"...3 องค์กรศาล 5 องค์กรอิสระ และผู้แทนประชาชนในองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองสภา สามารถทำให้ประชาชนหูตาสว่างขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดความระส่ำระสายขึ้นในบ้านเมือง โดยบางองค์กรได้ลงมือทำไปแล้ว....แต่บางองค์กรที่ประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในรัฐสภา ได้ลงมือลดอุณหภูมิของปมร้อนนี้อย่างเต็มที่ แล้วหรือยัง ???..."
การใช้อำนาจคาบเกี่ยวกันระหว่างองค์กรฝ่ายตุลาการกับองค์กรฝ่ายบริหาร ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนทั้งประเทศ ว่าเป็นอำนาจที่แท้จริงขององค์กรใด กรณีบุคคลซึ่งเคยเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในองค์กรฝ่ายบริหาร ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยการตัดสินชี้ขาดขององค์กรฝ่ายตุลาการ แต่เมื่อบุคคลดังกล่าวเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหาร กลับได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องถูกจำคุกตามหมายจำคุกขององค์กรฝ่ายตุลาการแม้แต่วันเดียว
ขณะเดียวกันการกระทำขององค์กรฝ่ายบริหารเรื่องนี้ก็ไม่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจังจาก สส.หรือ สว.ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ และยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในเนื้อหาจากองค์กรศาล ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง
ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า องค์กรฝ่ายบริหารได้กระทำขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่แบ่งเป็น 3 อำนาจ เพื่อถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าเป็นการกระทำขององค์กรฝ่ายบริหารที่ถึงขั้นเป็นการล้มล้างอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ และกำลังจะลุกลามใหญ่โตกลายเป็นความระส่ำระสายของบ้านเมือง โดยมีประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา และกำลังคืบคลานไปสู่ความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในปี 2568 สุดท้ายหากนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้หรือเกิดความวุ่นวายอย่างรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง อาจจะทำให้ประเทศไทยต้องเว้นวรรคการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหรือไม่
นอกจากข้อสงสัยในประเด็นการป่วยทิพย์ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการส่งตัวออกไปรักษานอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องถึง 181 วัน พอดิบพอดีกับระยะเวลาที่ต้องจำคุกแล้ว ยังมีประเด็นที่ประชาชนที่พอมีความรู้กฎหมายสงสัยอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีความครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปอย่างเคร่งครัดหรือไม่ การอ้างกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 เพียงฉบับเดียว เพื่อส่งนายทักษิณออกไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ยื่นร้องขอต่อศาลพร้อมพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกเสียก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการเรือนจำ ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายของเรือนจำและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะถ้าการส่งตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อาจทำให้การส่งตัวนายทักษิณออกไปนอกเรือนจำใช้บังคับไม่ได้ และการพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจทั้ง 181 วัน จะถือว่าเป็นการจำคุกตามหมายจำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ และถ้าไม่ถือเป็นการจำคุกไปแล้วบางส่วนก็จะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษหรือไม่ และเมื่อทุกอย่างที่ดำเนินการไปในช่วงเวลา 181 วัน ไม่ถือเป็นการจำคุกและไม่ไปตามหลักเกณฑ์การพักโทษ จะต้องนำตัวนายทักษิณไปจำคุกตามที่มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษให้จำคุกต่อไปเป็นเวลา 1 ปี อีกครั้งหรือไม่
ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นที่สงสัยของประชาชนจำนวนมากแต่ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรศาล แม้จะมีประชาชนพยายามใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนำเรื่องนี้เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันถึง 2 ครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา จึงต้องมาดูว่าจะมีองค์กรใดบ้างที่จะสามารถเข้ามาถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ คือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สส.หรือ สว. และ 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จะสามารถใช้อำนาจตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และเพื่อหยุดยั้งความระส่ำระสายของประชาชนที่กำลังจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาขององค์กรชี้ขาดอาจทำได้ ดังนี้
1. การเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
• องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ โดย สส.หรือ สว.จำนวนหนึ่งในสิบของจำนวน สส.หรือ สว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ รมว.ยุติธรรม ว่าต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หรือไม่ เนื่องจาก เมื่อนายทักษิณได้พักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่า 120 วัน นายทวี สอดส่อง ได้เข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรมแล้ว ซึ่งจะต้องได้รับรายงานที่ส่งมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อรับทราบรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดแล้วและเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายทวีมิอาจเพียงแต่รับทราบแล้วนิ่งเฉย แต่จะเกิดเป็นหน้าที่ของนายทวีซึ่งเป็น รมว.ยุติธรรม ขึ้นมาในทันที จะต้องสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนายทวีมิได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถัดลงไปตามลำดับชั้น หยุดยั้งการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทำการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติให้กลับมาชอบด้วยกฎหมาย นายทวีจึงอยู่ในสถานะเป็นผู้ร่วมกระทำการที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ซึ่งเป็นสิทธิของ สส.หรือ สว.จะยื่นเรื่องผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ รมว.ยุติธรรม จะต้องไต่สวนและวินิจฉัยเสียก่อนว่าการกระทำในเรื่องการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ จากนั้นจึงวินิจฉัยต่อไปว่า รมว.ยุติธรรมคนปัจจุบันได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้ว่าการส่งตัวนายทักษิณไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจผิดหรือถูกอย่างไร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีผลการวินิจฉัยออกมาพร้อมเหตุผล ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นประการใดจะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ความระส่ำระสายในบ้านเมืองก็จะเบาบางลง
• องค์กรอิสระ โดย กกต. ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ รมว.ยุติธรรม ว่าต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม เช่นเดียวกันกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของ สส.หรือ สว.
• โดยประชาชน ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีเห็นว่ามีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยไม่รับคำร้องไว้พิจารณามาแล้ว 2 เรื่อง กรณีแรกผู้ร้องเห็นว่านายทักษิณขัดพระบรมราชโองการไม่รับโทษจำคุกที่เหลืออยู่ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ และกรณีที่สองผู้ร้องเห็นว่า รมว.ยุติธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายในการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำไม่ครบถ้วนทุกฉบับ โดยบังคับใช้เฉพาะกฎกระทรวงการส่งผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 เพียงฉบับเดียว แต่ไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ต่อเนื่องไปพร้อมกัน มีลักษณะหลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจอธิปไตยขององค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ถึงขั้นล้มล้างการปกครองจึงไม่รับคำร้องทั้งสองไว้พิจารณา แต่ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดี ดังนั้นหากประชาชนที่มีพยานหลักฐานที่จะสามารถทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ก็ยังสามารถใช้สิทธิของประชาชนเสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้อีก
2. การเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง
• องค์กรอิสระ โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง ตาม พรป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 23 (2) กรณี กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ รมว.ยุติธรรม ได้ส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากบังคับใช้กฎหมายไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน เป็นการกระทำที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและโดยไม่สุจริต ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทำ และผู้ตรวจการแผ่นดินอาจขอให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 เสียเลย หากเห็นว่า การที่ยังคงมีกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ซึ่งจะทำให้การบังคับโทษตามหมายจำคุกของศาลเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามคำพิพากษา
3. การเสนอเรื่องต่อศาลยุติธรรม
• องค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ซึ่งได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้วและมีมติ กสม.ที่ 221/2567 วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 โดย กสม.มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กลับมาเป็นการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 วรรคหนึ่ง (1) และ พรป.กสม. มาตรา 26 (1) ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจาก การบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 แต่ไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ต่อเนื่องไปพร้อมกัน โดย กสม.อาจแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้ โดยการส่งรายงานการตรวจสอบที่ 221/2567 หรือแจ้งข้อเท็จจริงไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ กสม.ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่ปรากฏว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกนายทักษิณ ชินวัตร ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 เพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนต่อไป
• องค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกำลังไต่สวนเรื่องนี้ หลังจากไต่สวนแล้วเสร็จหากมีมติชี้มูลความผิดจะเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
• องค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาจเสนอแนะต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและการใช้ทรัพย์สินของทางราชการของโรงพยาบาลตำรวจ โดยตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนายทักษิณว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนที่โรงพยาบาลตำรวจต้องรับผิดชอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยถูกต้องหรือไม่ และค่าใช้จ่ายในส่วนที่นายทักษิณจะต้องจ่ายเองได้เรียกเก็บครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งจะทำให้รู้ถึงกระบวนการรักษาพยาบาลนายทักษิณตลอดระยะเวลา 181 วัน และเห็นได้ถึงอาการเจ็บป่วยที่แท้จริงจากค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค ค่าผ่าตัดหรือทำหัตถการทางการแพทย์ และค่ายาหรือเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ให้มีการตรวจสอบการนำเอาสถานที่ของทางราชการคือห้องพิเศษ ชั้น 14 ไปให้บุคคลที่ไม่มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าสิทธิของบุคคลนั้นหรือไม่ ตามหน้าที่และอำนาจของ คตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 240 และ 242 และมีหน้าที่แจ้งข้อมูลไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการไต่ส่วนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244
3 องค์กรศาล 5 องค์กรอิสระ และผู้แทนประชาชนในองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองสภา สามารถทำให้ประชาชนหูตาสว่างขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดความระส่ำระสายขึ้นในบ้านเมือง โดยบางองค์กรได้ลงมือทำไปแล้ว....แต่บางองค์กรที่ประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในรัฐสภา ได้ลงมือลดอุณหภูมิของปมร้อนนี้อย่างเต็มที่ แล้วหรือยัง ???