"...จากนักวิ่งซอยกลาง นำมาสู่การให้ความใส่ใจและสนใจกับการดูแลรักษาสวนรถไฟ และผู้ที่มาออกกำลังกาย เริ่มต้นด้วยการสังเกตว่า นักวิ่งขาดอุปกรณ์ในการยืดเหยียด และเผอิญได้พบเห็นท่อนเหล็กสามเหลี่ยม ตั้งอยู่ในสวนจุตจักร จึงคิดขึ้นได้ว่าน่าจะลอกเลียนแบบ นำมาติดตั้งบริเวณซอยกลางบ้าง อย่างไรก็ตาม พี่แซมต้องใช้เวลาในการอธิบายผู้ดูแลสวนรถไฟพอสมควร กว่าจะได้รับอนุญาตให้ติดตั้งได้..."
สวัสดีครับ
ก้าวแรกที่พวกเราจะพบเห็นเมื่อเดินเข้ามาในสวนรถไฟคือ “ซอยกลาง” จุดนัดพบที่ผู้คนรอบสารทิศ ทุกเพศทุกวัยจะมารวมตัวกัน แต่สำหรับพี่สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล (พี่แซม) บริเวณนี้คือทุก ๆ สิ่งที่ทำให้ พี่แซมค้นพบเป้าหมายของชีวิตตนเองจนเจอ “พี่รู้จักทุกตารางนิ้วของสวนรถไฟ” เป็นประโยคเกริ่นนำที่ทำให้ผมเกิดความสนใจพร้อมพูดคุยกับพี่แซมอย่างใจจดใจจ่อตลอดเวลาที่เราสนทนากัน
พี่แซมเล่าให้ฟังว่า เริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่สวนลุมพินีมาตั้งแต่ตอนอายุ 20 ต้น ๆ เพราะใกล้ที่ทำงาน แต่วิ่งแบบลูกทุ่งไม่ได้ศึกษาอะไรมาก่อน ไม่ยืดไม่เหยียดให้เสียเวลา วิ่งแบบเอาความเร็วเป็นตัวตั้ง ด้วยความเร็วแทบเหาะได้ น้อยกว่า 4 นาทีต่อกิโลเมตร เรียกว่าแซงทุกคนในสวนฯ แบบไม่เหลียวหลังหันมามอง วิ่ง 2 รอบ แล้วค่อยกลับบ้าน ทำแบบนี้เป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้มีคนชวนไปวิ่งมาราธอนด้วยวัยละอ่อน ไม่ทราบว่าวิ่งมาราธอนคืออะไรจึงปฏิเสธไป แต่ยังคงรักษาวินัยตนเองด้วยการวิ่ง 2 รอบในสวนฯ เช่นเคย จนเมื่อย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่แถวหัวขวาน จึงหันมาเอาดีทางตีแบดมินตัน ตีทุกวัน หลังเลิกงานจนถึงเที่ยงคืน แบบเป็นตัวยืน ให้คู่แข่งผลัดกันมาตี เรียกว่าทิ้งรองเท้าวิ่งไปเลย
จุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่แซมกลับมาวิ่งอีกครั้งคือ ตอนอายุ 50 ต้น ๆ เมื่อลูกสาวกลับมาจากอเมริกา พร้อมบอกพ่อว่าเพิ่งไปวิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตรมา ทำให้พี่แซมถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ และเป็นแรงบันดาลใจอยากวิ่งตามรอยลูกสาว จึงหาสถานที่ฝึกซ้อมจนค้นพบว่า “สวนรถไฟ” ใกล้ที่สุดและจากวันนั้นจนถึงวันนี้ พี่แซมได้ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับสวนรถไฟแบบไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร
พี่สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล (พี่แซม)
พี่แซมเล่าว่า ในช่วงแรก ยังคงวิ่งฝึกซ้อมแบบเดิม ๆ ไม่ได้ศึกษาอะไร ค้นพบว่า ตนเองไม่สามารถวิ่งได้เร็วเท่าเดิมด้วยอายุที่เลยเลข 5 แม้จะไม่เหนื่อย แรงไม่ตก เพราะอานิสงส์จากการเล่นแบดมินตัน แต่เมื่อได้พบกับพี่ ๆ ใน “ซอยกลาง” แนะนำวิธีการวิ่งที่ถูกต้องพร้อมให้ยืดเหยียด ทั้งก่อนและหลังการวิ่ง เพื่อช่วยถนอมเข่า แข้ง ขา ไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บ จนสามารถไปวิ่งมาราธอนครั้งแรกในงานเชียงใหม่มาราธอน (CMU Marathon) ได้สำเร็จ ทั้งที่ฝ่ายจัดการแข่งขันปิดรับสมัครวิ่งแบบฟูลมาราธอนไปแล้ว แต่พี่แซมยังวิ่งเกาะกลุ่มตามเข้าถึงเส้นชัย จากนั้นทุกอย่างกลายเป็นตำนาน พี่แซมเข้าร่วมวิ่งมาราธอนเกือบทุกรายการ พร้อมเข้าร่วมกลุ่มนักวิ่งซอยกลางอย่างสมบูรณ์แบบ
จากนักวิ่งซอยกลาง นำมาสู่การให้ความใส่ใจและสนใจกับการดูแลรักษาสวนรถไฟ และผู้ที่มาออกกำลังกาย เริ่มต้นด้วยการสังเกตว่า นักวิ่งขาดอุปกรณ์ในการยืดเหยียด และเผอิญได้พบเห็นท่อนเหล็กสามเหลี่ยม ตั้งอยู่ในสวนจุตจักร จึงคิดขึ้นได้ว่าน่าจะลอกเลียนแบบ นำมาติดตั้งบริเวณซอยกลางบ้าง อย่างไรก็ตาม พี่แซมต้องใช้เวลาในการอธิบายผู้ดูแลสวนรถไฟพอสมควร กว่าจะได้รับอนุญาตให้ติดตั้งได้
อุปกรณ์ท่อนเหล็กสามเหลี่ยมถือเป็นจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนั้น พี่แซมได้นำอุปกรณ์มาติดตั้งเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์ยืดเหยียด อุปกรณ์ซิทอัพ และบริหารเข่า ทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ขึ้นจนต้องเทพื้นปูน เพื่อให้ใช้อุปกรณ์ได้สะดวกสบายขึ้น โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเริ่มต้นจากพี่แซมและพี่ ๆ เพื่อน ๆ นักวิ่งซอยกลาง จนสถานที่ยืดเหยียดเป็นจุดที่นักวิ่งแทบทุกคนมาใช้บริการและเป็นที่รู้จักกันดี
สถานที่ยืดเหยียด ในซอยกลาง สวนรถไฟ
พี่แซมเสริมต่อว่า นอกจากเป็นผู้ริเริ่มสถานที่ยืดเหยียดแล้วยังพบว่า ตามสนามหญ้าจะมีหลุมบ่อพักน้ำที่เกิดจากสนามกอล์ฟ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงลงทุนเดินเข้าไปสำรวจทุกตารางนิ้ว พร้อมดำเนินการปิดกลบหลุมเหล่านั้นทั้งหมดที่มีมากกว่า 50 หลุม ไม่นับรวมป้ายสีเขียวชี้ทางรอบสวนฯ ถือเป็นผลงานของพี่แซมอีกชิ้นหนึ่ง
นอกจากนั้น พี่แซมถือเป็นโต้โผในการจัดกิจกรรมในสวนรถไฟ ตั้งแต่กิจกรรมวิ่งเพื่อคนตาบอด (We Run for the Blind) ไปจนถึง Ultra Run วิ่ง 100 กิโลเมตร ที่ได้กลุ่มนักวิ่งซอยกลางเข้ามาช่วยจัดอย่างแข็งขัน และจากการจัดกิจกรรมทั้งสองที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เคยเชิญนักวิ่งพิการทางสายตาจากต่างชาติมาร่วมวิ่ง พร้อมดูแลกันเป็นอย่างดี ถึงคราวมีงานวิ่งที่เกาะฮ่องกง จึงได้เชิญนักวิ่งของไทยไปร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ในขณะที่ การวิ่ง Ultra Run 100 กิโลเมตร ทำให้สามารถส่งตัวแทนไปแข่งเวิลด์มาสเตอร์สแชมเปี้ยนชิพที่ประเทศอินเดียเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และคุณศักดิ์ชัย หล้ามาชน ตัวแทนประเภทอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศปาดหน้านักวิ่งต่างชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี
สมาชิกริเริ่มชมรมสวนรถไฟ ซอยกลาง
อย่างไรก็ดี พี่แซมกล่าวว่า ตนเองไม่ถือว่าเป็นรุ่นผู้บุกเบิกซอยกลาง พี่ไพโรจน์ โรจนวานิช พี่พิชิต เกียรติวชิรพันธ์ และพี่ปรีชา จิตตวานิช ประธานชมรมสวนรถไฟ ซอยกลาง ถือเป็นตัวจริงเสียงจริง ที่ทำให้สวนรถไฟมีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้ หลายท่านอายุเลย 80 ปีแล้ว แต่ยังมาออกกำลังกายที่สวนรถไฟเช่นเคยทุกวัน เช่น พลโทเฉลิมศักดิ์ วรกิจโภคาทร (อาโด่ง) ที่ยังคงวิ่งได้เร็วมาก ไถลูกกลิ้งได้เซ็ตหนึ่ง 30-40 ครั้ง ได้สบาย ๆ
พี่แซมเปิดสตูดิโอ รับจ้างถ่ายภาพโฆษณา ไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่เต็มใจนำทุนทรัพย์มาปรับปรุง ปรุงแต่งให้สวนรถไฟกลายเป็นสวนสาธารณะชานเมืองกรุงเทพฯ ที่มีเสน่ห์ถึงทุกวันนี้ รวมทั้งเป็นสปอนเซอร์ส่งนักกีฬาไปร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ
แต่ที่ภูมิใจที่สุดคือ ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้คนที่มาใช้บริการที่สวนรถไฟดีขึ้น อย่างเช่น กรณีของคุณยายท่านหนึ่งที่ลุกเดินแทบไม่ไหว คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นเพราะภาวะเข่าเสื่อม นัดวันเวลาผ่าตัดกันเป็นอย่างดี แต่ก่อนจะถึงวันนั้น คุณยายมาบริหารเข่าด้วยอุปกรณ์ยืดเหยียดที่ซอยกลาง จนเมื่อหมอนัดไปผ่าตัด ให้คุณยายลองลุกขึ้นและนั่งลง ปรากฏว่าคุณยายสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว จนคุณหมอประหลาดใจบอกคุณยายว่าไม่ต้องผ่าเข่าแล้ว ท่ามกลางความปีติยินดีของคุณยายและคนรอบข้าง เวลาต่อมาคุณยายกลับมาเยี่ยมพี่แซม พร้อมมอบเงินให้นำไปปรับปรุงบริเวณซอยกลาง คุณยายบอกว่า เป็นเงินที่ไม่มากเลย เพื่อแลกกับสภาพเข่าที่สามารถกลับมาลุกนั่งเหมือนเดิม ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่พี่แซมเล่าด้วยรอยยิ้มและจดจำมาถึงทุกวันนี้
กิจกรรมของชมรมสวนรถไฟ ซอยกลาง
สำหรับนักวิ่งซอยกลาง แม้จะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตากันไปบ้าง บางท่านอายุมากขึ้น ย้ายกลับไปต่างจังหวัดบ้าง แต่ยังคงมีคนรุ่นใหม่ ๆ พร้อมกับพี่ที่เกษียณหน้าละอ่อนเข้ามาเสริม ทำให้นักวิ่งซอยกลาง ไม่เคยเงียบเหงา ยังคงรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น สร้างสีสันให้กับคนในสวนรถไฟได้เป็นอย่างดี ในขณะที่พี่แซมด้วยวัย 63 ปี ยังคงแวะมาเยี่ยมเยียนคนในซอยกลางช่วงเช้า และอยู่จนบ่ายทุกวัน ทักทายทุกคนด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างเป็นกันเอง
รณดล นุ่มนนท์
16 ธันวาคม 2567