"...กรณีที่เป็นการกระทำ "กรรมเดียวแต่ผิดหลายบท" หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณาก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ก็มีอำนาจในการรับเรื่องไว้ดำเนินการเองได้เลย ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา: นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีกรณีการฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของ กกต.มีเนื้อหาดังนี้
กกต. และ สำนักงานกกต.ได้ให้ความสำคัญโดยได้ดำเนินการพิจารณาคำร้องการเลือกสมาชิกวุฒิสภา นับแต่มีการเลือก สว. ซึ่งได้ "แยกกลุ่มเฉพาะที่เป็นการซื้อเสียง และฮั๊ว การเลือก สว." (เสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพยเลขชุด บล๊อคโหวต คะแนนสูงผิดปกติ คะแนน 0) เพราะเห็นว่า เป็นคำร้องที่มีลักษณะพิเศษ มีความสลับซับซ้อน และมีการกระทำเป็นกระบวนการ โดยมีคำร้องที่อยู่ในกลุ่มนี้ 220 คำร้อง และรับเป็นสำนวนเพื่อสืบสวนและไต่สวน โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1.1 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและประสานการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและไต่สวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
1.2 แต่งตั้งเจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน จาก 3 หน่วยงาน จำนวน 10 คน จากข้าราชการระดับสูง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
1.3 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 คณะ ซึ่งเป็นคณะพิเศษที่ประกอบด้วยรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 คน และจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 3 นาย ให้มีหน้าที่และอำนาจสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย
ขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนอยู่ระหว่างสอบสวนและไต่สวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสอบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2567 และทุกสำนวนต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว และพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 มีคำร้อง (รวมความปรากฏ) จำนวนทั้งสิ้น 577 เรื่อง ซึ่ง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 297 เรื่อง
อนึ่ง เฉพาะกลุ่มทุจริต (เสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพย เลขชุด บล๊อคโหวต คะแนนสูงผิดปกติ คะแนน 0) กลุ่มนี้ที่มีจำนวน 220 เรื่อง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 109 เรื่อง และส่งศาลฎีกา จำนวน 3 เรื่อง
2.การดำเนินการเมื่อมีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต.ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไว้ดังนี้
2.1 ให้มี "หน้าที่"ต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนหรือไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานตามมาตรา 41
2.2 ให้มี "อำนาจ" สอบสวน ไต่สวนหรือดำเนินคดีตามมาตรา 41 และแต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีตามระเบียบที่กำหนด และหากมีกรณีมีความจำเป็น กกต. จะแต่งตั้งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกาลหรือเฉพาะเรื่องตามที่ กกต. กำหนดก็ได้ ตามมาตรา 42
2.3 ให้มี "อำนาจในการโอนเรื่องหรือส่งสำนวน" โดยให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวน ที่รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณาเมื่อ กกต. เห็นว่า เป็นการสมควรที่ กกต. จะดำเนินการเอง ตามมาตรา 49
เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว กกต. มีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่แทนไว้ กรณีที่เป็นการกระทำ "กรรมเดียวแต่ผิดหลายบท" หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณาก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ก็มีอำนาจในการรับเรื่องไว้ดำเนินการเองได้เลย
อนึ่ง ที่ สำนักงานกกต. มีหนังสือถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้รับเรื่องการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นคดีพิเศษไว้ดำเนินการแล้วหรือไม่ คดีอะไร ก็เพื่อจะได้เสนอ กกต. พิจารณาตามมาตรา 49 ต่อไป