"...เหตุการณ์ข้างต้น เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของประเทศญี่ปุ่นและประเทศตุรกี เป็นที่จดจำของประชาชนของทั้งสองประเทศ ถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เด็กชาวตุรกีได้เรียนรู้และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ชื่อเรื่อง 125 Years Memory ในปี ค.ศ. 2015 เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศครบ 125 ปี..."
สวัสดีครับ
เช้าวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1985 อาคารสนามบินนานาชาติกรุงเตหะรานอยู่ในสภาพโกลาหล เต็มไปด้วยชาวต่างชาติที่กำลังหาทุกวิถีทางเพื่อเดินทางออกจากประเทศอิหร่าน เพราะภายในอีกไม่กี่ชั่วโมง อิรักที่เปิดศึกสงครามกับอิหร่านได้ประกาศจะปิดน่านฟ้า โดยจะยิงเครื่องบินทุกลำไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบหรือเครื่องบินพาณิชย์ที่จะบินเข้าออกประเทศอิหร่าน
ณ เวลานั้น เครื่องบินพาณิชย์ได้เล็ดลอดบินออกไปหมดแล้ว เหลือเครื่องบินเที่ยวพิเศษของ Turkish Airlines อยู่อีกเพียง 2 ลำ ที่จะนำผู้โดยสารออกไปได้ ซึ่งชาวตุรกี (ทูร์เคียในปัจจุบัน) กว่า 1,000 คน ต่างรอความหวังที่จะได้ไปกับเที่ยวบินพิเศษนี้ เพราะการเดินทางโดยรถยนต์จะต้องใช้เวลาถึง 2 วัน และต้องเผชิญกับอันตรายจากกับระเบิดตลอดเส้นทาง
อีกมุมหนึ่ง ภายในอาคารสนามบินมีชาวญี่ปุ่นราว 300 คน ยืนรอจะได้เดินทางออกจากอิหร่านเช่นเดียวกัน โดยมีนายยูตากะ โนมูระ (Yutaka Nomura) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำอิหร่านได้ประสานขอให้รัฐบาลตุรกีช่วยเหลือ นำชาวญี่ปุ่นออกไปด้วย เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถส่งเครื่องบินมารับได้ทัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีทูร์กุท เออซัล (Turgut Ozal) เห็นชอบยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากที่ปรึกษาที่โต้แย้งว่า ชาวตุรกีจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงจะไปช่วยคนต่างชาติก่อน ซึ่งข้อทักท้วงเป็นไปตามคาด เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่สนามบินประกาศผ่านลำโพง ขอให้ชาวตุรกีที่กำลังมุงอยู่หน้าประตูทางออก ช่วยหลีกทางให้ชาวญี่ปุ่นเดินออกไปขึ้นเครื่องบินก่อน ทำให้คนตุรกีเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจ ร้องตะโกนขอทราบเหตุผล จนเมื่อเห็นว่าเหตุการณ์จะบานปลาย นายมารุต (Marut) เจ้าหน้าที่ของสถานทูตตุรกี จึงต้องรีบขึ้นไปยืนบนเคาน์เตอร์และพูดขึ้นว่า “ผมอยากจะให้พวกเราได้หวนกลับไปคิดถึงเมื่อ 95 ปีก่อน ที่พวกเราเกิดมาอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ได้เพราะชาวญี่ปุ่นได้ช่วยชีวิตบรรพบุรุษของเราไว้ แล้ววันนี้พวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย พวกเราจะไม่ช่วยเหลือพวกเขาเลยเชียวหรือ เราสามารถขับรถกลับบ้านกันได้ คิดกันให้ดี ๆ ครับ” ชาวตุรกีที่ได้รับฟังต่างเงียบกริบ หลีกทางให้กับชาวญี่ปุ่นเดินออกไป พร้อมกับปรบมือให้กำลังใจโดยไม่ได้นัดแนะกัน ท่ามกลางสีหน้าที่รู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งจากชาวญี่ปุ่น”
เมื่อ 95 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น คงต้องย้อนเวลากลับไปในปี ค.ศ. 1890 เมื่อสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน(ประเทศทูร์เคียในปัจจุบัน) ได้ส่งเรือ Ertugrul พร้อมลูกเรือกว่า 500 นาย ไปยังญี่ปุ่นเพื่อส่งพระราชสาส์นให้กับจักรพรรดิเมจิ เป็นการเจริญสัมพันธไมตรี และแสดงแสนยานุภาพของจักรวรรดิออตโตมันที่แผ่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบเอเชียตะวันออก
การเดินทางกว่า 9,000 กิโลเมตร ย่อมต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ซึ่งรวมถึงพายุที่สามารถก่อตัวได้ทุกเมื่อในช่วงฤดูมรสุม อย่างไรก็ดี เรือ Ertugrul เดินทางถึงกรุงโตเกียว โดยสวัสดิภาพ และบังคับบัญชาการเรือได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิเมจิ ของญี่ปุ่นตามกำหนด และพร้อมที่จะออกเรือเดินทางกลับนครอิสตันบูล แต่ด้วยลูกเรือส่วนหนึ่งเกิดอาการป่วย ท้องเสีย จึงทำให้ต้องเลื่อนวันเดินทางออกไปกว่า 1 สัปดาห์ โดยไม่ได้สังหรณ์ใจว่า มีพายุก่อตัวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเมื่อเรือ Ertugrul แล่นมาถึงอ่าวคุชิโมโตะ (Kushimoto) ใต้สุดของเกาะฮอนชู (Honshu) ได้เผชิญกับคลื่นทะเลยักษ์เป็นระลอก ๆ สุดที่ลูกเรือจะต้านไหว และที่โชคร้ายยิ่งกว่านั้น หม้อน้ำใต้ท้องเรือเกิดระเบิดทำให้เรือแตกเป็นเสี่ยง ๆ อับปางอย่างรวดเร็ว ลูกเรือไม่ทันตั้งตัว เสียชีวิตทันทีกว่า 500 นาย
เสียงระเบิดและแสงเพลิงไหม้เรือ ทำให้ชาวทะเลในหมู่บ้าน Kashino ถูกปลุกขึ้น และโดยสัญชาตญาณรีบนำเรือเล็กออกไปช่วยเหลือทันที ชาวบ้านบางคนเสี่ยงชีวิต กระโดดลงไปในทะเลที่คลื่นทะเลยังสูง และภายนอกยังมืดสนิทเพื่อช่วยลูกเรือที่กำลังจมน้ำ ลำเลียงผู้บาดเจ็บมาให้หมอประจำหมู่บ้านซึ่งมีเพียง 1 คน ช่วยรักษาโดยมีชาวบ้านทำหน้าที่เป็นพยาบาลจำเป็น ทำตามที่หมอสั่ง รวมทั้งทำการกระตุ้นหัวใจ (CPR) ที่เพิ่งหัดทำกันเป็นในคืนนั้น จนสามารถช่วยชีวิตลูกเรือไว้ได้ทั้งหมด 69 นาย
ภายหลังพายุสงบ ชาวบ้านได้เห็นเรือ Ertugrul อับปางมาเกยตื้นที่ชายฝั่ง จึงพร้อมใจกันลงไปเก็บศพลูกเรือที่เสียชีวิต พร้อมเก็บของมีค่าที่อยู่บนเรือกลับมาด้วย ทั้งนี้ หมู่บ้าน Kashino เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ มีผู้คนอยู่อาศัยเพียง 60 ครอบครัว ฐานะยากจน มีอาหารเพียงพอที่จะประทังชีวิตไปในแต่ละวัน แต่พวกเขาไม่ลังเลที่จะแบ่งปันอาหารเหล่านั้นให้กับลูกเรือ พร้อมดูแลรักษาอาการจนกลับมาแข็งแรง ในขณะที่ของมีค่าที่อยู่บนเรือได้นำมาเช็ดทำความสะอาดก่อนส่งคืนให้กับลูกเรือ โดยบอกว่า พวกเขาอยากจะนำของเหล่านั้นกลับคืนไปยังญาติของผู้เสียชีวิตด้วยสภาพที่สมบูรณ์อย่างน้อยช่วยให้จิตใจของญาติเข้มแข็งขึ้น
ลูกเรือทั้ง 69 นาย รักษาตัวอยู่ที่หมู่บ้าน Kashino ร่วมเดือนก่อนเดินทางกลับประเทศ โดยชาวบ้านร่วมใจกันมาส่ง พร้อมกับการโค้งคำนับของลูกเรือเพื่อแสดงความขอบคุณ เป็นบรรยากาศที่เหนือคำบรรยาย ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต่างสัญชาติ ต่างศาสนา
เรือ Ertugrul
คลิกดูภาพยนตร์ตัวอย่าง 125 Years Memory
เหตุการณ์ข้างต้น เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของประเทศญี่ปุ่นและประเทศตุรกี เป็นที่จดจำของประชาชนของทั้งสองประเทศ ถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เด็กชาวตุรกีได้เรียนรู้และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ชื่อเรื่อง 125 Years Memory ในปี ค.ศ. 2015 เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศครบ 125 ปี
รณดล นุ่มนนท์
2 ธันวาคม 2567
แหล่งที่มา:
1/ 125 Years Memory, Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/125_Years_Memory
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ ผศ. นพ.ปุณณฤกษ์ ทองเจริญ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่ได้แนะนำเรื่องนี้ มาเขียน Weekly Mail ในสัปดาห์นี้