"...แต่ละย่านอยู่ชิดติดกันในพื้นที่เดินหรือขี่จักรยานถึงแบบเหนื่อยนิด ๆ ถ้าจะให้สบาย ๆ ก็นั่งรถรางชมเมืองของเทศบาลเมืองนครพนมดีกว่า มีมัคคุเทศก์จิตอาสาที่อยู่ในวัยเกษียณที่ได้รับการอบรมมาแล้วเป็นผู้บรรยายสถานที่สำคัญตามเส้นทาง บางทีท่านก็ร้องเพลงและรำให้ดูบนรถเป็นที่ครื้นเครง..."
เมื่อเดือนก่อนไปเที่ยวนครพนมมาสี่ซ้าห้าวัน ได้ความสดชื่นทั้งกายและใจกลับมาจนอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง
ได้นอนพักบ้านพักริมน้ำโขงยามน้ำขึ้นสูง ตื่นเช้าสูดอากาศสดชื่นพร้อมชมพระอาทิตย์ขึ้นจากทิวเขาน้อยใหญ่ฝั่งเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ออกกำลังกายบนลู่ติดริมน้ำโขงเป็นแนวยาวหลายสิบกิโลเมตร จะเดิน วิ่ง หรือขี่จักยาน ก็สุดแต่อัธยาศัย - จะไม่ให้กายสดชื่นได้อย่างไร
ได้ชมย่านวัฒนธรรมต่าง ๆ หลากหลายในเมืองเล็กอันน่าอบอุ่น - จะไม่ให้ใจสดใสได้อย่างไร
ต้องขอบพระคุณพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผบ.ตร.อดีตรัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวงและอดีตสมาชิกวุฒิสภาร่วมรุ่น 2562-2567 กัลยาณมิตรผู้กรุณาเปิดบ้านพักริมแม่น้ำโขงให้พักอย่างสะดวกสบาย ผมมาพักที่นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี ท่านเป็นตัวอย่างของคหบดีที่เมื่อประสบความสำเร็จมาแล้วทุกด้านก็หันมาทุ่มเทช่วยพัฒนาบ้านเกิดตามแต่โอกาสจะอำนวย
และต้องขอขอบพระคุณ ‘ดร.โน’ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน คู่ชีวิต ที่มาทำงานวิจัยที่นี่แล้วชวนผมมาเที่ยวชมด้วย
ดร.โนเป็นหัวหน้าคณะวิจัยในโครงการบริหารจัดการสื่อวัฒนธรรมชุมชน "12 พื้นที่วิจัย 44 ย่านวัฒนธรรมชุมชน" อันเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการวิจัยใหญ่เรื่อง "การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปอีสานตลอดในช่วงนี้ เห็นผมเพิ่งว่างงานเลยชวนมาเที่ยวชมพื้นที่วิจัยของเธอกับคณะด้วย
พื้นที่จังหวัดนครพนม คณะวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ย่านวัฒนธรรม เรียกชื่อง่าย ๆ ไม่ถึงกับเป็นทางการนักว่า…
- ย่านตลาดตุ้มโฮม
- ย่านมูเตลู
- ย่านเมืองเก่า
- ย่านชาติพันธุ์
แต่ละย่านอยู่ชิดติดกันในพื้นที่เดินหรือขี่จักรยานถึงแบบเหนื่อยนิด ๆ ถ้าจะให้สบาย ๆ ก็นั่งรถรางชมเมืองของเทศบาลเมืองนครพนมดีกว่า มีมัคคุเทศก์จิตอาสาที่อยู่ในวัยเกษียณที่ได้รับการอบรมมาแล้วเป็นผู้บรรยายสถานที่สำคัญตามเส้นทาง บางทีท่านก็ร้องเพลงและรำให้ดูบนรถเป็นที่ครื้นเครง
ค่อย ๆ เล่าไปตามเส้นทางรถรางนะครับ
ขึ้นรถรางที่ถนนสุนทรวิจิตร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช หนึ่งในย่านมูเตลู ที่บัดนี้เป็นเสมือนศูนย์กลางของจังหวัดนครพนมไปแล้ว
ลานพญาศรีสัตตนาคราชต้องถือว่าเป็นย่านวัฒนธรรมแห่งใหม่ เพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นานนี่เอง เริ่มต้นในช่วงปี 2556 มาเสร็จประมาณใกล้ปี 2559 แต่ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด สร้างรายได้เพิ่มให้จังหวัดนครพนมมหาศาล เป็นตัวแบบที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง
สมัยก่อนเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำโขงที่เริ่มหมดความจำเป็นเพราะมีสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 วันนี้เป็นสถานที่ที่ใครต่อใครต้องมาสักการะบูชา
พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ อดีตสมาชิกวุฒิสภาร่วมรุ่นอีกท่านหนึ่งเล่ารายละเอียดเรื่องการสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราชให้ฟังตั้งแต่ผมมาเยือนนครพนมเมื่อ 5 ปีก่อน เพราะท่านเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญสมัยติดยศพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 ได้นำกำลังทหาร นักพัฒนา อาสาสมัคร ผู้มีหัวใจบำรุงพระพุทธศาสนาจากค่ายพระยอดเมืองขวางมาช่วยเป็นกำลังเสริมปรับปรุงบริเวณดังกล่าวให้สวยงามสะดุดตาตั้งแต่ต้น
พญาศรีสัตตนาคราชที่ปรากฎแก่สายตาพวกเราวันนี้ มีที่มาที่ไปเป็นสัญลักษณ์ความดีงามและเจริญรุ่งเรืองทั้งนั้น
รูปลักษณ์เป็นองค์พญานาค 7 เศียร ประทับพักอิริยาบทสงบนิ่งขดลำตัว 3 ชั้น เพื่อบ่งบอกถึงความสงบสุขของจังหวัดนครพนม โดยรูปทรง 7 เศียรเมื่อรวมกันแล้วจะคล้ายดอกบัวซึ่งในตำนานจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หน้าหรือลำตัวพญานาคจะอวบอิ่ม เยือกเย็น เสมือนผู้ใหญ่ใจดีที่สลัดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา ราคะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม
พญาศรีสัตตนาคราชหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือจะเรียกตามคำอธิบายเฉพาะว่าทิศเหนือเฉียงตะวันออกก็ได้ ที่ 6 องศา 20 ฟิลิปดา ทิศเหนือบ่งบอกถึงการหันหน้ามองเมืองนครพนมริมน้ำโขง เชื่อว่าจะเป็นการนำซึ่งความเจริญรุ่งเรือง เกียรติยศ ชื่อเสียง ประกาศศักดิ์ศรีบารมีให้ลือเลื่อง ลักษณะการว่ายไหลทวนกระแสน้ำโขงขึ้นไปทางเหนือเปรียบประดุจการแสดงถึงพละกำลังที่ยิ่งใหญ่ แข็งแรง ส่วนการหันเฉียงมาทางตะวันออกเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการออกได้ทุกช่องทาง ทำมาค้าขายจะคล่อง ออกตัวได้ดี ปราศจากปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง
พญาศรีสัตตนาคราชสร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ มีขนาดกว้าง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16.29 เมตร ถือว่าเป็นพญานาคองค์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงองค์พญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนม ตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานาน
นับแต่สร้างขึ้นมา ทุกปีจังหวัดนครพนมได้จัดงานบวงสรวงขึ้นในวันที่ 7 เดือน 7 ณ บริเวณลานกว้างแห่งนี้
การสถิตอยู่บนแท่นอันเป็นเอกมงคลเกิดจากความเชื่อที่ว่าพญาศรีสัตตนาคราเคลื่อนเลื้อยล่องมาตามลำน้ำโขง เมื่อผ่านมาถึงนครพนม เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมจะขึ้นมาบนฝั่งเพื่อดูแลความอยู่ดีกินดีแก่ชุมชน จึงเลื้อยขึ้นมาบนฝั่ง พอถึงลานอันเป็นมงคลแล้ว พิจารณาเห็นว่าผิวกายของท่านผ่านพบอุปสรรคโคลนตมคราบไคลที่มัวหมอง เปรียบได้กับกิเลส ตัณหา ราคะ อันเป็นมลทินที่ติดตามผิวกาย สมควรที่จะลอกคราบไคลเหล่านั้นไว้เบื้องล่างให้เหลือผิวกายเป็นสีทองอร่ามเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะเลื้อยขึ้นไปขดอยู่บนแท่น จึงได้ลอกคราบไว้ ดังปรากฏให้เห็นเป็นวงโค้งของคราบ มีลักษณะลอดและโผล่จากพื้นดิน 2 วงโค้ง มีคราบหางโผล่ปรากฏในบ่อน้ำที่อยู่ไม่ห่างจากวงคราบมากนัก
นักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้
โรงแรมแทบไม่พอให้พักในช่วงสุดสัปดาห์ ไม่ต้องพูดถึงในช่วงเทศกาล
วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา บางครั้งก็เป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่าอธิบายได้ยากกระทั่งเหลือเชื่อไม่น้อย
รถรางยังไม่ทันเคลื่อนตัวก็มีเรื่องเล่าสู่กันฟังพอประมาณแล้ว ย่านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของจังหวัดนครพนมยังมีอีกมาก
ไว้โอกาสเหมาะ ๆ เร็ว ๆ นี้ค่อยทวนความจำกลับมาเล่าต่อนะครับ
คำนูณ สิทธิสมาน
29 กันยายน 2567
แหล่งที่มา :
นครพนม - เมืองเล็กวัฒนธรรมใหญ่ https://www.facebook.com/100001018909881/posts/pfbid0dT5xzHzMSTuA5JeAWUYPWMmvQpQt6ZdoPYALsD2Uioj4Ztgfyj8rotqWPZRTzr2El/