"...จริง ๆ แล้วมีโอกาสจบได้อยู่ทางเดียวคือรัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดสิทธิอธิปไตยไทย เส้นแนวเขตไหล่ทวีปด้านบนจะเบนลงทิศตะวันตกเฉียงใต้พ้นเกาะกูดทันที หากยังมีพื้นที่อ้างสิทธิแตกต่างกับเขตไหล่ทวีปตามประกาศ 2516 ของไทยเหลืออยู่ เพราะการให้ค่าเกาะหรือโขดหินของแนวชายฝั่งต่างกัน ค่อยเจรจากันตามนั้น แต่สมมติฐานนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยากง่ายแค่ไหน ตอบยาก เพราะมันไม่มีโอกาสทดลองเสนอมาอย่างน้อยก็กว่า 23 ปีแล้ว เนื่องจากขัดกับกรอบ MOU 2544 เต็ม ๆ..."
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
สารัตถะสำคัญที่สุดของอยู่ในข้อ 2 คือกำหนดให้เจรจา 2 เรื่อง ”2 แบ่ง“ ใน 2 พื้นที่ส่วนใต้และส่วนเหนือละติจูด 11° N ไปพร้อมกัน (to simultaneously) เป็นแพคเกจในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ (as an indivisible package) ขอยกฉบับภาษาไทยมาให้พิจารณากันชัด ๆ ฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในภาพประกอบ
“2. เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจา ที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน
“(ก) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม ดังปรากฎในเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาพัฒนาร่วม) และ
“(ข) การตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย
“เป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้”
วันนี้มาโฟกัสเฉพาะเรื่องแบ่งที่ 2 คือแบ่งเขตแดนทางทะเลในข้อ 2 (ข) กัน
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือละติจูด 11° N ตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ในช่วงปี 2544 - 2548 จบภาคแรกลงด้วยภาพที่นำมาแสดงกันในข้อพูดคุยวันนี้ โดยนำมาจากภาพประกอบสุดท้ายของบทความทางวิชาการเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ“ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นผู้เขียน ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ 92 พฤษภาคม 2554 สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้เขียนเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี 2544 - 2548 เป็นผู้ลงนามใน MOU 2544 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่กรุงพนมเปญ และเป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทย
เป็นภาพที่ขีดเส้นเพิ่มเติมในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เป็นเส้นประแทยงมุมจากหลักเขตที่ 73 บนแผ่นดินทางทิศตะวันออก ลากตรงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจรดแนวเส้นเขตไหล่ทวีป 2515 เดิมของกัมพูชาเหนือละติจูด 11° N เล็กน้อย
ได้คัดเฉพาะส่วนแยกออกมาให้เห็นชัด ๆ ในอีกภาพหนึ่งแล้ว
เป็นข้อเสนอจากคณะเจรจาฝ่ายไทยถึงฝ่ายกัมพูชาในระดับรัฐมนตรีต่อรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีกัมพูชายังไม่ได้ให้คำตอบ ได้แต่รับไปและแจ้งว่าจะนำไปเสนอผู้นำสูงสุด
ไม่ปรากฏว่ามีคำตอบใด ๆ มายังฝ่ายไทยจนถึงทุกวันนี้
หากกัมพูชาตกลงตามข้อเสนอ รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศคงจะยินดีมาก โดยจะถือว่าเป็นความสำเร็จใหญ่หลวง เพราะเพียงกัมพูชายอมตกลงลงนามใน MOU 2544 ที่มีข้อกำหนดให้คู่เจรจาต้องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนเหนือละติจูด 11° N ไปพร้อม ๆ กันเป็นแพคเกจในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนใต้ละติจูด 11° N และยอมให้เอกสารแนบท้ายเป็นแผนผังแสดงเส้นเขตไหล่ทวีปตามกฤษฎีกา 2515 ของเขาเป็นเส้นเว้าเกาะกูดทางทิศใต้รูปตัว U กระทรวงการต่างประเทศก็ถือเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่น่ายินดียิ่งแล้ว
แม้ข้อเสนอนี้มีอายุ 20 ปีแล้ว แต่หากมีการเจรจาต่อตามกรอบ MOU 2544 จนประสบผลสำเร็จ การแบ่งเขตแดนตามข้อ 2 (ข) ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่ในหลักการก็จะไม่ต่างไปจากข้อเสนอนี้มาก เพราะเมื่อกำหนดให้ “แบ่ง(เขต…)“ ก็เป็นไปไม่ได้ที่แต่ละฝ่ายจะไปยอมรับเส้นอ้างสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เส้นที่แต่ละฝ่ายจะยอมรับกันได้ก็จะอยู่ระหว่างเส้นอ้างสิทธิของทั้งสองนั่นแหละ การหันไปศึกษาภาพนี้อีกครั้งอย่างรอบด้านจึงมีความสำคัญยิ่ง
ในกรณีสมมติว่าถ้าตกลงกันได้ตามภาพนี้ ถามว่าประเทศไทยเราจะได้หรือเสีย ?
ตอบว่าเราจะทั้งได้และเสีย !
ขณะที่กัมพูชามีแต่เสีย !!
ที่ว่าประเทศไทย ”ได้“ คือได้อะไร ?
ได้เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลใหม่ที่ไม่รุกล้ำทั้งตัวเกาะกูด และทะเลอาณาเขตของเกาะกูดบางส่วน เท่ากับเป็นการยุติปัญหาเกาะกูดลงอย่างสิ้นเชิง เพราะการที่กัมพูชายอมตกลงย่อมมีค่าเท่ากับเป็นการถอนข้ออ้างสิทธิเดิมที่ทำมาตั้งแต่ประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของตนเมื่อปี 2515
หลักคิดของกระทรวงการต่างประเทศนั้น แม้จะมั่นใจเกิน 100 ว่าเกาะกูดเป็นของไทยจริงแท้แน่นอนตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 จะต่อสู้ทางกฎหมายหรือทางใด ๆ กับรัฐอื่นที่อ้างสิทธิกันอย่างไรก็ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐคู่กรณียอมถอนข้ออ้างสิทธินั้นอย่างเป็นทางการจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ไม่ต้องทิ้งปัญหาไว้ในอนาคต
ก่อนปี 2544 กัมพูชาเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของเขาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง นอกจากกฤษฎีกาเลขที่ 439-72/PRK ประกาศเมื่อ 1 กรกฎาคม 2515 จะเป็นหลักฐานที่ปรากฎชัดแจ้งแล้ว ในการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในคณะเจรจา เจ้าหน้าที่กัมพูชาก็มักจะพูดทำนองนี้ เรื่องนึ้ผมไม่ได้จินตนาการขึ้นเอง หากมาจากข้อเขียนของอดีตประธานกรรมการร่วมด้านเทคนิกฝ่ายไทยเมื่อ 13 ปีที่แล้วตามอ้างเบื้องต้น
MOU 2544 คือการผูกเอา 2 เรื่องเข้าด้วยกัน เสมือนเป็นการบีบกัมพูชา คือถ้าคุณอยากได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมมาก คุณก็ต้องยอมถอนข้ออ้างสิทธิรบกวนเกาะกูดเสียให้สิ้น
ที่ว่าประเทศไทย “เสีย“ คือเสียอะไร ?
เสียเขตแดนทางทะเลในส่วนพื้นที่เหนือละติจูด 11° N ไปจากประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516
เสียไม่ใช่น้อย
ดูจากภาพเอกสารแนบท้าย MOU 2544 เส้นตามประกาศพระบรมราชโองการ 2516 ของเราคือเส้นทางทิศตะวันออกอยู่ขวามือ
พื้นที่ระหว่างเส้นขวามือกับเส้นประแทยงมุมคะเนด้วยสายตามันถึงครึ่งหรือกว่าครึ่งของพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตรที่ MOU 2544 ข้อ 2 (ข) กำหนดให้เจรจาแบ่งเขตแดน
ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร !
การต้องเสียเขตแดนทางทะเลจากที่เคยอ้างสิทธิไว้อย่างแข็งขันมากว่า 51 ปีในระดับกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ แม้จะแลกมาด้วยข้อได้อื่นก็ตาม
5,000 ตารางกิโลเมตรเท่ากับกี่ตารางนิ้ว ?
ท่านนายกรัฐมนตรีหรือท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ไปเยี่ยมเกาะกูดมาแล้วช่วยคิดคำนวณให้หน่อย !
ท่านจะอธิบายกับรัฐสภาและประขาขนอย่างไร ?
ในอีกด้านหนึ่งหากหันไปทางฟากฝั่งกัมพูชาก็จะพบว่าตกชะตากรรมเดียวกัน หรือหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำ
เพราะเมื่อพูดถึงเฉพาะผลการเจรจาตามข้อ 2 (ข) หากเป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายไทยหรือต่อรองกันให้ได้แนวใกล้เคียงเส้นแทยงมุมตามภาพ กัมพูชาก็จะมีแต่เสีย ไม่ได้อะไรเลย คือเสียเขตแดนทางทะเลจากที่เคยประกาศไว้อย่างแข็งขันในกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปปี 2515 เป็นพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตรเช่นกัน หรือต่อให้น้อยกว่าก็ไม่มีนัยสำคัญนัก
และยังต้องถอนข้ออ้างสิทธิรบกวนเกาะกูดที่อ้างมากว่า 52 ปีเช่นกันอีก แม้ประตูสู้ทางกฎหมายจะมีน้อยมาก แต่การคงบทอ้างสิทธิไว้แม้จะไม่ได้มีสิทธิจริงย่อมจะดีกว่าถอนข้ออ้างสิทธินั้นเลยมิใช่หรือ
รัฐบาลกัมพูชาจะอธิบายให้รัฐสภาและประชาชนกัมพูชายอมรับได้อย่างไร
รวมทั้งที่จะหนักกว่ารัฐบาลไทยก็ตรงที่มีบทบัญญัติมาตรา 2 และมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 กำหนดห้ามเปลี่ยนแปลงเขตแดนและบูรณภาพเหนือดินแดนไว้ ซึ่งอาจตีความได้ว่ารวมถึงเขตแดนทางทะเลด้วย เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองหรือคิดแทน หากแต่ตัวแทนกัมพูชาเคยพูดไว้ในการเจรจารอบปี 2538 พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ หนึ่งในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย เคยเล่าไว้ในการเสวนาสาธาณะที่สยามสมาคมเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
แค่มาลงนามใน MOU 2544 พรรคฝ่ายค้านกัมพูชาก็ยังโจมตีรัฐบาลมาจนทุกวันนี้
จึงยากมากที่จะจบ
จริง ๆ แล้วมีโอกาสจบได้อยู่ทางเดียวคือรัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดสิทธิอธิปไตยไทย เส้นแนวเขตไหล่ทวีปด้านบนจะเบนลงทิศตะวันตกเฉียงใต้พ้นเกาะกูดทันที หากยังมีพื้นที่อ้างสิทธิแตกต่างกับเขตไหล่ทวีปตามประกาศ 2516 ของไทยเหลืออยู่ เพราะการให้ค่าเกาะหรือโขดหินของแนวชายฝั่งต่างกัน ค่อยเจรจากันตามนั้น แต่สมมติฐานนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยากง่ายแค่ไหน ตอบยาก เพราะมันไม่มีโอกาสทดลองเสนอมาอย่างน้อยก็กว่า 23 ปีแล้ว เนื่องจากขัดกับกรอบ MOU 2544 เต็ม ๆ
จริงอยู่ ผลประโยชน์มหาศาลที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้แน่ ๆ หากตกลงแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมใต้ละติจูด 11° N ตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) จะมาเป็นตัวช่วยสำคัญให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศนำมาขยายใหญ่เพื่อชี้แจงกับรัฐสภาและประชาขนของตนก็มีน้ำหนักอยู่
แต่จะหนักมากพอถ่วงตาชั่งวิจารณญาณของรัฐสภาและประชาชนได้หรือไม่ ?
จึงจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็จะมีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการเดินหน้าต่อตามกรอบ MOU 2544 ข้อ 2 ที่ “มัดรวม“ การเจรจา 2 เรื่อง “2 แบ่ง” เข้าไว้ด้วยกันจนเป็น “เงื่อนปม” แน่น
ใช่หรือไม่ว่านี่คือเงื่อนปมที่เป็น “เงื่อนตาย” ของ MOU 2544 ?
ใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบันก็ “ติดกับดัก” MOU 2544 โดยไม่รู้ตัวไปแล้ว ?
ที่มา : Kamnoon Sidhisamarn