"...หลักนิติธรรมรอใครไม่ได้ และทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ อยากได้หลักนิติธรรมเราทุกคนต้องร่วมกันสร้าง และหลักนิติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนทั้งโครงสร้างความคิดและการจัดระบบสังคม ถ้าทำได้ก็ทำให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับลูกหลาน..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2568 ที่ TIJ Common Ground สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมด้วยเครือข่าย The Rule of Law and Development Program (RoLD), The World Justice Project (WJP) และ The Standard พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน Thailand Rule of Law Fair งานแฟร์เพื่อความแฟร์ ในหัวข้อ ‘Investing in the Rule of Law for a Sustainable Future’ ภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลักนิติธรรม
โดยผู้กล่าวปาฐกถาหลายรายมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือ หลักนิติธรรมจะมั่นคงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การมีหลักนิติธรรมในประเทศจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมีความมั่นคง
ทั้งนี้มีบุคคลที่กล่าวปาฐกถาที่น่าสนใจ ดังนี้
น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานผ่าน VDO ว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักนิติธรรมเป็นเสาหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ และยังเชื่อมโยงความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสในการนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรม มีการมุ่งเน้นพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงระบบยุติธรรมได้ง่ายกว่าเดิม และให้ความสำคัญกับการขยายสิทธิมนุษยชนไปยังกลุ่มคนไร้สัญชาติ เปิดให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางกระบวนการยุติธรรมและการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานในสังคม
"ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักนิติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ IMD ที่เรามุ่งหวังให้ประเทศของเราก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาในด้านโครงสร้างสถาบัน และโครงสร้างทางสังคม นอกจากนี้ เรายังงมุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในระบบรัฐและกฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น OECD และ The World Justice Project หรือ WJP เพื่อยกระดับมาตรฐานในทุกมิติ การลงทุนในหลักนิติธรรมไม่ใช่เพียงหน้าที่ของรัฐบาลแต่เป็นพันธกิจของทุกภาคส่วน เพื่อวางรากฐานอันก้าวหน้าเพื่อคนรุ่นต่อไป" น.ส.แพรทองธาร กล่าว
นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษผ่าน VDO กล่าวว่า นิติธรรมเป็นแนวคิดพื้นฐานหลักสำหรับการสร้างระบบ ระเบียบในการดำรงอยู่ของสังคม หลักนิติธรรมแนบแน่นอยู่กับสังคมที่ต้องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน สร้างความเรียบร้อยให้สังคม โดยรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐก็อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมเดียวกันกับประชาชน และการตัดสินของศาลอย่างเป็นอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลกลุ่มการเมืองจะส่งผลให้หลักนิติธรรมแข็งแรงและระบบยุติธรรมของประเทศก้าวหน้า
“บทบาทในการรักษาและส่งเสริมหลักนิติธรรมไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยและพึ่งพาความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และองค์กรทั้งหลายในประเทศเพื่อสร้างเสริมสังคมที่ยึดมั่นในความยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นธรรมย่อมไร้ความหมาย หากไม่มีการยึดถือหรือบังคับให้เป็นไปตามผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น การบังคับคดีทางแพ่งและทางอาญาจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำชูหลักนิติธรรมไม่ให้สั่นคลอน และป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหลักนิติธรรม” นางชนากานต์ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การลงทุนกับหลักนิติธรรมนั้น ตนเองขอย้อนไปที่การลงทุนที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์ คือ การปรากฏในเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญปี 2517 จากเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 ที่นักศึกษาออกมาชุมนุมหรือเรียกว่าการแสดงประชามติอย่างแรงกล้า เพื่อขอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ถือเป็นวิกฤตทางการเมืองที่สำคัญเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการรับฟังประชาชน
รัฐธรรมนูญปี 2517 ที่ปรากฏเป็นลากลักษณ์อักษร เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีหลักนิติธรรม 1.จะรักษาเอกราชแห่งชาติไทยในทุกทาง 2.คุ้มครองทุกศาสนาในสถาพร 3.จะเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมิ่งขวัญของประเทศ 4.ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย 5.ตรากฎหมายอย่างเป็นธรรม 6.กำจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้ลดน้อยลงตามลำดับ 7.ร่วมกันบำบัดทุกข์บำรุงสุขและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพราษฎรถ้วนหน้าและเสมอภาค 8.ดำรงไว้หลักนิติธรรมเพื่อคุ้มครองราษฎรอย่างทั่วถึง จะเห็นว่า 62 ปีที่ผ่านมาเพื่อการคุ้มครองประชาชนก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การลงทุนเมื่อ 62 ปีที่แล้วก็ทำให้เห็นทางออกของประเทศ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเห็นทางออกแล้วแต่ยังไม่เห็นข้อยุติ การสัมนาในวันนี้อาจพบข้อยุติก็เป็นได้
ศ.พิเศษ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า กฎหมายเป็นกลไกพื้นฐานในการดูแลสังคมให้สงบสุข แต่ถ้ากฎหมายมี 2 มาตรฐานย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัด มีงานวิจัยจากนักวิจัยมหาวิทยาลัย MIT ระบุว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมที่ดี มีระบบที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงและเจริญทางเศรษฐกิจ ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีปัญหาหลัก คือ หลักนิติธรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องของนักกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีการบูรณาการระหว่าง หลักประชาธิไตย หลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล ที่ในความเป็นจริงทั้งสามส่วนต้องได้รับความสำคัญและมีความเข้มแข็งอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยเพิ่งจะกล่าวถึงหลักนิติธรรมได้ไม่นานนัก อีกทั้งประเทศไทยยังมีความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายสิบปีอีกด้วย
"หลักนิติธรรมรอใครไม่ได้ และทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ อยากได้หลักนิติธรรมเราทุกคนต้องร่วมกันสร้าง และหลักนิติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนทั้งโครงสร้างความคิดและการจัดระบบสังคม ถ้าทำได้ก็ทำให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับลูกหลาน" ศ.พิเศษ กิตติพงษ์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายบางฉบับล้าสมัย ทำให้ SME มีต้นทุนแฝงจึงไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ซึ่งต้นทุนแฝงเหล่านั้นใน หมายถึง การทำธุรกิจที่ต้องขออนุมัติหรือขออนุญาตรายทาง จนเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างเรื้อรัง จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยควรปฏิรูปฟื้นฟูหลักนิติธรรมด้วยการทำ Regulatory Guillotine หรือการตัดลดกฎหมายที่ล้าสมัย อย่างเร่งด่วน หากต้องการจะไปแข่งขันได้ในเวทีโลก
"การที่เราจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มี GDP ของประเทศไทยเป็นไปตามที่คาดฝัน คือ 4%-5% ต่อปี จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่เริ่มต้นจากการทำ Regulatory Guillotine พร้อมปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย" นายเกรียงไกร กล่าว
นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยเห็นปัญหาคอร์รัปชันรอบตัว แต่ไม่เห็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนมากเพียงพอ ส่วนรัฐบาลก็มองแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สิ่งที่เผชิญต่อมาคือดัชนีคอร์รัปชันของประเทศไทยย่ำแย่ จนประเทศเพื่อนบ้านมีดัชนีสูงกว่า จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่พลังของประชาชนก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ก็ยังมีการคอร์รัปชันในการเลือกตั้งทุกระดับของประเทศไทย โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาที่มีการใช้เงิน ใช้อิทธิพล พึ่งบ้านใหญ่และนายทุนพรรค และมีเพียงนโยบายขายฝัน เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นก็นำเงินงบประมาณไปใช้กับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมของท้องถิ่น เช่น การสร้างถนนที่ไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของท้องถิ่น สร้างถนนเพียงแค่ให้รถวิ่งผ่าน หรือการใช้เงินแก้ปัญหายาเสพติดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในท้องถิ่น เป็นต้น เหล่านี้เป็นจุดบดบังการเติบโตของประเทศ เพราะทำให้งบประมาณถูกนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“การที่หยวนยอมให้ละเมิดหลักนิติธรรม ความอ่อนแอในการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส กลไกการตรวจสอบของรัฐปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนา จนนำไปสู่การคอร์รัปชันทำลายโอกาสของบ้านเมืองไม่จบสิ้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแสวงหาสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศไทย สร้างเครื่องมือแต่ละอย่างเพื่อสร้างความโปร่งใสและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ เช่น ระบบ ACT AI หรือ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ข้อตกลงคุณธรรมเพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยมีจุดเปลี่ยนที่เข้มแข้งประชาชนต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น เราทุกคนต้องร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายและต่อสุ่ร่วมกัน เราจะเปลี่ยนประเทศไทยได้การต่อต้านคอร์รัปชันคือจุดเปลี่ยนของประเทศไทย" นายมานะ กล่าว
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานของหลาย ๆ สิ่ง จาก ‘ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม’ (Rule of Law Index) ซึ่ง The World Justice Project ทำการวัดและจัดลำดับหลักนิติธรรมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และเปิดเผยว่า ใน พ.ศ. 2567 ประเทศไทยได้คะแนน 0.50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 78 จาก 142 ประเทศทั่วโลก โดยถือว่ามีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.55 คะแนน การที่มีหลักนิติธรรมที่ตอบโจทย์จะนำไปสู่ประชากรที่มีความรู้ มีทักษะ ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น และมีความสงบสุข ขณะเดียวกันการลงทุนในหลักนิติธรรมไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการปฏิรูปกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องหาทางออกที่ทุกฝ่ายสามารถได้ประโยชน์ร่วมกัน และต้องตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม