"...ฮัน คัง กับหนังสือเป็นของคู่กัน ความรักที่เธอมีต่อหนังสือท่วมท้นเสียจนไม่อยากจะวางมือ หรือละสายตาจากหน้ากระดาษไปไหนไกล เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการอ่านหนังสือ เรียกได้ว่า มีหนังสือที่ไหน มี ฮัน คัง ที่นั่น..."
สวัสดีครับ
ในแต่ละปีจะมีการมอบรางวัลโนเบลทั้งหมด 6 ด้าน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้อง “เป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่สุดต่อมนุษยชาติ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา” ถือเป็นข้อกำหนดของอัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจผู้มั่งคั่งชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งกองทุนรางวัลโนเบล ที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรมของเขา สาขารางวัลที่พวกเรามักคุ้นเคยคือสาขาสันติภาพ ที่มีบุคคลและองค์กรที่มีชื่อเสียงได้รับรางวัลนี้ อาทิ แม่ชีเทเรซา นักบุญแห่งกัลกัตตา และอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐฯ1/
อย่างไรก็ดี สาขาที่หลายคนมองข้ามไป แต่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ คงหนีไม่พ้นสาขาวรรณกรรม ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งนักประพันธ์ นักเขียน นักกวี หรือแม้แต่นักแสดง ถึง 120 คน ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่สำหรับในปี ค.ศ. 2024 ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี ถือเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลด้านวรรณกรรม และเป็นผู้หญิงคนที่ 18 ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม งานเขียนของเธอส่วนใหญ่พาไปสำรวจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคม ความรุนแรง และความเศร้าโศก นวนิยายเรื่อง The Vegetarian ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2007 (ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 2015 โดย เดโบราห์ สมิธ (Deborah Smith)) ได้รับรางวัล International Booker Prize ในปี ค.ศ. 2016 และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้นักเขียนต่างชาติรู้จักนักเขียนจากแดนไกลคนนี้ จนปูทางมาสู่รางวัลอันทรงเกียรติ ในปี ค.ศ. 2024
ฮัน คัง เติบโตในครอบครัวของนักเขียน ดังนั้น สิ่งที่ฮัน คัง ได้มาตั้งแต่เกิดคือกองหนังสือที่วางกองไปทั่วบ้าน ท่วมหัวจนหากันไม่เจอ “พ่อของฉันเป็นนักเขียน ตอนนั้นเรายากจนกันมากในบ้านมีเฟอร์นิเจอร์เพียงแค่ไม่กี่ชิ้น แต่เรามีสิ่งหนึ่งที่มีอย่างมหาศาลคือหนังสือ บ้านจึงเปรียบเสมือนห้องสมุดส่วนตัว หนังสือเลยเป็นเหมือนเกราะกำบังฉันต่อโลกภายนอก และยิ่งนานวันเข้าหนังสือที่บ้านก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน โลกของฉันเปิดกว้างขึ้นเพราะหนังสือ”
ฮัน คัง กับหนังสือเป็นของคู่กัน ความรักที่เธอมีต่อหนังสือท่วมท้นเสียจนไม่อยากจะวางมือ หรือละสายตาจากหน้ากระดาษไปไหนไกล เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการอ่านหนังสือ เรียกได้ว่า มีหนังสือที่ไหน มี ฮัน คัง ที่นั่น “ตอนเรียนประถมฉันเป็นคนเงียบ ๆ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอะไร เพราะว่ามีหนังสือคอยอยู่ข้างฉัน ฉันใช้เวลาตลอดทั้งเดือนจมอยู่กับกองหนังสือมันเป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่ามาก เหมือนมีวันหนึ่ง ฉันก็นั่งอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ นี่แหละ รู้ตัวอีกที มันก็มืดเสียแล้ว จนต้องเดินไปเปิดไฟ ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันมืดขนาดนี้ตอนไหน หนังสือเลยเป็นความปีติเดียวในชีวิตของฉันที่ได้รับมาอย่างบริสุทธิ์”2/
ฮัน คัง เริ่มต้นเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 12 ปี ก่อนมาเขียนเรื่องสั้น และตัดสินใจเข้าเรียนวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย จากนั้น จึงเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่อง The Vegetarian ในปี ค.ศ. 2007 เป็นนิยายเรื่องแรก ใช้เวลาเขียนนานถึง 3 ปี เล่าเรื่องชีวิตของ ‘ยองฮเย’ (Yeong-hye) ผู้หญิงที่ชีวิตพังเพียงเพราะเธอกินมังสวิรัติ ซึ่งการกินมังสวิรัติในเกาหลีใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวัฒนธรรมการกินของเกาหลีใต้นั้นผูกติดกับเนื้อสัตว์ ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ชีวิตของยองฮเยจึงต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจและถูกปฏิเสธจากครอบครัว ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ประสงค์ นำพาไปสู่การคุกคามทางเพศและปัญหาจิตเวชในที่สุด
นอกจาก The Vegetarian แล้ว ฮัน คัง ยังเขียนนิยายเรื่อง Greek Lessons ที่เล่าถึงความสัมพันธ์แสนเปราะบางของคนสองคน หญิงสาวที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมานับไม่ถ้วน จนสูญเสียความสามารถในการพูด กับครูชาวกรีกโบราณที่กำลังจะสูญเสียการมองเห็น แต่ความรักได้พัฒนาจากความเปราะบางของคนทั้งสอง นำไปสู่ทั้งการสูญเสีย ความใกล้ชิด และเงื่อนไขทางภาษา
ฮัน คัง (Han Kang)
ภาพปกหนังสือที่ ฮัน คัง (Han Kang) เป็นผู้ประพันธ์
แต่หนังสือที่ทรงพลังที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง “Human Act” เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองควังจูที่เธอเติบโตมา เหตุการณ์ดังกล่าวมีนักศึกษาและพลเรือนที่ไม่มีอาวุธนับร้อยคนถูกสังหารหมู่โดยกองทัพเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 1980 เธอได้สัมภาษณ์พ่อและคนใกล้ชิดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว “ฉันเกิดที่ควังจู ครอบครัวของฉันย้ายออกมายังเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1980 สี่เดือนก่อนที่เหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ควังจูในความทรงจำของฉันเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ เงียบสงบ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น”
แอนเดอร์ส โอลเซน (Anders Olsen) ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เธอได้รับรางวัลว่า “ผลงานของ ฮัน คัง เผชิญหน้ากับบาดแผลทางประวัติศาสตร์และกฎเกณฑ์ที่มองไม่เห็น ในแต่ละผลงานของเธอเผยให้เห็นความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ เธอมีความตระหนักรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ ในการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณคนเป็นและคนตาย ทั้งหมดอยู่ในบทกวีร้อยแก้วที่ร่วมสมัย”
รณดล นุ่มนนท์
4 พฤศจิกายน 2567
2/ วันวิสาข์ โปทอง ฮัน คัง : นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเกาหลีใต้ ผู้ตีแผ่ความชอกช้ำทางจิตวิญญาณผ่านงานประพันธ์ระดับโลก, The PEOPLE, 11 ตุลาคม 2567 เวลา 16:00 น.
https://www.thepeople.co/social/global-citizen/54138
3/ ศศิพร คุ้มเมือง ‘ฮัน คัง’ กับผลงานทรงพลัง สำรวจบาดแผลทางประวัติศาสตร์และความเปราะบางของมนุษย์
WAY Magazine, 11 Oct 2024
https://waymagazine.org/han-kang-the-nobel-prize-in-literature-2024/