"...ซีอีโอเหล่านี้นอกจากมีอำนาจในหน่วยงานของตนแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกกระทรวงหรือสายงาน จากการที่เป็น “คณะกรรมการ” ตามกฎหมายหรือได้รับแต่งตั้ง เช่น รัฐวิสาหกิจกองทุน ธนาคาร หน่วยงานอื่นของรัฐ โครงการลงทุน คณะกรรมการพิจารณาให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการสรรหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ฯลฯ..."
“ทำไมจึงมีข่าวนักการเมืองดันพวกพ้องไปเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอาจลามไปถึงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารฯ ในอนาคตด้วย” คำตอบมีได้หลายแง่มุม ผมขอให้ท่านผู้อ่านได้เทียบเคียงกับเรื่องนักการเมืองมักพยายามแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารหรือซีอีโอของหน่วยงานรัฐ ทั้งอธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน กองทุนและสถาบันการเงินของรัฐ
โดยทั่วไป “ซีอีโอ” เหล่านี้ควบคุม “อำนาจตามกฎหมาย งบประมาณ ทรัพยากรและบุคลากรของหน่วยงาน” สามารถเลือกที่จะใช้อำนาจและดุลยพินิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองก็ได้ แม้จะมีกติกากำกับอยู่ก็ตาม
สิ่งที่นักการเมืองหวังผลจึงมีทั้งผลประโยชน์ทางตรงและประโยชน์ทางอ้อม มากน้อยแตกต่างกันไป
ผลประโยชน์ทางตรง.. ปล้นกลางวันแสกๆ
1. เงินซื้อขายตำแหน่ง ด้วยราคาหลักสิบล้านถึงหลายร้อยล้านบาท
2. ทำสัญญาปีศาจ เป็นข้อตกลงว่าเมื่อได้ตำแหน่งแล้วต้องทำประโยชน์เรื่องใดบ้างให้นักการเมืองเป็นพิเศษ ซึ่งมักเป็นเรื่องใหญ่ ผลประโยชน์มาก เงื่อนไขนี้ทำให้คนมีฝีมือจำนวนไม่น้อยต้องเสียโอกาสไปเพราะไม่ยอมก้มหัวให้โจร
3. ฉกฉวยประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทาน โครงการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน
4. บงการให้ลงนามหรือไม่ลงนามใบอนุญาตอนุมัติที่ประชาชน นักธุรกิจยื่นมา เพื่อเรียกรับเงินใต้โต๊ะ
5. ผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ฐานเสียงนักการเมือง
6. รับเงินตามน้ำจากหน่วยงานตามอัตราที่เคยทำกันมาหรือตามสัดส่วนงบประมาณและรายได้ปีนั้นๆ บ้างก็ขอแบ่งใช้เงินงบประมาณ เช่น เงินจากกองทุน งบวิจัย งบประชาสัมพันธ์ งบการตลาด ฯลฯ
7. แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรระดับรองลงไปในหน่วยงาน
ผลประโยชน์ทางอ้อม.. กัดลึกกินยาว
ซีอีโอเหล่านี้นอกจากมีอำนาจในหน่วยงานของตนแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกกระทรวงหรือสายงาน จากการที่เป็น “คณะกรรมการ” ตามกฎหมายหรือได้รับแต่งตั้ง เช่น รัฐวิสาหกิจกองทุน ธนาคาร หน่วยงานอื่นของรัฐ โครงการลงทุน คณะกรรมการพิจารณาให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการสรรหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ฯลฯ
บทบาทเช่นนี้คืออำนาจแฝงที่คนเป็นรัฐมนตรีอาจต้องพึ่งพา โน้มน้าว หรือตั้งธงให้ดำเนินการอย่าง เช่น
1. ใช้สิทธิ์โหวต หรือออกความเห็น ในคณะกรรมการต่างๆ เช่น อนุมัติการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายซีอีโอและคณะกรรมการหน่วยงานต่างๆ กำหนดนโยบายหรือวางเงื่อนไข เช่น นโยบายแจกเงินดิจิทอลของรัฐบาล
2. ตอบข้อหารือตามที่ ครม. หรือหน่วยงานอื่นถามมา เช่น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาผลกระทบจากโครงการหรือการลงทุน การออกหรือแก้ไขกฎหมาย ตัวอย่างคือ นโยบายเปิดกาสิโน ที่ดินเขากระโดง และนโยบาย ส.ป.ก. ทองคำ
3. สนับสนุนโครงการหรือนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐมนตรี เช่น ให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ ให้กรมจัดเก็บภาษีลด/เพิ่ม/หรือเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษี เป็นต้น
4. ใช้ดุลยพินิจที่ให้คุณให้โทษต่อบุคคล เช่น การพิจารณาอุทธรณ์ การวินิจฉัยปัญหา กำหนดความรับผิดทางแพ่งหรือโทษทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด
5. ชี้ช่อง – เปิดเผย “ข้อมูลภายใน” เช่น แผนการลงทุน แผนการตัดถนนการขยายไฟฟ้าประปา การขึ้นบัญชีผู้รับเหมา ชี้ช่องโหว่กฎระเบียบ รายได้รายจ่ายของกิจกรรมเชิงธุรกิจในความดูแล
ดุลอำนาจและผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงได้
โดยหลักการแล้ว “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับผู้บริหารหน่วยงาน ต้องเป็นการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพตามอำนาจหน้าที่” แต่ในชีวิตจริง ความสัมพันธ์และดุลอำนาจระหว่างสองฝ่ายจะผันแปรไปตามยุคสมัย จุดยืนและบารมีทางการเมืองของรัฐมนตรี ธรรมาภิบาลและการเมืองในหน่วยงาน ความมุ่งมั่น ผลงานและเส้นทางการเติบโตของผู้บริหารรายนั้น เป็นต้น
มีบ้างที่คำขอจากนักการเมืองถูกปฏิเสธเมื่อซีอีโอเห็นว่า ล้ำเส้นเกินเลย แต่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะซีอีโอต้องเข้าหารัฐมนตรีเพื่อให้งานองค์กรลุล่วง เช่น ผลักดันการของบประมาณ ขอการสนับสนุนภาระกิจ ขอให้เห็นชอบ/อนุมัติ ผ่านเรื่องเข้า ครม. ฯลฯ ขณะที่ซีอีโอบางคนเลือกที่จะดูแลนักการเมืองเพื่อความก้าวหน้าและอยู่รอดของตน
บทสรุป
คอร์รัปชันเกิดขึ้นเสมอเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐยอมให้นักการเมืองฉ้อฉลล้ำเส้นพื้นที่อำนาจของตน และเมื่อหน่วยงานรัฐถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แล้วเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เป็นธรรม จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของสังคมต่อระบบกฎหมายตกต่ำลง
จำเป็นที่สังคมไทยต้องร่วมกันหยุดพฤติกรรมชั่วร้ายนี้ แล้วช่วยกันสนับสนุนคนเก่ง คนตั้งใจทำงานอย่างซื่อสัตย์ ให้มีที่ยืนมีอำนาจทั้งทางการเมืองและในวงราชการ
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com