"...เมืองทรอยในยุคนั้น ที่เชื่อกันว่าเป็นแผ่นดินตุรกี (ตุรเคีย) ในปัจจุบัน พ่ายแพ้ลงด้วยกลลวงซ่อนทหารในม้าไม้ ฉันใด เมืองต่างๆ ในแผ่นดินจีนที่ขุนนางกังฉินเข้ายึดครอง ก็พินาศลงได้ด้วยกลลวงปลอมใบหน้าของเอ็งกอ ฉันนั้น..."
ณ วงเวียนหอนาฬิกา กลางเมืองพนัสนิคม จ. ชลบุรี เมื่อ 15 กพ. 68 ยามเย็น ได้เห็นการแสดง “เอ็งกอ” 8 ชุด ของ 8 คณะแสดง ทำให้นึกถึงการยุทธสมัยโบราณที่การศึกมีหมากกลอำพรางกายในการเอาชนะศัตรู
หนึ่งในกลศึกประวัติศาสตร์คือ “ม้าไม้เมืองทรอย”
ใครได้อ่านหรือดูหนังจากมหากาพย์อีเลียดเรื่อง “สงครามเมืองทรอย” ก็จะพบว่า
สงครามระหว่างกองทัพกรีกกับกองทัพเมืองทรอยยืดเยื้อยาวนานถึง 10 ปี กรีกยังยึดเมืองไม่ได้ เพราะปราการเมืองทรอยนั้นแข็งแกร่งยิ่งนักทั้งผนังปราการและกองทหารที่แข็งแกร่ง
โอดิสเซียส แห่งกองทัพกรีกออกอุบาย ให้สร้างม้าโทรจัน (Trojan Horse) หรือม้าไม้เมืองทรอยขนาดใหญ่มโหฬาร ข้างในกลวง แต่ซ่อนทหารกรีกไว้ภายในจำนวนมาก ลากม้าไม้ไปวางไว้หน้าประตูกำแพงเมืองทรอย แล้วกองทหารกรีก ก็ทำทีเป็นล่าถอยออกไปจากบริเวณนั้น ฝ่ายเมืองทรอยเห็นเช่นนั้นก็เข้าใจว่า ฝ่ายกรีกสร้างม้าไม้ขึ้นมาเพื่อเป็นบรรณาการ เป็นนัยว่ากองทัพกรีกยอมสยบต่อกองทัพทรอยอย่างราบคาบแล้ว และยังพบว่าทหารกรีกล่าถอยกลับไปแล้ว จึงลากม้าไม้เข้าไปไว้ในเมือง แล้วจัดเฉลิมฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่ มีเลี้ยงสุราอาหารกันอึกทึกครึกโครม พอตกดึก ทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้จำนวนมาก ก็ออกจากม้าไม้ไปเปิดประตูเมืองรับทหารกรีกที่ซ่อนอยู่ข้างนอกให้กรูกันเข้าเมืองบุกเข้าโจมตีทหารทรอยที่กำลังเมามาย กองทัพกรีกจึงเผาเมืองและปราบเมืองทรอยได้สำเร็จ
การแสดง “เอ็งกอ พนัสนิคม” มีนัยดุจเดียวกัน การแต่งหน้าด้วยสีสันหลากสี ทำให้จำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร เป็นกลศึกอำพรางกายที่ทำให้ศัตรูตายใจ เพื่อบุกเข้ายึดเมือง
ภาพยนตร์ “ผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน” ของชอร์บราเดอร์ สร้างเมื่อปี 2515 สร้างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง “ซ้องกั๋ง” หรือ สุยหู่จ้วน
ซ้องกั๋ง เป็นนวนิยายเรื่องแรกของจีนที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองและเจ้าที่ดินกับชาวนาและผู้คนในระดับกลางลงถึงระดับล่าง
ซือไน่อัน เป็นนักเขียนของจีนที่รวบรวมและเรียบเรียงบทประพันธ์อันเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ซึ่งแม้แต่ เหมา เจ๋อ ตง ก็ชื่นชอบและยกย่องซ้องกั๋งว่าเป็นวรรณกรรมก้าวหน้าพึงศึกษา
เนื้อหาเป็นการเปิดโปงการกดขี่ข่มเหง และเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นปกครอง เป็นยุคที่ฮ่องเต้อ่อนแอ เรียกว่ายุค “กังฉินครองเมือง” ที่สุจริตชนถูกกลั่นแกล้งบีบคั้น ชาวนาถูกรีดนาทาเร้น เสียภาษีหนัก สังคมไร้ความยุติธรรม นำไปสู่ความแตกแยก และทำให้ราษฎร ทั้งข้าราชการ ทหาร ขุนนาง คหบดี ชาวนา รวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อต้าน
เหล่าผู้กล้า 108 คน ถูกขุนนางคุกคามจึงลี้ภัยออกจากเมืองตัวเองไปอาศัยเขาเหลียงซาน เป็นฐานที่มั่นในการฝึกปรือวิทยายุทธ์ เพื่อปราบขุนนางชั่ว กล่าวกันว่าผู้กล้าทั้ง 108 คน คือเทพยดาจุติมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญของแผ่นดิน เมื่อพวกเขามาพบกันก็สาบานตัวเป็นพี่น้องกัน โดยมี ซ่งเจียง เป็นผู้นำ
จอมยุทธ์ผู้กล้าลงมาจากเขาเหลียงซาน ยกขบวนไปปราบกบฏกลุ่มต่างๆ ทั่วแผ่นดิน ตามราชโองการของฮ่องเต้ แต่ละยุทธการ ผู้กล้าเสียชีวิตไปจากการรบครั้งแล้วครั้งเล่า แทบจะไม่ได้พักรบเอาเสียเลย ท้ายสุดซ่งเจียงปราบกบฏทั่วแผ่นดินได้หมด ฮ่องเต้จึงพระราชทานเหล้าเลี้ยงซ่งเจียง แต่ก็ถูกขุนนางเกาฉิวแอบใส่ยาพิษในเหล้าจนซ่งเจียงเสียชีวิต
ต่อมาฮ่องเต้ ได้ตั้งศาลเจ้าให้แก่เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญและความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน
ตอนที่ผู้กล้าจะเข้าสู่เมืองเพื่อต่อสู้กู้ชาตินั้น จำเป็นต้องอำพรางตัวเอง ไม่ให้ทางการรู้ว่า พวกเขาเป็นนักรบ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ให้ใครจำหน้าได้ พวกเขาทุกคนอยู่ในชุดการแสดงคล้ายงิ้ว แต่เรียกขานว่า “เอ็งกอ” เมื่อวันสำคัญมาถึง เหล่าผู้กล้าแต่งกายชุดรัดกุมเหมือนทหารออกศึก ทำทีเป็นคณะผู้แสดงเพื่อความบันเทิง
ทุกคนจะวาดใบหน้าแต่งเติมให้มีสีสันฉูดฉาดแตกต่างกันออกไป ไม่มีใครจำหน้าใครได้ มีกลอง ฉาบ เป็นเครื่องให้จังหวะ มีผู้กล้าคนหนึ่งถืออุปกรณ์รูปงู เป็นคนคุมจังหวะ คนหนึ่งถือธง บอกทิศนำทาง
ทุกคนมีไม้พลอง 2 อัน ตีกระทบกันให้เข้าจังหวะลีลาการเต้นแบบนักรบ ราษฎรในเมืองทราบข่าวและเป็นพวกเดียวกันอยู่แล้วกับผู้กล้า ต่างซ่อนมีด ซ่อนดาบไว้พร้อม พอเริ่มการแสดง ทุกคนรวมทั้งขุนนางกังฉินต่างตื่นตาตื่นใจและสนุกสนานเพลิดเพลิน การแสดงผ่านไปสักพักใหญ่ เอ็งกอทุกคนเปลี่ยนโฉมจากนักแสดงกลายเป็นกองกำลังกู้ชาติ สามารถเข้าจับกุมขุนนางกังฉิน ยึดเมืองคืนได้สำเร็จ เพราะลวงให้ศัตรูตายใจได้ด้วยการปลอมแปลงใบหน้า เป็นการสร้างวีรกรรมกู้บ้านกู้เมืองไว้ในแผ่นดิน
เมืองทรอยในยุคนั้น ที่เชื่อกันว่าเป็นแผ่นดินตุรกี (ตุรเคีย) ในปัจจุบัน พ่ายแพ้ลงด้วยกลลวงซ่อนทหารในม้าไม้ ฉันใด เมืองต่างๆ ในแผ่นดินจีนที่ขุนนางกังฉินเข้ายึดครอง ก็พินาศลงได้ด้วยกลลวงปลอมใบหน้าของเอ็งกอ ฉันนั้น
ความจริงเอ็งกอ ซึ่งเป็นศิลปะจีนผ่านคนจีนอพยพเข้ามาในไทย กระจายไปหลายจังหวัดที่มีการฟื้นฟูและสืบทอด เช่น ขอนแก่น หนองบัวลำภู นครสวรรค์ พิจิตร บางมูลนาค อุดรธานี ยะลา
พนัสนิคมเป็นพื้นที่หนึ่งที่เอ็งกอปักหลักมั่นคง มีคณะแสดงถึง 4 คณะ และมีการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย
ที่พนัสนิคม เปิดการแสดงเอ็งกอครั้งแรกในพิธีล้างป่าช้าของศาลเจ้าเซียนซือ เมื่อปี พ.ศ. 2482 บริเวณนี้ชุมชนถูกเรียกชื่อว่า “บ้านเอ็งกอ”
เทศกาลเอ็งกอพนัสนิคม เมื่อ 14-16 กพ.68 ณ วงเวียนหอนาฬิกา เทศบาลเมืองพนัสนิคม นับว่าเป็นมหกรรมเอ็งกอที่เปิดพื้นที่ให้แก่นักแสดงมากกว่า 400 คนทั้งในพื้นที่และที่มาจากต่างถิ่น เช่น หนองบัวลำภู ขอนแก่น รวมทั้งคณะเอ็งกอต้นฉบับจาก โผวเล้ง แต้จิ๋ว ประเทศจีน จำนวนกว่า 50 ชีวิต ที่มีลีลา เร่งเร้า สู้รบ อย่างคึกคักมีชีวิตชีวา
การเต้นของเอ็งกอ จะใช้ตั้งแต่ศีรษะ ลำตัวลงไปจนถึงเท้า ต้องใช้ความว่องไวในการแสดง แขนขาต้องยกสูง เริ่มเดินจากลักษณะแถวตอนเป็นรูปงู แปรขบวนจากหนึ่งแถวไปเป็นสี่แถวได้ มีท่าหลัก 4 ท่าคือ
1. ท่าสอดไม้สอดกลอง
2. ท่าหมอบพื้น
3. ท่ายกแขนขาสูง ตีไม้
4. ท่าประกอบการใช้ใบหน้า
จบด้วยท่ายืนตรงโค้งมาข้างหน้า แสดงความคารวะ
งานเทศกาลเอ็งกอพนัสนิคม ใน 3 วันนั้น มีทั้งการแสดงละครเอ็งกอเรื่อง “สำเภาแดง” มีนิทรรศการ มีขบวนเอ็งกอ และการแสดงอย่างตื่นเต้นเร้าใจ ผู้คนหลายพันคน ความหมายที่สำคัญและไกลไปกว่าการแสดงคือพลังสามัคคีธรรมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ร้านค้า ภาควิชาการ เทศบาล อบจ. วัฒนธรรมจังหวัด ท.ท.ท. และการกีฬาจังหวัด ศาลเจ้า หอการค้า ที่จับมือกันร่วมขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจ วัฒนธรรมชุมชน ทำให้เกิดการขับเคลื่อน 4 พื้นที่ ย่านวัฒนธรรมใน 4 ย่าน คือ
1. ย่านประวัติศาสตร์เมืองเก่า
2. ย่านวัฒนธรรมเอ็งกอ
3. ย่านจักสาน
4. ย่านพนัสชวนชิม
มีกิจกรรมต่อเนื่องมาตลอด 4 ปี โดยจัดงานเทศกาลต่างๆ รวม 240 ครั้ง มีร้านค้าเฉลี่ย 80 ร้านค้า มีรายได้เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะห่วงโซ่จากกิจกรรมเอ็งกอ เช่น เครื่องแต่งกาย ค่าตัวนักแสดง ค่าช่างแต่งหน้า นักดนตรี ผู้ฝึกสอน ช่างตัดเสื้อผ้า ผู้ผลิตอุปกรณ์แสดง ผู้ทำของที่ระลึก
นี่เป็นการดำเนินงานตามโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยมีภาครัฐ คือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นการยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม”
รศ.ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนา ซึ่งดำเนินโครงการในนามของมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
“ในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสะสมเป็นมูลค่า 226 ล้านบาท และมีผลตอบแทนจากการลงทุนภาครัฐ (Public ROI) เท่ากับ 15.28 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท นับเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากถึง 15 เท่าตัว ผลตอบแทนทั้งหมดก็อยู่กับชาวบ้านในพื้นที่นั้นเอง”
ย้อนกลับมาที่เอ็งกอ ซึ่งเป็นการสืบเนื่องศิลปะจีนของคนไทยเชื้อสายจีน จนบัดนี้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของพนัสนิคมไปแล้ว เอ็งกอจึงเป็นศิลปวัฒนธรรมนำวิถีของพนัสนิคม
คุณวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพนัสนิคม เป็นกำลังหลักในการฟื้นฟู และอนุรักษ์เอ็งกอพนัสนิคม เป็นคนกล่าวต้อนรับ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. แห่งกระทรวง อว. และคณะ ในนามของชาวพนัสนิคมในงานวันนั้น ให้ข้อมูลว่า
“จำนวนคนที่ร่วมวงเอ็งกอ มีเคล็ดว่าจะต้องไม่ใช่จำนวน 108 คน เท่าจำนวนผู้กล้าเขาเหลียงซาน มีครั้งหนึ่งที่พนัสนิคมเคยจัดคณะจำนวน 108 คน ผลก็คือไฟไหม้ตลาด และมีคนเสียชีวิต มันเป็นอาถรรพ์ครับ”
คุณวิจัยยังบอกว่า
“เดือนที่แล้วไปฮ่องกง พบกับคณะเอ็งกอโผวเล้ง ซึ่งเป็นเมืองหลักของเอ็งกอ เราเห็นคุณค่าของศิลปะเอ็งกอว่าเป็นทั้งการแสดงละคร เป็นทั้งลีลาการเต้น และเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีคุณค่าและสืบเนื่องมายาวนาน จึงมีข้อตกลงกันว่าฝ่ายจีนและไทยจะช่วยกันทำข้อเสนอต่อ UNESCO ให้เอ็งกอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเภทจับต้องไม่ได้ของโลก ทางจีนก็เห็นดีด้วย เราจะใช้ความพยายามร่วมกัน”
พนัสนิคม จ.ชลบุรี จึงเป็นหนึ่งพื้นที่ของประเทศไทยที่ปักธงทิว “เอ็งกอ” ให้โบกสะบัดพลิ้วไหวร่วมกันกับอีกหลายพื้นที่บนแผ่นดินไทย
เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ศิลปะของจีนคือ การแสดงเอ็งกอ การเล่นงิ้วต่อเนื่องมาถึงมายากลเปลี่ยนใบหน้าแบบฉับพลัน ล้วนแล้วแต่อาศัยรูปลักษณ์บนใบหน้าเป็นแกนการแสดง ชรอยจะมีที่มาที่ไปที่ต่างก็โยงใยทั้งสามศิลปะไปด้วยกัน
เอ็งกอ อลังการ ผ่านสมัย
ผสมผสาน จีนไทย ยุทธศิลป์
มรดก ภูมิปัญญา สองแผ่นดิน
ไม่รู้สุด รู้สิ้น ภูมิพลัง
กลองฉาบ ไม้คู่ ธงแถวทาง
อำพราง ใบหน้าคน มีมนต์ขลัง
ลีลา เร้าเร่งรบ เมลืองมลัง
เป็นขุมคลัง มหาสมบัติ “พนัสนิคม”
บทความโดย :
ประสาร มฤคพิทักษ์