"...ทั้งงานบนเวทีและการเปิดพื้นที่ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ย่างเข้าปีที่ 8 เป็นสามัคคีธรรมของชาวบ้านและภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านการหารือด้วยวิถีประชาธิปไตย เกิดเป็นกติกา และวิถีปฏิบัติร่วมกัน เช่นห้ามขายของมึนเมา พืชผักต้องปลอดสารพิษ ทุกคนจ่ายค่าบู๊ธ รายละ 50 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้านความสะอาดและความปลอดภัย หลาดชุมทางทุ่งสงจึงเป็นสมบัติร่วมของทุกคน ที่ทุกคนต้องร่วมกันรักษา..."
พลังของชุมชนมีอานุภาพที่เป็นจริงมากน้อยเพียงไร ดูได้จากพลังสร้างสรรค์ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ซึ่งเปิดตลาดวัฒนธรรมและสืบเนื่องกันมาได้ครบ 7 ปีแล้ว
มันไม่ใช่ผลงานของภาคราชการฝ่ายการพาณิชย์ ที่จัดขายสินค้าราคาถูก ให้เป็นตลาดเฉพาะกิจ เฉพาะคราวได้ 7 วันแล้วเลิกรากันไป
มันไม่ใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของราชการฝ่ายการท่องเที่ยวที่เปิดตลาดส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นแบบ 3 วันจบ
มันไม่ใช่ตลาดเสรีของบริษัทเอกชน ที่เปิดพื้นที่เก็บค่าเช่าบู๊ธตามกำหนดเวลาตลาดนัด
แต่มันเป็นนวัตกรรม เป็นงานสร้างของชาวบ้านชาวเมืองทุ่งสง ที่เรียกว่า “ประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง” นั่นคือ ประชาชนร่วมคิดร่วมจัดตั้ง บริหาร จัดการกันเองของภาคประชาชน ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันของเทศบาลเมืองทุ่งสง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม เป็นภาคีเครือข่ายรวม 90 หน่วยงาน ที่ช่วยกันก่อ ช่วยกันสร้าง ช่วยกันดำรงรักษาและช่วยกัน พัฒนาจน “หลาดชุมทางทุ่งสง” มีที่อยู่ที่ยืนอย่างสง่างาม ยั่งยืนมาได้ถึง 7 ปี ในวันนี้แล้ว เกิดก่อนโครงการซอฟพาวเวอร์ 5,000 ล้านบาทของรัฐบาลด้วยซ้ำไป
ใครที่เดินทางไปร่วมงาน “7 ปีหลาดชุมทางทุ่งสง” เมื่ออาทิตย์ 19 มค. 68 ณ ถนนชัยชุมพล ต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ 15.00 - 21.00 น. จะได้เห็นบรรยากาศ ร้านค้าราว 200 บู๊ธตลอดแนวถนน มีร้านอาหารนานาชนิด ร้านขายผักผลไม้ ร้านสินค้าหัตถกรรม ร้านลูกปัดโนราลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว ร้านเสื้อผ้า ร้านขนม ร้านนวดไทย ร้านเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เรียงรายเต็มไปหมด ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ในภาคใต้ ผักปลูกเอง ขนมจีนทำเอง ผ้าทอมือเอง ลูกปัดก็ร้อยเอง ไม่อนุญาตให้นำสินค้าโรงงานมาขาย ไม่มีน้ำพริกหนุ่ม ไม่มีขนมจีนน้ำเงี้ยวขาย เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่กับชาวบ้านจริงๆ
ที่ร้าน “ยาหนม” ของหนูมล เป็นร้านขนมสูตรโบราณที่มีชื่อเสียง
หนูมล เจ้าของร้าน อธิบายว่า “ต้องใช้ข้าวเหนียวดำปลูกในพื้นที่ทุ่งสง ใช้น้ำตาลจาก จากปากพนัง ใช้กะทิมะพร้าวสด ตั้งเตาถ่าน ซึ่งต้องใช้ถ่านไม้ที่มาจากต้นเงาะ ใช้เวลาในการกวนด้วยมือบนเตานาน 12 ชั่วโมง เสร็จแล้วใช้กาบหมาก ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดด ย่างไฟ ซึ่งกันเชื้อราได้ เอามาห่อขนมอีกที”
ได้ฟังแค่กระบวนการอันละเมียดประณีต ใช้ความพยายามพากเพียรอย่างสูง และได้ลิ้มรสแล้วจึงถึงบางอ้อว่า ทำไมยาหนมถึงอร่อยลิ้นปานฉะนี้ จึงเป็นร้านที่ขายดิบขายดี ถ้าไม่รีบจองรีบซื้อก็จะหมดเสียก่อน
หนุบหนุบไม่เหนอะหนะเนียนนุ่มลิ้น
กะทิมะพร้าวกรุ่นกลิ่นตาลจากผสม
ตั้งไฟกวนสิบสองชั่วโมงรสกล่อมกลม
เป็น “ยาหนม” อร่อยปากอร่อยใจ
ที่ร้านน้ำพริกแมงดา ราว 18.30 น. ของขายหมดแล้ว ร้านนี้ได้ชื่อว่า ร้านน้ำพริกร้อยครก
หนูสาว เจ้าของร้านบอกว่า “ขายครกละ 50 บาท วันนี้ขายได้ราว 120 ครก ของขายหมดก่อนปิดตลาดทุกที” เธอพูดอย่างร่าเริง
ร้านหมูลวกจิ้ม ของคุณอภิวัฒน์ บุญครบ เดิมขายปลาทอดและปลาดุกฟู แล้วพบว่าวัสดุหายากและปลาราคาแพง โกเจ้าของร้าน หารือกับกรรมการประชาคมเมืองทุ่งสงว่า อยากเปลี่ยนอาหารขาย จะขอไปขายยำเครื่องในหมู เพราะมีน้ำยำสูตรเด็ด พอได้รับอนุญาต ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ตรงหน้าร้าน จะเห็นถาดใส่ไส้ตัน กระเพาะหมู หัวใจ ม้าม ตับ เนื้อ หูหมู ทุกอย่างดูสะอาด ไร้กลิ่น ใส่ถาดแยกเรียงกันไว้ ลูกค้าใช้คีมเลือกหยิบใส่ชามเอง เจ้าของวางบนตาชั่ง ราคาขีดละ 35 บาท แล้วหั่นขนาดชิ้นพอคำ ใส่หม้อน้ำ ลวกด้วยตะไคร้ใบมะกรูด ตักขึ้นมาแล้วใส่น้ำยำสูตรพิเศษ
เป็นร้านหนึ่งที่มีเท่าไรก็ขายหมด
ร้านก๋วยเตี๋ยวรถไฟ น้องฝน (นางเจษฎา โชติจิรวัฒน์) ย้ายถิ่นมาจากราชบุรีเคยขายก๋วยเตี๋ยวห่อๆละ 10 บาท เมื่อหลายปีก่อน ที่สถานีรถไฟราชบุรีขณะที่รถไฟมาจอด จึงขอขายก๋วยเตี๋ยวรถไฟ ลวกเส้นให้ได้ที่ ใส่พริก น้ำตาล ถั่ว ไม่มีผงชูรส ขายห่อละ 25 บาท
ฝีมือของน้องฝน อร่อยขนาดลูกค้าต้องใช้บัตรคิว
เวทีหลัก
รายการบนเวทีที่สี่แยกถนนชนปรีดา เริ่มด้วยหนังตะลุงคน โดยให้เด็กอนุบาล รร.รีสอร์ท อนุบาลทุ่งสง 5 คน ชาย 2 คน หญิง 3 คน เป็นผู้แสดง
ครูจารุวรรณ แทรกสุข ผอ.โรงเรียนอนุบาล บอกว่า “แทนที่จะใช้ผู้ใหญ่ ก็ให้เด็กแต่งหน้าแต่งตัว แบบตัวหนัง มีเปิดเทปดนตรีหนังตะลุง มีครูเป็นคนพากย์ เด็กจะออกท่าออกทางได้น่ารักดี ตามนโยบายของนายกเทศมนตรี โรงเรียนเราต้องฝึกเด็กให้เล่นหนังตะลุงคนได้ พอมีเวทีอย่างนี้ เด็กก็ดีใจ ผู้ปกครองก็พากันมาดูบุตรหลานของตนเอง”
มี “หนังตะลุคน” ให้เด็กเล่น
แต่งหน้าเป็นทำหน้าแป้น แหงนตั้งท่า
สองแขนแกว่งไกว ไม่พูดจา
ใช้ภาษา ท่าทาง พระนางแสดง
รำวงทุ่งสง เป็นการแสดงท้องถิ่นที่กลุ่มประชาคมสร้างสรรค์ทุ่งสง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยได้รับความสนับสนุนจากโครงการวิจัยของ ม.ศิลปากร
เครื่องแต่งกายเป็นสีม่วงกับสีเขียว เป็นผลงานวิจัย “สีทุ่งสง” แล้วระบายสีลงบนผ้าบาติกจากครูช่างในท้องถิ่น หนุ่มสาว 6 คู่ ออกมารำเพลงรำวงต่อเนื่องกัน 12 เพลง สะท้อนถึงการไหว้ครู วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติเมืองทุ่งสง ที่น่าภาคภูมิใจ
สวมใส่ผ้าบาติกสีเขียวม่วง
สาวควงหนุ่มนำ “รำวงทุ่งสง”
สิบสองเพลงลาตะวัน อัศดง
เล่นรำวงพื้นบ้านสำราญใจ
รายการต่อมา ต่อหน้าชาวทุ่งสงหลายร้อยคน หลังจากนายอำเภอทุ่งสง กล่าวรายงาน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ดร.ธนภณ วัฒนกุล ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ผู้บริหารโครงการ ร่วมกันทำพิธีเปิดงาน 7 ปี หลาดชุมทางทุ่งสงแล้ว จึงเข้าสู่รายการ เพลงกวี ศิลปินแห่งชาติ
เพราะเหตุที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมาย ทำให้ไม่ได้ขึ้นเวทีคู่กับ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติในค่ำวันนั้น
ผู้เขียนรับทำหน้าที่มวยแทนด้วยความเต็มใจ ขึ้นเวทีร่ายกวีประกอบเพลงขลุ่ยค่ำวันนั้น
เมื่อธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงขลุ่ยทิพย์ ท่วงทำนองเนิบช้าเป็นการด้นสด ซึ่งนิยมเรียกทับศัพท์ว่า IMPROVISE
ผู้เขียนอ่านบทกวี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เขียนให้งานนี้ว่า
“ เจ็ดปีหลาดชุมทางทุ่งสง
เจ็ดปี ธำรงรักษา
วัฒนธรรมความมีชีวิตชีวา
คุณค่าน้ำใจไมตรี
สมนาม ทุ่งสง ทุ่งสวรรค์
สร้างสรรค์ ความสุขในทุกที่
สินเสน่ห์ เลไท ในธรณี
คนดีศรีทุ่งสง มงคลนครฯ ”
เพลงขลุ่ยยังพลิ้วไหวต่อเนื่องตามแบบฉบับการด้นสด พูดอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างทำนองขึ้นมาใหม่แบบฉับพลันตามบริบทของเนื้อหาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถมากๆ จึงทำได้
ผ่านไปราว 7 วินาที ผู้เขียนถ่ายทอดความทรงจำจากบทกวี “เป่าเถ้า” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อีกบทว่า
“ เป่าเถ้าที่จวนมอด วะวับวอดมิวายแสง
จุดเพลิงอันเริงแรง เป็นเปลวลุกขึ้นโลมลาม
ผูกไผ่ทีละไผ่ ไปเป็นแพสะพานข้าม
ผูกข้อต่อตาตาม ไปเป็นต้นตระหง่านตรง
เรียงจุดทีละจุด เป็นเส้นสุด เป็นทรวดทรง
จดเจตนาจง จำเรียงรจนากวี
จับใจมาใส่ใจ จึงฝากใจเป็นไมตรี
ความดีต่อความดี ประดับโลกให้งดงาม ”
เสียงขลุ่ยผิว ต่อหน้าชุมชนชาวทุ่งสงหลายร้อยคน ได้อารมณ์ประหนึ่งว่า เมื่อความดีต่อความดีแล้วฉะนั้น ย่อมรังสรรค์สังคมดีให้เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้เขียนจึงเอ่ยกวีของเนาวรัตน์ อีกบทปิดท้ายว่า
“ ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เอกราช เอกลักษณ์ เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี
เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน ”
สามบทกวีและหนึ่งเพลงขลุ่ยของสองศิลปินแห่งชาติ เป็นการรวบยอดภูมิพลังวัฒนธรรม (SOFT POWER) ของทุ่งสงไว้อย่างติดตาตรึงใจ
ในขณะที่ อีกด้านหนึ่งของตลาดตรงบริเวณวงเวียนหอนาฬิกานั้น มีเวทีหนังตะลุงจริง มี รำวงของสตรีสูงวัย แต่งชุดสุดสวยมารำแล้วชวนผู้คนร่วมรำวงด้วยอย่างสนุกสนาน
ฟากโน้นมีรำวงวัยชรา
ใครจะมาร่วมฟ้อนกันก็ได้
ชวนกันร้องชวนกันเล่นให้เย็นใจ
ซื้อของกินของใช้กลับไปบ้าน
ทั้งงานบนเวทีและการเปิดพื้นที่ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ย่างเข้าปีที่ 8 เป็นสามัคคีธรรมของชาวบ้านและภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านการหารือด้วยวิถีประชาธิปไตย เกิดเป็นกติกา และวิถีปฏิบัติร่วมกัน เช่นห้ามขายของมึนเมา พืชผักต้องปลอดสารพิษ ทุกคนจ่ายค่าบู๊ธ รายละ 50 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้านความสะอาดและความปลอดภัย หลาดชุมทางทุ่งสงจึงเป็นสมบัติร่วมของทุกคน ที่ทุกคนต้องร่วมกันรักษา
ตั้งแต่เปิดตลาดครั้งแรก เมื่อ 14 มกราคม 2561 มาจนถึงครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 316 เมื่อ 19 มกราคม 2568 มีคนมาร่วมงาน มาจ่ายตลาด วันละ 2,500 คน มีร้านค้าราว 200 ร้าน มีรายได้เฉลี่ยครั้ง (วัน) ละ 500,000 บาท รวมรายได้ทั้งหมดราว 135 ล้านบาท (เว้นช่วงโควิดระบาด)
แต่ละร้านค้ายังกระจายรายได้ไปยังห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) เช่นร้านขนมจีนนั้น คนทำขนมจีน คนทำน้ำยา คนปลูกผัก คนปรุงน้ำพริกน้ำยา และคนขาย ต่างมีส่วนแบ่งรายได้ไปด้วยกัน
คุณมรินทร์ ตันติชำนาญกุล ประธาน และ คุณวรวิทย์ โกสุวรรณ รองประธาน ของประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง เป็นกำลังและแกนกลางการขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้งหมด โดยมี คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีทุ่งสง เป็นคนที่ตั้งต้นเชิญ ดร.ธนภณ วัฒนกุล จาก ม. ศิลปากร และ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ มาร่วมกันหารือตั้งแต่ปลายปี 2558 พัฒนาความคิดกันจนตกผลึกเป็นหลาดชุมทางทุ่งสง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายผ่านวัฒนธรรมชุมชน” ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวง อว. กลายเป็นแบบอย่างความสำเร็จที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่งนัก
อิ่มอกอิ่มใจหลาดทุ่งสง
หลาดดำรงคงขายค้าสืบสาน
จากคุณค่าเป็นมูลค่าจัดตำนาน
ฟ้าลิขิตดินบันดาลดลความดี
ประสาร มฤคพิทักษ์