“...พลังประชารัฐเป็นพรรคอนุรักษนิยมทันสมัย เราจะทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน แม้ไม่ได้สักเสียงก็จะทำ ไม่ใช่ปกป้องสถาบันเพื่อหวังเอาคะแนนเสียง...”
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ หลังจากปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่
ผู้สื่อข่าว : พรรคพลังประชารัฐเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ผมเห็นต่าง ผมเห็นว่า พรรคกำลังเดิมมาสู่จุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าที่ผ่านมา
การแก้ปัญหาอันดับแรก คือ ความเป็นเอกภาพของพรรค พรรคการเมืองจะเข้มแข็งหรือไม่ ต้องดูที่โครงสร้างหรือความเป็นเอกภาพของคณะกรรมการบริหารพรรค
“Day one นี้ เราได้ปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ เปลี่ยนบุคคลที่อาจจะมีความขัดแย้ง หรือทำให้ขัดแย้ง ส่วนที่ตั้งมาตอนนี้ เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีความเป็นปึกแผ่น เข้มแข็งที่สุด เข้มแข็งกว่าทุกพรรค เรื่องความมั่นคงอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค”
ผู้สื่อข่าว : พลังประชารัฐเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรครัฐบาล
ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่มีรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน
ในทางนิตินัยเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าจะมีใครแตกไปสนับสนุนรัฐบาลก็เป็นเรื่องภายในพรรค ที่มีสส.ไปสนับสนุนสิ่งที่ไม่ใช่เป็นแนวทางของพรรค เราก็มีระเบียบ ข้อบังคับพรรค ข้อวินัยที่จะตรวจสอบ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 20 สส.ที่มีความประพฤติที่น่าจะฝ่าฝืนข้อบังคับหรือไม่ เป็นนักกฎหมายจะไปเที่ยวตัดสินก่อนตรวจสอบก่อนไม่ได้ เราไม่ใช่ศาลเจ้า
ผู้สื่อข่าว : จะเอาให้ตายเลย หมายถึงขับออกจากพรรค หรือค่อย ๆ ทรมานให้ตายอย่างช้าๆ
คณะกรรมการชุดนี้มีเวลา 60 วัน ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคมีนโยบายอยู่แล้ว คือ “ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่มีมติขับออก” แต่ให้ไปดูว่า มีความผิดหรือไม่ ผิดอะไร และจะมีมาตรการลงโทษแบบไหน อย่างไร
ผู้สื่อข่าว : ทำไมไม่ขับออกจากพรรคไปเลย
พรรคมีแนวทางไม่ขับออก เพราะว่า การขับออกไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร มันเป็นประโยชน์กับฝ่ายที่อาจจะฝ่าฝืนข้อบังคับ เขาอาจจะมีเจตนาให้ขับออก ทำไมพรรคต้องไปทำตามเขา เขาอยู่ เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร สบายดี
“การยังอยู่ในพรรค เขาอาจจะผิดหวัง หวังว่าจะขับออกเพื่อจะไปอยู่พรรคใหม่ ดังนั้น ถ้าไม่ขับออก เขาก็ผิดหวัง แต่เราก็ให้ตามใจเขาไม่ได้ เว้นแต่เขาเกิดอึดอัดใจมาก ไม่อยากอยู่แล้ว เขายื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคมา เราก็จำเป็นต้องรับ เราก็เสียดายที่เสียงของสส.หายไป แต่จำเป็นต้องรับ”
ผู้สื่อข่าว : ภาพลักษณ์ของพรรคคืออะไร
ภาพลักษณ์คือ เป็นพรรคอนุรักษนิยมทันสมัย
“เป็นอุดมการณ์ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐมีหัวหน้าพรรคเป็นอดีตผบ.ทบ. เราจะทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน แม้ไม่ได้สักเสียงก็จะทำ ไม่ใช่ปกป้องสถาบันเพื่อไปหวังเอาคะแนนเสียง”
ผู้สื่อข่าว : พลังประชารัฐมีคนไหลออกจากพรรคไม่เว้นแต่ละวัน
เรามีสมาชิกพรรค 6 หมื่นคน ไหลออกที่นับดูไม่กี่สิบคน
ผู้สื่อข่าว : แต่คนที่ลาออกไปเป็นเจ้าของฐานมวลชน
ก็หายไปอีกหมื่น ก็เหลือ 5 หมื่น ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย
“บางอย่างอาจจะเห็นว่าเป็นวิกฤต แต่ผมเป็นนักที่ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ในปัญหาก็มีโอกาสทั้งนั้น ฟ้าหลังฝน”
ผู้สื่อข่าว : โอกาสของพรรคในทางการเมืองตอนนี้คืออะไร
การเป็นพรรคฝ่ายค้าน เราก็จะได้เริ่มตั้งหลัก ในสายตาอาจจะมองว่า พรรคตกต่ำ มาเป็นฝ่ายค้าน แต่ในเชิงคน คนที่อยู่ ได้ใจ ในยามที่เราเป็นฝ่ายค้าน ถือว่ามีใจกันจริง ๆ แล้วเมื่อไหร่ที่เรากลับไปเป็นฝ่ายรัฐบาลอีก เราจะได้ทีมนี้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เป็นกำลังสำคัญที่เข้มแข็ง
การที่เราเกิดปัญหาขึ้น ทำให้เราถอดบทเรียนได้ เป็นที่มาที่หัวหน้าบอกในที่ประชุมไว้ว่า ‘กระจายอำนาจ’ ในการดูพื้นที่ สส. เดิม ตำแหน่งเลขาธิการพรรค คือ ดูทั้งประเทศ ดูสส.ทั้งหมดทั่วประเทศ เลขาธิการพรรคเคลื่อนที่ได้หมด
“เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เลขาฯกลายเป็น ทำตัวกลายเป็นหัวหน้าพรรคคนที่สอง พอมีเรื่องส่วนตัวขึ้นมาก็มูฟออกไป ก็เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคง”
เมื่อแก้เปลี่ยนเป็นว่า ต่อไปมีรองหัวหน้าพรรค 8 คน แบ่งกระจายกันไปดูแลทั่วประเทศ ก็จะดูได้ดีขึ้น ส่วนเลขาธิการพรรคก็ทำหน้าที่สนับสนุน
“เลขาฯพรรคจะไม่มีไปดูแม้แต่พื้นที่เดียว แต่ดูสำนักงาน ดูงานธุรการ เป็นฝ่ายซับพอร์ต สนับสนุนการทำงาน เป็นฝ่ายจัดประชุม จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้พรรคขับเคลื่อนไปในทางที่ดี”
จัดการสื่อสารเพิ่มเติมขึ้น จัดเวทีเสวนาที่พรรคทุกอาทิตย์ เรามีคนเก่งเยอะแยะก็มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกันได้ทุกอาทิตย์ และถ่ายทอดออกเฟซบุ๊ก แล้วจะเริ่มมีทีมงานที่ทำเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นงานของเลขาฯที่ต้องซับพอร์ตฝ่ายต่างๆ
“เพิ่งสั่งการไป ให้เอาบัญชีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 400 เขต ส่งชื่อใครไปบ้าง สถานะตอนนี้เป็นอย่างไร อยู่กับเราหรือไม่อยู่กับเรา ทั้งหมดก็จะประมวลส่งให้รองหัวหน้าพรรค 8 คน ดูกันว่าจะทำอย่างไร แล้วก็จัดประชุม ใครจะคุม ใครจะยังไง ตรงไหน แล้วให้ข้อมูลเขา (รองหัวหน้าพรรค) ด้วย
มีผู้สมัครเดิมได้กี่คะแนน อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ เพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะใช้คนนี้ไหม หรือเขามีคนใหม่ ก็แล้วแต่ เลขาฯ สนับสนุนข้อมูลให้ และทำสรุปให้ชัดเจนว่า คนนี้ดูเขตนี้ ๆ ทำคำสั่งหัวหน้าให้เลย เขาจะได้บริหารจัดการอย่างชัดเจน เวลาเกิดเลือกตั้งขึ้นก็ไม่วุ่นวาย รู้ว่าไปช่องไหน ๆ และก็เดินหน้าเป็นทีม”
เลขาธิการพรรคเป็นฝ่ายสนับสนุน จัดทำป้าย รูปแบบการสื่อสาร ก็ว่ากันไป ในพื้นที่ไม่ต้องไป เพราะรองหัวหน้าคุมพื้นที่หมดแล้ว แบ่งหน้าที่ กระจายอำนาจ เป็น ‘ยุทธศาสตร์ใหม่’
“ต่อไปจะไม่มีเลขาธิการพรรคที่เป็นแบบเก่า เลขาธิการที่มีก๊วนตัวเองขึ้นมาแล้วมาต่อรอง มากดดัน หรือมาสร้างปัญหา เพราะต่อไปเลขาฯกลายเป็นผู้สนับสนุน”
เลขาธิการพรรคใหม่เป็นไปตามโครงสร้างข้อบังคับพรรค เลขาฯ ที่ผ่านๆ มาจะไม่ทำงานตัวเอง จะทำงานแต่ลงพื้นที่ คุมสส. คุมเสียง
ผู้สื่อข่าว : ต่อไปนี้เลขาธิการพรรคไม่จำเป็นต้องสั่งสมบารมี
ถูกต้อง เลขาธิการพรรคมีหน้าที่สนับสนุนทุกคน บารมีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกคนประสบความสำเร็จ เราก็ถือว่ามีส่วนด้วย ไม่ใช่เป็นเพราะเราเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต
“เลขาธิการพรรคก็ไปแย่งส่งคน ก็ให้ความสำคัญที่คนอื่นส่งน้อยลง ภายในพรรคก็จะยุ่ง ยุกันไปยุกันมา คนนี้ส่งเขตนี้ ทับเขตนี้ มันก็วุ่นวายและก็ได้ สส.น้อยลง”
ผู้สื่อข่าว : การทำแบบใหม่จะทำให้ได้ สส.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ทุกอย่าง ถ้าเราจัดการเรื่องข้อมูลเรียบร้อย ดี มีข้อมูลชัดเจน วางแผนกันรุกอย่างถูกต้อง อย่างเป็นระบบ ยังไงก็ดีกว่าเก่า เราก็จะใช้กฎหมายนำการเมืองด้วย ระบบที่ดี ยังไงก็ได้สส.มากกว่าระบบที่ไม่ดี
ผู้สื่อข่าว : เลือกตั้งครั้งหน้าภายใต้เลขาธิการพรรคชื่อ ‘ไพบูลย์’ จะได้สส.เกิน 40 คน
ไม่ใช่ ภายใต้หัวหน้าพรรค เลขาธิการไพบูลย์มีหน้าที่สนับสนุน ดูจากความมั่นใจของหัวหน้าพรรค ต้องมากกว่า 40
ส่วนผม ผมมั่นใจอยู่แล้ว ผมเป็นมือบริหารอยู่แล้ว ผมก็เชื่อว่าผมบริหารฝ่ายสนับสนุนได้เป็นอย่างดี เพราะผมไม่ต้องเสียเวลาลงพื้นที่ เรากระจายอำนาจไปแล้ว ก็เป็นระบบ และจากข้อมูลที่เราให้ไป เขาก็สามารถเล็งเป้าได้ ประเมินวิเคราะห์ แล้วเราก็จะติดตามผลเป็นระยะ ก็จะทำให้เขารู้ว่า เขากำลังต่อสู้กับอะไร ถ้าเขาจะชนะเขาจะต้องทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าว : แนวร่วมพรรคอนุรักษนิยมใหม่คือใคร
ตอนนี้ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มใหญ่สุด คือ ฝ่ายที่ พอใจที่พรรคมีนโยบายปกป้องสถาบัน มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง กลุ่มที่สอง คือ ฝ่ายที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ฝ่ายที่พอใจที่เราต่อต้านระบอบทักษิณ เราเป็นคู่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ เราเป็นผู้นำ กลุ่มเหล่านี้ที่จะเป็นกลุ่มของเรา แนวโน้มเยอะกว่าเก่า
ผู้สื่อข่าว : ใครคือพรรคพันธมิตรของพลังประชารัฐ
เราไม่ได้ขัดแย้งกับพรรคไหน ยกเว้นพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยก็อยู่ในระบอบของทักษิณ ก็ต้องขัดแย้งกัน จะบอกว่ารักกันเป็นไปไม่ได้
ผู้สื่อข่าว : คบกับพรรคประชาชนได้ไหม
เราก็ค้านเรื่องเดียว เราปกป้องสถาบัน อย่าแหยมเข้ามาทำให้สถาบันมีปัญหา
ผู้สื่อข่าว : เพราะพลังประชารัฐโดนเขี่ยออกมาจากรัฐบาลก็เลยแค้น
แค้นทำไม การดูหนัง หรือ ซีรีย์ ต้องดูให้มันจบ เพิ่งตอนที่หนึ่ง chapter one โอโห้ พระเอก นางเอก เหมือนกับถูกรังแก ไปดูตอนจบสิ ใครจะเป็นผู้ร้าย ไม่นาน (เสียงสูง) นับเดือนเอา ไม่ต้องนับปี
ผู้สื่อข่าว : ครั้งนี้อะไรจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม
กลุ่มที่เรามองแล้วว่า มีปัญหา เพราะตัวเขาเอง เขาไปสร้างความไม่ถูกต้อง สาธารณะก็รับรู้ ดังนั้น เขาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของเขาก็เป็นหลักธรรมดา ก็เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ถ้าเขาทรุด เราก็พุ่ง แต่ตอนนี้เขาพุ่ง เราก็รักษาตัวเองไว้ อยู่ในที่ตั้ง
ผู้สื่อข่าว : ทำไมถึงคิดว่าพรรคหนึ่ง (เพื่อไทย) ทรุดแล้ว อีกพรรคหนึ่ง (พลังประชารัฐ) จะพุ่ง
การทำสงคราม หรือ การต่อสู้กัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามทรุด กำลังก็ต้องลดถอยลง เราก็ต้องดีขึ้นอยู่แล้ว zero-sum game
การเมืองสำหรับผม แบ่งการต่อสู้ออกเป็นสามสนาม สนามที่หนึ่ง คือ สนามเลือกตั้ง การสู้ในสนามเลือกตั้งก็เพื่อที่จะชิงสส.ให้ได้มาก เมื่อสู้กันจบแล้ว ก็สู่สนามที่สอง เรื่องกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือเรียกว่า ‘นิติสงคราม’ สนามที่สาม เป็นสนามที่ใช้กำลัง อาจจะรูปแบบของมวลชน หรือ ลุกลามไปจนถึงขั้นเกิดรัฐประหารขึ้น
สงครามถ้าเกิดขึ้น การเมืองก็เกิดขึ้น เคลื่อนจากจุดแรกต้องสู้กันก่อน แต่ถ้าแพ้ ชนะกันตรงเลือกตั้ง อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันใช่ ต้องดูสนามที่สอง ว่า เลือกตั้งมาผิดกฎหมายตรงไหนไหม ผิดกฎหมาย ก็อาจจะมีปัญหา ดังนั้น ระหว่างนี้อยู่ในช่วงที่สอง ถ้าช่วงที่สองเอาอยู่ ช่วงที่สามก็ไม่เกิด ฉากทัศน์เป็นแบบนี้
“ส่วนเราอยู่แค่สองสนามเท่านั้น สนามเลือกตั้ง กับสนามที่เราต้องทำกฎหมายให้ถูกต้อง ต้องระวัง ไม่ให้คนอื่นมารังแกเราได้ กลัวเขารังแก (หัวเราะ) เราก็ต้องทำตัวให้เรียบร้อย ให้ถูกกฎหมายทุกอย่าง เดี๋ยวจะถูกรังแก เราเป็นคนที่ต้องระวังตัวเอง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ส่วนคนอื่น ไม่ระวังตัวเอง ผิดกฎหมาย ก็ช่วยไม่ได้ ไม่ใช่เรา”
ผู้สื่อข่าว : ครั้งนี้อภินิหารทางกฎหมายจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกไหม
ไม่ใช่อภินิหารอะไรเลย มันเป็นสิ่งที่เห็นแล้วเข้าใจได้ มันไม่ใช่เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องไปไหว้เจ้า บนเจ้า เป็นเรื่องของกฎหมาย กฎหมายบัญญัติไว้ เขามีข้อห้าม ห้ามไปฝ่าฝืน แต่ถ้าใคร หรือพรรคการเมืองใดไปฝ่าฝืน มันก็มีกระบวนการ เป็นแค่หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปกครองโดยใช้กฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถ้าไปฝ่าฝืนกฎหมายก็ต้องมีกลไกลตรวจสอบ ที่จะมาสู้ พิสูจน์กันว่า ผิดหรือไม่ผิด ก็คือศาล เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายทั้งนั้น
“มันไม่มีอภินิหารอะไรหรอก อย่าไปทำผิดกฎหมาย และก็อยู่ที่คนร้องอีก คนร้องเขียนคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย เขียนได้ถูกช่อง ศาลก็วินิจฉัยไปเลย ถ้าเขียนไม่ได้ ศาลก็ยก เยอะแยะไป”
ผู้สื่อข่าว : พลังประชารัฐเอาอยู่และจะพลิกเกมได้ในสนามที่สองหรือไม่
สนามที่สามไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา สนามที่สองก็อยู่ที่เรา ต้องทำตัวอย่าผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่ผิดกฎหมายก็ยืนอยู่ได้นาน เพราะคนอื่นเขาผิดกฎหมาย (หัวเราะ) เป็นหลักแค่ว่า จะยืนให้อยู่นาน คนที่อยู่นานกว่า คือ ไม่ผิดกฎหมายเลย ก็จะเป็นผู้รอด คนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าตัวจะใหญ่แค่ไหนก็จะกลายเป็นผู้ไม่รอด
ผู้สื่อข่าว : คำว่า ‘กลุ่มการเมืองบ้านป่า’ ยังมีกำลังวังชาเข้มแข็งแค่ไหน
กลุ่มการเมืองบ้านป่าไม่รู้ แต่พรรคพลังประชารัฐเข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าว : กลุ่มการเมืองบ้านป่าสถานะตอนนี้เป็นอย่างไร
ก็ยังยืนยัน ผมไม่ยอมรับคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ถ้าถามถึงพรรคพลังประชารัฐตอบได้ เพราะผมเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ชื่ออื่นผมตอบแทนไม่ได้
ผู้สื่อข่าว : หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยังมีบารมีสูงส่งแค่ไหน
สบาย สูงส่ง เรียกว่า สามารถนำพรรคพลังประชารัฐไปได้ ท่านไม่เลิก ท่านจะนำพรรคไปเรื่อย ๆ มีกำลัง มีพลัง ทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าว : กำลังมาจากอะไร
ตัวท่านเองมี ผมไม่รู้ ผมมีหน้าที่เคยสนับสนุนหัวหน้าพรรค แต่เท่าที่ดู ท่านก็มีความั่นคง เต็ม 100 เห็นจากการที่เราเจอเหมือนกับความแตกแยกครั้งใหญ่ เราก็รับมือได้อย่างเป็นระบบ จนกระทั่งปรับโครงสร้างพรรคจนมั่นคง
เราไม่มีนโยบายลดจำนวนสส. อยู่ดี ๆ มี 40 คน สู้กันมาในสนามเลือกตั้ง เราก็อยากจะให้อยู่ครบ 40 คน แต่ว่า ถ้าเขาลาออก เราก็ไม่รู้จะช่วยยังไง เราจะไปห้ามเขาลาออกได้ไง ถ้าเขาลาอออกจากสมาชิกพรรค ก็น่าจะได้ ไม่งั้นก็ลารอไปจนเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าว : ถึงที่สุดแล้ว 20 เสียงก็อาจจะหายไป พลังประชารัฐจะเหลืออะไร
ก็เหลือ 20 คน อีก 20 คนก็อยู่ระหว่างตรวจสอบ ยังเป็นพรรคอยู่ ก็รอไปจนถึงการเลือกตั้ง นับหนึ่งใหม่หมด แล้วรู้ได้ยังไงว่า 20 คนที่ถูกตรวจสอบอยู่ เขาจะเลยไปเลยจนถึงวันเลือกตั้ง หนทางมันยังยาวนาน
ทำไมเขาถึงอยากไปอยู่ทางนั้น อะไรคือปัจจัย ได้เป็นรัฐมนตรี คนหนึ่งเอาน้อง คนหนึ่งเอาพวก คนหนึ่งเอาพ่อมาแทน แล้วอีก 18 คน ได้อะไร หวังอะไร เขาหวังว่า พวกเขาจะได้เป็นรัฐมนตรี ถ้าเกิดพวกเขายุบสภา ก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี การเป็นรัฐมนตรีประเทศไทยไม่ได้เป็นชั่วตลอดกาล อาจจะไปเจอปัญหาอะไรไม่รู้
เขาคิดว่า ไปอยู่แล้วจะมีรัฐมนตรี หรือเป็นสส.ข้างรัฐบาล เขาเลยอยากให้เราขับออก ไม่เราไม่ขับออกเขาก็เลยอยู่เป็นฝ่ายค้านกับเรา (หัวเราะ) มันมีความสุขดี
ผู้สื่อข่าว : พลังประชารัฐมีอะไรที่ดึงดูดใจให้ 20 สส.กลับมา มากกว่าการอยู่เป็นฝ่ายค้าน
แล้วถ้าเรากลับกลายเป็นรัฐบาล
ผู้สื่อข่าว : ยังมีความหวังว่าจะได้กลับไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในช่วง3ปีนี้ หรือรอหลังเลือกตั้งครั้งหน้า
มั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลนี้จะอยู่กันไปชั่วฟ้าดินสลาย รัฐบาลนี้นับเดือนได้เลย ใครจะการันตีได้แน่นอนว่าจะอยู่ได้นาน
ผู้สื่อข่าว : แล้วมีอะไรการันตีว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้ไม่นาน
คนที่แล้ว (เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี) กะว่าจะอยู่ครบไม่ใช่หรือ ทำไมเหลือแค่ 11 เดือน คนนี้ (แพทองธาร ชินวัตร) กระแสก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่มีช่วงฮันนีมูนนะ สังคมมองอย่างนั้น รัฐบาลนี้ยังไม่ทันตั้ง คนก็ปรามาสแล้วว่าจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่หนักกว่าหรือ
ผู้สื่อข่าว : 9-10 คนที่มีคนร้องไว้คิดไหมว่าจะโดนสักดอก
ไม่รู้ 9-10 คดีที่ฟ้องอยู่ ส่วนตัวยังไม่ตรงใจ แต่ผมเชื่อว่าจะต้องมีอันที่ตรงใจ
เราในฐานะเป็นมืออาชีพเรื่องกฎหมาย เราก็ต้องมองออกว่า อันไหนเจ๋ง อันไหนไม่เจ๋ง ยังไม่มีอันที่ถูกใจ เราเชื่อว่า มันก็ต้องมีคนคิดได้ ออกมาเจ๋ง ๆ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเจ๋ง
ทำในสิ่งที่ทำไปแล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปรอ คดีของคุณเศรษฐาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราเชื่อว่าต้องมีคนเห็นชัด ซีรีย์ ต้องดูยาว ๆ
“คำร้องที่ผ่านมายังไม่ถูกใจ อาจจะมีน้ำหนัก ทำให้ฝ่ายที่โดนร้องหวั่นไหว ในสายตาเราก็ดีนะ แต่ยังไม่ถูกใจเรายั งไม่ใช่มาตรฐานที่เราคิดไว้”
“อันที่มี อันที่จริง มันยังไม่เห็น เห็นเมื่อไหร่แล้วจะมาบอก”
ผู้สื่อข่าว : หาความปรากฏได้หรือยัง
ผมไม่ได้เป็นคนหา เป็นคนคอยดูคำร้อง ว่ามีคำร้องเหมาะ ๆ ออกมาหรือเปล่า เขาก็ดูกันหมด 10 คำร้อง เราก็ดูตามดูตลอด ก็มีน้ำหนัก แต่สำหรับผมยังไม่พอ
ผู้สื่อข่าว : ทำไมพล.อ.ประวิตรกับคุณทักษิณถึงจุดแตกหัก
ไม่อยากวิเคราะห์ หัวหน้าไม่ได้พูดอะไร การไม่พูดไม่ได้หมายความว่าไม่กล้า การไม่พูดอาจจะหมายความว่า เป็นยอดกลยุทธ์ก็ได้ เหมือนการถอย ซุนวู กับเหมาเจ๋อตุง การถอยเป็นยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมการรุกครั้งใหญ่
ผู้สื่อข่าว : แสดงว่ามีบางอย่างกำไว้ ไม่ตอบโต้ ไม่ส่งเสียงคำราม
หัวหน้าใจดี
ผู้สื่อข่าว : คนประเมินว่า หัวหน้าพรรคหมดบารมีแล้ว
เมื่อวานคนมาเต็มพรรค อุ่นหน้าฝาคั่ง
ผู้สื่อข่าว : มีทั้งกระแสและกระสุน
มีความพร้อมที่จะรันพรรคไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัญหาหรือความแตกแยกนั้น เมื่อแยกไปแล้วก็รู้ว่าใครเป็นยังไง เหมือนกับคนเป็นแผล บ่งแผลออก ปรับครั้งหนึงให้เรียบร้อย ผ่าตัดเสีย เดี๋ยวก็หาย หายดีแล้วก็เข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าว : พลังประชารัฐมีอะไรดีที่จะทำให้กลุ่ม 20 สส.กลับมา
พลังประชารัฐเป็นพรรครัฐบาล ไม่ขายฝัน ทำไมจะเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงเพื่อไทยจะไปเป็นฝ่ายค้าน หมายความว่า พรรคพลังประชารัฐในครั้งหน้า อาจจะพลิกกลายเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ได้
ความเป็นไปได้ในโอกาสของพรรคการเมือง เมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้ว รัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลมี ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องเป็นถาวร
“การเมืองเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือมันเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน”