“...หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้วไม่มีใครแตะต้องอำนาจของท่าน ดิฉันอาจจะไปแตะกล่องดวงใจของท่านโดยไม่ตั้งใจ”
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ภาควิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘ความมั่นคงภายใน อำนาของทหาร ภารกิจของประชาชน’ เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ ‘ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย’ ของ ‘รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์’ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญนักรัฐศาสตร์ อาจารย์และนักการเมือง มาเป็นวิทยากรวิพากษ์หนังสือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ ทั้งนิสิต นักศักษา นักการเมือง เกินความจุของสถานที่จัดงานกว่า 300 คน
กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : หนังสือเรื่องนี้มีความโดดเด่น 3 ประเด็น ประเด็นแรก การนำเสนอกองทัพ หรือทหารไทย ในฐานะกลไกของรัฐในการแทรกซึมสังคม
ประเด็นที่สอง การนำเสนอการตีความแนวคิด ว่าด้วยการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ (Human security)ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจสากล หรือ บริบทการเมืองโลกร่วมสมัย และ ประเด็นที่สาม การนำเสนอพลวัตทางอำนาจ การปรับตัว เปลี่ยนแปลงตามบริบทความขัดแย้งการเมืองไทยของกองทัพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
@ แทรกซึมทางสังคม-สถาปนาอำนาจนำ
ประเด็นแรก การนำเสนอกองทัพ หรือทหารไทย ในฐานะกลไกของรัฐในการแทรกซึมสังคม สิ่งที่โดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การพยายามสถาปนาอำนาจนำทางสังคม บทบาททางสังคม อิทธิพลที่แผ่ขยายไปในสังคมที่นอกเหนือไปจากตัวบทกฎหมาย แผนงาน ผังงาน ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร
แนวทางการศึกษาแบบนี้มีอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการศึกษาบทบบาทเชิงอุดมการณ์ (Ideological State Apparatuses) กลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ หรือ การศึกษาอำนาจนำ (Hegemony) อำนาจทางการเมือง อำนาจของรัฐ ไม่ได้มีแค่ cohesion ความรุนแรง การปราบปราม แต่ยังมี ฉันทามติ (consensus) การสถาปนาฉันทานุมัติ การสร้างความยินยอมพร้อมใจ หนังสือเล่มนี้อยู่ในประเภทหลัง คือ ศึกษาหน่วยงานของรัฐโดยโฟกัสไปที่กลไกเชิงอุดมการณ์ การสถาปนาอำนาจนำ ในหนังสือใช้คำว่า ‘อำนาจโน้มนำ’ หรือ ‘Soft power’
บทนำหนังสือเริ่มต้นจากการสำรวจประวัติและพัฒนาการของกองทัพ โดยเฉพาะพันธกิจและบทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มมวลชนต่าง ๆ ในสังคมไทย โดยเจาะลึกไปที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตีแผ่ให้เห็นการแทรกซึมทางสังคม หมายถึงบทบาท ปฏิบัติการที่ครอบคลุมกิจการในวงกว้าง นอกเหนือจากความมั่นคงแบบดั่งเดิม การป้องกันอริราชศัตรูและภัยคุกคามจากภายนอก
ในบทนำผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า โครงการจำนวนมากที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น สาธารณสุข โครงการพัฒนา ยาเสพติด การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถูกนับรวมเป็นกิจกรรมความมั่นคงภายใน และเป็นเครื่องมืองทางการเมืองของกองทัพและรัฐไทยโดยรวม ยิ่งช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พันธกิจ โครงการทางสังคมเหล่านี้มีความเข้มข้น หลากหลาย รุกคืบมากขึ้น เช่น โครงการอบรมตามโรงเรียนต่าง ๆ โครงการการท่องเที่ยวและสันทนาการ หรือ ‘Army land’ พันธกิจทวงคืนผืนป่า การสร้างเครือข่าย สายสัมพันธ์กับกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ พบปะ จัดหลักสูตรอบรมร่วมกัน เริ่มตั้งแต่กลุ่มนักธุรกิจ ไปจนถึงกลุ่มคนขับบิ๊กไบค์
@ สงครามเย็น-รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 จุดเริ่มต้น
บทที่ 1 ความเป็นมา จุดเริ่มต้น บริบทสงครามเย็น ในยุคที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ ขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านเติบโต แข็งแรงมาก ในปี 2500 มีการประกาศจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ต่อมาปี 2518 กลายเป็นที่มาของ กอ.รมน. โดยมีเป้าหมายแรกเริ่ม คือ การมุ่งสกัดการขยายตัวของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
“ภารกิจของกอ.รมน. นอกจากการปะทะกันด้านอาวุธ ยังเน้นที่การสกัดกั้นภัยคอมมิวนิสต์ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการด้านการพัฒนา โครงการในพระราชดำริ โครงการมวลชนจัดตั้ง การศึกษามิติกฎหมาย สะท้อนบทบาทของกองทัพโดยรวม มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 พันธกิจหลักของทหาร 5 ข้อ มีเพียง 1 ข้อเท่านั้นที่เป็นความรับผิดชอบปกติของทหารทั่วไปทุกประเทศ นอกนั้นเป็นเรื่องภายในประเทศทั้งหมด ต่อมาเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญไทยที่ว่าด้วยพันธกิจของทหารในรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่อมา”
ยุคหลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทการแทรกซึมของกองทัพที่ก่อตั้ง ก่อตัว พัฒนาไปได้ถูกรื้อฟื้นและมีการนำเอาเทคโนโลยีไซเบอร์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในแทรกซึม ขยายอิทธิพล
คำว่า ‘แทรกซึม’ ที่เป็นคำที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ อาจจะถูกฝ่ายรัฐ หรือ ฝ่ายกองทัพมองว่า เป็นปัญหา เพราะอ่านหนังสือเล่มนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงหน้า 159 ค้นพบว่า การแทรกซึมเป็นศัพท์ที่กองทัพใช้เรียกปฏิบัติการของ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ฝ่ายคอมมิวนิสต์มาแทรกซึม เข้ามาล้างสมองชาวบ้าน เข้ามาชักจูงมวลชนให้หลงผิด
“เมื่อคำศัพท์ ‘การแทรกซึม’ ในโลกของรัฐ ในภาษาของรัฐ มองว่า ไม่ใช่กิจกรรมของเขา ไม่ใช่การกระทำของรัฐ แต่คือการกระทำของ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ รัฐ และเป็นหน้าที่ของกองทัพฝ่ายทหารที่จะต้องไปป้องปราม ป้องกันการแทรกซึมดังกล่าว ดังนั้น กองทัพจึงไม่ได้มองว่า พันธกิจ ภารกิจต่าง ๆ ของตัวเองคือการแทรกซึม แต่มองว่าคือกิจการพลเรือนของทหาร เป็นปฏิบัติการจิตวิทยา”
เป็นการปะทะกันของโลกแห่งความหมาย ด้านหนึ่ง ของรัฐที่มองว่าการแทรกซึมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม แต่หนังสือเล่นนี้มองว่าการแทรกซึมสามารถเป็นปฏิบัติการของรัฐได้ โดยเฉพาะการแทรกซึมทางสังคม
@ ตีความผิดฝาผิดตัว
ประเด็นที่สอง เรื่องการตีความแนวคิดการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้ให้เห็นว่า ตีความแบบผิดฝาผิดตัว วิเคราะห์แนวคิดหรืออุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรม หรือหยิบยกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการแทรกซึม เช่น แนวคิดการเมืองนำการทหาร การพัฒนาเพื่อความมั่นคง อุดมการณ์ราชาชาตินิยม และความมั่นคงของมนุษย์
ยกขึ้นมา 2 แนวคิด คือ ‘เรื่องการพัฒนาเพื่อความมั่นคง’ ถูกผลักดันมาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับต่อ ๆ มา เป็นการ ‘ค้ำประกัน’ และให้ ‘ความชอบธรรม’ กับกองทัพในการผนวกเอาประเด็นความมั่นคงเป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจและสังคม เช่น สโลแกน การพัฒนาเพื่อความมั่นคง
“ดิฉันได้อ่านและตั้งคำถาม ทำไมไม่เป็นการพัฒนาเพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง การพัฒนานำไปสู่เป้าหมายหลายอย่าง แต่ที่เราคุ้นเคยกันและเป็นสโลแกนของหน่วยงานรัฐ คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อการจัดสรร กระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม ซึ่งสามารถเป็นเป้าหมายของการพัฒนาได้เช่นเดียวกัน”
แนวคิดการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เป้าหมายบอกอยู่ในตัวแล้วว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อรักษา law and order เพื่อรักษาเสถียรภาพ คงไว้เพื่อจารีต วัฒนธรรม การอนุรักษ์ความเป็นไทย นี่คือเป้าหมายของการพัฒนาที่อยู่ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ มโนทัศน์เช่นนี้ ไม่เพียงเอารัฐเป็นศูนย์กลาง และเป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ชาตินิยม อนุรักษนิยม แต่ยังสวนทางกับแนวคิด ว่าด้วยการพัฒนาโดยทั่วไปอีกด้วย
“แนวคิดทฤษฎีสมัยใหม่ Modernization Theory มองว่า สังคมที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนา อันดับแรก ต้องปลดแอกตัวเองออกจากความเป็นจารีต pre modern ระบบอุปถัมภ์ ความไม่เป็นมืออาชีพ ความไม่โปร่งใส สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคของการ Modernize ต่อการพัฒนา ถ้าอยากจะพัฒนาต้องปลดแอกออกจากพันธนาการเหล่านี้ เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีความเป็นมืออาชีพ นักพัฒนาตามแนวคิดนี้ มองประเด็นความมั่นคงเป็นเรื่องรอง อุดมการณ์โบราณเป็นเสมือนโซ่ตรวนกักขังปัจเจกชน ไม่ให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ”
แต่พอเรามาดูแนวทางการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของรัฐไทย กองทัพไทย เราจะเห็นว่ามีความกลายพันธุ์ทางแนวคิดเกิดขึ้น มีการผสมผสานระหว่างแนวคิดว่าด้วยการพัฒนากับอุดมการณ์จารีต คุณค่าอันดีงาม ความเป็นชาตินิยมแบบไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นการตีความการพัฒนาที่อาจจะผิดฝาผิดตัว
@ ความยากจน-ขัดแย้งชาติพันธุ์ ความมั่นคงรูปแบบใหม่
‘เรื่องความมั่นคงของมนุษย์’ หนังสือเล่มนี้บอกว่า กองทัพได้หยิบฉวยเอาแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ไปใช้เป็นแนวคิดในการให้ความชอบธรรม แต่สุดท้ายเป็นการขยายอำนาจ บทบาท ขอบเขตของทหาร ทำให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในการรับมือแก้ปัญหาทางสังคมในยุคสมัยใหม่
“ในเชิงรัฐศาสตร์ แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ คือ แนวคิดที่มองว่า ความมั่นคงรูปแบบใหม่กำลังเป็นข้อท้าทายของสังคมโลก ไม่ใช่เรื่องของบูรณภาพทางดินแดน เราไม่ใช่เรื่องของการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่เรื่องของการขยายอำนาจของกองทัพ แต่ความมั่นคงรูปแบบใหม่ เกิดในยุคหลังสงครามเย็น (post-cold war era) สังคมโลกควรที่จะเคลื่อนตัวออกห่างจากความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงแบบเดิม แล้วหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ความยากจน ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความเท่าเทียมทางเพศ สวัสดิการทางสังคม”
ประเด็นที่สาม กรอบความคิดแบบ เรื่องความมั่นคงของมนุษย์จะช่วยทำให้เราเข้าใจสภาวะเปราะบางร่วมสมัย ไม่ใช่ความเปราะบางของรัฐ ของหน่วยงานรัฐ หรือผู้นำรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เราเห็นใบหน้า เสียง ให้พื้นที่คนเปราะบาง คนที่เป็นเหยื่อทางการเมือง ให้ความสำคัญกับแนวทางล่างสู่บน ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ภาคประชาสังคม เน้นการกระจายอำนาจ แทนการขยายตัวของหน่วยงานรัฐ รัฐไม่ใช่ตัวแสดงหลักเพียงอย่างเดียว รัฐต้องเล็กลง รัฐต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยตัวเอง (democratize) เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชน ท้องถิ่น
“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ คือ กองทัพไทย กอ.รมน. รับเอามโนทัศน์ความมั่นคงรัฐแบบดั่งเดิม ครอบงำอยู่ แทนที่จะเป็นการลดบทบาท ปล่อยให้เป็นกิจการของพลเรือน กลายเป็นกองทัพนำพลเรือน”
การพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์มี 2 สโลแกน เชื่อใน ‘freedom from fear’ กับ ‘freedom from want’ หมายถึง ความมั่นคงของมนุษย์ครอบคลุมอิสรภาพที่ปลอดความหวาดกลัว หวาดกลัวที่จะเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐ หวาดกลัวว่าเสรีภาพในการแสดงออกตัวตนของตัวเอง
“ความเป็นนักวิชาการของตัวเองจะมาถูกสอดส่อง ตรวจตรา จะพูด จะเขียนอะไร ต้องระแวดระวัง หวาดกลัวว่าจะถูกฟ้องด้วยกฎหมายความมั่นคง หากเรายังอยู่ในสังคมที่พลเมืองยังไม่มีอิสรภาพ ทั้งจากเรื่องปากท้อง คือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และจากความหวาดกลัวที่จะโดนคุกคาม ปิดปาก ก็ยังถือได้ว่า เรายังอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์ความมั่นคงแบบเดิม และเป็นความล้มเหลวในการบูรณาการมโนทัศน์แบบใหม่ ว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์”
@ ประชาชนรู้ทันกองทัพ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า : ประชาชนจำนวนมากยังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ทำให้เกิดความกลัวว่าจะถูกคุกคาม จะเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ สวัสดิการต่าง ๆ ถ้าตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้างสังคม สร้างประเทศไทยให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็น ยากที่จะเกิดความก้าวหน้าในประเทศไทยได้
หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอ รวบยอดทางความคิดอย่างเป็นระบบที่สุดในการศึกษา กอ.รมน. กองทัพ ผ่านวิธีคิดเรื่องความมั่นคง รายละเอียดทอดผ่านหลายทศวรรษ ตั้งแต่ 2500 จนถึง 2560 อย่างเป็นระบบ เป็นรูปแบบและร้อยรัดกัน ทำให้เราเห็นและเข้าใจกองทัพมากขึ้นตลอด 60 ปีที่ผ่านมา
“หนังสือเล่มนี้ เป็นงานที่ทำให้ประชาชน รู้ทันกองทัพ ทำให้เห็น political project ของกองทัพ ว่ามีเบื้องหลังทางความคิดที่นำมาสู่ปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างไร”
หนังสือเล่มนี้เชื่อมโยงหลายปรากฎการณ์เข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายว่า ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ เช่น กอ.รมน.อบรมเศรษฐกิจพอเพียง จัดสรรที่ดินของกรมธนารักษ์ให้ประชาชน บำบัดผู้ติดยาเสพติด พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง จัดระเบียบคิวรถตู้ จัดระเบียบชายหาด ไม่ใช่กิจการความมั่นคงของกองทัพ ควรเป็นกิจการของพลเรือน
“สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ เวลาพูดถึงกิจการพลเรือนต่าง ๆ เหล่านี้ เราไม่เคยรู้จริง ๆ ว่า กองทัพ กอ.รมน.ใช้กลไกอะไรทำให้มายืนตรงจุดนี้ได้ คือ การทำให้เป็นปกติ (normalization) มองไม่เห็นกลไก ไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาปีเดียว แต่ถูกจัดทำอย่างละเอียดและแยบยล จนสิ่งที่ควรจะไม่ปกติในสังคม เป็นปกติไปได้ ถูก normalization การอนุญาตให้กองทัพมาทำกิจการพลเรือน สิ่งที่ผิดปกติกลับได้รับการสรรเสริญเยินยอ”
@ ปรากฎการณ์ 3 ประการ ค้ำยันระบบ
ตนเชื่อว่า บรรทัดฐานหรือปรากฏการณ์ 3 อย่าง อย่างแรก เรื่องของการไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม (Rule of Law) ในประเทศนี้ สองการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบผลงานไม่เกิดขึ้น ไม่มีคุณธรรม (Meritocracy) และปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นแพร่หลายในหน่วยงานราชการ หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า 3 เรื่องนี้ ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบแต่เป็นสิ่งจำเป็นทำให้ระบบนี้ดำรงอยู่ได้
“ผมพูดอีกครั้ง การคอร์รัปชัน การไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม ไม่มี Rule of Law ไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบผลงาน คือ การไม่มี meritocracy สามอย่างนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากระบบเพื่อทำให้ระบบอย่างนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้”
ระบบแบบนี้จากประโยคในหนังสือเล่มนี้ หน้า 42 ว่า “การสร้างเสถียรภาพให้กับระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีลำดับชั้นตามจารีตของไทย”
ถ้าไม่มีบรรทัดฐานการทำงานแบบนี้ ระบบแบบนี้ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าคิดจะแก้ปัญหาเรื่องพวกนี้ ภายใต้ระบบแบบนี้ คิดว่าเป็นไม่ได้ ถ้าจะแก้ปัญหาพวกนี้ จะต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาในเชิงระบบ การปฏิรูปกองทัพเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา
@ กองทัพทำงานด้วยอุดมการณ์หรือผลประโยชน์?
วีระยุทธ กาญจน์ชูศักดิ์ จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS),Japan : หนังสือเล่มนี้สามารถต่อยอดในเชิงความคิดและอุดมการณ์ได้ คำถามคือ “คุณคิดว่ากองทัพทำงานด้วยอุดมการณ์หรือด้วยผลประโยชน์”
วิธีพิสูจน์ทางทฤษฎี คือ สามารถออกนโยบายหรือเคลื่อนไหวในสิ่งที่ลดทอนผลประโยชน์ของตัวเองได้หรือไม่ ได้ผลประโยชน์จากนโยบายนั้นหรือไม่ บทบาทของกองทัพก็เช่นเดียวกัน ถ้ากองทัพยอมร่วมทุกร่วมสุขกับสังคมไทย เช่น เศรษฐกิจแย่ กองทัพยอมลดงบประมาณแค่ไหน
กองทัพมีความเป็นสถาบันสูงที่สุดในสังคมไทย ด้วยการสืบเนื่อง ต่อยอด และแม้จะเปลี่ยนหัวไป แต่กลไกต่าง ๆ ดำรงอยู่ต่อ 50-60 ปี ไม่มีกลไกลสถาบันไหนที่อยู่ได้ระยะยาวโดยไม่ปรับตัว ยกตัวอย่าง ลองมองดูว่ากองทัพเปลี่ยนพันธมิตรไปเรื่อย ๆ แค่ไหน หน้าฉากอาจจะเป็นกลไกสถาบันเหมือนเดิม แต่จริงๆ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงพันธมิตรไปเรื่อย ๆ เพื่อให้กลไกดำรงอยู่ได้ เช่น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 พันธมิตรทางเศรษฐกิจ คือ ทีมของนายสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เมื่อทำโครงการอีอีซีไม่สำเร็จ โครงการคนละครึ่งมาพร้อมกับพันธมิตรเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ วิศวะจุฬาฯคอนเนคชัน กองทัพมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนพันธมิตรที่จะทำให้กลไกลดำรงอยู่ต่อไปได้
@ ทหาร-นักการเมือง-เทคโนแครต
การเมืองแบบไหน ถ้าเรามองโจทย์ ทหารนำ (military dominance) แล้วอะไรคือคำตอบของสังคมไทย คำถาม คือ กองทัพอยู่ภายใต้การเมืองแบบไหนที่ดำรงรักษา military dominance ได้ คำถามแรก ทหาร นักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ และเทคโนแครตไทย มีอะไรร่วมกันอยู่บ้าง หนึ่ง ความเชื่อเรื่องเสถียรภาพเหนือการแข่งขัน เพราะไทยเป็นฐานการลงทุน สอง เชื่อในคนเหนือระบบ สังคมก้าวหน้าจะยึดประเด็นเป็นหลัก สังคมไทยต่อให้พูดลบแค่ไหน แต่ถ้าชื่อเสียงมีน้ำหนักก็จะฟัง
“ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลทหารเข้ามา ทุกรัฐบาลจึงอยากใช้กอ.รมน. เพราะเชื่อว่า ส่งคนเข้าไปคุมได้ ไม่ได้เชื่อการเปลี่ยนแปลงระแบบ แต่เชื่อว่า เมื่อเข้ามาแล้วก็จะส่งคนเข้าไปคุม เข้าไปจัดการให้เป็นแขนขาของตัวเองต่อได้”
สาม เกิดความเคยชินกับภาวะย้อนแย้งและยังดำรงอยู่ ใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง องค์กรแต่งตั้งจากเครือข่ายทหารพูดเรื่องจริยธรรม ถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงกอ.รมน. หรือ บทบาททหาร รัฐราชการต้องแก้ไปทั้งระบบ
ปัจจุบันปี 67 กอ.รมน.มีกำลังคน 4,6000 คน จากอัตรากำลังที่มีทั้งหมด 4,9000 คน ข้อสังเกตของตนต่อรัฐราชการไทยคือ ทุกหน่วยอยากเพิ่มและเสริมกำลังคนให้เป็นแขน เป็นขา เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปัจจุบันมี 1,088,000 คน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 3 แสนคน ตั้งเป้า 5.5 แสนคน และมีอาสาสมัครดิจิทัล นำร่อง 3,3000 คน ตั้งเป้าขยายให้มีทั่วประเทศ โดยมีกำลังคนภาครัฐทั้งหมด ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ 3.19 ล้านคน เมื่อเข้าสู่อำนาจได้ก็เข้าไปใช้แขนขาที่เป็นประโยชน์ได้ จึงดำรงอยู่มาจนถึงวันนี้
“เราไม่อาจมอง กอ.รมน.แยกจากปัญหารัฐราชการไทยทั้งระบบที่มีลักษณะขยายตัว ฟังก์ชันทับซ้อนกัน ไม่ได้ตอบโจทย์ที่เน้น Impact แต่เน้น Output จำเป็นต้องวาง master plan การปฏิรูปราชการทั้งระบบ”
@ “เราไม่เคยอยู่โดยปราศจากความกลัว”
พวงทอง ภวัครพันธุ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา surreal พอสมควร คิดไม่ถึงว่า หนังสือจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วนได้ถึงขนาดนี้
การวิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน.และกองทัพเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในสภา มีการเสนอให้ยุบ ให้เลิก มีการพูดว่า กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างไร แต่ไม่ได้เจอ กอ.รมน.ออกมาพูดจาในลักษณะที่ทำให้หวาดกลัวมากเท่านี้
“ดิฉันเป็นคนที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นนักศึกษา เป็นนักกิจกรรม มีช่วงเวลาไหนที่เรารู้สึกว่าสังคมไทย เราอยู่ในสังคมไทยโดยปราศจากความกลัวได้จริง ๆ มีคนเตือนบ่อยครั้งเวลาเราพูดเรื่องกองทัพ แต่คิดว่าคงไม่เป็นไร สังคมไทยผ่านมาไกลแล้ว ไม่ควรที่จะต้องเจอกับการคุกคามจากการเขียนหนังสือ สิ่งที่เกิดในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องกลับมาถามใหม่ เราไม่เคยอยู่โดยปราจากความกลัวจริง ๆ”
เรื่องปัญหาของระบบราชการ ตัวเลขอาสาสมัครที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณ อสม.ที่เพิ่มขึ้น เงินชดเชยที่ให้กับ อสม. รวมถึงมวลชนกลุ่มอื่น ๆ เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดง ไทยอาสาป้องกันชาติ เงินเพิ่มขึ้นมาก จำนวนเพิ่มขึ้นมาก เป็นภาระทางภาษี โดยเรียนรู้จาก กอ.รมน. เพิ่มขึ้นมาก รวดเร็วมาก ๆ เป็นช่องทางคอร์รัปชันที่ดีมาก ๆ เวลารับคน ไม่มีการตรวจสอบ ทำงานจริงหรือไม่ และกระทรวงอื่นก็เริ่มหาอาสาสมัครขึ้นเรื่อย ๆ
กอ.รมน.เป็นหน่วยงานกองทัพ มากกว่าที่จะเป็นหน่วยงานพลเรือน แม้ว่าจะสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐที่นั่งอยู่ในสำนักงานต่าง ๆ กองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมานั้น ล้วนเป็นทหารทั้งสิ้น
แม้กระทั่งยุคที่เป็นรัฐบาลจากพลเรือน มีแต่นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นพลเรือน ตำแหน่งบังคับบัญชาอื่น ๆ ที่สำคัญ ล้วนแต่เป็นทหารจากกองทัพบก นายกรัฐมนตรีเอง เชื่อว่า ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่า กอ.รมน.ทำอะไร
“พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน.ยอมรับเองว่า การออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการห้ามเผยแพร่หนังสือ เป็นการตกลงร่วมกันของหน่วยงานกอ.รมน. โดยมี รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เป็นผู้เซ็นอนุมัติ ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้เอ่ยถึงนายกฯแพทองธาร ว่าเป็นผู้อนุมัติ เชื่อว่านายกฯแพทองธารไม่ได้รับรู้จริง ๆ แต่มาวันนี้ไม่รับรู้ไม่ได้แล้ว”
@ แตะกล่องดวงใจโดยไม่ตั้งใจ
วันนี้ในฐานะที่น.ส.แพทองธารเป็นผู้อำนวยการกอ.รมน. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในกอ.รมน.จะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ทำอะไรอย่างนั้นหรือ ไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลยอย่างนั้นหรือ
การที่มีทหารนั่งอยู่ในโต๊ะต่าง ๆ หน่วยต่าง ๆ ของ กอ.รมน.ที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ ส่งผลให้แผนงานที่ออกมา การกำหนดว่าอะไรเป็นความมั่นคงของชาติ และใครเป็นภัยคุกคามของชาติ เป็นวิธีคิดของทหาร จะไม่พยายามเข้าใจคนที่มีความคิดแตกต่างว่า เป็นสิ่งที่เกิดได้ในสังคมประชาธิปไตย เป็นเรื่องปกติ วิธีการจัดการต้องพยายามอธิบาย พูดคุย แลกเปลี่ยน หรือพยายามทำความเข้าใจคนอื่นที่มีความคิดต่างจากตัวเอง ไม่ใช่ด้วยการไปฟ้องร้อง กล่าวโทษ แจ้งความ
“ดิฉันยินดีรับการอธิบาย การโต้แย้งอย่างเป็นเหตุผลในทางวิชาการ ขณะเดียวกัน เวลาอธิบายมาแล้วต้องระวังท่าทีที่ใช้ด้วย เพราะกองทัพไม่ใช่ปัจเจกชนธรรมดา เวลาคุยกันแล้วรู้สึกว่าเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือเรา ไม่ใช่คนที่เราเวลาคุยด้วยแล้ว เราไม่รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง มีกองทัพทั้งกองทัพ และออกมาพูดในฐานะหน่วยงานกอ.รมน. ไม่ได้พูดในฐานะปัจเจกชน”
ทำให้กังวล ต่อให้พล.ต.วินธัยไม่ฟ้องเอง ก็ไม่รู้ว่า การพูดแบบนี้จะไปปลุกปั่นทำให้มวลชน คนที่นิยมทหารไปฟ้องแทนหรือไม่ กลายเป็นแบบฉบับที่เกิดขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาวะแบบนี้ทำให้เกิดความกลัว และมีความพยายามโยงให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
“หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้วไม่มีใครแตะต้องอำนาจของท่าน ดิฉันอาจจะไปแตะกล่องดวงใจของท่านโดยไม่ตั้งใจ”
ถึงแม้จะบอกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพในมหาวิทยาลัย แย่ลงเรื่อย ๆ มานานกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้พื้นที่ทางการวิจัยชัดเจนมากขึ้นว่า ณ วันนี้ ใครที่จะทำวิจัยเรื่องกองทัพต้องถามตัวเองให้มากขึ้น ว่าจะเสียงดีหรือไม่ ชัดเจนว่า พื้นที่การทำวิจัยเรื่องทหาร เป็นพื้นที่ห้วงห้าม ถ้าอยากทำวิจัย at your own risk เสี่ยงกันเอาเอง อยากทำหรือไม่เราพอใจที่จะอยู่กับสังคมแบบนี้หรือไม่ ความกลัวคืบคลานเข้ามาในมหาวิทยาลัย สังคมที่เสรีภาพทางวิชาการถูกลดทอน แต่ควรจะเป็น Last Frontier ที่ถูกคุกคาม