"..คนไทยรู้กันดีว่า ภัยบนท้องถนนยังมีอีกมากจากรถยนต์ผิดกฎหมายที่วิ่งอยู่ทั่วไปหมด ขณะที่ประชาชนและคนทำมาค้าขายต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ เราทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้นสำหรับค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ได้บริการที่แย่ลงจากระบบที่คอร์รัปชัน..."
เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะมีการดัดแปลงติดตั้งถังแก๊สผิดกฎหมายจำนวนมาก สะท้อนปัญหาความไม่โปร่งใสของกรมการขนส่งทางบก
เมื่อสำรวจเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและข่าวจากสื่อมวลชน เกี่ยวกับความเสี่ยงคอร์รัปชันในกรมการขนส่งทางบก ที่สร้างความเดือดร้อน สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและคนทำมาค้าขาย และเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดอันตรายบนท้องถนนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย มีดังนี้
1. เรียกรับสินบนตามด่านตรวจ ตรวจควันดำ เสียงดัง สภาพรถ การต่อทะเบียน
2. ฉ้อฉลในการตรวจประเมินเพื่อจดทะเบียนรถยนต์นำเข้าและรถยนต์จดประกอบ ทำให้เกิด “คดีรถยนต์หรูเลี่ยงภาษี” นับพันคดี
3. ความไม่โปร่งใสใน “การอนุญาตให้มีการดัดแปลงแก้ไขสาระสำคัญของรถและการตรวจสอบต่อเนื่อง” ทำให้เกิดอุบัติภัยได้ง่าย เช่นกรณีไฟไหม้รถทัศนศึกษาของนักเรียน เช่น ดัดแปลงตัวถังรถ ติดตั้งแก๊ส เปลี่ยนสี เครื่องยนต์ เปลี่ยนจำนวนโคมไฟ จำนวนที่นั่งโดยสาร ส่วนควบของรถ
4. จดทะเบียนรถยนต์ใหม่ - รถมอเตอร์ไซค์ใหม่
รถใหม่ทุกคันที่เราซื้อจากโชว์รูมมีกฎหมายกำหนดว่า ในการจดทะเบียนรถผู้ซื้อต้องนำรถไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพทุกคัน มีผู้ซื้อรถส่วนน้อยที่ซื้อเงินสดแล้วนำรถไปดำเนินการเอง หรือให้โชว์รูมดำเนินการให้ ขณะที่คนส่วนใหญ่จะให้ไฟแนนซ์ไปจัดการหากซื้อเงินผ่อน โดยมีค่าใช้จ่ายพิเศษ แน่นอนว่าสองกลุ่มหลังนี้ “ไม่มี” รถไปให้ตรวจจริง แต่ก็จดทะเบียนได้โดยจ่ายเงินแบบไม่มีใบเสร็จ ที่เรียกว่า “ค่าตรวจสภาพนอกสถานที่” หรือค่าธรรมเนียม ฯลฯ เนื่องจากตัวเลขการจ่ายค่าจดทะเบียนรถใหม่ ไม่ชัดเจนหรือเท่ากันในแต่ละพื้นที่ แต่โดยเฉลี่ยแล้วรถมอเตอร์ไซค์คันละ 50 – 200 บาท รถยนต์ 300 – 1,500 บาท เป็นต้น ประเด็นนี้จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต!! คาดว่าในปี 2566 เงินไม่มีใบเสร็จดังกล่าวอาจมากถึง 400 – 1,000 ล้านบาท เมื่อคำนวนจากยอดขายทั้งปีของรถมอเตอร์ไซค์ 1.88 ล้านคัน รถยนต์นั่งและกระบะ 7.75 แสนคัน อันที่จริง เราควรตั้งคำถามกรมการขนส่งทางบกด้วยว่า “รถใหม่ป้ายแดงจากโรงงานแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นล้วนเหมือนกัน จะไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเลยหรือ ทำไมต้องสร้างภาระให้ประชาชน?”
5. ปล่อยให้มีคนนอกทำตัวเป็นนายหน้าเรียกค่าบริการหรือหลอกลวงประชาชนในสถานที่ราชการ
6. การจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด เช่น งานก่อสร้าง การจ้างผลิตแผ่นป้ายทะเบียนรถ จัดทำใบขับขี่
7. ออกใบขับขี่ฯ ให้แก่บุคคลที่ไม่ผ่านการสอบและอบรมตามขั้นตอน
8. ให้ความเห็นชอบแบบและผลิตตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงการทดสอบและรับรองผลการทดสอบความปลอดภัยรถ เช่น รถโดยสารสองชั้น รถเก่ามากนำมาทำใหม่แต่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพอุปกรณ์ อะไหล่ ฝีมือการประกอบติดตั้งได้
9. รับรองมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก เช่น รถพ่วง รถลากพ่วง รถขนส่งพิเศษ เช่น รถสองชั้นเพื่อขนส่งรถยนต์ รถห้องเย็น
10. ความโปร่งใสในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางให้แก่เอกชน เช่น รถนำเที่ยว รถรับจ้างขนส่งคนงาน รถตู้ขนส่งผู้โดยสาร
11. ความโปร่งใสในการจัดสรรป้ายแดงให้โชว์รูมรถยนต์ การจองเลขทะเบียนรถป้ายธรรมดา
12. จดทะเบียนรถผิดประเภท
13. ประเมินเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจรถยนต์เอกชน (ตรอ.) และการต่อใบอนุญาต
14. การขอใบอนุญาตเป็นผู้ฝึกสอนขับขี่รถยนต์
คนไทยรู้กันดีว่า ภัยบนท้องถนนยังมีอีกมากจากรถยนต์ผิดกฎหมายที่วิ่งอยู่ทั่วไปหมด ขณะที่ประชาชนและคนทำมาค้าขายต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ เราทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้นสำหรับค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ได้บริการที่แย่ลงจากระบบที่คอร์รัปชัน
จำเป็นแล้วที่สังคมไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม สะสางการทำงานของกรมการขนส่งทางบก ยกระดับการตรวจสภาพรถพร้อมบันทึกข้อมูล เพิ่มการบันทึกภาพตามจุดสำคัญ พร้อมเปิดเผยให้โปร่งใส ติดตามตรวจสอบได้ สร้างดิจิตอลฟุตพริ้นท์ให้สังคมตรวจสอบย้อนหลังได้ทุกแง่มุม
ที่จำเป็นอีกประการคือ ต้องไม่ละเว้นที่จะตรวจสอบและลงโทษเอกชนทุกรายที่ทำผิดอย่างเข้มงวด
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)
9 ตุลาคม 2567
เอกสารประกอบ: รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบของ กรมการขนส่งทางบก, 2566