“...ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะมีการชุมนุมในปีหน้าหรือไม่ ผมคิดว่าจะเกิดจากเงื่อนไขของการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ที่เป็นจุดอ่อนและสังคมมีบทเรียน คือ เรื่องคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) เช่น เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ โครงการแลนด์บริดจ์...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และผู้ที่เคยร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ในอดีต เช่น การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. แสดงวิเคราะห์เงื่อนไขและความเป็นไปได้ของการเกิดชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่บนท้องถนน
“นับตั้งแต่การปรากฎตัวของกระบวนการคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว มาจนถึงพรรคประชาชน ท้าทายภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มชุดความคิดอนุรักษนิยม ทั้งในสภาและนอกสภามาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้น”
การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา การพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเริ่มซีเรียส จริงจังมากขึ้น เพราะมีการขยับตัวของพรรคการเมืองที่ชูธงเสนอทางเลือกให้กับสังคมที่ก้าวหน้า จึงกระทบกับพรรคการเมืองที่อยู่ในเฉดอนุรักษนิยม พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง
ภูมิทัศน์นอกสภากระแสสังคมที่ชูธงก้าวหน้ามีพลัง เป็นคำตอบใหม่ ทำให้การเมืองช่วงหลังเวลาพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมืองก็จะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับกลุ่มเสรีนิยมก้าวหน้า
การเมืองปีกอนุรักษนิยมยังเป็นพรรคที่ชูอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มีหลายกลุ่ม หลายก้อนทั้งในสภาและนอกสภา ในสภาเป็นอนุรักษนิยม ประกอบด้วย 4-5 พรรค กำลังต่อกรกับพรรคประชาชน
ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางการเมืองนอกสภาน่าสนใจ เพราะจะมีอิทธิพลต่อการปรับตัวในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นแรงกดดันนอกสภาของมวลชนที่พูดกันถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น
ภูมิทัศทางการเมืองทั้งในและนอกสภาจะสอดประสานกัน สู้กันระหว่างอนุรักษนิยมที่พยายามปรับตัวเป็นกลุ่ม ‘อนุรักษนิยมใหม่’ ปะทะกันกับกลุ่มที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม ‘เสรีนิยมก้าวหน้า’ ที่นำโดยพรรคประชาชน ทั้งในและนอกสภาจะเป็นภูมิทัศน์แบบ ‘การเมือง 2 ขั้วความคิด’ ชัดเจนขึ้นในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า
เสรีนิยมก้าวหน้ามีพรรคประชาชนที่โดดเด่นที่สุด นอกนั้นเป็นพรรคอนุรักษนิยมที่ ‘พยายามเป็น’ อนุรักษนิยมใหม่ ชูนโยบายเศรษฐกิจเสรีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียม สิทธิพลเมือง
ที่ค่อนข้างจะปรับตัวได้เร็วกว่าเพื่อน คือ พรรคเพื่อไทย พรรคที่เหลือปรับตัวยาก เพราะมีปัญหาภายในพรรค เช่น ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ โดยจริตของพรรค หรือกลไกการนำพรรคยังช้าอยู่
แต่การปรับตัวในลักษณะที่ทะยาน พุ่งขึ้นมาแบบพรรคภูมิใจไทย จะกลายเป็นพรรคที่พยามกวาดต้อนความคิดแบบอนุรักษนิยมดั่งเดิมไว้ บวกกับอนุรักษนิยมใหม่ค่อนข้างดี เป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างจะลงตัว
“ฉะนั้นแนวระนาบสนามเลือกตั้งใหญ่จะเป็น หนึ่ง พรรคเพื่อไทยที่พยายามชูธงอนุรักษนิยมใหม่ สอง พรรคประชาชน เป็นขั้วเสรีนิยมก้าวหน้า และขั้วที่สามจะเป็น อนุรักษนิยมที่มีสีสันของการชูคุณค่าอนุรักษนิยมแบบดั่งเดิมอยู่ คือ พรรคภูมิใจไทย จะเป็นการเมืองแบบ 2 ขั้ว แต่ 3 ฝ่าย”
พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยยังเป็นพรรคแนวร่วมกันในสนามการเลือกตั้งใหญ่ เพราะระดับความเข้มทางอุดมการณ์ผสมผสานกันลงตัวมากกว่า สองพรรคใหญ่ยังชูธงเรื่องอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ฉะนั้น 2 ฝ่ายที่จะจับมือกันเป็นขั้วใหญ่เพื่อเป็นพันธมิตรในสนามเลือกตั้งหรือเป็นแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลยังมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่จะไปจับมือกับพรรคประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งสนามใหญ่จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้ากับฝ่ายที่ไม่เอาเสรีนิยมก้าวหน้า
อะไรจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนนขนาดใหญ่ ?
เงื่อนไขการชุมนุมยังเป็นเรื่องของปัจจัยความชอบธรรมในการบริหารงานของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนเงื่อนไขเชิงอุดมการณ์ยังไม่ใช่เงื่อนไขหลัก แต่เป็นเงื่อนไขบวกเข้ามา ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด
“ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะมีการชุมนุมในปีหน้าหรือไม่ ผมคิดว่าจะเกิดจากเงื่อนไขจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลมากกว่า”
ขยายความคำว่า ‘บริหารงานล้มเหลว’ ว่า ที่เป็นจุดอ่อนและจุดบอด และสังคมมีบทเรียน มีอาการหลอนกันอยู่ คือ เรื่องของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) เช่น เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ โครงการแลนด์บริดจ์
หรือ ความพยายามจะนำโครงการขนาดใหญ่มาปัดฝุ่น คือ โครงการบริหารจัดการน้ำ และการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ซึ่งในอดีตของระบอบทักษิณช่วงปี 47-48 ชัดเจนมาก ดังนั้นสังคมจึงยังมอนิเตอร์อยู่และรู้สึกว่ายังต้องจับตา
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แถลงข่าวการประชุมครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล (ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/)
สอง การเมืองผูกขาดแบบครอบครัว และกินรวบทั้งเศรษฐกิจ การเมืองบ้านใหญ่ เพราะถ้ากลับไปแบบเดิมอันตราย จะเกิดสภาพของรัฐบาลขั้วอำนาจเดี่ยว ทำให้กลไกองค์กรอิสระถูกครอบงำ แทรกแซง และ สาม สิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การแทรกแซงสื่อ การปิดปากสื่อ ยังมีภาพหลอนกันอยู่
พรรคฝ่ายค้านในสภาเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบรัฐบาลมากน้อยแค่ไหนและนักร้องเรียนจะเป็นจุดตายทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่ ?
เอาเข้าจริง ๆ รัฐบาลเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่น่าจับตา พรรคเพื่อไทย 140 กว่าเสียง ไม่ได้เป็นพรรคใหญ่เด็ดขาด การต่อรองยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ความไม่เป็นเอกภาพในพรรคร่วมก็ยังเป็นปัญหาน้อยกว่าความไม่เป็นเอกภาพในพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาชนจะทำงานกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคเล็กอื่น ๆ ได้หรือไม่ ไม่ง่าย เสียงน้อยด้วย
ต้องจับตาดูว่าพรรคประชาชนจะตรวจสอบเชิงประเด็น หรือจะตรวจสอบควบคู่ไปกับการตีแผ่ ลอกคราบความคิด หรือวาระทางการเมืองที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะบทบาทการขับเคลื่อนของคุณทักษิณ
ส่วนนักร้อง คิดว่าบางทีก็ดาบสองคม ได้หยิบทุกประเด็นมาร้องและหวังจะโค่นล้ม ทำลายความชอบธรรมรัฐบาล บางเรื่องอาจจะเฝือไป ทำให้ความชอบธรรมตีกลับ กลายเป็นคนเห็นใจรัฐบาลมากกว่า ต้องระวัง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เอาไปร้องฟังขึ้นหรือไม่
“ฝ่ายค้านในสภากับกลุ่มนักร้องก็จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็คัดค้านรัฐบาล ส่วนจะขยายใหญ่เป็นทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ คิดว่าอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะลามไปสู่การชุมนุมใหญ่”
ผู้คนที่ผ่านการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีส้ม ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกือบสองทศวรรษ ทุกฝ่ายมีบทเรียน ผลลัพธ์จากการชุมนุมเกิดอะไรขึ้น มีการตั้งคำถามมากมาย มีราคาที่ต้องจ่ายมากไปหรือไม่ ความสูญเสีย บาดเจ็บ ติดคุก ติดตะรางของแกนนำ หนีออกนอกประเทศ มีคำถามว่าคุ้มหรือไม่ สูตรนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการชุมนุมทางการเมือง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข รัฐบาลเรียกแขก หรือเป็นปัญหาเสียเองหรือไม่ การชุมนุมถ้ามันจะเกิดขึ้นในปีหน้า หรือภายในรัฐบาลนี้ ต้องดูว่ามีปัจจัยไหนที่ทำให้สถานการณ์สุกงอม แค่ไหน เพียงใด เพียงพอให้คนออกไปชุมนุมใหญ่
จุดเปราะบางที่สุดที่จะทำให้การชุมนุมจุดติด ?
เรื่องคอร์รัปชัน และเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าพบว่ามีการคอร์รัปชันรุนแรง เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำเดือดร้อน ขณะที่นักการเมืองผลักดันเมกะโปรเจกต์กันต่อเนื่อง เป็นการเมืองที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่นักการเมืองมีแต่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ตาม ทุกคนมองไปถึงการสะสมกำลังเพื่อเตรียมสู้ในสนามเลือกตั้งใหญ่ จะไม่มองมาถึงขั้นการวางแผนปลุกระดม ออกแบบจัดการชุมนุม สร้างเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุม
นักการเมืองกลัวที่สุด คือ การถูกรัฐประหาร เพราะนักการเมืองตกงาน ไม่รู้จะได้กลับมาอีกเมื่อไหร่ ยิ่งการรัฐประหารล่าสุด ไม่ใช่การรัฐประหารแบบชั่วคราว อยู่ยาว 9 ปี นักการเมืองระวังมากขึ้น เพราะฉะนั้น เกมการชุมนุมใหญ่ ไม่ง่ายที่พรรคการเมืองจะเข้ามาผสมโรงแบบเดิม
ทหารจะออกมาปฏิวัติอีกหรือไม่ หรือ ปี 57 จะเป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้าย?
การรัฐประหารในเมืองไทย จะบอกว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยก็พูดยาก เพราะเงื่อนไข ปัจจัย อาจจะมีตัวแปรที่บางครั้งเราคาดไม่ถึง การเมืองไทยจะก้าวพ้นจากการรัฐประหารหรือไม่ ต้องเรียนรู้กันไป ทั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมือง
ปัจจัยหนึ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด คือ เงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักกการเมือง เล่นการเมืองกันแบบทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเอือมระอา ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ความเกลียดชังนักการเมืองสูงมากขึ้น เป็นโจทย์ทำให้อำนาจนอกระบบ การเมืองของคนดี เกิดขึ้นจากเงื่อนไขพวกนี้
ถ้าบอกว่า เราต่อต้านการรัฐประหาร เราต่อต้านการเมืองคนดี ซึ่งไม่รู้ว่า คืออะไร อย่างเดียวไม่พอ ต้องขจัด ทำลายเงื่อนไขการเมืองที่นักเลือกตั้งกำลังเป็นฮีโร่กันอยู่ด้วย ต้องทำคู่ขนานกันไป
ถ้าพรรคการเมืองและตัวละครในเวทีการเมือง กำจัดเงื่อนไขพวกนี้ด้วย ช่วยกันปรับตัว ปฏิรูปพรรค เล่นการเมืองสร้างสรรค์ ทำงานการเมืองที่เป็นตัวเลือกให้ประชาชนจริง ๆ จะทำให้เงื่อนไขอำนาจนอกระบบลดความชอบธรรมไปในที่สุด
ถ้าจะให้จัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากที่สุด ให้น้ำหนักเงื่อนไขจากนักร้อง (เรียน) เป็นอันดับแรก เพราะมีหลายประเด็นมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเปลี่ยนเกมทางการเมือง ทำให้นายกฯ ตกเก้าอี้ หรือทำให้รัฐบาลล่มสลายได้ เพราะมีคำร้องสำคัญหลายคำร้อง เช่น สนามกอล์ฟอัลไพน์ การครอบงำพรรค เรื่องชั้น 14
อันดับสอง เป็นความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล เกิดสมการจัดขั้วอำนาจกันใหม่ในสภา และ อันดับสาม การเมืองของมวลชน แต่จะเกิดขึ้นได้ขนาดไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยการบริหารงานของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลบริหารดี มีผลงาน ไม่ต้องกลัวม็อบ ไม่ต้องกลัวการชุมนุมทางการเมือง
ส่วนปัจจัยที่สี่อาจจะต้องจับตาเหมือนกัน คือ ภายนอกประเทศ เรื่องเศรษฐกิจการเมือง สงคราม ประมาทไม่ได้ ต้องเกาะติด จับตา เพราะปัจจุบันประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) เป็นประเด็นที่ไปดิสรัป (disrupt) การเมืองหลายประเทศให้ผันผวน ถูกกดดันความขัดแย้งระดับโลก ว่าสุดท้าย เราต้องมีโพสิชัน (position) แบบไหนกับความขัดแย้งนั้น เราจะถูกถามเรื่องจุดยืนมากขึ้น ซึ่งกระทบกับเสถียรภาพการเมืองไทย โดยเฉพาะมิติด้านความมั่นคง บทบาททหารจะโดดเด่นขึ้นทันที
ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลประเด็นไหนอ่อนไหวต่อเสถียรภาพรัฐบาลที่สุด ?
เรื่องผลประโยชน์ เมกะโปรเจกต์ ต้องระวัง เพราะทุกพรรคต้องเตรียม ‘กระสุน’ ให้พร้อมในการเลือกตั้ง
‘สว.สีน้ำเงิน’ 3 ใน 4 ของสภาสูง จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองหรือไม่ ?
เป็นการออกแบบของอนุรักษนิยมในบางปีก ปีกสีน้ำเงิน มองเห็นช่อง สามารถออกแบบจนประสบความสำเร็จ เกิดอำนาจต่อรองในสมการการเมืองในสภาได้อย่างชัดเจนขึ้น มีผลมากต่อการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสำคัญ ๆ เป็นปัจจัยหนึ่งในการจัดระเบียบอำนาจทางการเมือง เช่น การจัดสูตรรัฐบาลใหม่ อำนาจต่อรองจะสูงขึ้นมาก
“ยังไม่ง่ายที่จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง เพราะ สภาล่าง (สส.) ยังได้น้อยอยู่ แต่เมื่อไหร่การเลือกตั้งต่อไปได้ 100 ขึ้น เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าพรรคอื่น”
แม้ สว.จะไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ สว.มีอำนาจเยอะ โดยเฉพาะ 2-3 ปีต่อจากนี้ไป ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมด มากกว่า 30 คนจะพ้นจากหน้าที่ ต้องสรรหาใหม่ จะถูกสรรหาภายใต้วาระของ สว.ชุดปัจจุบันทั้งนั้น เป็นจังหวะของการช่วงชิงอำนาจที่ค่อนข้างได้เปรียบที่สุด
อ่านใจคุณทักษิณอย่างไร ถึงไม่วางมือทางการเมือง มีเหตุผลและความจำเป็นอะไร ?
เกมอาจจะออกมาผิดความคาดหมายของคุณทักษิณ อาจจะไม่ได้ออกแบบมาแบบนี้ทั้งหมด แต่ความพลิกผันทางการเมืองกรณีคุณเศรษฐา จึงจำเป็นต้องเล่นเกมนี้ ถ้าเปลี่ยนแล้วเอาคนอื่นก็ไม่สู้เอาคนในตระกูล และคุณทักษิณคงจะมองว่าตัวเองมีโอกาสหลายอย่าง
โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษนิยมดั่งเดิม คะแนนเสียงในสภาหาย ถ้ามาเล่นบทนี้แทนอาจจะทำให้มีพละกำลังมากขึ้น ลึก ๆ แล้วเข้าใจว่า คุณทักษิณและผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคประชาชนก็คงคุยกันอยู่ และพูดอย่างเปิดเผยพร้อมจะเป็นแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทย จึงมองว่าภัยทางการเมืองใกล้ตัวจริง ๆ ก็อาจจะหมดไปแล้ว ทำให้ชะล่าใจ ฮึกเหิม ตรงนี้อาจจะเป็นจุดเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตายทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
เป็นอดีตแกนนำม็อบต่อต้านระบอบทักษิณ มองคนที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันมาแล้วไปมีคำแหน่งในรัฐบาลปัจจุบันอย่างไร ?
เวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับมวลชนจะมีบทเรียนทุกครั้ง เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้คิดแบบเรา เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บริบทเปลี่ยน เขาก็อาจเปลี่ยนจุดยืน หรือตัดสินใจคนละอย่างกับเรา เข้าใจได้ ถือว่าเป็นสิทธิ ปรากฎการณ์แบบนี้ มวลชนจะมีบทเรียน ต่อไปการออกแบบการชุมนุมก็จะมีวิธีบริหารจัดการที่จะไม่ ‘เตะหมูเข้าปากสุนัข’ ซึ่งเหตุผลของการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วก็เป็นเพียงวาทะกรรม เพราะถ้าถอดรหัสและเอกซเรย์ออกมาเราก็จะเห็นว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่มีนายทุนคนเดียวกัน
พลิกบทบาทมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในอนาคตจะกลับไปเป็นแกนนำม็อบลงถนนอีกหรือไม่ ?
พูดไม่ได้หรอก พอเรามาเป็นครูบาอาจารย์ มองจากข้างนอกเข้าไปก็จะเห็นภาพที่ละเอียดขึ้น เห็นภาพใหญ่ขึ้น คนละบทบาทกัน ครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร บางมีสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด
“แต่เรามีบทเรียนชุดหนึ่งว่า ประชาชนต่อสู้และเสียสละมามากเพื่อให้การเมืองดีขึ้น คำถามตัวโตๆ ก็คือ ทำไมได้เพียงแค่นี้ ถ้าจะทำอะไรต่อทางการเมือง ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวมวลชน หรือกลับไปสู้ทางการเมืองในบทไหนก็ตาม ก็มีคำถามว่า มันพอที่จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นไหม”
เข็ดที่เป็นแกนนำสุดท้ายก็ต้องโดนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ?
ไม่ใช่เรื่องเข็ดหรือไม่เข็ด เป็นสภาพที่เราไม่ได้คิดว่าเหนือความคาดหมาย เพราะความขัดแย้งที่ผ่านมารุนแรง บางทีก็ใช้กฎหมายฟาดฟันกันจนประชาชนทุกกลุ่มเจ็บปวด มาวันนี้คนที่ได้รับการนิรโทษกรรม เป็นนักการเมือง เป็นทหาร ประชาชนก็เจ็บปวด
แต่ถามว่า ถึงขนาดเข็ดหลาบหรือไม่ ไม่มีใครเข็ดหลาบจากการต่อสู้ทางการเมือง ที่เป็นการเมืองของสาธารณะ ที่เป็นการเมืองของส่วนรวม เพียงแต่การปรับบทบาทก็เป็นเรื่องที่ต้องสรุปบทเรียนกัน
2 ทศวรรษที่ผ่านมาทำไมความปรองดองและการปฏิรูปการเมืองไม่เกิดขึ้นจริง ?
รัฐบาลข้ามขั้ว รัฐบาลพิเศษเพื่อความปรองดองพูดเรื่องนี้มาก แต่ไม่เคยเห็นอะไรเป็นรูปธรรม แม้แต่รายงานผลการศึกษาการนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการสภาฯก็ไม่นำเข้าสภา ถึงตั้งคำถามว่า ข้ามขั้วเพื่ออะไร
ความขัดแย้งมีมาเกือบ 20 ปี ใช้เวลาแก้วัน สองวันไม่ได้ แต่ปัญหาคือ นับ 1 ไม่ได้ เพราะไปคิดถึงประเด็นการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง คิดถึงตัวบุคคล ทำให้การนิรโทษกรรมเริ่มไม่ได้ เพราะมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองตลอดเวลา