"...ในยุคที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญ อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม แม้เราจะต้องการวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ แต่การติดยึดกับแผนยุทธศาสตร์ที่อิงบริบทในอดีต อาจกลายเป็นพันธนาการที่จำกัดความสามารถในการปรับตัวของประเทศในอนาคต..."
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อนๆ หลายคนถามว่าทำไมผมถึงไม่เห็นด้วย คำตอบคือ จากการติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของโลกในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีเอไอ การออกแบบยุทธศาสตร์ล่วงหน้า 20 ปี ด้วยแนวคิดเชิงเส้น (Linear Thinking) แบบอดีต ย่อมไม่สัมฤทธิผลในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) เนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์ปัจจัยในอนาคต ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรู้ของเรา (Unknown Unknowns) ได้
แผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดเป้าหมาย 6 ด้านหลัก ได้แก่ ความมั่นคง การแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเท่าเทียม ความยั่งยืน และการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐ โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนภายในปี 2580 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาประเทศตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทำให้ทุกรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายและดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้แผนดังกล่าวอาจสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้น แต่ในทางปฏิบัติ การขับเคลื่อนมักจบลงที่การกระจายความรับผิดชอบไปยังหน่วยงานระดับล่าง ส่งผลให้การปฏิบัติ ติดตามผล และประเมินความสำเร็จขาดความเป็นเอกภาพ แม้เวลาจะผ่านไป 6 ปีแล้ว ผลสัมฤทธิ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ
งานวิจัยและบทความเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์องค์กรที่ยาวเกินไปอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะก็ตาม
- Toffler Associates (2023) ระบุว่าแผนกลยุทธ์ระยะยาว (5-10 ปี) ไม่เหมาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจากเทคโนโลยีใหม่ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนทางเศรษฐกิจ องค์กรจึงลดช่วงเวลาของแผนเหลือเพียง 2-3 ปี เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว
- Coatings World (2024) วิเคราะห์ว่าแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวมีความเสี่ยงสูงในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้นจากกฎระเบียบ ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น AI และระบบอัตโนมัติ องค์กรจึงควรมุ่งเน้นกลยุทธ์แบบพลวัตที่ปรับเปลี่ยนได้
- Headspring Executive Development (2022) โดย ดร.ลินดา โฟแลน ผู้เขียน Leader Resilience, The New Frontier of Leadership (2021) ระบุว่า การใช้เวลาหลายเดือนเพื่อสร้างแผนที่ไม่ยืดหยุ่นและคาดการณ์อนาคตระยะยาว อาจไม่เพียงพอในยุคปัจจุบัน แผนยุทธศาสตร์ต้องมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อความไม่แน่นอนได้อย่างทันท่วงที
บทสรุป
ในยุคที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญ อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม แม้เราจะต้องการวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ แต่การติดยึดกับแผนยุทธศาสตร์ที่อิงบริบทในอดีต อาจกลายเป็นพันธนาการที่จำกัดความสามารถในการปรับตัวของประเทศในอนาคต
แนวทางที่เหมาะสมกว่า คือ การผสมผสานวิสัยทัศน์แห่งชาติระยะยาวที่ยืดหยุ่น เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นที่ปรับได้ทุกปีตามสถานการณ์ (Rolling Strategic Plan) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
- Dan Fukushima (2023), Strategic Planning in a Highly Uncertain World, Toffler Associates. สืบค้นจาก tofflerassociates.com
- Coatings World (2024), Disruptive Global Business Issues Impacting Long-term Strategic Planning. สืบค้นจาก coatingsworld.com
- Celine Chami (2022), Strategic Planning in a Fast-Paced Environment, Headspring Executive Development. สืบค้นจาก headspringexecutive.com
บทความโดย :
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย (ราชบัณฑิต)
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น: https://www.facebook.com/share/15znRiGgC3/?mibextid=wwXIfr