"...ในมุมมองของผม อว. จึงเป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสและการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งด้านวิทย์ และ ศิลป์ สู่การพัฒนาประเทศ เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืนครับ..."
ผมเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า งานวิจัย จะมีค่าน้อยครับ ถ้าเราทำวิจัยดีมาก แต่แทบไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์
นักวิจัยทั้งหลายควรลดหรือ เลิกทำงานวิจัยที่เราเพียง "อยากทำ"...ได้แล้วครับ ควรมองโลกและประเทศว่ากำลังมีปัญหาอะไร มีโอกาสอะไร แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง
นี่คือ เป้าหมายใหญ่ของการปฏิรูป วทน.ของประเทศ ภายในการนำของผม ตลอด 3 ปี 1 เดือน
เพื่อเป็นกระทรวงแห่งอนาคตที่ผลิตคนที่มีคุณภาพตามความต้องการของประเทศ และ โลกครับ
อว. ต้องทำตัวเป็นกระทรวงตามสั่งครับ ลูกค้าของเรา คือ ประเทศไทย ต้องการคนแบบไหน ต้องการวิทยาศาสตร์อะไร ต้องการงานวิจัยเพื่อพัฒนา หรือ แก้ปัญหาเรื่องอะไร อว. จัดให้ครับ
อว.ตระหนักถึงปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งในปี 2568 ผู้สูงอายุจะกลายเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรประเทศ และส่วนใหญ่ขาดทักษะโลกดิจิทัล (Digital Literacy)
ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น
นัยสำคัญในเชิงนโยบายด้าน วทน. จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม นำพาประชาชนเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะการอยู่รอดในยุคดิจิทัล
ให้สามารถต่อสู้กับความยากจน ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุ และ ให้ผู้สูงอายุ สามารถดูแลตัวเองได้ขณะที่วัยแรงงานกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในมุมมองของผม อว. จึงเป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสและการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งด้านวิทย์ และ ศิลป์ สู่การพัฒนาประเทศ เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืนครับ
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะสร้างความแตกต่างให้กับงานวิจัย ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ คือ งานวิจัยที่ใช้จุดเด่นของความเป็นไทยทั้งวิทย์ และ ศิลป์ เพื่อส่งออกความรู้ที่เป็นของคนไทย
โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ร่วมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ในระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ในอดีตที่ผ่านมาเรามักให้น้ำหนักความสำคัญกับพัฒนางานวิจัยระดับนานาชาติเป็นหลัก
เรามักลืมปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถพิเศษ มีแนวคิดใหม่ๆ แบบไทยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้คนเหล่านี้ เข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในระบบอุดมศึกษา
จึงได้แค่สอนกันแค่ในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ จนมาช่วงการระบาดของโควิดทำให้งานวิจัยแบบไทยๆ หลายชิ้นเริ่มได้รับการสนใจ จนมีผู้เห็นศักยภาพและนำไปพัฒนาต่อยอดให้ใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็วครับ
ยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่งก็คือ ต้องพยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคสังคม อย่าอาศัยแต่ภาครัฐ
เพราะฉะนั้นภาคอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนกับเรา
แต่เราจะต้องรู้ว่าเรามีดีอะไรให้เขามาลงทุน และเขาต้องการอะไรเพื่อที่จะลงทุน และเราจึงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเขา
นอกจากนั้นเราต้องไม่ทำอะไรที่ซ้ำซาก นโยบายที่ดี จะต้องมีการทำให้สำเร็จในระยะสั้น และ เร็ว(Quick Wins) และ มีนโยบายที่วางรากฐานสำคัญในระยะยาว (Future Foundation) ด้วย
หัวใจสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ คือ ผู้นำครับ สำหรับผู้นำของกระทรวง อว. ทุกระดับ สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของ mindset ซึ่งบางทีอาจจะสำคัญกว่าเทคนิค หรือ ความรู้
จะต้องมองเห็นอนาคต และ กำหนดทิศทางล่วงหน้า ดังนั้น ผมแนะนำให้ลืมภพชาติเก่าของตัวเองที่เคยเป็น นักวิชาการ ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญให้หมด เมื่อได้รับตำแหน่งผู้บริหาร ท่านต้อง “นำ” ไม่ใช่ “ทำไปวันๆ” จนหมดวาระ และไม่ยึดติดกับ ความเป็นเลิศทางวิชาการแบบนักวิชาการหมือนสมัยก่อนได้รับตำแหน่ง
ผมจึงมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ของผมแก่ผู้นำ อว. ทุกท่าน และ กระตุ้นให้ทุกท่านคิดทฤษฏีใหม่ๆ และ วางกลยุทธ์ที่มุ่งสู่การพัฒนาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ให้ได้ และต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2570
ซึ่งผมย้ำทุกครั้งที่ไปบรรยาย ว่าผู้นำต้องนำให้เหมือน ออกรบ ที่ต้องรบชนะเท่านั้น และ ทั้งหมดนี้ คือ แนวคิดส่วนหนึ่งการสร้างกระทรวง อว.ซึ่งเป็นกระทรวงน้องใหม่ในตอนนั้น แต่ต้องทำภาระกิจสำคัญของชาติให้สำเร็จครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580