"...รายงานดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นในการให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่ครู เพื่อจัดการกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในหมู่นักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักเรียนทุกคน ในสถานการณ์ของประเทศไทย ที่บุหรี่ไฟฟ้าได้ระบาดเร็วเข้าสู่โรงเรียน มีผลต่อเด็กและเยาวชน จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นวาระแห่งชาติ ที่เร่งด่วน จากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง บุคลาการสุขภาพ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และ หน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วย..."
ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ที่จะมาถึงนี้ ของขวัญสำคัญ ที่สังคม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ควรมอบให้ คือ สุขภาวะของเด็กและเยาวชน
สุขภาวะที่สมบูรณ์ ผนวกรวม กาย ใจ สิ่งแวดล้อม และ สุขภาวะทางปัญญา ภาวะที่คุกคามเด็กและเยาชน จะไม่สามารถนำสู่สุขภาวะดังกล่าว
ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ที่เป็นอุปสรรคต่อ กระบวนการสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ ในเด็กและเยาวชน คือ สิ่งนำสู่การเสพติด และสารเสพติด ซึ่งเริ่มจากผลกระทบจากจิตใจ สมอง และ นำสู่สุขภาพกายและปัญหาต่างๆของสังคม
การระบาดเพิ่มขึ้นในหมู่เด็กและเยาวชนในสังคมไทยมาจากปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ทั้ง ค่านิยมในคนรุ่นใหม่ รูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าที่สร้างความแปลกใหม่กระตุ้นเร่งเร้าเด็กและเยาวชน การเข้าถึงง่ายจากการขายและโฆษณาออนไลน์ ตลอดจนค่านิยมหมู่เพื่อน ล้วนกระหน่ำซ้ำเติมขยายวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การฉายภาพภาวะคุกคามของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน เช่น อันตรายต่อสุขภาพ มะเร็งอวัยวะต่างๆ โรคต่างๆ จากบุหรี่ มีความสำคัญแต่ยังไม่ทันต่อการตระหนักรู้และตัดสินใจ เนื่องด้วยผลกระทบสุขภาพ ต้องใช้เวลาแสดงออกของโรค ทำให้การตระหนักรู้ไม่สามารถเกิดได้เร็ว
การฉายภาพอันตราย นอกจากโรคภัยที่จะเกิดขึ้น ทางกายในระยะต่อไปแล้ว การศึกษาผลกระทบเชิงสังคมจะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดการ
รายงาน “A Classroom Crisis” โดย Truth Initiative ในเดือนเมษายน 2020 นำเสนอผลกระทบของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนที่มีต่อครูและสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกา
รายงานนี้ถือเป็น หลักฐานเชิงประจักษ์ อีกชิ้นหนึ่ง ในต่างประเทศ ที่บุหรี่ไฟฟ้าได้รุกเข้าสู่โรงเรียนเป็นวิกฤตที่ครูเผชิญอยู่อย่างรุนแรง และเรียกร้องมาตรการเร่งด่วนแก้ไข โดยมีการแสดงผลกระทบที่สำคัญประกอบด้วย
ความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครู:
ครูส่วนใหญ่สังเกตเห็นว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเกือบครึ่งของครูที่สำรวจแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับนักเรียนของตนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติในหมู่นักเรียน:
ครูรายงานว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายในกลุ่มนักเรียนทุกประเภท และนักเรียนมักมีทัศนคติที่ไม่จริงจังต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งบ่งชี้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้กลายเป็นเรื่องปกติในโรงเรียน
ผลกระทบต่อการเรียนการสอน:
การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนส่งผลกระทบต่อทั้งนักเรียนที่ใช้และไม่ใช้ โดยก่อให้เกิดการขัดจังหวะในห้องเรียน ปัญหาด้านวินัย และแรงกดดันจากเพื่อน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมการเรียนรู้
ความไม่รู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ:
ครูสังเกตว่านักเรียนขาดความตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และครูเองก็รู้สึกว่าตนไม่ได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอในการให้คำปรึกษาแก่นักเรียนหรือผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหานี้
ผลกระทบต่อวัฒนธรรมโรงเรียน:
การใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อวัฒนธรรมของโรงเรียน โดยลดความไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่และนักเรียน และเพิ่มแรงกดดันจากเพื่อนในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
นโยบายของโรงเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ:
ครึ่งหนึ่งของครูที่สำรวจรู้สึกว่านโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปสรรคในการบังคับใช้ เช่น ความยากลำบากในการตรวจจับ ขาดการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ทรัพยากรที่จำกัด และการไม่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้
รายงานดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นในการให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่ครู เพื่อจัดการกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในหมู่นักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักเรียนทุกคน
ในสถานการณ์ของประเทศไทย ที่บุหรี่ไฟฟ้าได้ระบาดเร็วเข้าสู่โรงเรียน มีผลต่อเด็กและเยาวชน จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นวาระแห่งชาติ ที่เร่งด่วน จากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง บุคลาการสุขภาพ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และ หน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วย
รัฐบาล รัฐสภา และ พรรคการเมือง ในฐานะผู้นำสังคม ที่รับผิดชอบคุณภาพของเด็กและเยาวชน ควรถือโอกาสในวันเด็ก 2568 ที่จะมาถึงนี้ รวมพลังในการปกป้องเด็กและเยาวชน โดยนำการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าระบาดในเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย และ การสร้างความตระหนักรับรู้เพื่อปกป้องภัย และ ที่สำคัญต้องไม่ขยายปัจจัยเสี่ยงให้ บุหรี่ไฟฟ้าให้มีสถานะที่สังคมยอมรับในฐานะสินค้าที่ถูกกฎหมาย
วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
หมายเหตุ
บทความนี้ สรุปย่อรายงานโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (ChatGPT) สามารถดูฉบับเต็ม ของ รายงาน “A Classroom Crisis” โดย Truth Initiative ในเดือนเมษายน 2020 ได้ที่
https://truthinitiative.org/sites/default/files/media/files/2020/04/Truth_Teacher%20Report_FINAL.pdf