"...เร็วๆนี้ผมจึงเตรียมตั้งกระทู้ถามในสภาฯต่อรัฐบาลว่า ได้ตรวจสอบดูทั่วประเทศว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกี่ร้อยกี่พันโครงการ เสียหายอย่างไรบ้าง จะมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างไร และกรณีปัญหาการทิ้งงานของตึก OPD โรงพยาบาลตรัง ได้สะท้อนว่า กรณีการเปลี่ยนวิธีการประมูลงานมาเป็นระบบ e-bidding ที่คนทั่วไปคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาการฮั้วประมูลงาน และการหาผลประโยชน์จากการประกวดราคาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้..."
ปัญหาการทิ้งงานของผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดตรัง ปรากฎเป็นข่าวต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรัง หลังใหม่ วงเงิน 1.2 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างคลองผันน้ำ แม่น้ำตรัง ของกรมชลประทาน รวมไปถึงกรณีตึก OPD โรงพยาบาลตรัง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานราชการในจังหวัดแห่งนี้ รวมไปถึงการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากผู้รับเหมาในพื้นที่ ที่มีนักการเมืองค่อยเรียกรับผลประโยชน์อยู่หลังฉาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่บ้านวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ทีมข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประจำจังหวัดตรัง มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา ถึงปัญหาภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ
@ นายชวน หลีกภัย
นายชวน หลีกภัย เริ่มต้นสะท้อนปัญหาการทิ้งงานของผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดตรัง ว่า เรื่องแรกคือปัญหาการทิ้งงานการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรัง หลังใหม่ วงเงิน 1.2 พันล้านบาท อันเนื่องมาจากโครงการขยายสนามบินตรังซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พบว่าตัวเลขรายได้ประชากรต่อครัวเรือนของจังหวัดระนอง และจังหวัดตรัง ตกต่ำมากที่สุด เนื่องจากอาศัยรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะจังหวัดตรังคือ เคยได้เดือนละ 30,000 กว่าบาทต่อครัวเรือน ลดลงเหลือเพียง 20,000 กว่าบาทต่อเดือน หายไปเกือบ 9,000 กว่าบาท ถึงเกือบ 10,000 บาท จึงคิดว่าต้องส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น เพราะรายได้การท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดอื่นฝังอันดามัน เช่น ภูเก็ต สูงเป็นแสนล้านบาท แต่ของตรังแค่ไม่เกินหนึ่งหมื่นล้านบาท จึงหารือกับทางจังหวัด และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมาประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ทางจังหวัดตรังจึงเสนอของบประมาณขยายสนามบินตรัง จึงได้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท
"สำหรับสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1,200 ล้านบาท ก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน 800 ล้านบาท และงบขยายทางวิ่ง(รันเวย์)จากเดิม 2,100 เมตรเป็น 2,990 เมตร หรือเกือบ 3,000 เมตร ต่อมาการก่อสร้างก็มีความคืบหน้าตามลำดับ แต่อยู่ๆสำหรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร เมื่อผู้รับเหมาทำได้ถึงร้อยละ 98 แล้ว ไม่น่าเชื่อก็มาทิ้งงานเอาดื้อๆ"
นายชวน กล่าวต่อว่า เมื่อผู้รับเหมาทิ้งงานแล้วก็ไม่มียามรักษาความปลอดภัยดูแลรักษาสถานที่ก่อสร้าง ทำให้มีคนร้ายเข้าไปขโมยสายไฟ เพื่อไปลอกเอาลวดทองแดงไปขาย ทำให้ภายในสถานที่ก่อสร้างเสียหายยับเยิน และพบว่ามีการขโมยไปขายร้านรับซื้อชื่อดังร้านหนึ่งในจังหวัดถึง 29 ครั้ง และไปขายต่อที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางร้านรับซื้อต้นทางบอกว่า มูลค่าทองแดงที่โจรนำมาขายเป็นแสนๆบาท แต่ตนเชื่อความเสียหายจริงต้องเป็นล้านบาทแน่นอน ตนจึงแจ้งไปยังอธิบดีกรมท่าอากาศยานและปลัดกระทรวงคมนาคมให้ส่งคนมาดู
"ต่อมาพบว่า นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยคมนาคมได้สั่งยกเลิกสัญญาจ้างกับผู้รับเหมารายดังกล่าวแล้ว เงินงวดสุดท้ายกว่า 50 ล้านบาทก็ไม่ต้องจ่าย โดยในต้นเดือนมกราคมปีหน้า(2568) จะนัดรองอธิบดีกรมท่าอากาศยานมาดูอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะเริ่มวางโครงการว่าจะทำต่ออย่างไร ซึ่งทางอธิบดีก็รับปากว่าจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ตอนนี้ก็จะสิ้นปี2567แล้ว ตนจึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เพราะมีหลายขั้นตอน ทั้งการประกวดราคา การดูพื้นที่วางแผน ลำดับงบประมาณ"
“แต่สำหรับผม ก็จะติดตามชื่อ และชื่อเจ้าของบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อบันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า คนที่ทำให้จังหวัดเราได้รับผลกระทบเสียหาย ตระกูลนี้ชื่ออะไร นามสกุลอะไร บริษัทอะไร ก็จะบันทึกเอาไว้เหมือนกับหลายโครงการที่เกิดขึ้นจะบันทึกจดไว้ว่ามีการทิ้งงาน ทำให้เกิดความเสียหาย เบื้องต้นผมได้ตรวจสอบไปที่สมาคมผู้รับเหมาแห่งประเทศไทย พบว่าบริษัทรับเหมารายดังกล่าวไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม แต่ก็ทำให้สมาคมตื่นตัวมากขึ้น แม้จังหวัดตรังจะเป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่ง แต่เชื่อว่าการทิ้งงานมีทั่วประเทศ เสียหายมากแล้ว หากปล่อยเรื้อรังเอาไว้อย่างนี้ ในที่สุดประเทศก็จะกลายเป็นเหยื่อ และเตรียมจะยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินฯ เพื่อหารือแนวทางให้มีการลงมาตรวจสอบทุกโครงการและขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานที่สร้างความเสียหายกับงบประมาณจากภาษีประชาชนให้ชัดเจน”นายชวนกล่าว
นายชวน ยังกล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดตรัง ก่อนหน้านี้โครงการก่อสร้างคลองผันน้ำ แม่น้ำตรัง ของกรมชลประทาน ก็มีการทิ้งงาน โดยรัฐมีการตั้งงบประมาณไว้ 995 ล้านบาท แต่คนที่ประมูลได้ 600 กว่าล้านบาท ก็ยังสงสัยว่าทำได้หรือ สุดท้ายก็ทิ้งงาน แต่โชคดีกรมชลประทานรับผิดชอบรับไปทำเองจนแล้วเสร็จ ถ้าไม่งั้นก็คงจะไม่เสร็จทุกโครงการ รวมทั้งโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหรือ ตึก OPD ของโรงพยาบาลตรัง ทิ้งงานไปแล้ว 3 บริษัท ทิ้งร้างมากว่า 13 ปีก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ
"เร็วๆนี้ผมจึงเตรียมตั้งกระทู้ถามในสภาฯต่อรัฐบาลว่า ได้ตรวจสอบดูทั่วประเทศว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกี่ร้อยกี่พันโครงการ เสียหายอย่างไรบ้าง จะมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างไร และกรณีปัญหาการทิ้งงานของตึก OPD โรงพยาบาลตรัง ได้สะท้อนว่า กรณีการเปลี่ยนวิธีการประมูลงานมาเป็นระบบ e-bidding ที่คนทั่วไปคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาการฮั้วประมูลงาน และการหาผลประโยชน์จากการประกวดราคาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้"
"เพราะเคยมีผู้รับเหมามาเล่าวิธีการกระทำรูปแบบใหม่ของคู่แข่ง และเคยรายงานกับอธิบดีกรมบัญชีกลางไปแล้ว ว่า เขามีวิธีทำ คือ บางรายมีคนแอบเปิดห้องพิเศษ เพื่อส่องดูว่าผู้เสนอราคาแต่ละรายเสนอเท่าไหร่ แล้วจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้คนส่อง เพื่อไม่ให้เสนอราคาแข่ง แสดงให้เห็นว่าคนทุจริตมีทุกวงการ แต่มันสามารถหลีกเลี่ยงได้"
นายชวน ย้ำว่า "ก็เป็นบทเรียนที่ทำให้หน่วยงานจะต้องหาทางแก้ไขต่อไป ที่สำคัญปัญหาการทุจริตของวิธีการประมูลงานในระบบ e-bidding มีข้าราชการร่วมด้วย ซึ่งฝ่ายข้าราชการเองก็ต้องไม่หาผลประโยชน์ด้วย อาจจะต้องแก้ที่กฎเกณฑ์ หน่วยงานก็ไม่ควรจะปล่อยประละเลย ควรจะศึกษาเรื่องกรณีทิ้งงาน แต่ปัญหาว่ามีหน่วยงานไหนศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือไม่ เพื่อหาทางแก้ไขหรือขึ้นบัญชีบริษัท หรือถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนห้างไปแล้วก็ตาม แต่ก็ควรจะตามตรวจสอบว่าชื่อเหล่านี้ไปทำบริษัทใหม่ที่ไหนบ้าง"
"ส่วนของวงเงินประกันจะต้องเรียกเก็บเพิ่มหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่เสียหายจากการทิ้งงาน อย่างกรณีสนามบินตรังก็ถือว่าเงินประกันน้อย เมื่อเทียบกับงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท แต่มาทิ้งงานทั้งๆที่ทำไปได้แล้วร้อยละ 98 ซึ่งผู้รับเหมาเองก็ลงทุนไปเยอะ และไม่น่าจะมาทิ้งงาน จนตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่มีคนบอกว่าเป็นเพราะมีการขายช่วงต่อ ทำให้ติดค้างการจ้างที่จ่ายให้กับช่วงต่อ หรือ ผู้ซัพงาน เมื่อไม่จ่ายเงินให้ผู้รับช่วงต่อผู้รับช่วงก็เลยไม่ทำต่อ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ขณะนี้ กระทรวงการคลังจะต้องหาทาง ควรจะต้องหาทาง และแนะนำไปยังหน่วยงานต่างๆว่าวิธีปฏิบัติควรเป็นอย่างไร”นายชวนกล่าว
นายชวน ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ส่วนกรณีของจังหวัดตรัง ที่สร้างตรงไหนก็ทิ้งร้างตรงนั้น ส่วนตัวก็เป็นห่วง ก็เลยต้องหาทางที่จะให้รัฐบาลตอบกระทู้ถาม ส่วนกรณีงานก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรัง วงเงิน 43 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง คู่สัญญากับบริษัทตากใบการโยธา แต่มีความล่าช้าเกินระยะสัญญาก่อสร้าง 700 วัน และมีการอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปอีก 121 วันนั้น เริ่มแรกเรื่องนี้ จังหวัดตรังเราควรหาพื้นที่ที่สวยงาม ดึงดูดประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างจังหวัด จึงเกิดจัตุรัสเมืองตรังขึ้นมา หากทำสำเร็จจะสวยงามมาก แต่ปรากฏว่าสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2567 ก็ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องขยายสัญญาออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งก่อนก่อสร้างตนก็ได้เรียกผู้รับเหมามาพูดคุย เพราะกลัวว่าจะมีการทิ้งงาน คือ บริษัทตากใบฯ
“ก่อนก่อสร้าง ผมเรียกเขามาพูดคุยกันแล้วว่า ขอให้สร้างให้เสร็จ เพราะที่อื่นนักการเมืองเขาอาจขอเปอร์เซ็นต์ 3-4 % ในฐานะผู้ประสานโครงการ ที่อื่นนักการเมืองเรียกผลประโยชน์ แต่มาที่นี่(จ.ตรัง)เราไม่ต้องจ่ายสักบาทเดียว ขอเพียงแต่ว่าอย่าทิ้งงานและทำตามข้อตกลงให้ดีที่สุด เขาก็รับปาก แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นชัดก็คือ เขาไม่พร้อมเท่าไหร่ ระยะสัญญาเริ่มต้น 700 วัน ความจริงเราไม่ควรไปก้าวก่ายเป็นสิทธิของกรมโยธาฯ แต่ก็มองว่าระยะเวลานานมากเกือบ 2 ปี ซึ่งโครงการก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร พื้นที่ก็ไม่ได้กว้างใหญ่ ก็เสียดาย ซึ่งบริษัทตากใบฯ เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลก็พบว่า ประวัติไม่ได้เลวร้ายอะไร เพียงแต่ไปรับเหมาที่อื่นด้วย ปัญหาว่าเมื่อรับที่อื่นด้วย ทุนที่จะทำต่อเนื่องจะมีเพียงไร เพราะว่ากรณีรับเหมาจะต้องมีผลงานเพื่อที่จะไปเบิกเงินแต่ละงวด"
"ผมได้ทราบมาจากคุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตส.ส.ตรัง บอกผมว่า บริษัทตากใบฯเองก็เคยมาทำงานที่จังหวัดตรัง และเคยถูกนักกการเมืองในพื้นที่บางราย เข้าเรียกร้องผลประโยชน์มาแล้วด้วย”นายชวนระบุ
*********
เหล่านี้ คือ ภาพสะท้อนปัญหาการทิ้งงานของผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดตรัง ผ่านมุมมองของ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา ที่ฉายภาพผ่านสำนักข่าวอิศรา ซึ่งมีหลายข้อมูลที่ไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมากก่อน และนับเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้มีอำนาจหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
โดยเฉพาะพฤติการณ์การแสวงหาประโยชน์ของเอกชน รวมไปถึงการเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์ของนักการเมืองบางราย ที่สนใจแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ