"...เมื่อผมเป็นแพทย์ชนบท ผมพบคนจำนวนมากเจ็บป่วยจนสิ้นเนื้อประดาตัว พวกเขาต้องขายไร่ขายนา ขายวัวขายควาย หรือแม้แต่ขายลูกสาว เพื่อเอาเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษา มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด ทำให้เราฝันถึงการที่จะต้องให้การรักษาฟรีแก่คนป่วยและคนยากจน..."
ผู้แทนของขบวนการแพทย์ชนบทไทย 3 คน คือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จะเดินทางไปฟิลิปปินส์ เพื่อรับรางวัลแมกไซไซ ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ Ramon Magsaysay Auditorium โดยประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะเป็นผู้มอบรางวัล
“การเลือกสรรให้ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024 นั้น คณะกรรมการตระหนักถึงคุณูปการต่อสุขภาพของประชาชน ที่มีลักษณะประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อเนื่องสืบมาโดยลำดับ นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่สะท้อนให้เห็น การยอมรับและเติมเต็มสิทธิ พื้นฐานของความเป็นมนุษย์
บทบาทอันเกื้อกูลประโยชน์ยิ่งต่อคนยากคนจนในชนบท สร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และประเทศชาติจะต้องก้าวไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความทันสมัย”
In electing the Rural Doctors Movement to receive the 2024 Ramon Magsaysay Award, the board of trustees recognizes their historic an continuing contribution to their people’s health-and perhaps just as importantly, to their recognition and fulfilment as citizens with basic rights. By championing the rural poor, the movement made sure to leave no one behind as the nation marches forward to greater economic prosperity and modernization.
(Citation for the 2024 Ramon Magsaysay Award – RURAL DOCTORS MOVEMENT แปลไทยโดยผู้เขียน)
เป็นคำประกาศที่มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ให้เกียรติยิ่งต่อขบวนการแพทย์ชนบทไทยที่เป็นดังขบวนทัพสาธารณสุข ซึ่งเดินทัพทางไกลมาถึง 50 ปีกว่าจะก้าวมาถึงวันนี้
ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ช่วงบ่าย ทางคณะผู้จัด เชิญ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นผู้บรรยายสาธารณะ (Public Lecture) เรื่อง “เส้นทางสู่บริการสาธารณสุขถ้วนหน้า ตามวิถีของขบวนการแพทย์ชนบทไทย” (The path to Inclusive Health Care following the footstep of Thailand’s Rural Doctors Movement) โดยใช้เวลา 20 นาที
รางวัลนี้เปรียบได้กับ Nobel Peace Prize of Asia ซึ่งเริ่มให้รางวัลกันมาตั้งแต่ปี 2500 (1957) เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและความตั้งใจของอดีตประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ แห่งฟิลิปปินส์
ประเทศไทยมีผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ มาแล้ว เช่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (1991) ม.จ.สิทธิพร กฤดากร (1967) ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (1965) คุณอานันท์ ปันยารชุน (1997) ศ.นพ. ประเวศ วะสี (1981) คุณมีชัย วีระไวทยะ (1994) คุณประยงค์ รณรงค์ (2004) คุณอังคณา นีละไพจิตร (2019) ฯลฯ
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 66 ปีแห่งการมอบรางวัล ที่มูลนิธิรางวัลรามอนแมกไซไซ มอบให้แก่ขบวนการ (Movement) เพราะงานนี้ไม่ใช่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำพา แต่เป็นพลังร่วมของบรรดาแพทย์หนุ่มสาวในชนบท ที่ลงมือทำ ขับเคลื่อน และเกิดผลประจักษ์จากอดีตยาวนานต่อเนื่องถึงปัจจุบันและอนาคต โดยอาศัยพลังร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ภาคเอกชน อาจเรียกได้ว่าเป็น “ขบวนทัพสาธารณสุขเพื่อคนจน”
ขบวนการนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องของโชค ช่วยอำนวยให้เกิด แต่เป็นความริเริ่ม มุ่งมั่น อุทิศตน ของแพทย์ชนบทไทยที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย
14 ตุลาคม 2516
ผลพวงแห่งการต่อสู้ครั้งนั้น ได้ก่อเกิดพื้นที่แห่งเสรีภาพที่เป็นเนื้อนาดินอันอุดมให้แก่พลังสร้างสรรค์ใหม่ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุข
ศ. นพ.ประเวศ วะสี ชี้ว่า
“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหมือนการระเบิดตูมใหญ่ (Big Bang) แห่งจิตสำนึกของคนหนุ่มสาว เพื่อคนจน และความยุติธรรม ความร้อนแรงของจิตสำนึกใหม่นี้ได้กลายเป็นรูปธรรมหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือขบวนการแพทย์ชนบท คือแพทย์จบใหม่ออกไปทำงานในชนบทเพื่อรับใช้คนจนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนก่อตัวเป็นขบวนการแพทย์ชนบทสืบเนื่องต่อมายาวนาน แม้จิตสำนึกนี้หายไป แล้วในอุดมศึกษา.......
...การทำงานในชุมชนทำให้ แพทย์ชนบทเข้าใจระบบการจัดการและรู้ความจริงของแผ่นดินไทย เราจึงใช้คำว่า From Community to Policy จากชนบทสู่นโยบาย หมายถึงแพทย์ชนบทที่ผ่านการทำงานชุมชนมาก่อนมาเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย”
ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวว่า
“เมื่อผมเป็นแพทย์ชนบท ผมพบคนจำนวนมากเจ็บป่วยจนสิ้นเนื้อประดาตัว พวกเขาต้องขายไร่ขายนา ขายวัวขายควาย หรือแม้แต่ขายลูกสาว เพื่อเอาเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษา มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด ทำให้เราฝันถึงการที่จะต้องให้การรักษาฟรีแก่คนป่วยและคนยากจน”
หลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวตื่นตัวในจิตสำนึกแห่งเสรีภาพและความเป็นธรรมทั่วทั้งประเทศ มีการประชุมแพทย์ชนบทราว 50 คนที่เขาใหญ่ มีข้อยุติให้ตั้ง “สหพันธ์แพทย์ชนบท” และเกิดประเด็นถกเถียง 2 แนวทาง ที่มีนัยสำคัญ
1. มุ่งทำงานเพื่อสวัสดิการของแพทย์ในชนบท
2. มุ่งทำงานเพื่อรับใช้คนยากคนจนในชนบท
การถกเถียงเป็นไปอย่างเข้มข้นและเคร่งเครียด ในที่สุดที่ประชุมเลือกแนวทางที่สองด้วยเสียงข้างมากแบบเฉียดฉิว
ทำให้สหพันธ์ฯ ในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชมรมแพทย์ชนบท ที่มุ่งทำงานเพื่อคนจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ใช่ทำงานแบบสหภาพแรงงานที่มุ่งประโยชน์เฉพาะในแวดวงคนงานในสหภาพนั้นๆ
หลักหมุดสำคัญ หลัง 14 ตุลาคม 2516 คือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ในหมวดว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” ที่กำหนดว่า “รัฐต้องรักษาพยาบาลผู้ยากไร้ โดยไม่คิดมูลค่า” ซึ่งทำให้รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศนโยบายสาธารณสุขในปี 2518 ว่า “รักษาฟรีและสร้างโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ”
บทบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่อๆ มาทุกฉบับ
ชมรมแพทย์ชนบทรวบรวมรายชื่อบุคคลจำนวนมากเสนอพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในปี 2523 ทำให้มีการแต่งตั้งปูชนียแพทย์คนสำคัญเป็น รมช.และต่อมาเป็น รมว. กระทรวงสาธารณสุข คือ ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งมีคุณอเนกอนันต์ในการประกาศสร้างโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ และสร้างสถานีอนามัยครบทุกตำบล
ขบวนการมีประธานชมรมแพทย์ชนบทสืบเนื่องกันมาหลายคน โดยทำงานหลายอย่าง เช่น การผลักดันเรื่องเงินกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล การต่อต้านทุจริต
ต้นธารของ 30 บาทรักษาทุกโรค
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ผู้มีประสบการณ์ตรงในงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ภาคสนาม ทั้งที่ ราษีไศล และที่บัวใหญ่ ประกอบกับการศึกษาระบบบริการสาธารณสุขของอังกฤษและประเทศอื่นๆ ผนวกกับบทเรียนการให้บริการของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นองค์การมหาชน แต่คิดค่ารักษาเพียงครั้งละ 40 บาท ทำให้ตกผลึกเป็นโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (Health Care Reform) อันเป็นสารตั้งต้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ปี 2543 – 2544 นพ.สงวน ร่วมกับภาคประชาชน รวบรวมรายชื่อหลายหมื่นชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
งานใหญ่ขนาดนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร้ทิศทางไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยกลไกรัฐเป็นกำลัง
แล้ววันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ณ ที่ทำการพรรคไทยรักไทยเก่า ที่ตึกชินวัตร ราชวัตร นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ฝ่ายหนึ่ง ได้หารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ในห้องประชุม มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นพ.ประจวบ อึ๊งภากรณ์ ร่วมอยู่ด้วย
นพ.สงวน นำเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีภาพประกอบบนจอ อย่างเป็นหลักเป็นฐานหนักแน่น โดยมี นพ.วิชัย ช่วยเสริม ใช้เวลาราว 20 นาที
พ.ต.ท. ทักษิณ ถามว่า
“จะต้องใช้เงินเท่าไร”
“ราว 2 หมื่นล้านบาท” นพ.สงวน ตอบ
“ได้ ผมกำลังทำกองทุนหมู่บ้าน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน จะใช้เงิน 7 หมื่นกว่าล้าน ยังทำได้ ถ้าแค่ 2 หมื่นล้าน ทำได้แน่นอน” พ.ต.ท. ทักษิณ พูด
นพ.สงวน ชี้แจงว่า ทำแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่เป็นองค์การมหาชน ที่ได้ให้บริการ นำร่องมาแล้ว คิดค่ารักษาเพียง 40 บาท
“ถ้าเช่นนั้น ของเราต้องถูกกว่า.....สัก 30 บาทเป็นไง” พ.ต.ท. ทักษิณ พูด
การสนทนาจบลงโดยฝ่ายการเมืองยอมรับและตัดสินใจเดินหน้าตามข้อเสนอ
การสนทนาประวัติศาสตร์ครั้งนั้น เป็นบันทึกว่า ต้นธาร 30 บาท รักษาทุกโรค เริ่มจากการนำเสนอของแพทย์และภาคประชาสังคม แล้วฝ่ายการเมืองน้อมนำไปทำให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เริ่มต้นจากมันสมองวิเศษของนักการเมืองคนใด
จากนั้นเป็นต้นมา มีการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเต็มลูกสูบ มีการตรา พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายรองรับ มีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ขึ้นมาแยกการบริหารจากกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามากำหนดแนวทางนโยบาย ซึ่งทำให้คล่องตัวกว่าระบบราชการเดิม พัฒนาการบริการสาธารณสุขให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อคนยากคนจนและคนไทยทั้งหมด
ด้วยหลักตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่าด้วย “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” จึงกำหนดให้การบริการสุขภาพเป็น “สิทธิ” ของประชาชน และ “การให้บริการ” เป็น “หน้าที่” ของผู้ให้บริการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงเป็น “สวัสดิการ” ถ้วนหน้า ที่ประชาชนต้องได้รับ มิใช่ “การสงเคราะห์” ประชาชน
ระบบหลักประกันสุขภาพนี้ เป็นการให้ “บริการที่ครอบคลุมทั้งหมด” (Comprehensive Health) คือมุ่งส่งเสริมป้องกัน และมุ่งลดการเจ็บป่วย จึงเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกประชาชนไปด้วยในตัว ทำให้เกิดสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างระบบนิเวศจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพ
ในวันนี้ ขบวนการแพทย์ชนบท ซึ่งประกอบด้วยชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท รวมทั้งกลุ่มแพทย์สามพราน ที่มีการประชุมประจำเดือนต่อเนื่อง เกิดผลเป็นคุณอเนกประการ กลายเป็นขบวนการที่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐแต่ไปไกลกว่ากลไกราชการเดิมแบบบนลงล่าง เพราะเป็นการขับเคลื่อนแนวราบจากล่างขึ้นบน พร้อมกับการเคลื่อนไหวทางด้านรูปการจิตสำนึกที่เล็งแลไปสู่คนยากคนจน ทำให้ประชาชนไทยโดยเฉพาะคนยากคนจนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากถึง 116 รายการ ครอบคลุมถึงโรคหัวใจ มะเร็ง ปอด ตับ และสารพัดโรค โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา
ในสุนทรพจน์รับรางวัล ในวันที่ 13 พย. 67 หนึ่งในสามตัวแทนแพทย์ จะกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า
“การทำงานเพื่อประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นพันธกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Neverending Missions) การได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นการยืนยันว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว และเป็นกำลังสำคัญให้เราก้าวเดินต่อไปในโลกปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีความขัดแย้งสูง นอกจากสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแล้ว สิ่งที่น่าจะสำคัญที่ลืมไม่ได้คือภราดรภาพ”
ควรเรียกได้ว่า เหมาะสมแล้วที่ขบวนการแพทย์ชนบทไทย ได้รับรางวัลอันมีเกียรติยิ่งนี้ เพราะแพทย์ชนบทไทย เป็นขบวนทัพสาธารณสุขเพื่อคนจน ที่สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่มีพระดำรัสว่า
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง” นั่นเอง
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]