“...กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้...”
การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค อันเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต กลับต้องโทษทางอาญา ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี เป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมไทยไม่ยอมให้ผ่านเลยไปกับสายลมได้
ต่อไปนี้เป็นท่าทีขององค์กรและบุคคลที่มีปฏิกิริยาต่อกรณีดังกล่าว
สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ 7 กพ. 68 ชี้ว่า
“การปฏิบัติหน้าที่ (ของ ศ. กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กสทช.) ดังกล่าว เป็นความตั้งใจที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ.........”
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กนท.) ออกแถลงการณ์ปกป้อง ดร.พิรงรอง รามสูต ว่าเป็นการกระทำเพื่อ “ปกป้องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค และการออกหนังสือเตือนนั้น เป็นไปตามหน้าที่อันสุจริตของ กรรมการ กสทช. และ กนท. ยังแสดงความกังวลถึงการฟ้องร้องในคดีดังกล่าวว่า อาจเข้าข่ายการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP) ที่จะนำไปสู่
การสร้างผลกระทบเชิงลบในการกำกับดูแลกิจการฯ ของ กสทช. และยังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวแก่สังคมจากการฟ้องร้องที่สื่อมวลชนพึงไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร.........”
ศ. พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี โพสต์ FB ว่า
“ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่รับผิดชอบด้วยความสุจริต จะกลายเป็นความผิดทางอาญาแล้วไซร้ จะเหลือใครทำงานให้กับส่วนรวม”
คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ว่า
“การปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. ควรดำเนินไปตามหลักนิติธรรม และความมีอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิการสื่อสารขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างระบบการสื่อสารที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จะเป็นหลักประกันสำคัญ ในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนต่อไป
คณะการสื่อสารมวลชนฯ จึงขอแสดงความเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ”
คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน ม. ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ว่า ศ. กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาสุจริตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ....... และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันทบทวนและเห็นความสำคัญของผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ เป็นสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นบรรทัดฐานที่กระทบต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค”
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงว่า เคารพคำพิพากษาของศาล แต่มีความเห็นโดยสุจริตว่า
“การฟ้องปิดปากประชาชนและหน่วยงานรัฐ ที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ เป็นการเล่นงานทางกฎหมายของรัฐและกลุ่มทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานขององค์กร กสทช. ต่อการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนในที่สุด ครป. เป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมจะตกเป็นเครื่องมือรับใช้กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่และตกเป็นเครื่องมือเพื่อบ่อนทำลายนิติธรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต เคยโหวตไม่เห็นชอบการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ด้านโทรคมนาคม”
น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ชี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้น “ได้สร้างผลกระทบและการตั้งคำถามจากสังคมไทย ในแง่การทำหน้าที่ ของ กสทช. และนักกฎหมาย สะท้อนไปถึงอนาคตวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม การเริ่มต้นของแรงกระเพื่อมได้เกิดขึ้นแล้ว และต้องต่อสู้ต่อไปในระยะยาว....... เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา จึงเป็นหน้าที่ของกรรมการและสำนักงานต้องดูแลแก้ไขปัญหา หากเอกชนยังไม่พอใจจะนำเรื่องไปที่ศาลปกครองได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดี ซึ่งหลายครั้งเรื่องยุติที่ศาลปกครอง ข้อพิพาทเป็นเรื่องปกติ แต่ควรได้ข้อยุติตามกลไกที่เหมาะสม”
น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค สัมภาษณ์ว่า
“จากนี้ไปใครจะกล้าพิจารณาคุ้มครองผู้บริโภค เพราะทำหน้าที่แล้วถูกฟ้อง จำคุก”
น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ว่า
“ดิฉันรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง
ขอให้กำลังใจ อาจารย์พิรงรอง อย่าเสียกำลังใจ ความยุติธรรมต้องมีให้อาจารย์และผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ขอให้อาจารย์อย่าลาออก จาก กสทช. อยู่ช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อไป”
ทั้งแถลงการณ์ และความเห็นเหล่านี้มีนัยตรงกันอย่างสำคัญ คือ
1. ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการ กสทช. ที่ทำงานไปตาม ภาระหน้าที่ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาตามระบบ
2. เป็นการทำหน้าที่รับผิดชอบโดยเริ่มจากผลประโยชน์ของผู้บริโภค และสาธารณชนที่พึงได้รับความเคารพ
3. เป็นการทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจ ตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ
4. หากการทำหน้าที่พิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ และได้รับการตอบแทนในทางที่เป็นโทษ เช่นนี้ ในอนาคตก็จะไม่มีหน่วยงานใดหรือบุคคลในหน่วยงานใดกล้าทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอีกต่อไป ทุกคนจะพากันเข้าเกียร์ว่าง เพื่ออยู่ในพื้นที่อันปลอดภัย
ตามประวัตินั้น อ.พิรงรอง รามสูต มีคุณพ่อ เป็น ศ. พิเศษ นพ. ธีระ รามสูต อดีตปลัด ก .สาธารณสุข ได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย เป็นปูชนียแพทย์คนหนึ่งของสังคมไทย คุณแม่ชื่อ ศ. พันธุ์ทิพย์ รามสูต เป็น ศ. เกียรติคุณ พี่ชายคนโต ชื่อ ศ. ดร. พงษ์ราม พี่ชายอีกคนเป็นแพทย์ อ.พิรงรอง จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เรียนจบปริญญาเอกด้านการสื่อสาร จากคานาดา เป็นอดีต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ศ. กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต เป็นอภิชาตบุตรี ที่ถึงพร้อมด้วยการศึกษา มีภูมิปัญญา และคุณธรรม ไม่เคยมีมลทิน ด่างพร้อยใดๆเลย
ใครที่รู้จัก และร่วมงานด้านต่างๆ ยืนยันตรงกันว่า อ. พิรงรอง เป็นคนจิตใจดี ปรารถนาดีต่อส่วนรวม ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทำงานด้วยหลักวิชา ไม่มีจิตอาฆาตมาดร้ายใคร ยืนอยู่กับเหตุผลและความถูกต้องตลอดมา
ทางคดีความ ก็ต้องต่อสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ด้วยข้อต่อสู้ทางกฎหมาย
แต่ในเรื่องของความยุติธรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอันลึกซึ้งล้ำค่ายิ่งว่า กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความยุติธรรมมีความสำคัญยิ่งกว่าเพราะมีมิติทางสังคมและศีลธรรมจรรยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแยกกันไม่ได้ ทั้งยังทรงมีพระบรมราโชวาทให้ไว้ในหลายโอกาส เช่น
ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัญฑิตยสภา เมื่อ 7 สิงหาคม 2515 ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า
“กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”
ในอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาทรงมีพระบรมราโชวาทอีกว่า
“กฎหมายนั้น ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแค่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็ไม่ได้มีวงแคบอยู่เพียงขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย”
ขอน้อมกราบพระบรมราชวิจารณญาณอันประเสริฐยิ่ง ที่ทรงยกคุณค่าแห่งความยุติธรรมไว้เหนือกฎหมาย
นี่เป็นข้อเตือนใจองค์กร และบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ควรรับใส่เกล้าฯ ไว้ตลอดลมหายใจแห่งการทำหน้าที่เพื่อผดุงความยุติธรรมในแผ่นดิน
ขีดเส้นใต้
“การใช้กฎหมาย จึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวกฎหมายเอง”
ประสาร มฤคพิทักษ์