"...เมื่อผู้ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะของผู้บริโภค กลับตกเป็นจำเลยในคดีอาญา มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จึงเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคม นักกฎหมายและนักวิชาการสื่อสารมวลชนตั้งคำถามกันทั่วไปในการตัดสินคดี..."
ฝ่ายหนึ่งอยู่นอกกฎที่วางไว้
ได้โอกาสทำกำไรไม่หยุดหย่อน
ใช้ช่องว่างเอาโฆษณามาแทรกซ้อน
เป็นทางจรไม่ต้องจ่ายสบายจัง
ฝ่ายหนึ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ไม่เลยละทำหน้าที่ที่พึงหวัง
ต้องอาญาจำคุกไม่รอรั้ง
ถามดังดัง “ความเป็นธรรมอยู่หนใด”
เมื่อผู้ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะของผู้บริโภค กลับตกเป็นจำเลยในคดีอาญา มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จึงเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคม นักกฎหมายและนักวิชาการสื่อสารมวลชนตั้งคำถามกันทั่วไปในการตัดสินคดี
ต้นเรื่อง
มีการประชุมอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ซึ่งมี ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต เป็นประธาน
24 กพ. 66 กสทช. ออกหนังสือ แจ้งเตือนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ 127 ราย ว่ามีการนำเนื้อหาไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต หนังสือไม่ได้ระบุชื่อทรูไอดี
27 กพ. 66 กสทช.จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ เพื่อชี้แจงแนวทางกำกับการดูแลว่าต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการอะไร
2 มีค. 66 การประชุมอนุกรรมการครั้งที่ 4/2566 จำเลย (ดร.พิรงรอง) ถามฝ่ายเลขานุการว่าเหตุใดไม่มีการระบุชื่อทรูไอดี ในหนังสือแจ้งเตือน เพราะการไม่ระบุทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์สับสนได้
3 มีค. 66 กสทช. ออกหนังสือใหม่ มีการระบุชื่อทรูไอดีว่าเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
ทำให้เกิดประเด็นว่า การที่จำเลยให้ฝ่ายเลขานุการระบุชื่อทรูไอดีและพูดในที่ประชุมว่า “ทรูไอดี เป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” กลายเป็นข้อหาสำคัญว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ประเด็นสร้างเอกสารเท็จ
ในการตั้งวงสนทนาของนักวิชาการกฎหมาย สำนักธรรมศาสตร์ “ขยี้ปมพิพากษาคดี พิรงรอง ใครผิดกันแน่” เมื่อ 22 กพ. 68
ศ. ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า “การประชุม ครั้งก่อนหน้ามีการพูดถึงทรูไอดีจริง เพียงแต่ไม่มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วน เมื่อประธานสอบถามว่าทำไมเนื้อหาส่วนนี้ไม่ถูกบันทึก จึงมีการเพิ่มเติมข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นเพียงการแก้ไขข้อมูลให้ครบถ้วน หรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงกันแน่ คำถามนี้เป็นหัวใจสำคัญของคดี การแก้ไขรายงานการประชุมที่บันทึกตกหล่นหรือไม่ครบ ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสาร แต่เป็นการทำให้ข้อมูลสมบูรณ์”
ไปตรวจสอบกันได้เลยว่า
การประชุมอนุกรรมการ กสทช. ไม่ว่าชุดใด มีวิธีปฏิบัติว่า หลังการประชุม ฝ่ายเลขานุการที่ทำหน้าที่บันทึกการประชุม จะส่งรายงานให้อนุกรรมการทุกคน เพื่อแก้ไขส่วนที่คลาดเคลื่อนและเติมเต็มสาระสำคัญที่ตกหล่น นี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ทุกคนเข้าใจกันดี เพราะเป็นการเติมเต็มให้สรุปรายงานมีความสมบูรณ์ ถูกต้อง ครบถ้วน ใครจะแก้ไขหรือต่อเติมตรงไหน คำที่เปลี่ยนแปลงยังต้องมาผ่านการรับรองจากอนุกรรมการในครั้งต่อไป ใครคนใดหรือแม้แต่ประธานจะไปแปลงสารการประชุมตามอำเภอใจไม่ได้
การแก้ไขบันทึกรายงานการประชุม จึงเป็นวิธีปฏิบัติทางธุรการโดยปกตินั่นเอง ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสารแต่อย่างใด
ประเด็น ‘ล้มยักษ์’ และ ‘ตลบหลัง’
พล.ต.ท. สุรพล (กฤตไชย) ทวนทอง หนึ่งในอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำข้อเท็จจริง ในคดีต่อศาลว่า ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 หลังจากจำเลยกล่าวปิดการประชุม จำเลยพูดว่า
“หลังจากมีการพิจารณาวาระอื่นต่อจนเสร็จสิ้น จำเลยได้กล่าวปิดประชุม จำเลยพูดว่า ‘ล้มยักษ์’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจำเลยพูดเปรียบเปรยว่าโจทก์เป็นผู้ให้บริการขนาดใหญ่คณะอนุกรรมการต้องเตรียมข้อมูลการประชุมให้ชัดเจนรอบคอบ หากผิดจริงก็ต้องพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้หมายความว่าจะล้มล้างหรือทำลายการประกอบกิจการโทรทัศน์แต่อย่างใด เพราะอนุกรรมการมีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการต่อไป มิได้มีอำนาจในการระงับการประกอบธุรกิจของโจทก์แต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยพูดว่า ‘ตลบหลัง’ ก็ไม่ได้สื่อให้คิดหรือเข้าใจว่าจะดำเนินการที่นอกระเบียบแบบแผนอะไร และก็ไม่ใช่การพูดเพื่อเจรจากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย อีกทั้งคำพูดดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการให้ความเห็น หรือการกระทำของอนุกรรมการแต่อย่างใด และตราบจนถึงปัจจุบัน โจทก์ก็ยังคงให้บริการได้ตามเดิมทุกประการ นำช่องรายการของผู้รับใบอนุญาตไปออก มีโฆษณาแทรก และไม่มาขอรับใบอนุญาต แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด”
พล.ต.ท. สุรพล ทวนทอง ในฐานะพยาน ให้ถ้อยคำท้ายบันทึกว่า
“ในการประชุมอนุกรรมการฯ ทุกครั้งรวมถึงการประชุม ครั้งที่ 3/2566 และครั้งที่ 4/2566 อนุกรรมการแต่ละท่านสามารถแสดงความเห็นและอภิปรายได้อย่างอิสระ จำเลยมิได้มีการปิดกั้นการอภิปรายหรือโน้มน้าวอนุกรรมการให้ลงมติตามความเห็นจำเลยได้ เนื่องจากอนุกรรมการแต่ละคนต่างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีวุฒิภาวะในการพิจารณา รวมทั้งการพิจารณาของอนุกรรมการอยู่บนข้อเท็จจริงตลอดจนกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง”
ในวงสนทนาครั้งนั้น
ศ. ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ยังชี้ให้เห็นว่า
“ตามมาตรา 59 ประมวลกฎหมายอาญา บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำ คดีนี้จำเลยไม่ได้กระทำอะไรต่อโจทก์
ความเสียหายของโจทก์เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่อยากเสียค่าสมาชิกให้รัฐหรือ กสทช. และความไม่ตรงไปตรงมา คือแอบโฆษณา ทำให้ถูกร้องเรียน”
จึงมีความเห็นว่า
“แม้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ก็พยายามบรรเทาทุกข์ให้เท่าที่อยู่ในขอบเขตอำนาจ ไม่นิ่งเฉย ดูดาย ไม่ได้กระทำอะไรกับโจทก์เลย การบอกสมาชิกว่าต้องคบค้าอย่างระมัดระวัง เพราะทรูไม่ได้เป็นสมาชิก ซึ่งเป็นความจริง และแอบแทรกโฆษณา ซึ่งก็เป็นความจริงมิใช่รึ การพูดความจริง จะว่าแกล้งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำอะไรเลย กลับจะกลายเป็นการละเว้นหน้าที่ ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย”
ในประเด็นการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over – the - Top)
ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผ.อ. ศูนย์นิติศาสตร์ อดีตรองอธิการบดี ม. ธรรมศาสตร์ ชี้ว่า
“คำถามจึงเกิดขึ้นว่า กิจการของ ทรูไอดี เข้าข่ายกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายหรือไม่ หากเข้าข่าย กสทช. อาจมีอำนาจดูแลได้มากกว่าที่ศาลพิจารณา นอกจากนี้ทรูไอดี มีการนำเนื้อหาจากโทรทัศน์ปกติไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของตน พร้อมทั้งแทรกโฆษณา ซึ่งโทรทัศน์ภาคปกติอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด การที่ทรูไอดีสามารถดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการโทรทัศน์รายอื่น ถ้าไปดูตามกฎหมายกิจการโทรทัศน์ ไม่ว่าเผยแพร่วิธีใดก็ต้องได้รับอนุญาต”
ในขณะที่ ผศ. ดร. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา ให้ความเห็นว่า
“การที่จำเลย คือ กสทช. พิรงรอง มีการประชุมและออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการโทรทัศน์ให้ปฏิบัติตามแนวทาง กสทช. อาจเป็นความพยายามในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความชัดเจนในอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลมากกว่าการใช้อำนาจโดยมิชอบ”
ส่วนการแก้ไขรายงานการประชุม อ. รณกรณ์ ชี้ว่า
“คำถามคือ การแก้ไขรายงานการประชุม เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเป็นการแก้ไขให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน”
เมื่อสำรวจความเป็นจริงดังนี้แล้ว
เราจะเห็นได้ว่า
1. จำเลยไม่มีเจตนา ไม่มีทั้งการลงมือกระทำใดๆที่จะไปสมคบคิดเพื่อทำความเสียหายต่อโจทก์
2. ไม่มีการสร้างเอกสารเท็จใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการบงการหรือสั่งการใดๆ มีแต่การปรับแก้ไขรายงานการประชุม เพื่อให้ครบถ้วน ชัดแจ้ง สมบูรณ์ ตามวิถีปฏิบัติทางธุรการของอนุกรรมการ และข้อแก้ไขที่อาจมีขึ้นก็จะต้องผ่านการรับรองของอนุกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป
3. คำว่า ‘ล้มยักษ์’ หรือคำว่า ‘ตลบหลัง’ เป็นคำพูดหลังปิดการประชุมแล้ว มีลักษณะเปรียบเปรยว่าจะต้องทำงานหนัก อุปมาเหมือนการเผชิญศึกใหญ่ จึงต้องรอบคอบระวังตน ไม่ใช่การอาฆาตแค้นแบบมุ่งร้ายหมายขวัญ และก็ไม่ปรากฏการกระทำใดๆ ของจำเลยที่จะโค่นล้มใครเลย
4. ดร. พิรงรอง รามสูต ทำหน้าที่ในฐานะเป็น กสทช. ที่เริ่มต้นจากการปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ คือสิทธิของผู้บริโภค กลับต้องเผชิญชะตากรรมถูกจำคุกสองปีโดยไม่รอลงอาญา ทั้งๆ ที่จำเลยเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยภูมิปัญญา ความสามารถ และประกอบคุณธรรมความดีมาตลอดชีวิต เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ เป็นอดีตรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยมีมลทินใดๆ
จึงเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้สังคมพากันตั้งคำถามว่า “ความเป็นธรรมอยู่หนใด”
บทความโดย
ประสาร มฤคพิทักษ์