“...การยกเลิกการตัดน้ำตัดไฟ ให้เหมือนในต่างประเทศ เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับประเทศไทย เพราะว่า ในบางประเทศการที่ผู้เช่าไปเช่าอาคารสถานที่ ไม่จ่ายค่าเช่า ไปใช้กำลังขับไล่ ทำไม่ได้ หรือปิดล็อคกุญแจก็ทำไม่ได้ น้ำไฟ ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย ไม่มีโอกาสโต้แย้ง หมายความว่า ตัดได้ถ้ามีเหตุที่จำเป็นจริงๆ แต่ต้องมีอีกฝ่ายเข้ามาตรวจสอบ นั่นก็คือศาลยุติธรรม จะทำตามอำเภอใจอาจเกิดผลกระทบข้างเคียงได้...”
การยกเลิกการตัดน้ำตัดไฟ ให้เหมือนในต่างประเทศ เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับประเทศไทย เพราะว่า ในบางประเทศการที่ผู้เช่าไปเช่าอาคารสถานที่ ไม่จ่ายค่าเช่า ไปใช้กำลังขับไล่ ทำไม่ได้ หรือปิดล็อคกุญแจก็ทำไม่ได้ น้ำไฟ ก็เช่นกัน ดังนั้นต้องคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย ไม่มีโอกาสโต้แย้ง
จากกรณีเกิดเหตุการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดนครพนม ตัดไฟบ้านของกลุ่มผู้เปราะบางแห่งหนึ่งทำให้ผู้ป่วยติดเตียงที่กำลังใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องดูดเสมหะ และเตียงลม เกิดอาการทรุด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนทำให้ญาติคาใจ และไม่พอใจกับการบริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตที่นครพนม โดยหากมองทางด้านมนุษยธรรม เราจะเห็นว่า การไฟฟ้า ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ยิ่งเมื่อมีการแจ้งเหตุผลกับพนักงานตัดไฟแล้วว่า เจ้าของบ้านป่วยติดเตียงอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ควรเข้าไปดูได้หรือไม่ว่า มีผู้ป่วยติดเตียงจริงหรือไม่ ถ่ายรูปรายงานแทนการตัดไฟยกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าไปจากเสาหน้าบ้านแบบกรณีนี้
“การทำหน้าที่ใดๆ ก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องสวมหัวใจความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วย”
เมื่อถามถึงการประชาสัมพันธ์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณีสถานที่หรือบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล โดยมีหลักเกณฑ์ยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า (ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า) โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดต่อลงทะเบียนที่สำนักงาน PEA ในพื้นที่ทุกแห่ง เอกสารที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน มีทั้ง บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือสำเนา ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล มีอายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ใช้ไฟฟ้า ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหลักฐานแสดงตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ฯลฯ
ประธานสภาผู้บริโภค มองว่า การติดต่อลงทะเบียนแบบนี้ ถือเป็นภาระให้กับผู้ป่วย และญาติ ยุคนี้สามารถหาช่องทางลงทะเบียนที่ที่สะดวกกว่านี้ได้
“ถ้าเป็นญาติผู้เสียหาย จะดำเนินคดีกับการไฟฟ้า ความผิดฐานเลือกปฏิบัติ ขนาดห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการหลายแห่ง มีข่าวติดค้างค่าไฟเป็นเงินจำนวนมาก ไม่เห็นไปตัดไฟ แต่เลือกตัดไฟกับชาวบ้านที่ติดค้างค่าไฟหลักพันบาท ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง” บุญยืน ระบุ และยืนยัน ประเทศไทยไม่ควรมีการตัดน้ำตัดไฟ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางเช่นนี้ ดังนั้น สภาผู้บริโภคพร้อมจะยื่นมือเข้าช่วย การเสียชีวิตที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
ขณะที่ สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค กล่าวถึง กรณีของต่างประเทศ การตัดน้ำตัดไฟจะกระทำไม่ได้ ต้องมีการไปฟ้องศาลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเขตหนาว มีหิมะตกจะเข้มงวดในเรื่องนี้ โดยมีเงื่อนไขตัดน้ำตัดไฟไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ
“เรื่องนี้น่าคิด ปัจจุบันน้ำไฟเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สำคัญมากสำหรับชีวิตคนเมือง แม้จะเกิดกรณีการตัดน้ำตัดไฟได้ แต่ควรจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่านี้ โดยเฉพาะกับคนยากคนจน คนเจ็บป่วย คนไร้ที่พึ่ง เท่าที่ดูกฎระเบียบ และนโยบายรัฐบาลก็ออกมาแนวนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่มีหลักประกันอย่างถึงที่สุดให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นคนยากจน และคนชายขอบเหล่านี้”
ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีคนป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า สามารถผ่อนผันได้ แต่ประชาชนไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ในวงกว้าง ขณะเดียวกันพนักงานของการไฟฟ้าเอง หรือบริษัทที่เป็นซับคอนแทค ถามว่า มีความรู้ความเข้าใจตรงนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการลงทะเบียนผ่อนผันสำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง ไม่ควรจะมีความยุ่งยาก ต้องง่ายเข้าไว้
“กรณีที่เกิดเหตุที่นครพนม เป็นเรื่องน่าเสียดาย เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่น่าเกิดขึ้น หากผู้ดูแลได้บอกกล่าวกับพนักงานการไฟฟ้าแล้วว่า ผู้ป่วยมีเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาล และการรักษาชีวิต ต้องไม่ตัดไฟ นี่คือสามัญสำนึกที่ต้องไม่ทำแล้ว”
สมชาย มองว่า การตัดไฟบ้านผู้ป่วยติดเตียงจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะมีหน่วยงานราชการจำนวนไม่น้อย ยังมีการดำเนินการที่ขัดหลักนิติธรรม ด้วยกฎ หรือระเบียบต่างๆ ต้องมีการใช้อย่างเสมอภาค และใช้กับผู้ที่ออกกฎด้วย คือ หน่วยงานราชการกลับไม่นำไปใช้ ยิ่งกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส หรือคนชายขอบ จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นคุณ เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
“ผมมองว่า 1.ทางการไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ แม้การกระทำนั้นจะเป็นการกระทำของพนักงานซับคอนแทค เพราะเข้าข่ายเป็นการละเมิด การกระทำที่ไม่ชอบ อาจถึงขั้นเป็นการกระทำผิดทางอาญา ประมาทจนทำให้คนเสียชีวิต ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่า การอธิบายกับพนักงานที่มาตัดไฟว่า มีการอธิบายมากน้อยแค่ไหน 2.ความผิดฐานละเมิด พนักงานการไฟฟ้าที่ยกมิเตอร์ไฟออกไป ต้องรับผิดชอบ นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ต้องรับผิดชอบ และการไฟฟ้าถือเป็นผู้ให้บริการชั้นต้น ต้องรับผิดชอบด้วย หากดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิต สามารถฟ้องได้ 3 คนข้างต้นนี้ได้”
ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าการไฟฟ้า หรือการประปา ต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณา นำกรณีที่นครพนมมาเป็นบทเรียน เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม ต้องมาดูเรื่องรถบัสไฟไหม้ ว่า จะมีกฎ มีระเบียบ มีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ได้อย่างไร การเป็นผู้ให้บริการที่เป็นภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไรเป็นพิเศษ รวมไปถึงให้บริษัทเอกชนมีความรู้ความเข้าใจประเด็นนี้ด้วย
“การยกเลิกการตัดน้ำตัดไฟ ให้เหมือนในต่างประเทศ เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับประเทศไทย เพราะว่า ในบางประเทศการที่ผู้เช่าไปเช่าอาคารสถานที่ ไม่จ่ายค่าเช่า ไปใช้กำลังขับไล่ ทำไม่ได้ หรือปิดล็อคกุญแจก็ทำไม่ได้ น้ำไฟ ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย ไม่มีโอกาสโต้แย้ง หมายความว่า ตัดได้ถ้ามีเหตุที่จำเป็นจริงๆ แต่ต้องมีอีกฝ่ายเข้ามาตรวจสอบ นั่นก็คือศาลยุติธรรม จะทำตามอำเภอใจอาจเกิดผลกระทบข้างเคียงได้”