"...ประชานิยมจึงเป็นเสาที่แทรกเข้ามาตรงช่องว่างของเสาประชาธิปไตย จนสามารถสถาปนาการเมืองประชานิยมได้สำเร็จ ทว่าเมื่อนักการเมืองประชานิยมได้อำนาจแล้ว สิ่งที่ได้ คือ ได้ภาพนักการเมืองที่มีอัธยาศัยดีมีความเอื้ออาทร—ที่จริงภาพตรงนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากบิ๊กบราเธอร์หรือบรรดาเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทั้งหลายในโลก— ซึ่งมีเบื้องหลังต่างไปจากที่เห็น!!..."
แนวคิดเรื่อง “ภาพลวงของประชานิยม” (the fictitious image of Populism) เป็นกรอบแนวคิดการวิเคราะห์ประชานิยมที่นำเสนอโดยแอ็ปซ์และรูมเมนซ์ (Aps and Rummens) เมื่อ ค.ศ. 2007
เริ่มมาจากมูฟ (Mouffe) เสนอกรอบแนวคิดการวิเคราะห์ประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 2000 เรียกว่า “การขัดแย้งกันเองของประชาธิปไตย” (the democratic paradox) เธออธิบายว่าประชาธิปไตยมีเสาหลักอยู่สองเสา
เสาหลักที่หนึ่ง คือ เสาเสรี (liberal pillars) และเสาที่สอง คือ ประชาธิปไตย (democratic pillars) เสาเสรี หมายถึง การสนับสนุนเสรีภาพและสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล (individual liberty and property right) ส่วนเสาประชาธิปไตย หมายถึง การสนับสนุนความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (equality and popular sovereignty)
มูฟอธิบายว่าประชาธิปไตยเสรีเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ของตะวันตก แต่พอยุคเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) หรือตั้งแต่ยุคโลกาภิวัตน์เป็นต้นมา เสาหลักประชาธิปไตยถูกทำลาย สาเหตุมาจากโลกเข้าสู่ยุคหลังการเมือง (the post-politics) หมายถึงการมอบอำนาจให้แก่นักเทคโนแครตหรือผู้เชี่ยวชาญ จึงมีผลให้ลดระดับความเป็นประชาธิปไตยลง ขณะเดียวกัน โลกก็เข้าสู่ยุคหลังความจริง (the post truths) จากการเข้าสู่ทุนนิยมยุคที่สองหรือเรียกว่า “ยุคข้อมูลข่าวสาร” (Information Age) อันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการสื่อสารหลากหลาย มีความจริงที่ขัดแย้งกันเองและยากที่จะแยกได้ว่า—อันไหนเป็นจริง- อันไหนเป็นเท็จ!!
คนลงคะแนนสมัยใหม่ส่วนใหญ่มองไม่ออกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร ผู้สมัครต่างโฆษณาหาเสียงจนสับสน ตรรกะความแตกต่างกัน (logic of difference) ของนักการเมืองอันเป็นหัวใจของทฤษฎีการเมือง ถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายลงเรื่อย ๆ –การเมืองเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับนักเทคโนแครต
ส่วนประชานิยม (Populism) นั้น มูฟเห็นว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากสถานการณ์ที่อำนาจประชาชนถูกทำลายและถึงแม้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกตั้ง แต่ก็แยกความแตกต่างของนักการเมืองได้ยาก นักการเมืองประชานิยมจึงอาศัยช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติจากความแตกแยกระหว่างฝ่ายประชาชน (the people) กับชนชั้นนำ (the elite)
ตัวอย่างเช่น ชนชั้นนำไม่เห็นหัวคนยากจนหรือแม้แต่ชนชั้นกลาง --ความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด –นักการเมืองประชานิยมจึงฉวยโอกาสเสนอตัวว่าตนจะนำประชาชนต่อสู้กับชนนั้นนำ และสร้างจุดเด่นว่าตนเหนือกว่าพวกเทคโนแครต!!
แอ็ปซ์และรูมเมนซ์ นำเสาหลักของมูฟมาวิเคราะห์ต่อ โดยเพิ่มอีกหนึ่งเสา คือ เสาประชานิยม (populist pillar)
เขาทั้งสองอธิบายว่าปัญหาพื้นฐานของประเทศประชานิยมอยู่ที่ “ประชาธิปไตย” เป็นสถานที่แห่งความว่างเปล่าของอำนาจประชาชน (the empty place of power) –เสาหลักประชาธิปไตยที่ว่าประชาชนมีอำนาจอธิปไตยนั้น—ในความเป็นจริงไม่ได้มีอำนาจอะไร!! เลือกตั้งเสร็จก็หมดอำนาจ
ส่วนเสาหลักเสรีภาพยิ่งแย่กว่า ขณะที่ชนชั้นนำครองอำนาจนั้น ประชาชนขาดหลักประกันทางการเมืองและสังคม เช่น ไม่มีหลักประกันว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทำสิ่งสำคัญได้ เช่น ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และกำหนดอัตลักษณ์ของประชาชน --หมายถึงการมีตัวตน มีบทบาททางการเมืองและ ทำให้ชนชั้นนำเห็น—“หัวกรู”--บ้าง!!
ประชานิยมจึงเป็นเสาที่แทรกเข้ามาตรงช่องว่างของเสาประชาธิปไตย จนสามารถสถาปนาการเมืองประชานิยมได้สำเร็จ ทว่าเมื่อนักการเมืองประชานิยมได้อำนาจแล้ว สิ่งที่ได้ คือ ได้ภาพนักการเมืองที่มีอัธยาศัยดีมีความเอื้ออาทร—ที่จริงภาพตรงนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากบิ๊กบราเธอร์หรือบรรดาเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทั้งหลายในโลก— ซึ่งมีเบื้องหลังต่างไปจากที่เห็น!!
แต่กลับมีอันตรายเกิดแก่ประชาธิปไตยทั้งสองเสา!!
ด้านเสาเสรี--เกิดอันตรายจากระบอบผู้แทน คือ สังคมเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้แทนฝ่ายประชานิยม กับผู้แทนฝ่ายอื่น—ประชานิยมป่าวร้องว่า “ต้องการความเป็นเอกภาพทางการเมือง” ทั้งที่ความจริง เขาได้สร้างพีระมิดของผลประโยชน์ของผู้นำประชานิยม อันไม่ได้มีความแตกต่างอะไรจากผลประโยชน์ของชนชั้นนำสมัยก่อนหน้านั้น ภาษาวัยรุ่นก็ต้องพูดว่า “ตีเนียน” กว่าด้วยซ้ำ!!
ส่วนด้านเสาประชาธิปไตยนั้น ปรากฏว่า “ภาพความว่างเปล่าของอำนาจของประชาชน” ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม --ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยอะไร และส่วนที่เพิ่มเข้ามาที่หนักกว่า คือ การคุกคามสังคมจนทำท่าว่าจะล่มสลาย เพราะเกิดการแตกแยกกันอย่างหนัก—การอ้างว่าตัวเองเข้ามาต่อสู้กับ ชนชั้นนำ เพื่อเติมเต็มให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนคล้อยตามและยอมศิโรราบให้ผู้นำประชานิยม “กินรวบ”
เมื่อผู้นำประชานิยม “กินรวบ” กลุ่มการเมืองอื่นก็ต้องต่อต้านอย่างหนักหน่วง—ไม่เช่นนั้น กลุ่มการเมืองอื่นเขาก็ไม่มีที่ยืน ข้อสำคัญ สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมของความหลากหลาย-- “กินรวบ” ไม่ได้
ประชานิยมจึงคล้ายกับข้ออ้างการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างมีขั้นตอนของลัทธิมาร์กซ-- การอ้างว่าผู้นำต้อง “กินรวบ” มีหลักตรรกะมาจากการอ้างประชาชนว่า--ถ้าเขาไม่ “กินรวบ” ก็จัดการปัญหาให้ประชาชนไม่ได้--
ในที่สุดระบอบประชานิยมจึงกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ข้ออ้างที่ว่าทำเพื่อประชาชน และประชาชนต้องรวมกันเป็นเอกภาพเพื่อสนับสนุนผู้นำนั้น เป็น “ภาพลวงของประชานิยม” เปรียบได้กับหน้ากากที่สวมทับหน้าจริง คือ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” และอันที่จริง “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” มาก่อน “ประชานิยม” ด้วยซ้ำ!!
ในระบอบประชานิยม --ผู้แทนเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองของผู้นำ ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในตัวเอง ผลที่เกิดขึ้นมี 3 ประการ ได้แก่ (1) การปฏิเสธโดยอ้อมต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทน (2) การลดคุณค่าความชอบธรรมของฝ่ายที่คัดค้านผู้นำประชานิยม และ (3) การเกิดระบอบอำนาจนิยม
นักวิชาการเห็นว่า “ประชานิยม” ทำให้ประเทศตกอยู่ใต้ “ความเสี่ยง” จากการก้าวข้ามขอบเขตของกฎหมาย ผู้นำประชานิยมอ้างเสมอว่า “ตนเข้ามาทำงานแทนประชาชน หากมีกฎหมายใดขัดขวาง ก็ต้องก้าวข้ามไปให้ได้”—เพื่อว่าเขาจะทำงานให้ประชาชนได้เต็มที่
ขณะเดียวกัน “ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล”—ก็ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากไม่เพียงพอ เพราะผู้นำประชานิยมไม่ได้มีความซื่อสัตย์ที่พร้อมจะถูกตรวจสอบ!!!
เมื่อเขาสามารถหลอกล่อประชาชนไปเป็นพวกได้เสียแล้ว-- เขาก็กลายเป็นศูนย์กลางที่ฝังตัวอยู่ในภาพลวงนั้น—เขาย่อมมีกำแพงคุ้มกันจากการสร้างภาพลวงว่า “เขาเป็นอัตลักษณ์ของการรวมกันอย่างหนาแน่นของประชาชน” !!!
ผู้นำประชานิยมจะไม่มีทางเผยแพร่ความคิดออกไปว่า “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการแข่งขันกัน” ดังนั้น เขาจึงไม่มี “ปรปักษ์ทางการเมือง” เหมือนการแข่งขันกันทางการเมืองโดยทั่วไป แต่เขาสร้างภาพหนักกว่านั้นว่าเขามี “ศัตรูทางการเมือง” ที่คอยขัดขวางต่อการอยู่ในศูนย์กลางของอำนาจของเขาเลยทีเดียว!!!
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีที่ “น้าชวน” หรือ “อาจารย์แก้วสรร” หรือใครต่อใคร—กำลังถูกอ้างว่าเป็น “ศัตรูทางการเมือง” ของผู้นำประชานิยมไทย
ข้าง “น้าชวน” บอกว่า “ไม่ใช่” ผมเป็นเพียง “ปรปักษ์ทางการเมือง” หมายถึงคู่แข่งทางการเมืองธรรมดา…
ส่วนอาจารย์แก้วสรรและคนอื่น ๆ ก็คงพูดว่า “ผมแค่ตรวจสอบในฐานะประชาชน” อันเป็นสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย—อย่าด้อยค่าผมเป็น “ขาประจำ” เลย!!
ประชานิยมจึงเป็นภาพลวงตาที่เข้ามากองทับถมกับปัญหาพื้นฐานเดิม ได้แก่ ปัญหาการขาดสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน ประชานิยมกลับยิ่งสร้างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยใส่หน้ากากของการอ้างว่า “เป็นตัวแทนประชาชน” ต่อสู้กับชนชั้นนำ และสร้างพีระมิดทางการเมืองโดยซุกซ่อนตัวเองไว้ในศูนย์กลางอำนาจ คอยยึดกุมรัฐและเกาะกินรัฐไปเรื่อย ๆ จนพลังอำนาจสังคมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย
สำหรับประชานิยมไทย ข้อดี คือ เขาไม่กลัวประชาชน (demophobia) ทว่าข้อเสีย คือ เขาเป็นภาพลวงของการอ้างประชาชน!!!