"...โดยมีอำนาจออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือกคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.)ที่เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีหนามยอกอกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาตลอด คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) และคณะกรรมการระบบชำระเงิน(กรช. ) (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน)..."
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการคัดเลือกหรือการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือแบงก์ชาติอย่างต่อเนื่องโดยกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ต้องการผลักดันนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติเพื่อแทรกแซงการทำงานของ ธปท.
ดังนั้น จึงควรมาดูกันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจสำคัญตามกฎหมายในด้านใดบ้าง นอกจากมีอำนาจในในการบริหารงานจัดการภาพรวม เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งพนักงาน ธปท.ระดับผู้ช่วยว่าการฯขึ้นไปแล้ว ยังมีอำนาจต่างๆตามกฎหมายดังนี้
1.กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง
(พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.) เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง
2.แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย (policy board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยมีอำนาจออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือกคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.)ที่เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีหนามยอกอกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาตลอด คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) และคณะกรรมการระบบชำระเงิน(กรช. ) (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน)
3.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง. 4 คน (จาก 7 คน)
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/6 ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ]
4.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนส. 5 คน (จาก 11 คน)
(พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนห้าคนเป็นกรรมการ)
5.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กรช. 3 คน (จาก 7 คน)
(พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/11 ให้คณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนสามคนเป็นกรรมการ)
6.ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีคลังเพื่อปลดผู้ว่าการ ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
(พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
เมื่อดูอำนาจทั้ง 6 ข้อของคณะกรรมการ ธปท.แล้ว ประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติน่าจะมีอำนาจที่จะกำหนดทิศทางความเป็นไปของ ธปท.ได้ตามสมควรโดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.
ยิ่งถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนที่เข้ามาพร้อมกันเออออห่อหมกไปกับประธานด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้การทำให้แบงก์ชาติอยู่ในกำมือง่ายยิ่งขึ้น