พอเราดูข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีการต่อต้านทุจริต คนรุ่นใหม่และคนปัจจุบันจะเริ่มปฏิเสธคนที่โกงแต่ว่าทำให้เจริญมากขึ้น แต่ว่าในท้องถิ่นสเกลนี้จะไม่ได้เหมือนกับในระดับประเทศ ดังจะเห็นว่ามีความเห็นด้วยถึง 40.4% ว่าถ้าอบจ.มีการทุจริตแต่ว่าสร้างผลงานให้กับพื้นที่ ขณะที่อีก 63.7 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีความเห็นด้วยกับการซื้อเสียงในระดับการเลือกตั้ง อบจ.
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการจัดเวทีเสวนา “ผลการสํารวจความคดิเห็นของประชาชน ต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.”
โดยมีวิทยากรผู้ดำเนินเวทีเสวนาดังต่อไปนี้
1. นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)
2. นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
3. นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ปรึกษาประจำสภาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
4. นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)
@นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ปรึกษาประจำสภาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นางเสาวณีย์ เปิดเผยผลการสำรวจในครั้งนี้ โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,017 กลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ นครราชสีมา อุบลราชธานี สกลนคร สุพรรณบุรี ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราร นนทบุรี สมุทรสาคร สงขลา สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต
ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.2 มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพราะเชื่อว่า สามารถทำงานได้เป็นอิสระ นโยบายทำได้จริง และเลือกที่ตัวบุคคล เข้าถึงง่าย เข้าใจประชาชน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.8 มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง เพราะเชื่อในความน่าเชื่อถือความเป็นพรรคการเมือง รวมถึงมั่นใจในนโยบาย
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.3 ยังเปิดเผยว่า การที่ผู้สมัครเคยมีความคุ้นเคย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเลือกผู้สมัครคนนั้น
ขณะที่ ประเด็นการทุจริตงบประมาณท้องถิ่นนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95.4 ทราบว่าประเทศไทยมีการทุจริต หรือการทุจริตงบประมาณท้องถิ่นมหาศาล โดยรับทราบจากสื่อ และข่าวสาร รวมถึงสังเกตได้จากคุณภาพงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และพบเห็นในการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 4.6 ไม่รับทราบ
ผลสำรวจ ยังระบุถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกนายก อบจ. และสมาชิก อบจ.ได้แก่ การเป็นทายาทหรือตระกูลการเมืองในพื้นที่ขอผู้สมัคร ร้อยละ 19.5, นโยบายการพัฒนาพื้นที่ ร้อยละ 15.4, ความน่าสนใจของผู้สมัคร ร้อยละ 14.3 และความสามารถในการบริหารงบประมาณ ร้อยละ 10
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจทั้งหมด หากเจาะไปที่กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ เฟิร์สโหวตเตอร์ ร้อยละ 20 ของกลุ่มตัวอย่าง ในประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ส่วนใหญ่ ติดตามและจะไปเลือกตั้งท้องถิ่น ถึงร้อยละ 65.4 แต่ยังให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ในระดับปานกลาง โดยมีแนวโน้ม ที่จะเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง ร้อยละ 54.5 ซึ่งแม้หากผู้สมัครไม่มีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน กลุ่มเฟิร์สโหวตเตอร์ ร้อยละ 73.8 บอกว่า จะเลือก, และร้อยละ 52 บอกว่าผู้สมัครที่มีความคุ้นเคย เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนนั้น
@นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ทางด้านของนายธนวรรธน์ กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 พันกว่าคน พบว่าเขามีประสบการณ์ตรง และเห็นถึงความไม่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ถามว่าเวลาเลือกตั้งนายก อบจ. เขาเลือกใคร เขาก็เลือกทายาทนักการเมือง ในรายละเอียดของโพลยังมีการถามว่าแล้วจะเลือกคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตหรือไม่ ก็ปรากฎว่าเขาเลือกแต่ 4% เท่านั้น ซึ่งมันยังอยู่ท้ายๆ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการปลูกฝังในระดับท้องถิ่นด้วย เพราะการเลือกตั้งในระดับชาติ เราจะเห็นได้เลยว่าพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลที่เขาชูประเด็นว่าทำทุกอย่างให้มันโปร่งใสนั้น พรรคการเมืองเหล่านี้ได้คะแนนสูง
แต่พอมาเป็นการเมืองท้องถิ่น มันก็เข้าสู่โหมดเดิม ก็คือยังมีประเด็นเรื่องการรับเงินอยู่ คือประชาชนเขาก็อยากได้คนที่ดี แต่ว่ามันก็ยังมีการบอกว่าขอเลือกคนที่อยู่ในพื้นที่แต่ว่าเป็นทายาทของนักการเมือง ดังนั้นตรงนี้จึงยังมีอะไรที่มีความก้ำกึ่งกันอยู่
พอเราดูข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีการต่อต้านทุจริต คนรุ่นใหม่และคนปัจจุบันจะเริ่มปฏิเสธคนที่โกงแต่ว่าทำให้เจริญมากขึ้น แต่ว่าในท้องถิ่นสเกลนี้จะไม่ได้เหมือนกับในระดับประเทศ ดังจะเห็นว่ามีความเห็นด้วยถึง 40.4% ว่าถ้าอบจ.มีการทุจริตแต่ว่าสร้างผลงานให้กับพื้นที่ ขณะที่อีก 63.7 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีความเห็นด้วยกับการซื้อเสียงในระดับการเลือกตั้ง อบจ.
สิ่งที่ผมจะพูดคือมันมีหลายอย่างที่ภาคการเมืองและองค์กรต่างๆต้องทำงานร่วมกัน และร่วมการรณรงค์ให้เลือกคนที่ดี และมีนโยบายต่อต้านการทุจริต ที่ออกมาได้ชัด เพราะปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ.ในอีกหลายจังหวัด
@นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)
ส่วนนายวิเชียร กล่าวว่าสิ่งที่เราเห็นชัดเจนเลยก็คือเรื่องหนักใจกับความคิดว่าโกงบ้าง แต่ยอมหลับตาข้างหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ประชาชนคงไม่ได้คิดว่ามันมีผลกระทบกับชีวิตเขา เพราะว่ามันมาจากความคุ้นชินในอดีต หรือว่าความคิดว่าขายเสียง ก็พอยอมรับได้ แต่อีกเรื่องที่เราก็เห็นชัดก็คือความรู้สึกของประชาชนว่าอยากจะเลือกคนที่เราคุ้นเคยหรือที่เรียกว่าบ้านใหญ่
แต่อีกสิ่งที่เราเห็นปรากฎชัดเจนก็คือ ประชาชนก็อยากได้คนที่ให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณท้องถิ่น ซึ่งสิ่งนี้ผมว่ามันเป็นคุณอย่างยิ่งเพราะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สามารถพลิกชีวิตได้อย่ามหาศาล ถามว่าประชาชนทราบไหมว่าว่าการทุจริตจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ตรงนี้ในผลโพลก็จะเห็นว่าประชาชนเขารู้ว่าการพัฒนานั้นไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไร ได้สิ่งที่ไม่ค่อยอยากจะได้ เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม เกิดภาพลักษณ์ที่แย่ต่อประชาชนในจังหวัดนั้น
กลับด้านกันนักการเมืองตอนนี้ทราบแล้วว่าประชาชนอยากได้อะไร นักการเมืองก็สามารถยกระดับตัวเองในการมาเป็นผู้ยำในท้องถิ่น ที่ตอบสนองความต้องการ ความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งถ้านักการเมืองเลือกทางนี้ก็จะมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงอยากให้นักการเมืองศึกษาข้อมูลตรงนี้แล้วปรับทิศทางของท่าน เพราะประชาชนได้ให้ความเห็นแล้วว่าไม่ได้มีความสุขกับการทุจริตที่เกิดขึ้น และก็อยากจะฝากสื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียงตรงนี้ให้ด้วย
@นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)
ด้านนายมานะ กล่าวว่ากรณีนี้ต้องบอกว่าประชาชนเห็นทุกอย่างเลย ถ้าดูตามผลโพล แต่ว่าคนที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เขากลับไม่เห็นข้อมูลจริงๆหรือ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเขาก็ไม่เห็นข้อมูลจริงๆ ถ้าเราไปสืบค้นดู เราจะเห็นว่าคนที่เป็นนายก อบจ.ถูกฟ้องร้องคดีร่ำรวยผิดปกติ มีอยู่แค่สองรายที่ตัดสินแล้ว และก็มีอีกสองรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี
ต้องถามว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา มีแค่นี้จริงๆหรือ เพราะเราไปดูบัญชีทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้ ก็ปรากฎว่าบางคนมีกันเป็นร้อยล้าน พันล้าน แล้วเราจะพิสูจน์ในเรื่องเหล่านี้กันได้อย่างไร การโกงของผู้บริหาร,นายก อบจ.ก็มีคดีน้อยมาก ตอนนี้ที่เราสืบค้นมีอยู่แค่สิบกว่าคดีเท่านั้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยบนเป็นแผ่นดินนี้ ดังนั้นก็ต้องเชิญชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เปิดโปงเพื่อความสุข ความก้าวหน้าของท้องถิ่นกันต่อไป