"...กรณีบริษัทจอห์นเดียร์ ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีการติดสินบนใน 3 หน่วยงานของไทย รวม 16 โครงการ พร้อมระบุโครงการ จำนวนเงิน วิธีการติดสินบน ฯลฯ ข้อมูลชัดเจนเช่นนี้จึงง่ายต่อฝ่ายไทยที่จะสืบค้นว่า เหตุเกิดเมื่อใด ใครเป็นคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับ ใครอนุมัติโครงการ ใครเป็นรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพหรืออธิบดี และช่วงดังกล่าวบัญชีธนาคารของใครมีเงินเข้าออกผิดปรกติ ฯลฯ..."
คดีโกงข้ามชาติที่คนไทยได้รู้ล้วนมาจากการเปิดเผยของหน่วยงานรัฐประเทศอื่น เมื่อเอกชน “ยอมรับผิดและโดนลงโทษแล้ว” ถึงวันนี้มีผู้กระทำผิดเป็นเอกชนต่างชาติ 13 ราย หน่วยงานรัฐของไทย 18 หน่วย จำนวนคดีและจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ไทยยังไม่ชัดเจน เพราะบางกรณีเงียบไปเช่น เหมืองทองคำจากออสเตรเลีย บางกรณีมีหลายคดี เช่น สินบนโรลล์ รอยซ์ ที่ ปตท.สผ. มีมากถึง 6 คดี
กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในประเทศไทยแล้ว ได้แก่
1. เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2. สินบนโรลล์รอยซ์ มีคดี 2 แห่งคือ การบินไทย และ ปตท. สผ.
3. กล้องวงจรปิด มีคดี 3 แห่งคือ รัฐสภา(เดิม) สนามบินสุวรรณภูมิ และเมืองพัทยา
4. สินบนรับซื้อใบยาสูบ
5. ซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ในสนามบินสุวรรณภูมิ
6. เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 มีหน่วยงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก
7. ภาษีนำเข้าสุรา
8. รถและเรือดับเพลิง ของ กทม.
9. บริษัทยาไบโอราด
10. บริษัทสายไฟสายเคเบิ้ล
11. เหมืองทองคำ จากออสเตรเลีย (เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ บอกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นการส่วนตัว)
12. โรงไฟฟ้าขนอม
13. บริษัทจอห์นเดียร์ มีคดี 3 แห่งคือ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท
กรณีบริษัทจอห์นเดียร์ ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีการติดสินบนใน 3 หน่วยงานของไทย รวม 16 โครงการ พร้อมระบุโครงการ จำนวนเงิน วิธีการติดสินบน ฯลฯ ข้อมูลชัดเจนเช่นนี้จึงง่ายต่อฝ่ายไทยที่จะสืบค้นว่า เหตุเกิดเมื่อใด ใครเป็นคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับ ใครอนุมัติโครงการ ใครเป็นรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพหรืออธิบดี และช่วงดังกล่าวบัญชีธนาคารของใครมีเงินเข้าออกผิดปรกติ ฯลฯ
ประเทศไทย “ซื้อได้ทุกอย่าง?”
พึงสังเกตว่า 13 กรณีที่กล่าวมา เป็นพฤติกรรมของเอกชนหลายสัญชาติ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย พวกเขาจ่ายสินบนก้อนโตเพื่อให้ชนะการประมูลงานของรัฐหรือได้อภิสิทธิ์บางอย่าง มีบ้างที่จ่ายเพราะถูกรีดไถ บ้างก็ตั้งใจจ่ายเพื่อปัดปัญหา ซื้อความสะดวก หรือหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น การขอใบอนุญาตอนุมัติสารพัดชนิด ปัญหาภาษี พิธีการนำเข้าส่งออกสินค้า ฯลฯ
การจ่ายทำโดยผ่านนายหน้า ทนายความ บริษัทบัญชี ตัวแทนจำหน่าย ที่ปรึกษา หรือผู้ร่วมทุนชาวไทย เป็นต้น อาจจ่ายเป็นเงินสดหรือเงินคริปโต จ่ายในเมืองไทยหรือเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศเพื่อโอนเงินเข้าก็ได้หากเป็นเงินจำนวนมาก
กรณีจอห์นเดียร์ ระบุว่าได้จ่ายสินบนเป็นเงินสด พาไปเที่ยวต่างประเทศ ให้ของขวัญ เลี้ยงอาหาร เที่ยวอาบอบนวด สิ่งที่เขาไม่ได้ประจานออกมาคือ โดยปรกติการเอ็นเตอร์เทนเจ้าหน้าที่รัฐของไทยนั้นต้องหรูหรา ราคาแพง ไปแต่ละครั้งก็ขนพรรคพวกจำนวนมากไปถล่ม พาเที่ยวต่างประเทศก็ต้องแถมเงินติดกระเป๋าให้
การป้องกันและการลงโทษ
สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เอกชนเกรงกลัวกันมากคือ Foreign Corruption Practices Act (FCPA) ไว้เล่นงานคนของเขาเมื่อไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช. ก็มีมาตรการทำนองนี้เช่นกัน ล่าสุดสหรัฐฯ ออกกฎหมายใหม่ชื่อ Foreign Extortion Prevention Act (FEPA) เป็นกฎหมายเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศที่เรียกรับสินบนจากเอกชนของสหรัฐฯ (นายวรพงษ์ สุธานนท์, เบิร์กลีย์ รีเสิร์ช กรุ๊ปฯ บ.จก.)
คดีประเภทนี้เกี่ยวพันกับบุคคลต่างชาติ การทำคดีจึงเป็นภาระกิจยาก สิ้นเปลืองและใช้เวลามากของ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ทั้งต้องสอบพยานหลักฐานโดยตรง การแปลเอกสารหลักฐานเป็นภาษาไทย ความร่วมมือของรัฐบาลต่างชาติที่มักปกป้องเอกชนของเขา และความเชื่อใจว่าเราทำคดีจริงจัง
ที่น่าเป็นห่วงคือ คดีเหล่านี้มักเกี่ยวพันคนมีเงินมีอำนาจ การวิ่งเต้นให้พ้นผิดจึงเกิดขึ้นเสมอ เว้นแต่คดีนั้นถูกติดตาม กดดันอย่างหนักจากรัฐบาลต่างชาติ อย่างเช่น กรณีสินบนเทศกาลภาพยนต์นานาชาติฯ
จะเกิดประโยชน์มากหากหลายหน่วยงานของไทย เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และหน่วยจัดเก็บภาษี มาบูรณาการตรวจสอบเอกชนที่ค้าขายไม่ซื่อสัตย์เหมือนชาติอื่นบ้าง
ทางออกที่ดีกว่าคือ ภาคเอกชนไทยต้องร่วมมือกัน “ฮั้วไม่โกง” เปลี่ยนพฤติกรรม สร้างบริบทใหม่ในการติดต่อกับภาครัฐให้ตรงไปตรงมา ควบคุมกันเองด้วยการบริหารจัดการที่ดี (Governance) จริงจังและกล้าหาญที่จะร้องเรียนและปฏิเสธการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่
บทสรุป
เชื่อว่าการทุจริตที่เกิดจากบริษัทต่างชาติมาติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทยยังมีอีกมากมาย เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ไทยเสียโอกาสการค้าการลงทุน เสียศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ ผลร้ายที่ตามมาคือ โครงการของหน่วยงานรัฐที่คอร์รัปชันจะได้สินค้าราคาแพง ไม่คุ้มค่า ได้สินค้าคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะสมในการใช้งานหรือไม่ถูกใจผู้ใช้งานจริง และอาจมีต้นสูงเกินไปในการบำรุงรักษาระยะยาว
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)