพย์ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้
ในคัมภีร์ไบเบิ้ลกล่าวถึงอาดัมกับเอวาที่ถูกขับจากสวนอีเดน เพราะพ่ายแพ้ต่อการยั่วยวนของปีศาจ เทวดาจึงตกสวรรค์ลงมาเป็นมนุษย์ และเกิดความเป็นมนุษย์ (humanity)
ความเป็นมนุษย์นี้เองที่ทำให้คนบนโลกต้องทำมาหากินชนิดอาบเหงื่อต่างน้ำ ความไว้วางใจกันบนสวรรค์สิ้นสุดลง เกิดการเป็นศัตรูกันและต้องมีการแก้แค้นกันตามมา
บนโลกมนุษย์ นักบวชในศาสนาคริสต์จึงเปรียบได้กับคนบนสวรรค์ที่รู้แจ้งเห็นจริง ส่วนสวนอีเดนเปรียบเป็นสะพานเชื่อมชีวิตความเป็นมนุษย์กับธรรมชาติ นักบวชสอนให้คนทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติและยอมรับอำนาจธรรมชาติ เช่น ความตาย คนเรามีอยู่มากที่สุดไม่เกินระยะเวลาแห่งความตาย เขาต้องรู้จักคิดถึงการใช้ชีวิตในโลกหน้า คือ การเข้าถึงพระเจ้าบนสวรรค์
ทว่าชีวิตของคนทั้งหลายบนโลกมนุษย์กลับไม่สามารถสร้างความกลมกลืนระหว่างความเป็นมนุษย์กับธรรมชาติได้ เขาจึงเผชิญกับความทุกข์ ทั้งทางกายและทางใจ
เฮเกล (Hegel) อธิบายว่าความแปลกแยกเกิดจากการที่คนเราทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราแปลกไปจากเป้าหมายทางปทัสถาน และไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ได้ ประวัติศาสตร์ของโลกจึงเต็มไปด้วยรอยด่างของความทุกข์จากความพยายามสร้างสภาพความเป็นมนุษย์ใหม่ ๆ ขึ้นเอง โดยตัวมนุษย์เอง
สิ่งใหม่ ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ คือ โลกทางวัตถุ อันทำให้โลกทางจิตใจหายไป..
คาร์ล มาร์ก (Karl Mark) เอาความคิดของเฮเกลมาขยายความว่า โลกทางวัตถุอันนี้ ได้แก่ โลกของทุนนิยม (capitalism) นั่นเอง
ทุนนิยมมันเปลี่ยนโลกมนุษย์ให้บ้าสินค้า (commodity fetishism) เช่น คนบ้ากระเป๋า รองเท้าแบรนด์แนม คนเลยเอาสินค้ามาวัดความเป็นมนุษย์ จนในที่สุดความเป็นมนุษย์หายไป..
มาร์กซยกตัวอย่างว่า สินค้าตัวหนึ่ง เช่น สมมติรองเท้าประดับเพชรแวววาว คนเห็นจะถามว่าราคาเท่าไหร่ มันดีกว่ายี่ห้อโน้นอย่างไร มาร์กซบอกว่าเห็นไหม!! คนคิดกันแค่มูลค่าการแลกเปลี่ยน (exchange value) กับคุณค่าการใช้สอย (value in use) แต่ที่หายไป คือ ไม่มีใครถามว่าใครเป็นคนทำ เขาเหนื่อยไหม เขาได้ค่าจ้างเท่าไหร่ คนขายเอาเปรียบค่าแรงคนทำไหม ฯลฯ มิหนำซ้ำเศรษฐกิจมันยังเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งในสังคมด้วย
เมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมหายไปและวัตถุก็เข้ามาแทนที่ วัตถุเลยสำคัญกว่าชีวิตจิตใจ (reification) !
เมื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ลดลง คนก็ถูกกดขี่และประสบกับปัญหาทุกข์ทรมาน ไม่เว้นแต่คนรวยที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน ก็ทรมาน เพราะกระหายอำนาจ—และไม่รู้จักพอ!!
มาร์กซเห็นว่าชนชั้นแรงงานยิ่งจนลง ขณะที่กระฎุมพีรวยขึ้น กรรมาชีพกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องจักรกล กลไกการผลิตของระบบทุนนิยมมองแรงงานเป็นเพียงต้นทุนชนิดหนึ่งที่ต้องลดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ –เพราะมันแปลว่า “นายทุนจะได้กำไรมากขึ้น”..
กำไรจะเกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อมีการแบ่งงาน แต่ละคนทำงานแยกกันตามสายงาน เพื่อพัฒนาทักษะ แต่ละด้านให้สูงที่สุดและเกิดการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
การผลิตและระบบกำไรเช่นนี้มีมาต่อเนื่องกันจนถึงโลกสมัยใหม่ สูตรการคำนวณกำไรกับประสิทธิภาพยังคงคิดในแง่อัตราการทำงาน แต่ไม่ได้มองความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง สังคมสมัยใหม่จึงปล้นเอาประวัติศาสตร์และความเป็นมนุษย์ไปจนหมด—มนุษย์กำลังลืมกำพืดของตัวเองและลืมนึกถึงการมีชีวิตจิตใจ..
มาร์กซสรุปว่าความแปลกแยกเป็นภาพโดยรวมเป็นการเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นสิ่งของ หรือเอาวัตถุเข้ามาแทนที่จิตใจ สังคมทุนนิยมลดทอนความเป็นมนุษย์ลงเรื่อย ๆ สิ่งที่ปรากฏอยู่มีเพียงการผลิตสินค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การแก้ปัญหาความแปลกแยกไม่มีอย่างอื่น นอกจากการยกเลิกการเอาวัตถุมาแทนที่จิตใจ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คน...
คนต่อมา ได้แก่ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) มองคล้ายกันว่าหลักเหตุผลและความมีระเบียบสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ความเป็นมนุษย์ เขาเรียกคนเยอรมันว่า “เป็นพวกปัญญาอ่อนที่ยึดวินัยจนกระทั่งเข้ามาแทนที่สติปัญญาและการมีชีวิตในสังคมการเมือง” ภาพวิสัยทัศน์ในอนาคตที่เวเบอร์เห็น คือ ภาพกรงขังของระบบราชการ (bureaucratic iron cage) –มันผิดระเบียบข้อ 9 ข้อ 12.7.2..
ตัดกลับมาสังคมไทย ตำรวจเข้าแถวกั้นฝูงชนที่มาล้อมทำเนียบ ยืนตัวตรงเป๊ะ ๆ เป็นระเบียบเคร่งขรึม เขาทำหน้าที่เข้มแข็งตามระบบราชการ อันถูกหล่อหลอมมาว่าให้ยึดมั่นวินัย กล้าหาญ มั่นคง ซื่อตรงและรักษากฎหมาย ท่าทีเขาถมึงทะมึน—ราวกับบอกว่า “นายสั่งมาว่าห้ามใครผ่านแถวนี้ไปได้เป็นอันขาด..”
เสียงม็อบตะโกนโหวกเหวกอยู่ข้าง ๆ ตำรวจ ได้ยินเสียงร้องว่า “รัฐบาลประสาอะไร ปล่อยปลาหมอคางดำกินกุ้งปูปลาในบ่อ นายทุนเอาแต่ได้นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในประเทศ เพาะพันธุ์เพื่อเติบโตเร็ว ขายเร็ว กำไรเยอะ ๆ ไม่ได้คำนึงถึงภาวะนิเวศ—แป๊บเดียว ระบาดเต็มลำคลองท้องทุ่ง แล้วชาวไร่ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง จะทำมาหากินกันอย่างไร??...” –เสียงโห่ฮาดังมาเป็นระยะ ๆ
จนสุดท้ายผู้นำตะโกน “เทมันลงหน้าทำเนียบ เลยพ่อแม่พี่น้อง--” สิ้นเสียงตะโกน รถบรรทุกหลายคันเทปลาหมอคางดำลงพื้นถนน บางตัวยังดิ้นกระแด่ว ๆๆ”
“พวกนี้ทำกูลำบากอีกแล้ว แล้วใครจะเก็บออกไป” เสียงคล้ายคนแต่งตัวชุดสีทึม ๆ ทำความสะอาดรำพึง”!!!
ตัดกลับมา ภาพนายกรัฐมนตรีฝ่ายภาพพจน์องค์การ พาลูกขี่คอ เดินเล่นในสนามหญ้าวนเป็นพิธีหน้าทำเนียบ ตุ้มหู-แหวนเพชรเปล่งแสงระยิบเข้าตาช่างภาพ—แสดงความเป็นมนุษย์แม่ที่ต้องมีชีวิตส่วนตัว นายกก็รักครอบครัวและต้องมีเวลาให้กับครอบครัว!!!
ภาพเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นภาพของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป
1. ตำรวจสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจจากการเป็นมนุษย์ในกรงขังของระบบราชการ—เขาต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา..
2. พ่อบ้านแม่บ้านและพนักงานสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องเก็บกวาดทำความสะอาด
3. ชาวนาชาวสวนสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปจากการสิ้นเนื้อประดาตัว การระบาดของปลาหมอคางดำที่เข้ามากัดกินสัตว์น้ำที่ตนเลี้ยง ทนทุกข์กับดอกเบี้ยเงินกู้และการสูญเสียเงินทุน—ทำให้เขาเหลืออด..
4. นายทุนสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปจากการมุ่งหวังกำไรสูงสุด..แต่ทิ้งภาระให้กับสังคม
5. นายกรัฐมนตรีฝ่ายภาพพจน์องค์การสูญเสียความเป็นแม่จากการไม่มีเวลาให้ลูก ๆ ต้องอาศัยเวลาว่างสักแว็บหนึ่งในทำเนียบพาลูก ๆ เล่นหัวบ้างเพื่อสร้างความใกล้ชิด-ความอบอุ่น!!
เขาทั้งหมดที่กล่าวสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปจากการเกิดความแปลกแยกจากสังคมทุนนิยมที่เอาวัตถุมาแทนที่จิตใจ กฎเกณฑ์ของสังคมทุนนิยมกำหนดเหตุผลและหน้าที่ให้กับตัวเขาทุกคน--
ถ้าหากเราเป็นพระเจ้าที่มีอำนาจอันล้นพ้น เราควรคืนความเป็นมนุษย์ให้กับใครดีและอย่างไร?? –เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกคนบนโลกใบนี้...
บทความโดย :
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ