“…โครงการบัตรคนจน มีปัญหาตั้งแต่การออกแบบเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน การคัดกรองที่ไม่เข้มงวด และการขาดการตรวจสอบซ้ำ ทำให้เงินช่วยเหลืออาจไม่ได้ไปถึงมือคนจนที่ต้องการจริงๆ และมีการรั่วไหลของงบประมาณไปยังผู้ที่มีฐานะดีกว่า…”
..........................................
หมายเหตุ : บทความเรื่อง โครงการบัตรคนจน : มุ่งเป้า จึง "ตกหล่น" และ "รั่วไหล" โดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในปี 2566 มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 14.6 ล้านคน คิดเป็น 6 เท่าของคนไทยที่มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีจำนวน 2.39 ล้านคน
ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เรามีปัญหา คือ "ตกหล่น" (คนจนที่ไม่ได้รับ) ประมาณ 40% และ "รั่วไหล" (คนไม่จนที่ได้รับ) 20.7%
บทความเศรษฐศาสตร์ โดย ดร.พิทวัส พูนผลกุล ,คุณธนพล กองพาลี และ ดร.ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) แสดงให้เห็นว่าโครงการบัตรคนจนมีปัญหาหลักๆ ดังนี้
-เกณฑ์คุณสมบัติไม่ตรงเป้า : เกณฑ์ที่กำหนดไว้สูงเกินไป ทำให้คนที่ได้รับสิทธิ์อาจไม่ได้ยากจนอย่างแท้จริง กล่าวคือ อาจมีกำลังซื้อสูงกว่าเกณฑ์ความยากจนถึง 3 เท่า ซึ่งหมายความว่าโครงการนี้ไม่ได้ช่วยเหลือคนจนที่สุดอย่างที่ตั้งใจไว้
-การคัดกรองไม่เข้มงวด : แม้จะมีการกำหนดเกณฑ์ แต่กระบวนการคัดกรองผู้มีสิทธิ์กลับไม่เข้มงวดพอ มีผู้ที่มีรายได้และทรัพย์สินเกินเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ไป
-ไม่มีการตรวจสอบซ้ำ : เมื่อได้รับสิทธิ์แล้ว ผู้ถือบัตรจะได้รับสิทธิ์ไปเรื่อยๆ หลายปี โดยไม่มีการตรวจสอบว่ายังคงมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์หรือไม่ ทำให้เกิดปัญหาผู้ที่มีฐานะดีขึ้นแต่ยังคงได้รับสิทธิ์อยู่ ซึ่งเป็นการรั่วไหลของงบประมาณ
สรุปง่ายๆได้ว่า โครงการบัตรคนจน มีปัญหาตั้งแต่การออกแบบเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน การคัดกรองที่ไม่เข้มงวด และการขาดการตรวจสอบซ้ำ ทำให้เงินช่วยเหลืออาจไม่ได้ไปถึงมือคนจนที่ต้องการจริงๆ และมีการรั่วไหลของงบประมาณไปยังผู้ที่มีฐานะดีกว่า
ดังนั้น จึงพบว่า บัตรคนจนมีปัญหารั่วไหลเป็นประมาณ 20.7% (มีคนไม่จน 10.1 ล้านคน ที่ได้รับบัตรคนจน จากคนไม่จนทั้งหมด 49 ล้านคน) และมีสัดส่วนการตกหล่นประมาณ 40.4% (มีคนจน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับบัตรคนจน จากคนจนทั้งหมด 3.5 ล้านคน)
ผลกระทบ คือ
-คนจนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ : ผู้ที่ยากจนจริงๆ อาจไม่ได้รับสิทธิ์หรือได้รับไม่เพียงพอ
-งบประมาณสูญเปล่า : เงินที่ควรนำไปช่วยเหลือคนจนถูกนำไปใช้กับผู้ที่มีฐานะดีกว่า
-ความไม่เท่าเทียม : เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ที่มีฐานะดีกว่ากลับได้รับสิทธิ์มากกว่าผู้ที่ยากจนจริงๆ
อ่านเพิ่มเติม : บัตรคนจน ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน?