"...น่าสนใจคือ นี่เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้งเพราะส่วนใหญ่แล้วงานวิจัยทั้งปวง จะเป็นผลของนักวิชาการหรือนักวิจัยที่ไปค้นคว้าจากตำราวิชาการหลายเล่ม หลายสำนัก บางคนอาจมีการลงพื้นที่ไปสอบถามคนในท้องถิ่นบ้างเป็นส่วนประกอบ แล้วรวมเข้าเป็นผลงานวิจัยที่ห่างเหินจากการปฏิบัติ มักมีปลายทาง ที่ซุกไว้ในห้องสมุด ไปอยู่ในห้องเก็บของหรือที่ซึ่งไม่มีใครสนใจอ่าน..."
“ลึกซึ้งในรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้เท่าทันอนาคต”
- เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ
14 ธันวาคม 2567 ยามบ่าย ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง
มีโต๊ะออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า มีจักรเย็บผ้า มีดินสอ ปากกา ผ้าสีชมพูย้อมครั่ง และอุปกรณ์ออกแบบ ตัดเย็บ วางบนโต๊ะ มีเยาวชนชายหญิงนักออกแบบ นั่งยืนประจำโต๊ะเป็นชุดๆ จำนวน 25 โต๊ะ (ชุด/ทีม) บางทีมเป็นสตรีผู้ใหญ่ ที่ดูมีประสบการณ์ในการออกแบบ ยืน นั่งประจำโต๊ะของตน ทุกทีมมีนักออกแบบโต๊ะละ 2-3 คน รวมราว 75 คน
พวกเขากำลังทำอะไรกัน
นับเป็นงานประกวดการออกแบบเสื้อผ้าครั้งแรกของจังหวัดลำปาง โดย “นำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน และน้อมนำไปสู่อนาคต”
ชื่อของงานคือ “FASHION HACKATHON คลั่งรัก ครั่งลำปาง” คลั่งตัวแรก หมายถึงความหลงใหลในการออกแบบเสื้อผ้า ครั่งตัวหลัง คือครั่งย้อมสี ซึ่งเป็นวัสดุอเนกคุณูปการของ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้สอยประโยชน์ต่างๆ กัน
Hack หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่ เมื่อผสมกับคำว่า Marathon จึงหมายถึงการทำงานสร้าง สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดพัก เหมือนวิ่งมาราธอน ความหมายรวม คือการแข่งขัน โดยใช้เวลายาวแบบม้วนเดียวจบ เป็นการระดมความคิดสร้างสรรค์และนฤมิตนวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่กำหนด ใช้เวลาต่อเนื่องยาว 14 ชั่วโมง ในการแข่งขัน
โจทย์คืออะไร
คือการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าย้อมครั่งที่สะท้อนภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ผ้าไทยร่วมสมัย ผู้แข่งขันจะต้องนำเสนอรูปแบบ และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นการต่อยอดคุณค่าของผ้าไทย โดยมุ่งเน้นให้เป็นชุดเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมีลักษณะร่วมสมัยของผู้คนทุกรุ่น (Generation) โดยผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญางานหัตถศิลป์เข้ากับทักษะการออกแบบเสื้อผ้าอย่างสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นในอนาคต
ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับผ้าไทยจากเครือข่ายผ้าย้อมครั่ง 13 อำเภอของ จ. ลำปาง ซึ่งผู้จัดงานส่วนกลางจัดเตรียมไว้ให้
มีหลักเกณฑ์การตัดสินที่แน่นอนว่าจะต้องเป็นผลงานสร้างใหม่ ตอบโจทย์ที่ต้องการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความประณีต ใช้ประโยชน์ได้จริงในวิถีชีวิตประจำวัน และสามารถนำไป ต่อยอดเชิงธุรกิจได้
จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ตัดสิน และมีรางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท รองอันดับหนึ่ง30,000 บาท รองอันดับสอง 20,000 บาท มีรางวัลชมเชย 4 รางวัลๆละ 5,000 บาท
ณ ห้องประกวดการแข่งขันบ่ายวันนั้น
นักออกแบบตัดเย็บทุกคนกำลังขะมักเขม้น บางคนกำลังวาดภาพแบบเสื้อผ้า บางคนกำลังตัดผ้า บางคนกำลังเย็บผ้าตามแบบที่ร่างไว้
สมองกำลังครุ่นคิด สายตากำลังจดจ้อง หัวใจกำลังจดจ่อเพื่อการออกแบบตัดเย็บชุดเสื้อผ้าให้ออกมาเป็นผลใช้สวมใส่ได้ โดยมีเวลา 14 ชั่วโมงเต็ม นับแต่ 10.00- 24.00 น.
งานครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน” โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหลัก มี ดร. สุพรรณี ฉายะบุตรเป็นผู้รับผิดชอบงานวิจัย และได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดลำปาง หอการค้าลำปาง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ซึ่งมี ดร.ขวัญนภา สุขคร เป็นกำลังสำคัญ
น่าสนใจคือ นี่เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้งเพราะส่วนใหญ่แล้วงานวิจัยทั้งปวง จะเป็นผลของนักวิชาการหรือนักวิจัยที่ไปค้นคว้าจากตำราวิชาการหลายเล่ม หลายสำนัก บางคนอาจมีการลงพื้นที่ไปสอบถามคนในท้องถิ่นบ้างเป็นส่วนประกอบ แล้วรวมเข้าเป็นผลงานวิจัยที่ห่างเหินจากการปฏิบัติ มักมีปลายทาง ที่ซุกไว้ในห้องสมุด ไปอยู่ในห้องเก็บของหรือที่ซึ่งไม่มีใครสนใจอ่าน
แต่วิจัยของคณะทำงานชุดนี้มุ่งสู่การปฏิบัติแบบ 100 % คือต้องลงมือทำ ต้องผ่านการมี ส่วนร่วม ต้องมีหลักวิชา วัดผลได้ และนำไปใช้ได้จริงในชีวิต
ดร.ธนภณ วัฒนกุล หนึ่งในกลุ่มนำทีมงานวิจัยให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีพื้นที่งานวิจัยเชิงปฏิบัติการเช่นนี้จำนวน 60 พื้นที่ใน 57 จังหวัด เช่นทุ่งสง นครศรีธรรมราช พนัสนิคม ชลบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ สกลนคร และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณค่ามาสร้างมูลค่าเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดผลรูปธรรมอย่างเป็นจริง
ในภาคค่ำ มีการเปิดงานอย่างเป็นทางการในห้องแข่งขันนั่นเอง
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวรายงานต่อ นายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ. ลำปาง ซึ่งเป็นประธานในพิธีว่า
“......การแข่งขันวันนี้ เป็นการบอกกล่าวถึง การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง สามารถสร้างรายได้จากทุนวัฒนธรรม ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว โดยมีงานวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในจังหวัดลำปางและทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาชาติในลำดับต่อไป......”
ในขณะที่นายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ. ลำปาง กล่าวว่า
“.......อาชีพหลักอย่างหนึ่งของคนลำปาง คือ การเลี้ยงครั่ง (LAC) มีการเลี้ยงครั่งในหลายพื้นที่ กระจายทั่วจังหวัด เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปแปรรูปใช้งานในรูปแบบอื่นได้หลากหลาย ทั้งงานสารทาเคลือบไม้ งานเครื่องสำอาง งานสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมผ้าไหม ทั้งยังเป็นธุรกิจส่งออกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ต่อปี นับเป็นผลผลิตครั่งถึง 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งประเทศ เป็นจังหวัดส่งออกครั่งอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นอันดับสองของโลก รองจากอินเดีย........”
วันรุ่งขึ้น อาทิตย์ 15 ธค. 67 เวลา 14.00 น. เป็นการนำเสนอผลงานสำเร็จของแต่ละทีม รวม 25 ทีม โดยใช้เวลาทีมละ 7 นาที ด้วยการให้นางแบบสวมชุดของทีมออกมาเดินโชว์ชุดต่อผู้ชมต่อหน้ากรรมการผู้เชี่ยวชาญการออกแบบแฟชั่นจำนวน 5 คน คือ
1. ป้าตือ - สมบัษร ถิระสาโรช นักจัดงานแฟชั่นมือหนึ่งของไทย เป็นคนลำปาง
2. คุณจ๋อม ศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์ Theatre ดีไซน์เนอร์ ระดับตำนาน
3. คุณส้มโอ หิรัญกฤษ์ ภัทรพิบูลย์กุล ผู้ออกแบบชุดประจำชาติและชุดตุ๊กตุ๊ก ให้ แนท - อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ขึ้นประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2015
4. คุณไอลดา จันจิเรศรัศมี รองประธานหอการค้า จังหวัดลำปาง
5. คุณพิมลกานต์ ศรีสุข ดีไซน์เนอร์ท้องถิ่น
ในการให้ความเห็นแต่ละชุดคือ ป้าตือ - สมบัษร และกรรมการแต่ละคนชี้ให้เห็นว่าชุดไหนดีอย่างไร ควรปรับปรุงตรงไหน เช่น
“โบว์ข้างหลัง กลายเป็นส่วนเกิน”
“กางเกง ขาดกระเป๋า ถ้ามีกระเป๋าจะเท่กว่านี้”
“คัทติ้งกางเกง ข้างหน้าควรสั้นกว่านี้ และข้างหลัง น่าจะยาวกว่านี้ แขนควรมีซับใน”
คนไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่น ได้ฟังแล้ว จึงได้เรียนรู้และเห็นคล้อยตาม
คุณจ๋อม ศิริชัย ทหรานนท์ มีความเห็นว่า
“ทั้งนักศึกษาและผู้ประกอบการที่เข้าแข่งขัน ตั้งใจทำงานดีมาก มีบ้างที่ไม่ชำนาญในการตัดเย็บแต่ภาพรวมถือว่าสวยงาม มีหลายดีไซน์ที่นำไปปรับ ไปต่อยอดในการขายได้เลย การประกวดนี้ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับชุมชนและจังหวัดอีกด้วย”
กรรมการทั้งห้าคน ทำหน้าที่ให้คะแนนแต่ละทีมตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้ง 25 ทีมจะต้องนำเสนอต่อเวทีใหญ่ในงานฤดูหนาวที่จะประกาศรางวัลผู้ชนะต่อประชาชนที่ไปร่วมงาน
ค่ำ 15 ธันวาคม 2567 เวลา 20.00 น.
เวทีใหญ่ในงานกาชาดฤดูหนาว ณ สนามกีฬาแห่งชาติ จ. ลำปาง
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิโล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกว.) อดีตปลัดกระทรวง อว. กล่าวเปิดงานชมแฟชั่นโชว์ว่า
“การจัดงานครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบที่ดีของการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะช่วยอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชุมชนแล้ว ยังจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว”
และแล้วท่ามกลางการจัดฉากอย่างสวยงามอลังการ นางแบบแสดงชุดประกวดพร้อมทีมออกแบบแต่ละทีมได้ขึ้นปรากฏตัวนำเสนอ ท่ามกลางสายตาประชาชนเนืองแน่น
เห็นได้ชัดว่า ทุกชุดที่แสดง คือการนำภูมิปัญญาผ้าย้อมครั่งในอดีตมาตัดเย็บด้วยการออกแบบที่ทันสมัย ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ละย่างก้าวของนางแบบ และแต่ละคำอธิบายของนักออกแบบ มีการโยงใยศิลปวัฒนธรรมภูมิบ้านภูมิเมืองของลำปาง ด้วยความเคารพอดีต สืบต่อปัจจุบัน น้อมนำสู่อนาคตอย่างน่าภาคภูมิ
ผู้ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 4 ทีม ล้วนปลาบปลื้มในผลงานของทีมที่ได้ปักหมุด “ดีไซน์แบบผ้าย้อมครั่งลำปาง” ไว้อย่างมีความหมาย
ผู้ชนะเลิศ คือทีม Once Upon a Time เป็นเยาวชนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี
รองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง คือทีม MIXED จากเชียงใหม่
รองชนะเลิศ อันดับที่สอง คือ เยาวชนทีมความหวัง จากเชียงราย
งานค่ำวันนั้นจบลงอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เป็นการประกาศอลังการงานออกแบบผ้าครั่งครั้งประวัติศาสตร์ของ จ. ลำปาง
ดังที่ คุณไอลดา จันจิเรศรัศมี รองประธานหอการค้า จ. ลำปาง ได้โพสต์ไว้ว่า
“สารภาพตรงๆ ว่า นึกภาพไม่ออกเลยว่างานแฟชั่นแนวคิดล้ำๆ จะเกิดในลำปางได้ดุเดือดขนาดนี้ แถมยังมาในรูปแบบ Hackathon ที่ไม่ค่อยปรากฏในวงการสิ่งทอและแฟชั่นให้เห็นนัก.....
......ที่นี้พอจะมา Hackathon โดย 25 ทีมทั่วประเทศ ใช้วัตถุดิบผ้าย้อมสีครั่งอัตลักษณ์ลำปาง รวมหัวกันปั่นงานตั้งแต่รับโจทย์ สุ่มนางแบบ เลือกวัตถุดิบ ออกแบบให้ตรงกับตัวบุคลิกนางแบบและลักษณะของโจทย์ จนกระทั่งตัดเย็บทุกขั้นตอน “เสก” ให้ออกมาเป็นชุด
นางแบบทยอยเดินออกมาอวดชุดทีละคนก็ว่าตื่นตาตื่นใจแล้ว บางคนดูโฉบเฉี่ยวสวยงาม แฟชั่นนิสตา บางคนยังเป็นเด็กนักศึกษาอยู่เลย แต่ผลงานทุกชิ้นนี่ มีอะไรให้ว้าวได้ คนถ่ายรูปไปเป็นแรงบันดาลใจกันอีกเยอะแยะ ผ้าครั่งบ้านเราสวยมากเว้ยยย
. . .นี่มันลำปางจริงๆ เหรอเนี่ย สิ่งนี้เกิดขึ้นในบ้านฉันจริงๆ เหรอ”
จ. ลำปาง ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความลึกซึ้งในรากเหง้า ได้ประกาศความเข้าใจในปัจจุบัน และได้รังสรรค์งานอย่างรู้เท่าทันอนาคต เป็นสัญญาประชาคมในไว้วันนี้แล้ว