“…เมื่อมองไปข้างหน้าจะมีแรงกดดันให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวมากขึ้นจากเกณฑ์ต่างๆ ที่จะมีความเข้มข้นขึ้น และภาคการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ไทยได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง…”
.......................................
หมายเหตุ : ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Climate Finance toward SDGs” ภายในงาน Sustainability Forum 2025 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567
เงินทุนเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ทว่าข้อมูลจากรายงาน Global Landscape of Climate Finance 2024 ซึ่งจัดทำโดย Climate Policy Initiative (CPI ) ชี้ว่า Climate Finance ยังมีน้อยเกินไป มูลค่า Climate Finance ของปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนเงินที่โลกต้องการเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสูงถึง 7.4 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า Climate Finance เป็นประเด็นที่ท้าทายมากในระดับโลก และยังคงต้องหาทางจัดการกันต่อไป
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่านคงจะได้ยินข่าวการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือที่รู้จักในชื่อ COP29 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในปีนี้ที่ประชุม COP ได้หยิบยกเรื่อง Climate Finance มาเป็นประเด็นหลักในการหารือ
โดยพยายามผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มเป้าการจัดสรรเงินทุน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเรียกร้องให้ขยับจากระดับปัจจุบันที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี เป็น 5 แสน - 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
แต่ในที่สุดแล้ว COP29 ก็ไปไม่ถึงระดับดังกล่าว โดยบรรลุข้อตกลงการตั้งเป้าจำนวนเงินได้เพียง 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปีภายในปี 2035 ท่ามกลางความผิดหวังของประเทศกำลังพัฒนาที่มองว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไปและมองว่าเป้าหมายที่ตั้งเป็นเพียง “ภาพลวงตา”
เพราะที่ผ่านมาการจัดสรรเงินทุนเหล่านั้นมักไม่เป็นไปตามเป้าหมายอยู่แล้ว เช่น เดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะสนับสนุน climate finance 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ภายในปี 2020 ก็ไม่บรรลุจนกระทั่งปี 2022 ซึ่งแปลว่า มีความเสี่ยงที่เงินทุนที่จะได้รับจริงจะยิ่งน้อยลงไปอีก
หากกลับมามองประเทศไทย ก็พบว่าเรายังต้องใช้เงินจำนวน 5-7 ล้านล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาของประเทศไทย เนื่องจากยังมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่
1.โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมียังสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ brown อยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูงถึงร้อยละ 60 และใช้เทคโนโลยีแบบเดิม
2.ไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับท้าย ๆ รวมทั้งประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น ฝุ่น PM2.5 และ
3.SMEs ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เริ่มเห็นแรงกดดันจากกฎเกณฑ์ในต่างประเทศและการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ SMEs ก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความจำเป็นของการปรับตัว นอกจากนี้ SMEs ขาดองค์ความรู้และเงินทุน จึงไม่สามารถปรับตัวด้วยความเร็วใกล้เคียงกับธุรกิจรายใหญ่ได้
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในบริบทของไทยจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ กับการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอย่างฉับพลันในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ การดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งจังหวะเวลาและความเร็ว
โดยอาจเริ่มจากการปรับเศรษฐกิจสีน้ำตาลเข้มให้เป็นสีน้ำตาลอ่อนก่อน (brown เป็น less brown) และสำหรับ SMEs ที่มีความพร้อมน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ก็คงต้องเริ่มจากการปรับตัวก้าวเล็ก ๆ ก่อน แต่เป็นก้าวที่จับต้องได้ในทางปฏิบัติและสามารถขยายผลได้ทั้งสำหรับตนเองและในวงกว้าง
ที่ผ่านมา ธปท. มุ่งผลักดันให้ภาคการเงินมีบทบาทช่วยให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับความท้าทายและบริบทของไทย โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
1.วางรากฐานที่จำเป็นในระยะยาว หรือกำหนด building blocks เพื่อสร้าง ecosystem ให้ภาคการเงินไทยตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจ และ
2.ผลักดันให้เกิดการเริ่มปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สถาบันการเงินนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ตอบโจทย์บริบทไทย
ส่วนที่ 1 การวางรากฐานที่จำเป็นในระยะยาว (building blocks) ธปท. ได้ออกแนวนโยบายที่กำหนดความคาดหวังให้สถาบันการเงินผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และจัดทำ Thailand Taxonomy เพื่อสร้างมาตรฐานในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยปีที่แล้ว ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ Taxonomy สำหรับภาคพลังงานและการขนส่ง ส่วนปีนี้อยู่ระหว่างจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องปรับตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการจัดการของเสีย และภาคเกษตร
ส่วนที่ 2 คือ การผลักดันให้เกิดการเริ่มปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินซึ่งมีความใกล้ชิดและรู้จักลูกค้า ผลักดันให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะลูกค้า SMEs
เริ่มต้นด้วยโครงการนำร่องที่เสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเผาอ้อยและลด PM 2.5 โดยมี KPIs ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น สัดส่วนอ้อยเผาที่ลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศหรือภูมิภาค ทั้งนี้ ในฤดูกาลหีบอ้อยที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อแก่โรงงานน้ำตาลไปแล้ว ประมาณ 1,510 ล้านบาท (ต.ค. 2567)
ความสำเร็จจากโครงการนำร่องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทำให้เกิดการขยายผลไปสู่วงกว้างเพื่อตอบโจทย์บริบทไทยให้มากขึ้น ธปท. จึงได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งภายใต้โครงการ Financing the Transition ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567
โดยออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับกระบวนการดำเนินงานที่มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสูง ไปสู่การดำเนินงานให้มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมน้อยลง
กล่าวคือปรับจาก brown เป็น less brown ให้เกิดผลจริง ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่มีความจำเป็นต้องปรับตัว เช่น ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ภาคโรงแรม และตอบโจทย์ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ซึ่งอาจต้องเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ก่อนโดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและจูงใจให้ลูกค้าปรับตัวให้เกิดผลจริง และสามารถรองรับลูกค้าที่ต้องการปรับตัวในกิจกรรมคล้ายกันได้
เป็นที่น่ายินดีว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ Financing the Transition ได้ตั้งเป้าสินเชื่อที่จะปล่อยภายในปี 2025 สูงถึง 100,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าจาก brown เป็น less brown
โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาทในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ภาคโรงแรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคเกษตร
หลังเริ่มดำเนินโครงการ Financing the Transition มาได้สี่เดือนเศษ จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจทำให้เราได้บทเรียนที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง ซึ่งอยากนำมาเล่าให้ทุกท่านฟังในวันนี้ เพราะบทเรียนเหล่านี้จะช่วยให้เราปรับแผนการผลักดันโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป
1.ประการแรก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับตัว คือ ธุรกิจเองต้องตระหนักถึงความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและมีความตั้งใจที่จะปรับตัว ปัจจุบันนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs อาจจะยังมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ยังมาไม่ถึง ยังไม่ต้องทำอะไรก็ได้
แต่ก็มีภาคธุรกิจบางส่วนที่ได้รับแรงกดดันแล้วจากเกณฑ์ต่างประเทศ และความต้องการของลูกค้าต่างชาติ จนต้องเริ่มปรับตัวก่อน เช่น ภาคโรงแรม เราเห็นแนวโน้มโรงแรมไทยที่มีความกระตือรือร้นและมุ่งปรับตัวเพื่อให้ได้ Green hotel certificate มากขึ้นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน GSTC 2026 Global Sustainable Tourism Conference 2026 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลาง ๆ ที่ภูเก็ตถือเป็น นิมิตหมายที่ดีมาก และอยากเห็นความกระตือรือร้นเช่นเดียวกันในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย
เพราะในระยะต่อไปแรงกดดันจากเกณฑ์ต่างๆ และความต้องการของนักลงทุนและผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นและขยาย scope มากขึ้น
ตัวอย่างเกณฑ์ต่างประเทศ ที่จะเข้ามามีผลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM จากยุโรป CBAM อังกฤษ CBAM ออสเตรเลีย ข้อบังคับยกเลิกการใช้พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวของยุโรป และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulations: EUDR) เป็นต้น
สำหรับในประเทศ ภาครัฐกำลังจะออกใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้า ซึ่งจะกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสูงต้องรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์และมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
ดังนั้น แรงกดดันให้เกิดการปรับตัวจะชัดเจนและเข้มข้นขึ้นในอนาคตอันใกล้ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
2.ประการที่สอง ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมาหากเราคิดถึงธนาคารก็คงคิดถึงการให้เงินกู้หรือการช่วยเหลือทางการเงิน แต่จากการทำโครงการ Financing the Transition เราพบว่าหลายธนาคารมีการวิเคราะห์เสาะหากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการปรับตัว แล้วธนาคารได้เข้าไปทำความเข้าใจธุรกิจและเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
และพบว่าในหลายครั้งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงิน แต่อยู่ที่การขาดองค์ความรู้หรือขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นในการปรับตัว เช่น ต้องการองค์ความรู้การวัดและวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก หรือต้องการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้พยายามแก้ pain ของลูกค้าอย่างจริงจัง
โดยการไปจับมือกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารพาณิชย์จะทำเต็มที่สนับสนุนลูกค้าทั้งมุมการเงินและนอกเหนือจากการเงินแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตประการสุดท้าย
3.ประการสุดท้าย การจะผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปได้ยังต้องการมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือให้การสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนของภาครัฐในรูปมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
การสนับสนุนด้าน green certificate ต่าง ๆ ตลอดจนการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เฉพาะแต่ของตนเองแต่รวมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของตนด้วย เพื่อใช้ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ผู้บริโภค และทางการในต่างประเทศ
เพื่อให้ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศที่ใช้มาตรการ CBAM ได้ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทั้งเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยีสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งผ่านศักยภาพดังกล่าวไปให้แก่บริษัทในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะ SMEs ได้ ซึ่ง ธปท. เห็นว่า model ในลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการ เปลี่ยนผ่านได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปสาระที่ต้องการเน้นย้ำ คือ เมื่อมองไปข้างหน้าจะมีแรงกดดันให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวมากขึ้นจากเกณฑ์ต่างๆ ที่จะมีความเข้มข้นขึ้น และภาคการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ไทยได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
แม้ว่าสองปัจจัยข้างต้นเป็นตัวผลักดันสำคัญให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่กระจายตัวมากพอ การปรับตัวในวงกว้าง ในอัตราเร่งที่มากขึ้น คงต้องอาศัยมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นหัวขบวนของห่วงโซ่การผลิตมาเป็นแรงหนุนสำคัญ
ดังนั้น ในระยะต่อไป นอกเหนือจากการพัฒนา building blocks อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคการเงิน มีศักยภาพและเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและระบุกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธปท. ตั้งใจจะขยายผลโครงการ Financing the Transition โดยร่วมมือกับบริษัท ขนาดใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันบางห่วงโซ่การผลิต ให้ปรับตัวจาก brown เป็น less brown ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นพลังขับเคลื่อน อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์
เพราะจากบทเรียน 3 ประการที่ดิฉันได้กล่าวไป การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคใดภาคหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาคการเงิน จะต้องมีกลไกความร่วมมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร
ทั้งการออกแบบมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจและองค์ความรู้ การจัดหาเทคโนโลยีการปรับตัวที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึง จึงจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวที่เห็นผลได้จริง
เพราะ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก”