"...การฟ้องปิดปากประชาชนและหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ เป็นการเล่นงานทางกฎหมายของรัฐและกลุ่มทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานขององค์กร กสทช. ต่อการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนในที่สุด..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ภายหลังจากที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ปมออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมีโฆษณาแทรก
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สภาองค์กรของผู้บริโภค , คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกมาแสดงจุดยืนแสดงท่าทีให้กำลัง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตามที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญานั้น
คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลได้ กระนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ
ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
สภาองค์กรของผู้บริโภค
คำพิพากษาของศาลในคดี อ.พิรงรอง กับข้อจำกัดการคุ้มครองผู้บริโภค
จากคำสั่งคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาคดี อ.พิรงรอง จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ล่าสุดศาลให้ประกันตัว รวมถึงการสั่งห้ามออกนอกประเทศ
สภาผู้บริโภคเห็นว่า คำตัดสินของศาลที่ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมาจากการกระทำที่ไม่ได้ออกคำสั่งเพียงแต่การส่งหนังสือแจ้งเตือน ก็อาจทำให้ เกิดข้อจำกัดในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมของหน่วยงานอื่น และสร้างความกังวลว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมได้
“คำพิพากษาครั้งนี้ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคของเจ้าพนักงานของรัฐในประเทศไทย ว่าการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ถูกนำมาใช้เป็นน้ำหนักในการพิจารณา และสุดท้ายกลับต้องเผชิญกับคำพิพากษาว่ากระทำผิด แล้วการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ”
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคหวังว่า ทั้งอ.พิรงรองและเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งหวังที่จะคุ้มครองประโยชน์ผู้บริโภค จะได้รับความเป็นธรรมจากการทำหน้าที่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภคไม่อยากให้ผู้บริโภคหมดหวังกับการร้องเรียนการละเมิดสิทธิของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต่อ กสทช. อาทิ สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ค่าบริการแพง สัญญาณไม่ครอบคลุม โดนเปลี่ยนโปรโมชันอัตโนมัติ เป็นต้น
แต่หาก กสทช. ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค เพื่อให้สามารถตรวจสอบและติดตามการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือสายด่วน 1502
*******
นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังได้มีการเชิญชวนเพื่อน ๆ องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคทุก ๆ องค์กร ร่วมกันให้กำลังใจอาจารย์พิรงรอง ผู้ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างสุจริต โดยการเปลี่ยนหน้าปกเฟซบุ๊ก (Facebook Cover) หรือเอ็กซ์ (X หรือทวิตเตอร์) พร้อม และติดแฮชแท็กร่วมด้วย ได้แก่
#สภาผู้บริโภค #เพื่อนผู้บริโภค #saveพิรงรอง #คุ้มครองผู้บริโภคแต่โดนคดี
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แก่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ โดยศาลเห็นว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการฟ้องร้องของฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เคารพคำพิพากษาของศาล แต่มีความเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชน ดังนี้
1. คำพิพากษาของศาลเป็นประโยชน์และเป็นคุณต่อกลุ่มทุนผูกขาดเศรษฐกิจ แต่เป็นโทษกับสังคมและบุคคลที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
2. การทำหน้าที่ของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะและเป็นการทำหน้าที่ตามมาตรา 27 ของกฎหมาย กสทช. ทั้ง 25 ข้อที่ได้ให้อำนาจไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำแผน กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน ออกมาตรการ พิจารณา อนุญาต กำกับ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ติดตามตรวจสอบ ออกระเบียบ ประกาศ อนุมัติ ดำเนินการ เสนอแนะ ตลอดจนอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขปัญหา
3. กรณีสำนักงาน กสทช. ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล คือการทำหน้าที่อย่างสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและผู้บริโภค เนื่องจาก กสทช.ได้รับการร้องเรียนตามกฎหมายจากผู้บริโภคพบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันทรู ไอดี มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ได้พิจารณาจึงได้เสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าวและสำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใดและให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก Must Carry ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ ดังนั้น โจทย์ไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตโดยตรงจึงแจ้งเตือนผ่านผู้ประกอบการทีวิดิจิทัลทั้งหมดที่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ทราบว่าตุลาการได้พิจารณาข้อมูลประกอบคำฟ้องของฝ่ายโจทย์มากน้อยเพียงใด
4. การฟ้องปิดปากประชาชนและหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ เป็นการเล่นงานทางกฎหมายของรัฐและกลุ่มทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานขององค์กร กสทช. ต่อการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนในที่สุด คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมจะตกเป็นเครื่องมือรับใช้กลุ่มทุนขนาดใหญ่และตกเป็นเครื่องมือเพื่อบ่อนทำลายนิติธรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต เคยโหวตไม่เห็นชอบการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ด้านโทรคมนาคม
คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แถลงการณ์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงจุดยืนสนับสนุน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการการสื่อสารและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดโดยสุจริต
คณะการสื่อสารมวลชนฯ เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. ควรดำเนินการไปตามหลักนิติธรรม และมีความเป็นอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิการสื่อสารขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างระบบการสื่อสารที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะเป็นหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนต่อไป
คณะการสื่อสารมวลชนฯ จึงขอแสดงความเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ
.
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน
ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลสั่นสะเทือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะกำกับดูแลถูกฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาจริงๆ คือเจตนาว่าต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่
“จึงอยากเรียกร้องว่า ควรมีการแก้กฎหมายเพื่อสร้างกลไกคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะหน่วยที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ใช่เฉพาะ กสทช. แต่ยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอีกมากมาย ที่กำลังอกสั่นขวัญแขวน ไม่ว่าจะเป็น กกพ. ที่กำกับดูแลไฟฟ้าและพลังงาน และสำนักงาน กขค. ที่กำกับดูแลการแข่งขันทางค้าของประเทศ ซึ่งหลังจากที่ศาลตัดสินในวันนี้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหวาดกลัวเมื่อปฏิบัติหน้าที่อาจจะถูกบริษัทเอกชนมาฟ้องร้องหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเข้มแข็ง”
"กรณีนี้เป็นการฟ้องปิดปาก เพราะมีหลายกลไกที่บริษัทเอกชนสามารถร้องเรียนในกรณีที่ได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานที่กรรมกับดูแล แต่บริษัทเอกชนกับใช้กลไกทางศาลอาญา ซึ่งมองว่าเป็นช่องทางที่ลัดขั้นตอน ทำให้หลังจากนี้นางสาวพิรงรอง จะไม่สามารถทำหน้าที่ใน กสทช. เข้าร่วมพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับบริษัทเอกชนแห่งนี้ได้ ทำให้ไดนามิกซ์ใน กสทช. เปลี่ยน จากเดิม 7 คน จะเหลือ 6 คน ทำให้การตัดสินใจอะไรต่างๆ ยากมากขึ้น และยังมีอีกหลายเรื่องใน กสทช. ต้องติดตาม นอกจากกรณีการควบรวมทรูและดีเทค เช่น การตั้งที่ปรึกษามาตรวจสอบค่าบริการว่าแพงกว่ากำหนดหลังมีการควบรวมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการควบรวมอินเตอร์เน็ตบ้านระหว่างเอไอเอส กับ 3BB ก็หวั่นจะซ้ำรอยแม้ว่าจะเป็นเอกชนคนละราย"
"อยากเห็นความเป็นปึกแผ่น ส่งเสียงให้กำลังใจ อยากให้กำลังใจ กสทช. ทุกคน อย่าเป็นกังวลมากเกินไป ขอให้ยืนหยัดทำหน้าที่บนหลักการที่ถูกต้องต่อไป"
@ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
"ผมรู้จัก 'ขวัญ' ดร. พิรงรอง มาตั้งแต่เรียนอยู่เมืองเดียวกัน (Vancouver, Canada) แม้จะไม่ได้ติดต่อกันใกล้ชิดหลังเรียนจบตลอดกว่า 30 ปีที่รู้จักกัน แต่ก็มีโอกาสพูดคุยกันเป็นระยะ ผมนึกไม่ออกเลยว่าขวัญจะเป็นคนที่มี 'เจตนา' กลั่นแกล้งคนอื่นด้วยวิธีการที่ไม่ถูกไม่ควร (แม้จะโดนกลั่นแกล้งตลอดก็ตาม) อยากทราบจริง ๆ ว่าคำพิพากษาของศาลใช้ 'หลักฐาน' ใดบ่งชี้อย่างสิ้นข้อสงสัยว่ามีเจตนากลั่นแกล้ง
อยากขอความโปร่งใสเรื่องนี้ด้วยครับ ก่อนที่หลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่รุ่งริ่งอยู่แล้วจะยับเยินไปกว่านี้"
เหล่านี้เป็นกำลังใจและจุดยืนสนับสนุนของกลุ่มบุคคลในสังคม ที่มีต่อ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. หลังถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี กรณีถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ปมออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมีโฆษณาแทรก ที่ปรากฏเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้