“...ผู้บริโภคไม่ได้มีอำนาจแค่การซื้อสินค้า แต่สามารถกำหนดทิศทางตลาดและวัฒนธรรมได้ โดยพลังอำนาจของเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการซื้อ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การแบน หรือบอยคอตสินค้า และการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง...”
15 มีนาคม ของทุกปี วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้ริเริ่มและบัญญัติวันสำคัญนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Consumer Rights Day ซึ่งได้รับการรับรองจาก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) โดยการจัดกิจกรรมและรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1983 มีการจัดแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเผยแพร่ความสำคัญของวันดังกล่าวผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
นับตั้งแต่นั้นมา 15 มีนาคมของทุกปี จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะส่งเสริมให้่ผู้บริโภคทั่วโลกได้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง Consumers International ทำงานร่วมกับสมาชิกทั่วโลกเพื่อเป็นกระบอกเสียงอิสระที่สะท้อนถึงอำนาจของผู้บริโภคในระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 200 องค์กรจาก 115 ประเทศ รวมถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสมาชิกในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2528 องค์การสหประชาชาติรับรอง 8 สิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็น สิทธิในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไปจนถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ในปีนี้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากลกำหนดหัวข้อรณรงค์ว่า 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน' เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของโลก ทั้งภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 สภาผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 340 องค์กร จัดงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล 2025 ภายใต้แนวคิด 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน' โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น สิทธิในการบริโภคที่ยั่งยืน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการเข้าถึงการคุ้มครองทางดิจิทัล ซึ่งยังไม่ได้รับการคุ้มครองในกฎหมายปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รับรองเพียง 5 สิทธิเท่านั้น จึงต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมและเป็นธรรม
ในปี 2568 นี้ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายกว่า 340 องค์กร จะเดินหน้าผลักดันมาตรการและนโยบายส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน เน้นให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่เหมาะสม พร้อมทั้งเสริมพลังให้เสียงผู้บริโภคมีอิทธิพลในการกำหนดอนาคตของการบริโภคที่เป็นธรรม
“เราขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะสิทธิผู้บริโภคคือรากฐานสำคัญของชีวิตที่มั่นคง และเป็นกุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” น.ส.บุญยืนกล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่าสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทยยังไม่เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ระบุสิทธิผู้บริโภคเพียง 5 ข้อ ได้แก่ การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้า สิทธิในการเลือกสินค้า การได้รับความปลอดภัยจากสินค้า สิทธิในการทำสัญญาอย่างเป็นธรรม และการได้รับการชดเชยความเสียหาย ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เช่น มลพิษ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
“เราจะผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่การบริโภคที่ยั่งยืน โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ, เอกชน, และประชาชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน เราขอเชิญชวนทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตที่ยั่งยืน” น.ส.สารี ระบุ
นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี Biothai กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทมากกว่าการเลือกซื้อสินค้า โดยสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้หลายทาง เช่น การสื่อสาร แบ่งปันความรู้ การบอยคอตสินค้า หรือแม้กระทั่งการร่วมกันฟ้องร้อง นอกจากนี้ยังต้องผลักดันให้มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มีมาตรฐานสากลและมีตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม
“ผู้บริโภคไม่ได้มีอำนาจแค่การซื้อสินค้า แต่สามารถกำหนดทิศทางตลาดและวัฒนธรรมได้ โดยพลังอำนาจของเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการซื้อ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การแบน หรือบอยคอตสินค้า และการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง” นายวิทูรย์กล่าว
ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมนุษย์ต้องเผชิญกับสองปัญหาใหญ่ คือ ราคาพลังงานที่แพงเพราะการผูกขาดและทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงผลกระทบจากการใช้พลังงานที่ทำให้โลกร้อนและเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น การสูญเสียปะการัง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของอาหารทะเล
ในโลกปัจจุบัน ผู้บริโภคควรเป็น "Prosumer" หรือผู้บริโภคที่สามารถผลิตได้ด้วย เมื่อก่อนเราแค่ซื้อไฟฟ้าและจ่ายเงินออกไป แต่ตอนนี้เราได้มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านมือถือที่สามารถส่งและรับข้อมูลได้ พร้อมกัน
“สิ่งที่เราขาดคือความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะดูแลโลกและรับผิดชอบต่อมัน ซึ่งสามารถทำได้ หากไม่แก้ปัญหาโลกร้อนตอนนี้ในอนาคตจะไม่มีใครแก้ได้ เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก เราต้องร่วมมือกันในฐานะ Prosumer ที่แอคทีฟในการแก้ปัญหาโลกร้อน” ผศ.ประสาทกล่าว
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปริมาณขยะในกรุงเทพฯ ลดลงจาก 11,000 ตันต่อวัน ก่อนโควิด-19 เหลือ 9,000 ตันในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนเริ่มให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายในการส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมการรีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก หรือการแปรรูปเป็นแก๊สชีวภาพ ขณะเดียวกัน องค์กรใหญ่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าและตลาด ก็มีโครงการ Zero Waste โดยส่งเสริมการคัดแยกขยะ และจัดเก็บเศษอาหารไปหมักปุ๋ยหรือเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งมีภาคเอกชนที่รับซื้อขยะรีไซเคิลถึงที่
โดยในอนาคต กทม.จะเพิ่มเตาเผาขยะอีก 2 โรง เพื่อรองรับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยมีเป้าหมายเผาขยะได้ 2,005 ตันต่อวัน
นายพรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า การคัดแยกขยะในภาคประชาชนยังมีความท้าทาย เนื่องจากกรุงเทพฯ มีมากกว่า 2 ล้านครัวเรือนที่ต้องจัดการขยะ ดังนั้น จึงมีโครงการ "บ้านนี้ไม่เทรวม" โดยจะมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมการเก็บขยะจาก 20 บาทเป็น 60 บาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ แต่หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น BKK Waste Pay จะได้รับส่วนลดเหลือ 20 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะมากขึ้น
น.ส. สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่และของภาคเหนือในปี 2568 ว่า ดีกว่าปี 2567 แต่ไม่ได้หมายความว่า ปี 69,70 จะดีไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและการลดการเผาให้ได้มากที่สุดถึงจะทำให้สถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น
ทั้งนี้ รวมถึงในระดับนโยบายที่จะดูแล การปรับเปลี่ยน วิถีการเกษตร มีทั้งนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ดินสิทธิที่ทำกิน ต้องดำเนินการให้ชัดเจนขอบเขตของชุมชน รัฐ รวมทั้งนโยบายสนับสนุนเติมงบประมาณ ให้ องค์การบริหารส่วนตำบล กระจายอำนาจ ในการดูแลแก้ปัญหาเรื่องไฟป่า ลดการเผา ทำแนวกันไฟ การป้องกันไฟ การเผชิญไฟ ในช่วงที่เกิดไฟขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ที่ซับซ้อน ทำให้ต้องคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคใหม่ให้เท่าทันต่อสถานการณ์การความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น สิทธิในการบริโภคอย่างยั่งยืน สิทธิในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิในการเข้าถึงการคุ้มครองทางดิจิทัล
สำหรับประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รับรองสิทธิผู้บริโภคไว้เพียง 5 ประการ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องเหมาะสมต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้คนไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น